LIFESTYLE
'การคุกคามทางเพศออนไลน์' เมื่อสังคมอินเทอร์เน็ตกลายเป็นเครื่องมือสร้างรอยแผลให้ใครหลายคนแม้ปัญหาการคุกคามทางเพศออนไลน์จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ปัญหานี้ก็ยังคงเป็นเรื่องใหญ่ที่แก้ไม่ตก |
ปัจจุบันสังคมออนไลน์เข้ามามีอิทธิพลในชีวิตมากขึ้นทำให้โลกความจริงและโลกเสมือนกลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนกันจนแยกไม่ออก จริงอยู่ที่เทคโนโลยีการสื่อสารที่ดีช่วยให้การสื่อสาร การแสดงความคิดเห็น รวมไปถึงการรู้จักคนใหม่ๆเกิดได้ง่ายขึ้น แต่ปัญหาที่ถูกประกอบสร้างจากการใช้พื้นที่สังคมออนไลน์อย่างไม่เข้าใจขอบเขตอันเหมาะสมก็มีปรากฏให้เห็นรายวัน หนึ่งในนั้นคือปัญหาการคุกคามทางเพศออนไลน์ที่ยังไร้ความหวังว่าจะไปในแนวทางที่ดีขึ้น
ภาพ: Rappler
การคุกคามทางเพศออนไลน์คืออะไร
การนิยามการคุกคามทางเพศออนไลน์เป็นประเด็นที่ถูกถกเถียงต่อเนื่องยาวนานบนโลกอินเทอร์เน็ต บางกลุ่มมองว่าแค่การพิมพ์โดยใช้คำที่มีความหมายแทะโลม หรือมีความหมายส่อเสียดให้คิดถึงเรื่องทางเพศก็ถือเป็นการคุกคาม ส่วนอีกกลุ่มอาจจะเห็นต่างและมองว่าถ้ายังไม่มีการกระทำใด ๆ ที่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียหายก็ยังไม่ถือว่าคุกคาม แต่ที่จริงแล้วเส้นแบ่งสำหรับนิยามการคุกคามทางเพศไม่ได้ขึ้นอยู่ว่าการกระทำนั้นหนักหรือเบา แต่ควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับความยินยอมของผู้ที่ถูกกระทำมากกว่า ดังนั้นการกระทำใดก็ตามที่ล่วงเกินทั้งวาจา การวิจารณ์ การกระทำ ที่ส่อเค้า หรือสามารถตีความไปยังเรื่องทางเพศโดยที่อีกฝ่ายไม่ยินยอมก็ถือได้ว่าเป็นการคุกคามทางเพศออนไลน์ได้
ภาพ: Rand
ปัญหาที่แก้ไม่ตกเพราะแค่ ‘ไม่เป็นไร’
ปัญหาการคุกคามทางเพศออนไลน์เป็นปัญหาที่ก่อตัวขึ้นมาตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มที่โซเชียลมีเดียได้รับความนิยมในประเทศไทย แต่ว่าทำไมปัญหานี้ถึงยังฝังรากลึกมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะความประมีประนอมที่เป็นค่านิยมที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่วัยเยาว์ คนส่วนมากมักจะไม่ต้องการทำเรื่องเล็กน้อยให้เป็นเรื่องใหญ่เพราะเห็นว่าสิ่งที่มากระทบนั้นยังไม่ได้สร้างความเสียหายร้ายแรงถึงแก่ทรัพย์สิน หรือร่างกาย แต่อาจจะลืมคำนึงไปว่าเพราะค่านิยมนี้เองทำให้บางกลุ่มคนให้ช่องว่างนี้มาละเมิดสิทธิ์อย่างไม่ควรจะเกิดขึ้น จนเกิดเป็นการคุกคามทางเพศบนโลกออนไลน์ทั้งที่เจตนา และไม่เจตนาเพียงเพราะแค่รู้สึกว่าเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย
WATCH
ภาพ: Times Higher Education
จากผู้ถูกกระทำ กลายเป็นต้นเหตุของการกระทำ
นอกจากคติแนวคิดเรื่องความประนีประนอมที่เป็นตัวส่งเสริมให้ปัญหาการคุกคามทางเพศออนไลน์ลุกลามแล้ว อีกปัญหาที่ทับซ้อนการเรื่องการคุกคามและความรุนแรงทางเพศทั้งในโลกออนไลน์ และโลกจริงก็คือการโยนความผิดของการกระทำไปที่ผู้ถูกกระทำ แทนที่ผู้กระทำผิดจะถูกตั้งคำถามจากสังคมถึงการกระทำอันไม่เหมาะควร แต่กลับกลายเป็นผู้ที่ถูกกระทำเองกลายเป็นผู้ถูกตั้งคำถามที่ไม่ควรจะถูกตั้งอย่างเช่น “แต่งตัวโป๊เกินไปหรือเปล่า” “ตั้งใจจะโชว์หรือไม่” หรือรุนแรงไปถึงขั้น “แต่งตัวแบบนี้ก็ไม่แปลกที่จะถูกล่วงละเมิด”
ภาพ: All Business
ปรากฏการณ์ทางสังคมอันบิดเบี้ยวเช่นนี้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อจิตใจของผู้ที่ถูกกระทำ จนทำให้ลดทอนความมั่นใจ และสิทธิ์เหนือเรือนร่างที่จะสามารถกระทำอะไรก็ได้ และผู้อื่นไม่มีสิทธิ์ที่จะล่วงเกิน จนสุดท้ายผู้ถูกกระทำเลิกที่จะเงียบ และปล่อยผ่านให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นเป็นวังวนซ้ำเล่า เพียงเพราะไม่อยากจะตกเป็นเป้าโจมตีจากคนในสังคม
ภาพ: Reachout
การคุกคามทางโลกออนไลน์ จบได้แค่ปลายนิ้ว
ปัญหาการคุกคามทางเพศออนไลน์ไม่ได้เกิดขึ้นจากการกระทำจากเพศชาย สู่เพศหญิงแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่สามารถเกิดในทางกลับกันได้โดยที่คุณอาจจะเคยทำสิ่งนั้นไปแล้วโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ดังนั้นปัญหานี้จะเบาบางลง หรือหายไปได้หากแต่เพียงรู้จักคิดก่อนพิมพ์ ตระหนักรู้ก่อนโพสต์ ว่าสิ่งที่คุณกำลังจะส่งออกไปในโลกออนไลน์ที่จะมีสายตานับหลายล้านคู่ได้เห็น มันเป็นสิ่งที่เหมาะควรและไม่ได้ละเมิดสิทธิ์ หรือสร้างความไม่สบายใจแก่ผู้อื่นหรือไม่
อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องปลูกฝังไปพร้อม ๆ กันคือการปลูกฝังให้คนในสังคมรู้จักตระหนักถึงสิทธิ์ของตนเอง, การไม่ละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่น และที่สำคัญที่สุดคือการรู้จักเรียกร้อง และปกป้องสิทธิ์ของตนเองอย่างที่ควรจะเป็น โดยไม่ต้องรู้สึกผิด หรือรู้สึกเขินอายที่จะเรียกร้อง สร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับสังคมได้รู้ว่าคำว่าไม่เป็นไร ไม่สามารถใช้ได้กับทุกอย่าง
ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในหลายมิติมักเกิดจากความไม่รู้ถึงสิทธิของตนที่พึงจะได้ หรือไม่กล้าที่จะต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธินั้นโดยการมองข้ามปัญหาที่เกิดขึ้น เพียงเพราะไม่ต้องการให้ปัญหาจากจุดเล็ก ๆ กลายเป็นปัญหาใหญ่ แต่มิใช่เพราะการปล่อยปะละเลยเรื่องสิทธิหรือ ที่ทำให้หลากหลายปัญหาดังเช่นเรื่องการคุกคามทางเพศออนไลน์กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่แก้ไม่ตกเสียที
ข้อมูล:
WATCH