Smantha Jones in Swimwear from Sex and the City
LIFESTYLE

VOGUE OPINION | ทำไมการสวมใส่ชุดว่ายน้ำของผู้หญิงหลายคน จึงกลายเป็นเรื่องดราม่าระดับประเทศ

ผู้หญิงหลายคนถูกค่อนแคะว่า 'ไม่เหมาะสม' ทั้งๆ ที่พวกเธอใส่บิกินี่เดินอยู่บนชายหาดด้วยซ้ำ!

     นับตั้งแต่ปี 1900 เป็นต้นมา ชายหาดของประเทศสหรัฐอเมริกาพลุกพล่านไปด้วยผู้คน เนื่องจากกิจกรรมทางทะเลกลายเป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่อเมริกันชนทั้งหญิงชาย และปรากฏการณ์ดังกล่าวนั้นเองที่นำมาซึ่งวิวัฒนาการของสิ่งที่เรียกว่า “ชุดว่ายน้ำ” พร้อมการถือกำเนิดขึ้นของกฎหมายท้องถิ่นที่หลายคนไม่คาดฝัน อย่างการจัดตั้งกองกำลังพิเศษ “Beach Censors” หรือแปลเป็นไทยอย่างง่ายว่า “ตำรวจลาดตระเวนชายหาด” ซึ่งมีหน้าที่ลาดตระเวนชายหาดพร้อมสายวัดประจำตัว คอยวัดความสั้นยาวของชุดว่ายน้ำของเหล่าสุภาพสตรีตลอดชายฝั่งอันทอดยาว และหากพบว่าพวกเธอสวมใส่ชุดว่ายน้ำที่สั้นเกินไป ตำรวจเหล่านี้มีสิทธิ์ไล่พวกเธอกลับบ้าน หรือกระทั่งขอให้พวกเธอเปลี่ยนชุดใหม่เสียตรงนั้น นั่นคือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นหนึ่งในชนวนสำคัญของจุดเริ่มต้นในการเคลื่อนไหวเพื่อตั้งคำถามโต้กลับถึงการเข้ามา ‘ยุ่มย่าม’ บนเนื้อตัวร่างกายผู้หญิงของขบวนการเฟมินิสต์

     และแม้ว่าการเรียกร้องดังกล่าวจะเคลื่อนไหวภายใต้คำว่า ‘ผู้หญิงทุกคน’ แบบเหมารวมมาตั้งแต่ต้น แต่ก็ใช่ว่าในยุคสมัยนี้ผู้หญิงทุกคนจะได้รับอนุญาตจากสังคมให้สวมใส่ชุดว่ายน้ำโดยไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ จับผิด หรือตัดสินเสียเมื่อไหร่ เพราะแท้จริงแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าตอนนี้ ยังมีผู้หญิงอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังคงถูกพิพากษาจากสังคมแวดล้อม เมื่อพวกเธอนึกจะหยิบเอาชุดว่ายน้ำเก่าเก็บในตู้เสื้อผ้าออกมาใส่สักครั้งในชีวิต

Beach Censors in 1900s at the beach.

     หนึ่งในบ่อเกิดสำคัญของมายาคติที่ว่า ผู้หญิงหุ่นสวย (ตามบรรทัดฐานของสังคม) เท่านั้นที่เหมาะสมกับการสวมใส่ชุดว่ายน้ำแล้วได้รับคำชื่นชม ก็คงหนีไม่พ้น ‘เวทีประกวดนางงาม’ ที่ตัดสินความงามของผู้หญิงจากทั่วโลกผ่านรูปลักษณ์ภายนอกในชุดว่ายน้ำมานานหลายทศวรรษ และสิ่งที่เกิดขึ้นบนเวทีประกวดนางงามนั้นเองที่กีดกันผู้หญิงรูปร่างอ้วนให้ออกไปอยู่นอกจักรวาลชุดว่ายน้ำ กีดกันผู้หญิงมีอายุในชุดว่ายน้ำให้กลายเป็นแค่ตัวตลกหรือเรื่องอื้อฉาวน่าประหลาดใจของสังคม กระทั่งกีดกันให้เด็กสาวกลายเป็นแค่เด็กแก่แดดแก่ลม เมื่อพวกเธออยากหยิบชุดว่ายน้ำขึ้นมาใส่เหมือนพี่สาวหรือแม่ของเธอบ้าง พวกเธอเหล่านั้นยังถูกกันออกไปนอกอาณาบริเวณของความสวยงามในการสวมใส่ชุดว่ายน้ำ ทั้งด้วยสายตา ท่าทาง หรือแม้แต่คำพูดเสียดสีจากทุกช่องทาง นั่นเองจึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ว่า ทำไมเฟมินิสต์สายถอนรากถอนโคน (Radical Feminist) จึงออกโรงย้ำนักย้ำหนาให้ยกเลิกการจัดประกวดพวกนั้นเสีย ก็เพื่อลบล้างบรรทัดฐานความงามที่เวทีนางงามเพียรผลิตซ้ำขึ้นมาทุกปี พร้อมทุบทำลายศูนย์กลางนิยามความงามเพียงหนึ่งเดียว ให้ผู้หญิงทุกคนสามารถสวยได้ในแบบของเธอเอง และไม่ต้องถูกพิพากษาจากสังคมอีกต่อไป แม้ว่าพวกเธอจะมีรูปร่างอย่างไรและอยู่ในชุดว่ายน้ำแบบใดก็ตาม

     อีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเด็นของผู้หญิงกับชุดว่ายน้ำ คงหนีไม่พ้นเหตุการณ์เมื่อปี 2019 ที่ประเทศรัสเซีย เมื่อคุณครูสาวคนหนึ่งถูกไล่ออกจากโรงเรียนทันที หลังจากที่เธอโพสต์รูปถ่ายตัวเองในชุดบิกินี่ลงบนโซเชียลมีเดียส่วนตัว โดยทางโรงเรียนให้เหตุผลว่า “ไม่เหมาะสม” ก่อนที่ต่อมาเพื่อนหญิงพลังหญิงจะโหมกระพือเรียกร้องความยุติธรรมให้เธอด้วยการโพสต์ภาพถ่ายในชุดว่ายน้ำลงบนโซเชียลมีเดียจนเกิดเป็นปรากฏการณ์ #TeachersArePeopleToo เรียกร้องความยุติธรรมให้กับครูทุกคนบนโลกในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

Swimwear and Feminist criticized.

     สำหรับผู้เขียนแล้ว ข้ออ้างเรื่อง “ความเหมาะสม” ประเภทนั้นเกิดขึ้นในสังคมไทยบ่อยเสียจนกลายเป็นเรื่องชินชาไปแล้ว เห็นได้จากพาดหัวข่าวออนไลน์ของหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่ยังคงวนเวียนอยู่กับความไม่เหมาะสมที่ตำรวจหญิงคนนั้น คุณครูหญิงคนนี้ หรือนักการเมืองหญิงคนโน้น ถูกเพ่งเล็งจากผู้ใหญ่ เพียงเพราะพวกเธอเลือกที่จะสวมใส่ชุดว่ายน้ำและถ่ายรูปตัวเองโพสต์ลงบนโซเชียลมีเดีย โดยข้อแก้ต่างของสังคมไทยต่อกรณีอื้อฉาวแบบนั้นก็ลงเอยด้วยประโยคแพตเทิร์นเดิมๆ อย่าง “อาชีพเหล่านี้เป็นอาชีพที่มีเกียรติ ควรดำรงตนให้อยู่ในความสุภาพเรียบร้อย ไม่ควรเผยด้านเซ็กซี่ของตัวเองออกมาให้ใครเห็นอย่างประเจิดประเจ้อเช่นนี้ มันดูไม่น่าเชื่อถือ และดูไม่เหมาะสม...”

     ไม่เหมาะสมกระทั่งที่ว่า พวกเธอสวมใส่ชุดว่ายน้ำบิกินี่อยู่ริมทะเลหรือริมสระว่ายน้ำแบบสมเหตุสมผลและถูกกาลเทศะที่สุดน่ะหรือ

     ไม่จริงหรอก...คำว่า “ไม่เหมาะสม” ที่ใช้กันจนเกร่อนั้นก็เป็นเพียงแค่ข้ออ้าง เพราะหากพิจารณากันตามจริงผ่านเลนส์การเคลื่อนไหวแบบสตรีนิยมแล้ว นี่คือการท้าทายเงื้อมเงาแห่งระบบปิตาธิปไตย (Patriarchy) ต่างหาก อ้างอิงจากทัศนะของ St. Augustin ที่ผูกโยงสัญญะไว้กับ 2 ขั้วเพศ นั่นคือ ‘เพศชาย’ คือความมีเหตุผล ความหนักแน่น อำนาจ และความน่าเชื่อถือ ในขณะที่ ‘เพศหญิง’ คือความรู้สึก อารมณ์ ความอ่อนไหว และความไม่แน่นอน ดังนั้นเมื่อกลุ่มผู้หญิงที่มีหน้าที่การงานที่ต้องสวมใส่ ‘เครื่องแบบ’ อันเป็นผลผลิตจากอำนาจของรัฐที่ต้องการควบคุมพลเมือง ซึ่งยึดโยงอยู่กับระบบปิตาธิปไตยเข้มข้น อย่างเช่นอาชีพครู ตำรวจ ทหาร หรือนักการเมืองนั้น ตัดสินใจลุกขึ้นมาสวมใส่บิกินี่โชว์เรือนร่างให้เห็นส่วนเว้าส่วนโค้งของร่างกาย จึงไม่ต่างอะไรกับการลุกขึ้นท้าทายอำนาจรัฐที่ต้องการควบคุมร่างกายของพวกเธอผ่านเครื่องแบบ ซึ่งนั่นยังหมายถึงการท้าทายความน่าเชื่อถือที่รัฐสถาปนาให้กับเครื่องแบบทุกประเภทมาตั้งแต่ไหนแต่ไรอีกด้วย คำว่า ‘ไม่เหมาะสม’ จึงถูกนำมาใช้เป็นอาวุธปรามพวกเธอเหล่านั้นไม่ให้แตกแถว และไล่พวกเธอให้กลับเข้าคอกไปอยู่ในอาณัติ ในเครื่องแบบที่รัฐกำหนดให้เสียดีๆ



WATCH




Don't  Tell Me How To Dress campaign.

ภาพถ่ายส่วนหนึ่งจากแคมเปญ 'Don't Tell Me How to Dress' ของนางแบบชื่อดัง ซินดี้ สิรินยา บีชอพ

 

     เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ก็คงไม่มีใครจะน่าสงสารไปกว่า ซินดี้ สิรินยา บีชอพ ผู้บุกเบิกโครงการ Don’t Tell Me How to Dress มานานกว่า 3 ปี ที่คงจะต้องมีกุมขมับและรู้สึกท้อกันอยู่บ้าง เพราะดูเหมือนว่าหนทางการรณรงค์ของเธอนั้นยังจะต้องดำเนินไปอีกยาวไกลไม่มีที่สิ้นสุด และคงจะต้องทุ่มเททุกสรรพกำลังที่มีเหลือคณานับ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของผู้หญิงอีกนับหมื่นนับแสนคน ผ่านประเด็น “My Body, My Choice” เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนในสังคมต่อไป

     สุดท้ายแล้ว ข้อเขียนเรื่องนี้ก็ไม่ได้มีจุดประสงค์ในการเขียนขึ้นเพียงเพื่อเรียกร้องให้ทุกคนตระหนักถึง และเคารพสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายของเพื่อมนุษย์รอบข้างเราเท่านั้น หากยังต้องการให้ผู้ที่มีโอกาสได้อ่านข้อเขียน Vogue Opinion ฉบับนี้ ได้ย้อนกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองด้วยว่า “คุณคือหนึ่งในคนที่ไม่อนุญาตให้ ‘ผู้หญิงทุกคน’ ได้สวมใส่ชุดว่ายน้ำอย่างที่เธอต้องการหรือไม่” และหากเป็นเช่นนั้นคุณจะจัดการตัวเองอย่างไรดี เพราะตอนนี้ฤดูร้อนมาถึงแล้ว และผู้เขียนก็เชื่อเหลือเกินว่า พวกเธอคงจะไม่ยอมให้คุณพิพากษาร่างกายของพวกเธอในชุดว่ายน้ำตัวโปรดได้ง่ายๆ เป็นครั้งที่สองแน่นอน

WATCH