LGBTQAI+ Movie in History
LIFESTYLE

ย้อนประวัติศาสตร์หนัง LGBTQAI+ การเดินทางของโรงละครสีรุ้ง จากเงามืดทะยานสู่แสงสปอตไลต์ระดับโลก

โว้กพาเดินตามรอยประวัติศาสตร์ของวงการบันเทิงไทยกับเหล่าภาพยนตร์ ละคร และซีรี่ส์ LGBTQAI+ จากตัวประกอบในเงามืดที่ไม่เคยถูกยอมรับ สู่คอนเทนต์ที่สร้างเม็ดเงินให้กับประเทศไทยนับไม่ถ้วน ตลอดการเดินทางหลายทศวรรษที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นบ้าง หาคำตอบได้ที่นี่! #VogueThailandJune2024

เรื่อง: ปารัณ เจียมจิตต์ตรง

 

     ย้อนกลับไป 20-30 ปีก่อน โลกของความหลากหลายทางเพศที่นำเสนออยู่ในวงการบันเทิงไทยนั้นมีแค่ในละครและภาพยนตร์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแง่มุมที่ตลกขบขัน ตัวละครเพศที่สามมักเป็นตัวร้ายหรือตัวประกอบเพื่อนนางเอกที่เป็นบทเสริมเพื่อสร้างสีสันให้เรื่อง แต่ยุคนี้ตอนนี้ โลกของความหลากหลายทางเพศในวงการบันเทิงไทยเดินทางมาถึงจุดที่เป็นแก่นของเรื่องและได้รับความนิยมอย่างมากไม่ใช่แค่ในประเทศ จนผงาดขึ้นเป็นผู้นำตลาดซีรีส์ Boy’s Love และ  Girl’s Love ยังไม่นับอินฟลูเอนเซอร์ LGBTQIA+ ผู้ทรงอิทธิพลในโลกออนไลน์อีกมากมาย

     โว้กจะพาคุณเดินทางผ่านหมุดหมายสำคัญแห่งการเติบโต ซึ่งพิสูจน์แล้วว่า “ความหลากหลาย” ทำให้โลกสวยงามขึ้นเพียงใด และความสวยงามนั้นขจรขจายไปไกลแค่ไหน

     จากเงามืด...สู่ประตูแห่งการยอมรับ

     ตามประวัติศาสตร์ของละครและภาพยนตร์ไทย เรื่องราวของ LGBTQIA+ ในยุคเริ่มต้นมักจะถูกฉายซ้ำในแง่มุมของตัวละครที่สร้างเสียงหัวเราะ ไม่ก็ลงเอยด้วยความผิดหวังในความรัก ดังเช่นภาพยนตร์เรื่อง เพลงสุดท้าย (พ.ศ. 2528) เล่าถึงนางโชว์คาบาเรต์ที่ถูกคนรักทิ้งไปมีแฟนใหม่ที่เป็นผู้หญิง ทำให้เธอตัดสินใจจบชีวิตตัวเองบนเวที ในเพลงสุดท้ายที่ทำการแสดง ภาพของสาวประเภทสองที่ไม่สมหวังในความรักกลายเป็นตัวแทนของ LGBTQIA+ ที่ถูกนำเสนอในภาพยนตร์ไทยในยุคต่อๆ มา ซึ่งมุมหนึ่งก็ส่งผลให้สังคมเกิดความคิดด้านลบต่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ

     เช่นเดียวกับละครโทรทัศน์ที่มักนำเสนอเรื่องราวของตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศไปในทิศทางใกล้เคียงกัน จนกระทั่ง พ.ศ. 2542 สถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ได้รับหนังสือขอความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ให้กลั่นกรองการนำเสนอภาพกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ทำให้พื้นที่ของกลุ่ม LGBTQIA+ ในวงการบันเทิงแคบลงไปอีก

     เวลาผ่านไป โลกหมุนไปข้างหน้าเรื่อยๆ แล้ววันที่เรื่องความหลากหลายทั้งรสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศเป็นที่ยอมรับทั่วโลกก็มาถึง โดยเฉพาะประเทศไทยที่เกิดปรากฏการณ์ในภาคอุตสาหกรรมบันเทิงด้วย

     รักแห่งสยาม (พ.ศ. 2550) เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกๆ ที่เล่าเรื่องราวความรักระหว่างเด็กหนุ่มสองคน สร้างแรงกระเพื่อมให้สังคม ทั้งคำวิพากษ์วิจารณ์แง่ลบ และด้านตรงข้ามที่บอกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น และกล้ามีความรักในแบบที่ต้องการ พิช-วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล นักแสดงนำที่รับบท “มิว” เล่าถึงบรรยากาศในช่วงนั้นให้ฟังว่า “ความที่ รักแห่งสยาม เล่าในสิ่งที่คนยุคนั้นไม่ค่อยกล้าพูด ในมุมหนึ่งภาพยนตร์ก็ประสบความสำเร็จ มีฟีดแบ็กที่ดี แต่ในขณะเดียวกันก็มีคำวิจารณ์ด้านลบไม่น้อย อย่างในพันทิปและเว็บบอร์ดต่างๆ มีคนโพสต์ว่า ดูแล้วรู้สึกอี๋ พอถึงฉากที่ตัวละครจูบกันเขาเดินออกจากโรงหนังเลย รวมถึงสิ่งที่กระทบมาถึงตัวเราด้วย คือมีคนมองด้วยความรู้สึกว่าเป็น LGBTQIA+ ซึ่งในวันนั้นคนไม่ได้มองด้วยสายตาที่เป็นกลางเหมือนวันนี้ แม้แต่งานในวงการบันเทิงก็มีหลายครั้งที่เรามารู้ทีหลังว่าพอมีงานโฆษณาหรือพรีเซ็นเตอร์ติดต่อเข้ามา เรามักจะถูกตัดทิ้งด้วยเหตุผลว่าไม่แมน สิ่งเหล่านี้บ่งบอกถึงสังคมในสมัยนั้น

     “แต่สำหรับเรา เป็นเรื่องดีที่มีหนังแบบ รักแห่งสยาม และอีกหลายเรื่องในตอนนั้น ที่เลือกจะก้าวไปข้างหน้า เพราะในช่วงเวลานั้นมีคนมากมายพูดกับเราว่าหนังเรื่องนี้ช่วยให้เขาคุยกับครอบครัวได้ง่ายขึ้น หรือพ่อแม่บางคนก็บอกว่า พอดูหนังเรื่องนี้จบ เขาตัดสินใจบอกลูกว่า ‘ลูกจะเป็นอะไรก็ได้นะ ขอให้สบายใจ’

     “เรารู้สึกภูมิใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของหนังเรื่องนี้ (ยิ้ม) ในเรื่องความหลากหลายทางเพศมีมาตลอดอยู่แล้ว แต่ไม่ค่อยถูกพูดถึงอย่างเป็นกลางและเปิดเผย หนังเรื่องนี้จึงอาจเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้คนมองชุมชนนี้ในด้านบวกมากขึ้น

     “เมื่อคิดถึงคำว่า รักแห่งสยาม ในวันที่ถ่ายหนังเรื่องนี้มันคือรักแห่งสยามสแควร์ แต่พอเวลาผ่านมา 17 ปี เราคิดว่า ‘สยาม’ ไม่ใช่แค่พื้นที่ตรงนั้นแล้ว แต่จะหมายรวมถึงทั้งประเทศ ที่พูดถึงความรักที่หลากหลายและไม่ได้มีข้อจำกัดใดๆ” 

     ก้าวเดินของครอบครัว เพื่อน กับความหลากหลายทางเพศ

 

     ในวันที่โลกภาพยนตร์ก้าวไปข้างหน้า พร้อมกับสังคมที่ค่อยๆ เปิดรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น วงการละครโทรทัศน์ก็เล่าเรื่องราวของคนกลุ่มนี้โดยไม่ได้จำกัดอยู่ในกรอบเดิมๆ อาทิ พระจันทร์สีรุ้ง (พ.ศ. 2552) เล่าถึงนางโชว์ที่รับเด็กชายที่ถูกทิ้งมาเลี้ยงด้วยความรักจนเติบโต และตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพมาเปิดร้านเสริมสวยเพื่อปกปิดอดีตของตัวเอง พลอตของละครเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นชีวิตและความรู้สึกของสาวประเภทสองในขณะนั้น

     ต่อด้วย ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ เดอะ ซีรีส์ ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก เป็นกระแสตั้งแต่จุดเริ่มต้นในเพจ บันทึกของตุ๊ด ของช่า-ธีร์ธวิต เศรษฐไชย ที่เล่าประสบการณ์กับกลุ่มเพื่อนสนิท ก่อนจะพัฒนาเป็นพ็อกเกตบุ๊ก และซีรีส์ที่ผลิตโดย GDH ออกอากาศในวันที่ 23 มกราคม 2559 ได้รับความนิยมสุดๆ จนเกิดไวรัลวลีฮิตที่มาจากซีรีส์ เช่น ว้าย...อิจ ขับวนไปค่ะ เลิศไม่หยุด อรรถรสไหม จนซีรีส์ได้ทำต่อในซีซั่นสอง และต่อยอดเป็นภาพยนตร์ ตุ๊ดซี่ส์ & เดอะเฟค (พ.ศ. 2562) ซึ่งสร้างปรากฏการณ์ไม่แพ้กัน เพราะแค่ 3 วันแรกของการฉายก็โกยรายได้เฉพาะกรุงเทพฯ ปริมณฑล และเชียงใหม่ไปมากถึง 51 ล้านบาท ทำรายได้รวมเกือบ 300 ล้านบาท

     ไตเติ้ล-ปิยะชาติ ทองอ่วม ผู้กำกับซีรีส์และภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าว่าความสำเร็จของ ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ ไม่ใช่แค่รายได้ แต่เป็นความรักของคนดูที่มอบให้ตัวละครทุกตัว “ฟีดแบ็กที่เราได้ยินเสมอคือคนดูรู้สึกเอ็นดูแก๊งกะเทยในเรื่องนี้ เราเห็นคอมเมนต์ที่คนเขียนเยอะมากว่าอยากมีเพื่อนเหมือนแก๊งนี้ (ยิ้ม) คงเหมือนเวลาที่เราดู Sex and the City แล้วอยากมีเพื่อนแบบซาแมนทา ซึ่งเป็นตัวละครที่มีความเป็น LGBTQIA+ สูงมาก

     “ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ น่าจะเป็นซีรีส์เรื่องแรกๆ ที่ตัวละครนำเป็นกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ซึ่งจังหวะในการฉายก็สำคัญ เพราะซีรีส์ออนแอร์ในช่วงที่สังคมเริ่มเปิดรับเรื่องนี้ว่าไม่ใช่สิ่งที่ต้องนำมาตัดสินกัน ถ้าฉายเร็วกว่านั้น ฟีดแบ็กก็อาจจะไม่ใช่แบบนี้ และถ้าเทียบกับปัจจุบันก็ต้องบอกว่าคอนเทนต์เกี่ยวกับ LGBTQIA+ ไปไกล และลงลึกกว่านั้นมากแล้ว

     “สำหรับเรา ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ จึงเป็นหมุดหมายที่เล่าถึงสังคมในช่วงเวลานั้น ที่อยากบอกว่า LGBTQIA+ คือบุคคลที่เป็นใครก็ได้ในชีวิตของพวกเรา ทั้งเพื่อน พี่ น้อง พ่อ แม่ เป็นคนปกติที่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ไม่ได้ประหลาด ไม่ได้พิเศษ เป็นคนธรรมดาที่เจอได้ทุกวัน เหมือนกับเราทุกคนนั่นแหละ”

     เวลาเดินมาถึง พ.ศ. 2566 ที่เราได้ดูละครที่เล่าถึงมิตรภาพและความสัมพันธ์ในครอบครัวที่มีสมาชิกเป็น LGBTQIA+ ได้อย่างสวยงาม นั่นคือ มาตาลดา ที่ตัวละคร “พ่อเกรซ” เลือกที่จะยอมรับสิ่งที่ตัวเองเป็น และบอกให้ลูกสาวเข้าใจ แม้ในตอนแรกสังคมภายนอกจะมองครอบครัวนี้ด้วยสายตาแปลกประหลาด แต่ความภูมิใจที่ได้เป็นตัวเองของเกรซ และความรักของมาตาลดาที่มีต่อพ่อก็พิสูจน์ให้ทุกคนซาบซึ้งในรักแท้ที่ไม่มีเงื่อนไขหรือกติกาใดที่จะบีบบังคับได้

     ชาย ชาตโยดม เจ้าของรางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมเวทีนาฏราช ครั้งที่ 15 ประจำปี 2566 จากบทพ่อเกรซ เล่าถึงละครเรื่องนี้ว่า “ละครเรื่อง มาตาลดา กล้าที่จะเล่าความจริง มันมีหลายมุมที่สังคมอาจจะเข้าใจแบบผิวเผินว่าสเตอริโอไทป์หนึ่งของคนที่เป็น LGBTQIA+ คือการแต่งหญิง ตุ้งติ้ง ตลกโปกฮา แต่ในวันที่สื่อเล่าให้เห็นชีวิตความเป็นอยู่จริงๆ สิ่งที่เขาต้องเจอ ชายว่ามันช่วยให้คนเปิดใจ และเห็นความเป็นมนุษย์ของทุกเพศทุกวัยมากขึ้น จนอยากเข้าใจว่าชีวิตเขาผ่านอะไรถึงมาจุดนี้บ้าง

     “สำหรับละครเรื่องนี้ชายไม่ได้มองว่าเป็นแค่เรื่องของความหลากหลายทางเพศ แต่เป็นชีวิตมนุษย์ที่มีความเป็นสากลสูงว่า ทุกคนต้องการความรัก ที่ยึดเหนี่ยว ความเข้าใจ เพราะเราล้วนมีทั้งวันที่เข้มแข็ง อ่อนแอ และสิ่งแรกที่มีความสำคัญคือสถาบันครอบครัว ซึ่งท้ายที่สุดอาจไม่จำเป็นต้องหมายถึงพ่อ แม่ พี่ น้อง หรือปู่ ย่า ตา ยาย เพราะทุกคนไม่ได้โชคดีเกิดมาในครอบครัวที่อบอุ่น แต่อาจเป็นครอบครัวที่เราสร้างขึ้นมาเอง ที่สามารถเป็นที่พักพิงทางใจ ให้ความรักความมั่นคงได้ นอกจากนี้ มาตาลดา ยังชวนให้เปิดใจเรียนรู้สิ่งที่อยู่รอบข้าง เพราะชีวิตไม่เคยหยุดนิ่ง สังคมเรามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถ้าเราเรียนรู้และเข้าใจกันมากขึ้น สังคมจะมีความรักและเมตตากันมากขึ้นด้วย”

     ปรากฏการณ์ซีรีส์วาย-ซีรีส์ยูริ



WATCH




     อีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของการเติบโตในวงการบันเทิงไทยคือการนับหนึ่งของซีรีส์วาย (Boy’s Love) เรื่อง รักวุ่น วัยรุ่นแสบ Love Sick The Series (พ.ศ. 2557) นับเป็นซีรีส์เรื่องแรกๆ ที่นำเสนอความรักระหว่างผู้ชายที่ไม่ได้จบลงด้วยความผิดหวัง

     กระทั่งการมาถึงของ เพราะเราคู่กัน 2gether The Series (พ.ศ. 2563) จากนิยายสุดฮิตที่เกิดปรากฏการณ์แฮชแท็ก #คั่นกู ขึ้นเทรนด์ X (Twitter ในขณะนั้น) อันดับหนึ่งทุกครั้งที่ออกตอนใหม่ สู่ซีรีส์ที่ประสบความสำเร็จถล่มทลาย มีแฟนคลับทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกตั้งแต่เอเชีย ยุโรป จนถึงลาตินอเมริกา ที่ระดมโพสต์ข้อความประทับใจเต็มฟีดโซเชียลมีเดีย

     นับจากนั้น วงการซีรีส์วายไทยก็ติดจรวด จำนวนซีรีส์เพิ่มขึ้นทุกปี รวมไปถึงขยายพื้นที่ความรักในซีรีส์ยูริหรือ Girl’s Love ที่สร้างกระแสได้ยอดเยี่ยมไม้แพ้กัน ดังเช่น ทฤษฎีสีชมพู GAP The Series ที่ยอดวิวพุ่งทะยานตั้งแต่ตอนแรก จนถึงตอนสุดท้าย ทั้งยังคว้ารางวัลจากเวทีต่างๆ ไปเพียบ

     การเติบโตแบบก้าวกระโดดนี้ทำให้ผู้ผลิตหลายรายหันมาลงแข่งในตลาดที่เดือดทะลักขึ้นเรื่อยๆ จากซีรีส์ที่เริ่มต้นกับคนดูเฉพาะกลุ่ม กลายเป็นโปรแกรม Must-have! ของสถานีช่องหลักๆ ในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อย

     ส่วนกลุ่มนักแสดงหน้าใหม่ที่แจ้งเกิดจากซีรีส์ทั้งสองประเภทก็กลายเป็นซูเปอร์สตาร์ได้รับเชิญจากแบรนด์แฟชั่นระดับโลกให้ไปร่วมงานต่างๆ ไหนจะกิจกรรมแฟนมีตในหลายประเทศที่มีแฟนคลับมารอให้กำลังใจกันแน่นตั้งแต่ที่สนามบิน รวมถึงปรากฏการณ์ที่แฟนคลับชาวไทยและต่างชาติร่วมกันลงขันเป็นจำนวนเงินหลักสิบล้านบาทเพื่ออวยพรวันเกิดให้นักแสดงที่พวกเขารัก ผ่านป้ายบิลบอร์ดย่านไทม์สแควร์ มหานครนิวยอร์ก

     นอกจากตัวซีรีส์กับนักแสดงแล้ว วัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของไทยก็ได้รับอิทธิพลจากความสำเร็จด้วยเช่นกัน เช่น อาหารที่ตัวละครกิน หรือสถานที่ถ่ายทำในซีรีส์ ก็มีแฟนคลับจากประเทศต่างๆ ตามมาเช็กอินถึงเมืองไทย ซึ่งเป็นรูปแบบที่ใกล้เคียงกับแฟนคลับซีรีส์เกาหลีหรือแวดวง K-Pop พิสูจน์ชัดว่าพลังของซีรีส์วายและซีรีส์ยูริของประเทศไทย กำลังขยายตัวไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกอย่างต่อเนื่องและเร็วขึ้นเรื่อยๆ

     กระทั่งสื่อชั้นนำอย่าง Nikkei Asia ยังพูดถึงปรากฏการณ์นี้ว่าประเทศไทยยอมรับชุมชน LGBTQIA+ มากกว่าหลายประเทศในทวีปเอเชีย และซีรีส์ไทยก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จแค่ในประเทศเท่านั้น แต่กำลังสร้างกระแสนิยมไปทั่วโลก  

     อนาคตของซีรีส์ไทย สู่ความเท่าเทียมในสังคม

     ย้อนกลับไป 20 ปีก่อน ถ้ามีใครตั้งคำถามว่าซีรีส์ไทยที่เล่าถึงความรักในกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศจะได้รับความนิยมและสร้างมูลค่าหลักพันล้านบาทได้หรือไม่ คงมีแต่คนส่ายหน้า วันนี้ข้อมูลคาดการณ์ล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์ในปี 2566 ระบุว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ซีรีส์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมีมูลค่าการส่งออก 8,000 ล้านบาท และในปี 2567 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 10,000 ล้านบาท โดยเฉพาะในกลุ่มภาพยนตร์และซีรีส์วายจะเพิ่มจาก 1,000 ล้านบาทเป็น 2,000 ล้านบาท

     จึงไม่ใช่เรื่องเกินจริงถ้าจะบอกว่าตลาดซีรีส์วายของไทยเป็น Red Ocean หรือพื้นที่ธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงที่สุดไปแล้ว และผู้ที่ได้ประโยชน์เต็มๆ ก็คือผู้บริโภค เพราะผู้แข่งขันแต่ละรายต่างพยายามผลิตผลงานที่หลากหลาย มีคุณภาพ และเนื้อเรื่องสดใหม่ตลอดเวลา

     เห็นได้จากข้อมูลปี 2567 ที่ค่ายผู้ผลิตต่างๆ ออกมาประกาศรายชื่อซีรีส์เรื่องเด็ดแบบไม่ยอมน้อยหน้ากันเลย รวมแล้วกว่า 100 เรื่อง และตัวละครก็มีความหลากหลายทางอาชีพมากขึ้นด้วย ทั้งพนักงานบริษัท นักเรียน นักกีฬา แพทย์ ตำรวจ จนถึงแวมไพร์ ซึ่งหากย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น ตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศจะเป็นเพียงตัวประกอบผู้สร้างเสียงหัวเราะ นับว่าอุตสาหกรรมบันเทิงไทยกำลังอยู่บนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงที่ดีมากจริงๆ

     ในส่วนของเนื้อหา ซีรีส์หลายเรื่องก็ไม่ได้เล่าแค่ความรักของตัวละคร แต่นำเสนอความสัมพันธ์รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในครอบครัว เพื่อน หรือสังคม รวมไปถึงสิทธิและความเท่าเทียม แสดงให้เห็นว่านอกเหนือจากความบันเทิงแล้ว ซีรีส์เหล่านี้ยังเป็นกระบอกเสียงให้ชุมชน LGBTQIA+ ด้วย

     ซีรีส์วายและซีรีส์ยูริของไทยไม่ได้จบแค่ยอดวิวหรือสร้างซูเปอร์สตาร์คนใหม่ให้วงการบันเทิง แรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนประตูที่เปิดโลกอีกมุมที่เคยถูกซ่อนอยู่ในเงามืดให้ส่องประกายสวยงาม เพราะมียูทูเบอร์และอินฟลูเอนเซอร์ในโลกออนไลน์ที่มาจากชุมชน LGBTQIA+ ไม่น้อยเลยที่เป็นแรงบันดาลใจและต้นแบบที่ดีให้สังคม

     ดูเหมือนว่าโลกสีรุ้งกำลังฉายแสงแรงขึ้นเรื่อยๆ หวังว่าการเดินทางครั้งนี้จะนำไปสู่บทสรุปแห่งความเท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริง เพราะไม่ว่าจะเป็นเพศอะไรหรืออยู่ในวัยไหน ล้วนมีคุณค่าความเป็นมนุษย์เหมือนๆ กัน

ข้อมูล : หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน), หนังสือเพศแห่งสยาม สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ

WATCH