“ความจนมันจะโรแมนติกก็ต่อเมื่ออยู่ในหนังสือเท่านั้น” วลีที่สะท้อนความจริงอันโหดร้าย
Sidney Sheldon นักเขียนระดับตำนานนิยามความโรแมนติกกับความจนว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะในงานเขียนเท่านั้น
ความล้ำลึกของวรรณกรรมหลากหลายประเภทคือการบอกเล่าเรื่องราวทั้งสมจริงและเหนือจริงให้ผู้อ่านได้รับรู้ถึงห้วงอารมณ์ความรู้สึกในรูปแบบที่เข้มข้น วิธีการบอกเล่าชีวิตคนๆ หนึ่งหรือการบอกเล่าสภาพแวดล้อมโดยการ “Romanticize” ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม และมันกลายเป็นหนทางที่จะเล่าเรื่องลึกซึ้งของชีวิตความลำบากยากเข็ญได้อย่างมีมิติน่าสนใจ ทว่าอีกมุมหนึ่งกลับเป็นคมมีดที่ซ่อนอยู่ภายใต้ฝัก พร้อมกรีดบาดผู้อ่านอย่างช้าๆ ซึ่งมันอาจไม่รู้สึกเจ็บเพราะมันเคลือบด้วยความสวยงามไปเรียบร้อยแล้ว นิยามดังกล่าวสะท้อนมาจากคำกล่าวระดับตำนานของ Sidney Sheldon นักเขียนชาวอเมริกันที่เราจะพูดถึงกันในบทความนี้
“ความจนมันจะโรแมนติกก็ต่อเมื่ออยู่ในหนังสือเท่านั้น” นี่คือคำกล่าวอมตะเหนือกาลเวลาของซิดนีย์ที่ยังคงสอดคล้องกับโลกยุคปัจจุบัน ต้องบอกว่าเรื่องราวชีวิตอดสูถูกเล่าจากหลายมุมมองผ่านทั้งตัวละครสมมติและตัวละครอ้างอิงจากชีวิตจริง ความโหดร้ายของชีวิตที่ต้องดิ้นรนสามารถสร้างมุมมองที่งดงามได้ภายใต้การ “Romanticize” ดังนั้นเราจะเห็นว่าหนังสือ ภาพยนตร์ หรือซีรี่ส์ที่บอกเล่าเรื่องราวความลำบากมีแง่มุมความสวยงามที่ทำให้หัวใจชุ่มชื่นได้ แตกต่างจากชีวิตจริงที่ความจนมันไม่ได้โรแมนติกอะไรเลย มันเป็นขวากหนามชีวิตอันยิ่งใหญ่ที่ไม่ใช่ทุกคนจะก้าวข้ามมันไปได้สำเร็จ
ความโรแมนติกที่มีคุณค่ากับความยากลำบากที่กว่าจะได้มา สิ่งนี้ถูกนำมาใช้เล่นกับความรู้สึกผู้เสพผลงานตั้งแต่หนังสือไปจนถึงผลผลิตทางวัฒนธรรมรูปแบบต่างๆ เพราะความแตกต่างทางชนชั้น ความลำบากในการขวนขวายหาความรัก หรือโมเมนต์ความพิเศษสำหรับคนจนมันยิ่งพิเศษและยิ่งใหญ่ มันเหมือนการเติมเต็มชีวิตให้สมบูรณ์สวยงาม และผู้คนก็เอาใจช่วยและมองว่าความจนในบางมุมก็ช่างโรแมนติกเหลือเกิน แตกต่างจากคนฐานะร่ำรวยที่ทุกอย่างสามารถหาได้ตามปกติ ความธรรมดาที่แสนพิเศษจึงไม่มีจริง เพราะความโรแมนติกในสภาวะแร้นแค้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ และแน่นอนว่าผลผลิตทางวัฒนธรรมพยายาม “Romanticize” ความจนให้เกิดเป็นสิ่งสวยงามสวนทางกับความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง
สำหรับซิดนีย์มันเป็นความจริงอันเด่นชัดที่ความจนไม่ได้โรแมนติกดั่งเรื่องเล่า เพราะชีวิตเขาเองก็ไม่ใช่ผู้ดีตีนแดงเกิดมาบนกองเงินกองทอง ช่วงวัยเด็กต้องผ่านมรสุมยุค “Great Depression” ต้องทำงานหลากหลายประเภทเพื่อหาเงิน ต้องดรอปเรียนเพื่อทำงานช่วยเหลือครอบครัว ต้องไปสมัครทหารท่ามกลางสถานการณ์การปะทุของสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากนี้ยังต้องเผชิญกับสภาวะไบโพลาร์จนเกือบจบชีวิตตนเองในวัยเพียง 17 ปี ชีวิตของเขาที่คนเคยมองว่าเป็นนักเขียนอันโด่งดังกลับมาเรื่องราวเบื้องหลังแสนยากลำบาก ถ้าหากจะมีใครพูดถึงความจนและเปิดโลกว่าความจนมักถูก “Romanticize” ให้งดงามในผลงานเชิงบันเทิง เขามีสิทธิ์พูดเรื่องนี้ได้อย่างเต็มที่
ซิดนีย์ตรากตรำทำงานเกี่ยวกับการเขียนหนังสือและละครหลากหลายประเภท ไล่ตั้งแต่การทำสคริปต์ให้ภาพยนตร์เกรดบี การทำบทละครบรอดเวย์ ละครโทรทัศน์ เขียนวรรณกรรม และความพยายามเหล่านั้นสามารถผลักดันให้ชื่อซิดนีย์กลายเป็นนักเขียนยอดนิยม และถูกจารึกในหน้าประวัติศาสตร์ว่าเป็นนักเขียนนิยายที่มียอดขายหนังสือสูงสุดติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกตลอดกาล เชื่อว่าหลายคนอาจคุ้นเคยและมองความสำเร็จปลายทางของซิดนีย์ แต่อย่างที่เขากล่าวไปว่าความซาบซึ้งและชื่นชมถูกออกแบบมาให้ทุกคนรู้สึกผ่านเรื่องราวแสนลำบากและประสบความสำเร็จ คนเรามีสัญชาตญาณเอาใจช่วยคนที่ยากลำบาก เพราะฉะนั้นความโรแมนติกสวยงามและความสุขของคนจนที่ก้าวผ่านกำแพงบางอย่างมานั้นจึงน่าติดตาม ใครกันจะชอบดูคนร่ำรวยทวีความสำเร็จขึ้นไปอีก มันไม่เร้าใจหรือรู้สึกกินใจเท่า แม้เขาจะประสบความสำเร็จและเป็นนักเขียนขึ้นหิ้ง แต่สิ่งที่เขากล่าวว่า “ความจนมันจะโรแมนติกก็ต่อเมื่ออยู่ในหนังสือเท่านั้น” ไม่เคยเกินจริงแต่อย่างใด
WATCH