LIFESTYLE
ผ่านมา 3 ทศวรรษ ทำไม Slam Dunk จึงยังเป็นมังงะบาสเก็ตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมามีมังงะบาสเก็ตบอลเกิดใหม่มากมาย...แต่ถ้าถามว่ามีเรื่องไหนที่สามารถเทียบเคียง Slam Dunk ได้หรือไม่ คำตอบคือไม่มี |
อาจารย์ ทาเคฮิโกะ อิโนะอุเอะ ผู้เขียน Slam Dunk
Slam Dunk คือมังงะบาสเกตบอล ผลงานของอาจารย์ ทาเคฮิโกะ อิโนะอุเอะ เริ่มตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Weekly Shonen Jump ในปี 1990 และหลังจากนั้นภายในเวลาไม่นาน มันก็ประสบความสำเร็จอย่างมหาศาล มีทั้งมังงะฉบับรวมเล่ม รวมถึงแอนิเมชั่นตามมา
กว่า 126 ล้านเล่มคือยอดขายฉบับรวมเล่มของ Slam Dunk ส่งผลให้มังงะเรื่องนี้ขึ้นแท่นกลายเป็นมังงะแนวกีฬาขายดีที่สุดตลอดกาลอย่างไม่มีใครเทียบเคียงได้ ทว่ายอดขายหรือผลกำไรทางธุรกิจก็เป็นเพียงส่วนเท่านั้น เพราะต่อให้ตัดเรื่องเหล่านี้ออกไป Slam Dunk ก็ยังคงเป็นมังงะยิ่งใหญ่ในความทรงจำอยู่ดี ตลอดระยะเวลากว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ใช่ว่าไม่มีมังงะบาสเกตบอลเกิดใหม่ ตรงกันข้ามมันมีจำนวนมากจนไม่อาจกล่าวถึงได้หมดด้วยซ้ำ แต่ถ้าถามว่ามีเรื่องไหนที่สามารถเทียบเคียง Slam Dunk ได้หรือไม่ คำตอบคือไม่มี ทั้งในแง่สถิติที่สามารถพิสูจน์ทราบทางตัวเลขได้ รวมถึงเรื่องอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ทำไม Slam Dunk ถึงยังเป็นมังงะบาสเกตบอลที่ดีที่สุด ร่วมหาคำตอบพร้อมกันได้ในบทความนี้
5 ตัวจริงทีมบาสเกตบอลโรงเรียนโชโฮคุ
ลายเส้นตราตรึงอารมณ์
ในตอนนี้คงไม่มีใครกังขากับฝีมือในการสร้างสรรค์งานภาพของ อาจารย์ ทาเคฮิโกะ อิโนะอุเอะ อีกต่อไป หลังจากที่ผลงานในช่วงหลังของเขา โดยเฉพาะมังงะซามูไรเรื่อง Vagabond ขึ้นชื่อเรื่องความสวยงาม วิจิตรตระการตา รวมกับนำภาพวาดสีน้ำมาร้อยเรียงกันในรูปแบบมังงะ ทว่าไม่ใช่แค่ Vagabond เท่านั้น เพราะผลงานเรื่องอื่นๆ ของอาจารย์อิโนะอุเอะ ถึงจะไม่สวยงามเท่า แต่มาตรฐานของมันก็จัดว่าอยู่ในระดับสูง ไม่ว่าจะ Real มังงะบาสเกตบอลอีกเรื่องของอาจารย์ ที่เลือกเล่ามุมมองที่แปลกและแตกต่างไปจากเดิม กับเรื่องราวการต่อสู้บนเก้าอีวีลแชร์ในการแข่งขันบาสผู้พิการ และแน่นอน Slam Dunk พระเอกของบทความนี้ด้วย
ถึงแม้ในเนื้อเรื่องช่วงแรกของ Slam Dunk ลายเส้นอาจจะยังดูค่อนข้างธรรมดา เน้นความสนุกสนาน ตลกขบขัน ในสไตล์ของมังงะแก๊กเสียมากกว่า แต่นั่นก็เพราะอารมณ์และบรรยากาศของเรื่องในช่วงแรกยังมีความจริงจังค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่เรื่องราวตลกโปกฮา ความกวนอวัยวะเบื้องล่างของ ฮานามิจิ ซากุรางิ และผองเพื่อนเสียมากกว่า
อย่างไรก็ตามเมื่อเรื่องดำเนินไปได้สักระยะ เข้าสู่โลกบาสเกตบอลอย่างจริงจัง การแข่งขันในสนามดุเดือดเข้มข้น งานภาพของอาจารย์อิโนะอุเอะก็เปลี่ยนไป ลายเส้นคมขึ้น ดุดันขึ้น และเน้นการถ่ายทอดอารมณ์ของเหล่าตัวละครออกมามากขึ้น สิ่งที่ทำให้งานภาพของ Slam Dunk โดดเด่นขึ้นมาคือการที่อาจารย์อิโนะอุเอะไม่ขี้เกียจในการใส่รายละเอียด ทำให้ไม่ว่าจะหยดเหงื่อ เส้นผม หรือกระทั่งลวดลายบนเสื้อผ้าและรองเท้าก็ไม่มีขาดตกบกพร่อง ส่งผลต่ออารมณ์ผู้อ่านให้รู้สึกละลานตา เต็มอิ่มไปกับมัน นอกจากนั้นอีกหนึ่งจุดเด่นคือการใช้ลายเส้นสร้างอารมณ์ร่วมได้เป็นอย่างดี การแสดงออกทางสีหน้า แววตา และท่าทางของเหล่าตัวละคร ทำให้ผู้อ่านรู้สึกอินไปกับสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญไปด้วย ความโดดเด่นด้านงานภาพของ Slam Dunk ถึงขั้นที่ว่าในตอนนี้มี Slam dunk Illustrations หนังสือภาพของมังงะเรื่องนี้ออกมาวางจำหน่ายแล้วถึง 2 เล่มด้วยกัน โดยด้านในก็จะเป็นการนำภาพโมเมนต์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในเรื่อง รวมถึงภาพเอ็กซ์คลูซีฟต่างๆ ที่ยังไม่เคยมีใครเห็นมาลงเส้น แต่งสีใหม่ให้ออกมาสวยงามยิ่งกว่าเดิม เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน
ขำจนตกเก้าอี้ ลุ้นจนนั่งไม่ติด
สำหรับใครที่เป็นแฟน Slam Dunk คงจดจำได้เป็นอย่างดีว่ามังงะเรื่องนี้มี “โมเมนต์แห่งความทรงจำ” มากมายขนาดไหน ทั้งขำจนท้องแข็ง ลุ้นจนนั่งไม่ติด หรือซึ้งจนน้ำตาซึม Slam Dunk ก็ไม่เคยทำให้ผิดหวัง การที่ Slam Dunk มีโมเมนต์แห่งความทรงจำน่าประทับใจมากมายนับสิบเหตุการณ์ ดังนั้นเมื่อซูมแว่นขยายออกมาและมองมันในภาพใหญ่ ความประทับใจเหล่านั้นก็รวมตัวกันจนกลายเป็นความรักที่ผู้อ่านมีต่อมังงะเรื่องนี้อย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย เริ่มตั้งแต่ในช่วงแรก Slam Dunk เปิดเรื่องด้วยอารมณ์ตลกโปกฮาไร้สาระในสไตล์ของมังงะแก๊ก กับความบ้าบอของ ฮานามิจิ ซากุรางิ พระเอกหัวแดงของเรื่องที่อดีตเคยเป็นนักเลงหัวไม้ แต่ตอนนี้กลับเบนเป้ามาเข้าชมรมบาสเกตบอล เพื่อต้องการพิชิตใจสาวที่เขาแอบชอบ นอกจาก ซากุรางิ ที่พร้อมจะเรียกเสียงฮาในทุกหน้ากระดาษแล้ว แก๊งเพื่อนของเขาไม่ว่าจะเป็น มิโตะ โยเฮ,โอคุทสึ ยูจิ,โนเมะ ชูอิจิโร และทาคามิยะ โนโซมิ เมื่อไรที่ตัวละครเหล่านี้อยู่กันพร้อมหน้า รับรองว่าทำนักอ่านขำจนตกเก้าอี้แน่นอน ด้วยการชกและตบมุกแสนจะบ้าบอ
หลังจากที่ขายขำไปในได้ระยะหนึ่งอาจารย์อิโนะอุอาจจะกลัวว่ามังงะของตัวเองจะไร้สาระจนเกินไป จึงเปลี่ยนรสชาติด้วยความดราม่าที่ทำเอาซึ้งจนน้ำตาซึม เราหมายถึงเหตุการณ์ที่ “ฮิซาชิ มิสึอิ” หนึ่งในตัวละครสำคัญที่เปิดตัวมาในมาดนักเลงหัวไม้ พยายามทำลายชมรมบาสเกตบอลของโรงเรียนโชโฮคุ ทั้งๆ ที่ย้อนกลับไปในสมัยมัธยมต้น มิสึอิ คือนักบาสเกตบอลฝีมือระดับต้นๆ ของจังหวัดเลยทีเดียว แต่สุดท้ายด้วยความช่วยเหลือของ ซากุรางิ และผองเพื่อน รวมถึงคำพูดสอนใจของ อาจารย์อันไซ โค้ชทีมโชโฮคุ ทำให้ในที่สุด มิสึอิ ก็สามารถก้าวข้ามผ่านอดีตอันเลวร้าย เปลี่ยนตัวเองเป็นคนใหม่ และกลายมาเป็นสมาชิกคนสำคัญของชมรมบาสเกตบอลโรงเรียนโชโฮคุในตำแหน่งชูตติ้งการ์ดได้สำเร็จ ถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ประทับใจที่แฟนๆ Slam Dunk คงจำได้ไม่มีวันลืม
หลังจากนั้นเมื่อเข้าสู่โลกแห่งการแข่งขันบาสเกตบอล ก็มีโมเมนต์น่าประทับใจอีกหลายครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นไปทางบิวต์อารมณ์คนอ่านให้ลุ้นจนตัวเกร็ง เรียกว่าถ้าเช่ามาอ่านจากร้าน เมื่ออ่านจบเล่มแทบจะพุ่งตัวออกไปเช่ามาต่อทันที ส่วนใครที่ตามอ่านตั้งแต่สมัยยังตีพิมพ์เป็นรายสัปดาห์กับนิตยสาร Boom ก็น่าจะรู้ซึ้งเป็นอย่างดีว่าอาการ “ลงแดง” เป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นศึกการแข่งขันเพื่อชิงตั๋วไปแข่งระดับประเทศกับโรงเรียนเรียวนัน โรงเรียนไคนัน หรือโรงเรียนโชโย ก็ล้วนแต่เร้าใจ ทำเอาอะดรีนาลีนพุ่งพล่านทุกครั้งที่ได้อ่าน แต่ถ้าถามว่าการแข่งขันแมตช์ไหนคือการแข่งขันที่มันหยดติ๋งที่สุด เชื่อว่าแฟน Slam Dunk ทุกคนคงตอบเป็นเสียงเดียวกัน คงป็นแมตช์ไหนไปไม่ได้นอกจากศึกชิงแชมป์ระดับประเทศรอบที่ 2 โรงเรียนโชโฮคุ ม้านอกสายตาจากจังหวัดคานางาวะ โคจรมาพบกับ โรงเรียนเทคโนโลยีซังโน จากจังหวัดไอจิ ทีมที่ขึ้นชื่อว่าเก่งกาจไร้เทียมทานที่สุดในวงการบาสเกตบอลมัธยมปลายประเทศญี่ปุ่น ถึงแม้อาจารย์อิโนะอุเอะจะเดินตามรอยสไตล์มังงะโชเน็นแบบตามตำราเป๊ะๆ โดยให้ทีมโชโฮคุ โดนนำไปก่อนอย่างถล่มทลายกว่า 30 แต้ม ก่อนที่พวกเขาจะค่อยๆ รวมรวบพลังมิตรภาพ งัดความเป็นนักสู้ในจิตใจออกมา ค่อยๆ พลิกสถานการณ์ขึ้นมา ก่อนจะแซงเข้าป้ายเป็นผู้ชนะในวินาทีสุดท้ายด้วยสกอร์ 78-77
ศึกระหว่างโชโฮคุกับเทคโนฯซังโน ก็ไม่ต่างอะไรจากการสั่งผัดกระเพราในร้านอาหารตามสั่ง เนื่องจากวิธีการเล่าเรื่องที่ทำให้พวกตัวเอกเจอกับสถานการณ์ยากลำบากแบบสุดๆ ก่อนที่จะฮึดสู้จนเอาชนะได้อย่างเร้าใจในวินาทีสุดท้าย คือสิ่งที่นักอ่านมังงะพบเจอมามากมายนับไม่ถ้วนตั้งแต่จำความได้ แต่กระเพราก็คือกระเพรา ต่อให้มันซ้ำซากจำเจขนาดไหน ถ้าพ่อครัวปรุงรสออกมาอร่อย มันก็ยังคงอร่อยอยู่วันยังค่ำ อาจารย์อิโนะอุเอะไม่ใช่แค่พ่อครัวฝีมือดี แต่เขาคือเชฟเทวดา ดังนั้นศึกระหว่างโชโฮคุกับเทคโนฯซังโน ที่เดินตามแพทเทิร์นดั้งเดิมรสชาติจึงออกมา “อร่อยเลิศ” ทุกอย่างลงตัวไปหมด โดยเฉพาะฉากแปะมือระหว่าง ซากุรางิ กับ รุคาว่า อีกหนึ่งตัวละครเอก หลังจากที่เป็นคู่กัดกันมาตลอดทั้งเรื่อง ในที่สุดทั้งคู่ก็ร่วมมือกัน ถ้าถามว่ามันน่าดีใจขนาดไหน ก็ดูอาจารย์อันไซเป็นตัวอย่าง ที่ถึงขั้นเก็บอาการไม่อยู่ ลงไปนั่งยองๆ เฮเลยทีเดียว ที่เล่ามาเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น Slam Dunk ยังมีโมเมนต์แห่งความทรงจำอีกมากมายที่ช่วยสร้างเสริมให้รสชาติของมังงะเรื่องนี้ ไม่ว่าจะหยิบมาอ่านกี่ครั้งก็ยังอร่อยเหมือนเดิมไม่เปลี่ยน
WATCH
ซากุรางิ และโชโฮคุที่รัก
คงไม่มีใครคัดค้านถ้าเราจะบอกว่าความโดดเด่นในฐานะตัวละครพระเอกของ ฮานามิจิ ซากุรางิ นั้นเทียบเท่ากับพระเอกในตำนานแห่งโลกมังงะคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น โอนิซึกะ เอคิจิ จาก GTO คุณครูพันธุ์หายาก, โบยะ ฮารุมิจิ จาก เรียกเขาว่าอีกา, หรือแม้กระทั่ง มังกี้ ดี ลูฟี่ จาก One Piece ขวัญใจมหาชนในยุคปัจจุบัน ด้วยบุคลิกจอมกวน เรียกเสียงฮาได้ตลอดเวลา ไม่ยอมใคร มีใจนักสู้ อีกทั้งยังมาพร้อมกับหัวสีแดงแรงฤทธิ์ นอกจากนั้นผู้อ่านยังรู้สึกเหมือนได้เติบโตไปพร้อมๆ กับเขา จากในเล่มแรกที่อย่าว่าแต่เล่นบาสเกตบอลเป็นเลย แค่กฎกติกา ซากุรางิ ยังไม่รู้ด้วยซ้ำ เขาเข้าชมรมมาเพราะเรื่องผู้หญิงล้วนๆ ก่อนที่ช่วงหลัง ซากุรางิ จะตระหนักได้ว่าตัวเขาหลงรักกีฬาบาสเกตบอลเข้าแล้ว อีกทั้งฝีมือการเล่นยังค่อยๆ พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ มีเพียงความกวนอวัยวะเบื้องล่างนี่แหละที่ไม่เคยเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะในเล่มที่ 1 หรือเล่มที่ 31
ถึงแม้ ซากุรางิ จะโดดเด่นขนาดไหน แต่ตัวละครอื่นๆ โดยเฉพาะสมาชิกชมรมบาสเกตบอลโรงเรียนโชโฮคุก็มีเสน่ห์ไม่แพ้กัน เรียกได้ว่าทุกตัวมีกลุ่มแฟนคลับเป็นของตัวเอง เรื่องนี้ต้องชื่นชมฝีมืออันร้ายกาจของอาจารย์อิโนะอุเอะในการออกแบบตัวละคร เริ่มจาก คาเอดะ รุคาว่า ที่ถือเป็นพระเอกคนที่ 2 ของเรื่อง ผู้มาพร้อมกับหน้าตาหล่อเหลา ครองใจนักอ่านสาวๆ ได้ตั้งแต่แรกเห็น ส่วนฝั่งนักอ่านผู้ชายที่ในช่วงแรกอาจจะรู้สึกหมั่นไส้ตัวละครนี้นิดหน่อย (ก็แหงล่ะ ขี้เก๊กเสียขนาดนั้น) แต่หลังจากที่ผ่านเรื่องราวต่างๆ พอสมควร ก็ได้รู้ว่า รุคาว่า ไม่ใช่คนเลวร้าย เขาเป็นหนึ่งในคนที่ทุ่มเทให้กับทีมเกินร้อย อีกทั้งฝีมือการเล่นก็อยู่ในระดับสูง เพียงแต่บุคลิกของเขาอาจจะขัดหูขัดตาไปสักหน่อยเท่านั้น ด้วยเหตุนี้นักอ่านทุกหมู่เหล่าจึงค่อยๆ รู้สึกรักและผูกพันกับ รุคาว่า ไปโดยปริยาย
ต่อด้วย อาคางิ ทาเคโนริ ที่พูดตามตรงว่าดีไซน์ตัวละครนี้อยู่ด้านตรงข้ามกับการเป็นตัวละครขวัญใจนักอ่านโดยสิ้นเชิง แต่ด้วยบุคลิกที่เป็นคน หน้าร้าย ปากร้าย แต่ใจดี ทุ่มเทให้กับทีมเสมอ อีกทั้งยังรักพวกพ้องมากกว่าใคร สมกับเป็นพี่ใหญ่ ดังนั้นสำหรับนักอ่านส่วนใหญ่ อาคางิ นี่แหละคือกัปตันทีมโชโฮคุที่สมบูรณ์แบบแล้ว มิยางิ เรียวตะ ผู้เล่นตำแหน่งพอยต์การ์ดของโชโฮคุ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวละครที่นักอ่านชื่นชอบ เพราะนี่คือตัวละครที่มีส่วนผสมของตัวละครอื่นๆ ในทีมอย่างลงตัว จริงจังแบบ อาคางิ แต่ก็ยังมีความกวนบาทาแบบ ซากุรางิ แถมบางจังหวะก็ดูเท่เหมือน รุคาว่า อีกทั้งฝีมือการเล่นก็อยู่ในระดับยอดเยี่ยม ถึงแม้ด้วยรูปร่างที่สูงเพียง 168 เซนติเมตร จะทำให้ มิยางิ ดูไม่โดดเด่นยามอยู่ในสนาม แต่ด้วยการเล่นแบบใช้มันสมองเป็นหลัก จ่ายบอลอย่างแม่นยำ นี่จึงเป็นฟันเฟืองสำคัญอีกหนึ่งชิ้นที่โชโฮคุจะขาดเสียไม่ได้
สำหรับ ฮิซาชิ มิสึอิ คงไม่ต้องอธิบายอะไรให้มากมาย เพราะรองจาก ซากุรางิ และ รุคาว่า ก็เป็น มิสึอิ นี่แหละที่ได้รับความนิยมจากนักอ่านในอันดับรองลงมา นี่คือตัวละครที่มีมิติลึกซึ้ง เราได้เห็นเขาตั้งแต่ยังเป็นอันธพาลไว้ผมยาว ก่อนที่จะกลับตัวผมใจเข้ามาเป็นสมาชิกชมรม นอกจากนั้นหน้าตาของเขาก็ถือว่าหล่อเหลาเอาการ อีกทั้งสไตล์การเล่นที่เน้นการชู้ต 3 แต้มอย่างแม่นยำก็เท่มากๆ เช่นกัน แม้กระทั่งตัวละครโค้ชอย่างอาจารย์อันไซ และตัวสำรองอย่าง โคงุเระ คิมิโนบุ หรือ “พี่แว่น” ก็มีโมเมนต์น่าจดจำด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้นถ้าความรักที่มีต่อ Slam Dunk คือ 100 ก็คงต้องยกเครดิตครึ่งหนึ่งให้กับเหล่าตัวละครโรงเรียนโชโฮคุนี่แหละ
ตัวละครจากทีมอื่นๆ ที่น่าจดจำและมีเสน่ห์ไม่ต่างจากโชโฮคุ
น่าจดจำไม่แพ้กัน
ใช่…อาจารย์อิโนะอุเอ สร้างสรรค์ตัวละครโรงเรียนโชโฮคุออกมาได้มีเสน่ห์มาก แต่มันจะมีความหมายอะไรถ้าคู่ต่อสู้ที่พวกเขาต้องเจอเป็นเพียงแค่ตัวละครจืดชืดไร้สีสีน…แบบนั้นก็เสียชื่อ ทาเคฮิโกะ อิโนะอุเอะ หมดน่ะสิ อีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่ทำให้ Slam Dunk ยังคงตราตรึงใจแม้จะผ่านมากว่า 30 ปี คือเหล่าตัวละครจากทีมโรงเรียนอื่นๆ ที่บอกได้เลยว่าต่างคนต่างแย่งกันเด่น มีเสน่ห์เฉพาะตัวเหลือเกิน เริ่มที่โรงเรียนเรียวนัน คู่แข่งทีมสำคัญของโชโฮคุในจังหวัดคานางาวะ และคงไม่ต้องบอกว่าเมื่อพูดถึงเรียวนันจะต้องพูดถึงตัวละครไหน เพราะยังไงร้อยทั้งร้อยคำตอบก็ต้องเป็น เซนโด อากิระ
แม้จะไม่ใช่ตัวละครสังกัดโชโฮคุ แต่ความโดดเด่นของ เซนโด นั้นไม่แตกต่างจากทีมพระเอกเลย นี่คือตัวละครที่มีความครบเครื่องรอบด้าน ไม่ว่าจะหน้าตาหล่อเหลา บุคลิกที่ดูเฉยชา แต่กลับมีเสน่ห์ อีกทั้งฝีมือการเล่นยังร้ายกาจเสียด้วย นอกจากนั้นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักอ่านชื่นชอบตัวละคร เซนโด คือการที่พวกเขารู้สึกเติบโตไปพร้อมๆ กับตัวละครนี้ เช่นเดียวกับที่รู้สึกกับโชโฮคุ เพราะนับตั้งแต่ช่วงแรกที่ปรากฏตัว เซนโด ก็สถาปนาตัวเองเป็นคู่แข่งคนสำคัญของ รุคาว่า มาตลอด มีฉากที่พวกเขาดวลกันตัวต่อตัวจนดึกดื่นเพื่อหาผู้ชนะ ดังนั้นเมื่อ เซนโด เติบโตขึ้น เก่งขึ้น นักอ่านก็รู้สึกดีใจตามไปด้วย นอกจาก เซนโด แล้ว อุโอซูมิ จุน กัปตันทีมเรียวนันก็เป็นตัวละครที่น่าจดจำเช่นกัน ด้วยบุคลิกที่อาจารย์อิโนะอุเอะสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นคู่แข่งกับ อาคางิ ดังนั้นเมื่อสองตัวละครนี้เข้าฉากร่วมกันเมื่อไร ความฮาจึงบังเกิดเมื่อนั้น
จากเรียวนัน ต่อด้วยโรงเรียนสาธิตไคนัน กับตัวละคร ชินอิจิ มากิ ที่นอกจากตัวละครในเรื่องแล้ว นักอ่านเองยังรู้สึกยำเกรงต่อเขาเช่นกัน ด้วยบุคลิกที่เปรียบดั่งราชา ฝีมือระดับ MVP ของจังหวัดคานางาวะ และระดับท็อปของประเทศ เป็นผู้เล่นตำแหน่งพอยต์การ์ดที่เล่นด้วยความฉลาด อ่านเกมขาด จังหวะไหนควรทำฟาล์วคู่ต่อสู้และจังหวะไหนไม่ควรเสี่ยง มีความเป็นผู้นำสูง กระหายในชัยชนะ นอกจาก มากิ แล้ว สาธิตไคนันยังมีตัวละครอย่าง จิน โซอิชิโระ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นมือปืนจอมชู้ต 3 แต้มอันดับต้นๆ ของประเทศอีกด้วย
ฟูจิมะ เคนจิ เอซแห่งทีมโชโยคืออีกหนึ่งตัวละครที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูง โดยเฉพาะการรับบทเป็นทั้งโค้ชและผู้เล่นในตัวคนเดียว ในตอนแรกเขาจะยืนบัญชาเกมอยู่ข้างสนาม แต่ถ้าทีมเข้าตาจนเมื่อไร ตอนนั้นแหละที่ทุกคนจะรับรู้ถึงความเก่งกาจของเขา
แน่นอนว่าคงไม่พูดถึงโรงเรียนเทคโนฯ ซังโน ไม่ได้ เพราะนี่คือคู่แข่งสำคัญที่สุดของโรงเรียนโชโฮคุ โดยเฉพาะตัวละคร ซาวาคิตะ เออิจิ ที่ถึงแม้ดีไซน์ตัวละครภายนอกอาจจะดูจืดชืดกว่าตัวละครอื่นๆ แต่ฝีมือเพียงอย่างเดียวก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้นักอ่านทั่วโลกจดจำเขาได้ การดวลกันของเขากับ รุคาว่า ถือเป็นหนึ่งในฉากประทับใจที่สุดในเรื่อง ปิดท้ายด้วยตัวละคร ฮิโรชิ โมริชิเงะ จากโรงเรียนมัธยมเมโฮ เซ็นเตอร์ร่างยักษ์ปี 1 ที่มาพร้อมส่วนสูง 199 เซนติเมตร กระโดดขึ้นดังก์ครั้งเดียว ทำเอาคู่ตอ่สู้รอบข้างกระจัดกระจายไปคนละทิศทาง ตัวละครนี้ปรากฏตัวในมังงะเล่มสุดท้ายเพียงไม่กี่หน้ากระดาษเท่านั้น แต่ตอนนี้ผ่านมากว่า 30 ปีแล้ว ทุกคนก็ยังจดจำเขาได้เป็นอย่างดี นี่แหละคือเวทย์มนตร์ในการสร้างสรรค์ตัวละครของ ทาเคฮิโกะ อิโนะอุเอะ
ตอนจบที่แท้จริงที่ถูกเขียนขึ้นบนกระดานดำ
ตอนจบในความทรงจำ
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เมื่อครั้งอดีตทุกคนจะรู้สึกกับตอนจบ Slam Dunk ในแบบเดียวกันคือ “อะไรครับเนี่ย” เพราะเราเองก็เช่นกัน ใครจะไปคิดล่ะว่าหลังจากที่เอาชนะเทคโนฯ ซังโน ได้อย่างมหัศจรรย์ ผ่านไปไม่ถึงเล่มทีมโชโฮคุจะพ่ายแพ้ในรอบ 3 ต่อโรงเรียนไอวะ ไปในหน้ากระดาษเดียว และเรื่องราวทั้งหมดก็จบลงไปทั้งอย่างนั้น พร้อมฉาก ซากุรางิ อ่านจดหมายของ ฮารุโกะ รักในดวงใจของเขา ถึงแม้ตอนจบนี้จะเกิดขึ้นเพราะความขัดแย้งกันระหว่างกองบรรณาธิการกับอาจารย์อิโนะอุเอะก็ตาม แต่มันก็ห้ามใจไม่ให้รู้สึกค้างคาไม่ได้จริงๆ
ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป จากเด็กในวันนั้นสู่ผู้ใหญ่ในวันนี้ ไม่รู้ว่าทุกคนเป็นเหมือนกันหรือเปล่า แต่สำหรับเรากลับรู้สึกยอมรับตอนจบแบบนั้นได้แล้ว อีกทั้งยังคิดว่าจบแบบนี้มันก็ดีไปอีกแบบเหมือนกัน Slam Dunk เดินทางมาถึงจุดสูงสุดเท่าที่มังงะเรื่องหนึ่งจะทำได้แล้ว ทุกอย่างถูกเติมเต็มหมดแล้ว ไม่รู้เหมือนกันว่าถ้าเขียนต่อไปอาจารย์อิโนะอุเอะจะรักษามาตรฐานเท่าที่ผ่านมาได้หรือเปล่า นอกจากนั้นการที่จบแบบมันคลาสสิค เพราะไม่ว่าจะผ่านไปนานเท่าไร เมื่อพูดถึง Slam Dunk เรื่องของตอนจบก็ยังคงวนเวียนเข้ามาอยู่ในบทสนทนาอยู่เสมอ เป็นเสน่ห์เฉพาะตัวที่ไม่มีวันเสื่อมคลาย
อย่างไรก็ตามอาจารย์อิโนะอุเอะ ก็ยังแอบใจดี เขียนเรื่องราวหลังตอนจบเพิ่มขึ้นไปอีกหน่อย เพียงแต่หลายคนอาจจะไม่รู้กัน เพราะอาจารย์ไม่ได้เขียนตีลงบนกระดาษเหมือนที่ผ่านมา แต่ใช้กระดานดำเป็นสื่อแทน ตอนจบเพิ่มเติมที่ว่ามาในชื่อ “Slam Dunk 10 Days After” เป็นเรื่องราว 10 วันหลังจากตอนจบในเล่ม 31 ถูกนำเสนอออกมาในรูปแบบนิทรรศการซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 3-5 ธันวาคม ปี 2004 โดยนิทรรศการนี้ทางอาจารย์อิโนะอุเอะได้จับจองพื้นที่ของโรงเรียนมัธยมปลายมิซากิ ในจังหวัดคานางาวะ ก่อนที่จะบรรจงใช้ชอล์กวาดเรื่องราวของเหล่าตัวละครลงไปบนกระดานดำจำนวน 23 แผ่น ที่ติดอยู่ตามห้องเรียน
ตามชื่อ Slam Dunk 10 Days After เรื่องราวบนกระดานดำทั้ง 23 แผ่นได้บอกเล่าเรื่องราว 10 วันหลังจากตอนจบในฉบับรวมเล่ม ครอบคลุมตัวละครแทบทุกตัวที่หลายคนคิดถึง โดยแต่ละตัวก็จะมีเรื่องราวเป็นของตัวเอง ถึงแม้จะเป็นเพียงสั้นๆ ไม่กี่ช่อง แต่มันก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้แฟนมังงะเรื่องนี้รู้สึกยิ้มตาม มีความสุข และรับรู้ว่าชีวิตของพวกเขาไม่ได้จบลงแค่ในเล่ม 31 แต่ยังคงโลดแล่นไปตามวิถีชีวิต ตัวอย่างเช่นเรื่องราวของซากุรางิ ที่ถึงแม้จะเข้าสู่ช่วงเปิดเทอมแล้วเขาก็ยังไม่มาเรียน เพราะยังต้องทำกายภาพบำบัด เขาจึงเขียนจดหมายคุยกับ ฮารุโกะ โดยฝ่ายหญิงได้นำมาอ่านในห้องเรียน ถึงแม้จะโดนเพื่อนแซว แต่เธอก็ยิ้มพลางคิดในใจว่า “เราทุกคนรอเธออยู่นะ ซากุรางิคุง!” ส่วนเรื่องราวของตัวละครเอกอีกตัวอย่าง รุคาว่า ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการที่เขาขี่จักรยานพร้อมเปิดฟังเทปสอนภาษาอังกฤษไปด้วย สื่อความหมายถึงการเตรียมตัวไปสหรัฐอเมริกาได้อย่างดี
นอกจากนั้นยังมีเรื่องราวของ มิตสึอิ ที่พยายามฝึกซ้อมบาสอย่างหนักเพื่อหวังใช้เป็นโควต้าเข้ามหาวิทยาลัย, การวิ่งเพื่อลดความอ้วนของอาจารย์ มิตวึโยชิ อันไซ, อาคางิ ทาเคโนริ ที่คิดถึงการเล่นบาสเกตบอลจับใจ, การฝึกซ้อมอย่างหนักของเหล่ารุกกี้ปี 1 แห่งโชโฮคุ, และอีกมากมาย ถึงแม้ Slam Dunk 10 Days After จะเป็นแค่เรื่องราว 10 วันหลังจากนั้น ทำให้เราก็ไม่รู้อยู่ดีว่าท้ายที่สุด รุคาว่า จะประสบความสำเร็จที่สหรัฐอเมริกาไหม?, ซากุรางิ จะกายภาพกลับมาแล้วเป็นผู้นำรุ่นต่อไปของโชโฮคุได้ดีแค่ไหน, ชีวิตนักบาสในรั้วมหาวิทยาลัยของ มิตสึอิ กับ อาคางิ จะเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าเท่านี้ก็น่าจะเพียงพอแล้ว และคงเป็นเจตนารมณ์ที่อาจารย์อิโนะอุเอะอยากบอกทุกคนว่า
“Slam Dunk ได้จบลงอย่างสมบูรณ์แล้ว”
แต่สุดท้ายตอนจบของ Slam Dunk จะเป็นอย่างไรก็อาจไม่ใช่เรื่องสำคัญเลย มันเป็นเพียงส่วนเล็กๆ เท่านั้น เพราะด้วยเรื่องราวต่างๆ ที่กล่าวไปในบทความนี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ Slam Dunk ยังคงเป็นมังงะบาสเกตบอลที่ดีที่สุด แม้ผ่านกาลเวลามานานกว่า 3 ทศวรรษ
WATCH