LIFESTYLE

ทำไมหนังแฟรนไชส์ถึงมีหลายภาค...ไขกุญแจสำคัญที่ทำให้การรีบูตและการสร้างภาคต่อไม่เจ๊ง!

ภาพยนตร์หรือซีรี่ส์แฟรนไชส์ที่มีฐานแฟนคลับเหนียวแน่นมักได้รับการต่อยอด อะไรคือปัจจัยสำคัญของการสร้างภาคต่อ?

การรีบูตสร้างภาคต่อของภาพยนตร์หรือซีรี่ส์เก่าที่มีฐานแฟนคลับทั่วโลกนับเป็นหนึ่งในแนวโน้มที่เด่นชัดและได้รับความนิยมอย่างมากในวงการบันเทิงยุคปัจจุบัน โดยภาพยนตร์หรือซีรี่ส์ที่มีฐานแฟนคลับเหนียวแน่นมักทำให้การกลับมาหรือการสร้างภาคต่อสามารถสร้างกระแสให้แก่ทั้งผู้ชมเก่าและผู้ชมหน้าใหม่ได้ในคราวเดียว บทความนี้โว้กจะพามาหาคำตอบว่าอะไรคือกุญแจสำคัญของการรีบูตหรือสร้างภาคต่อของหนังหลายๆ เรื่อง

 

ความสำคัญของการคงกลิ่นอายเดิมในหนังภาคต่อ

หนึ่งในปัจจัยสำคัญในการสร้างภาคต่อของหนังคือ การให้ความเคารพแก่ความรักของฐานแฟนคลับเพราะการรักษาความเป็นเอกลักษณ์หรือกลิ่นอายของหนังนั้นถือเป็นสิ่งที่มีคุณค่าไม่น้อยในการทำให้แฟนคลับรู้สึกผูกพันกับเรื่องราวหรือตัวละคร การสร้างภาคต่อจึงต้องสร้างให้แฟนๆ รู้สึกเหมือนกับการกลับบ้านหลังจากที่ห่างหายไปนาน ดังนั้นการคงคาแร็กเตอร์ของตัวละครเดิมหรือการคงโทนเรื่องราวเดิมๆ ถือเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความคุ้นเคยและการเชื่อมโยงที่มั่นคงระหว่างหนังและคอหนัง ซึ่งการทำเช่นนี้จะช่วยให้แฟนคลับรู้สึกว่าพวกเขายังคงเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบเดิมที่พวกเขารักและไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังในกระบวนการสร้างภาคต่อ

แต่ในขณะเดียวกันก็มีโปรเจกต์หนังหลายเรื่องเช่นกันที่พยายามจะไปในทิศทางใหม่จนทำให้เค้าโครงและกลิ่นอายของภาคแรกแทบจะหายไป เช่นกรณีของ Ghostbuster (2016) ที่ถึงแม้จะได้รับการชื่นชมในแง่ของการนำเสนอสิ่งใหม่ๆ แต่การเปลี่ยนแปลงตั้งแต่การแคสนักแสดงไปจนถึงกลิ่นอายของหนังทำให้เกิดกระแสวิจารณ์เชิงลบอย่างหนักจากแฟนคลับที่คาดหวังจะได้เห็นเรื่องราวในรูปแบบเดิมๆ ซึ่งยิ่งทำให้เราตระหนักว่าการรักษากลิ่นอายเดิมของหนังสำคัญเพียงใดในการทำให้แฟนคลับรู้สึกคุ้นเคยและผูกพัน

 




ความสำเร็จของการรีบูตภาคต่อที่แปลงจากความคุ้นเคยสู่ความสดใหม่

แม้ว่าการสร้างภาคต่อจำเป็นต้องให้เกียรติและเคารพเนื้อเรื่องหรือแฟนคลับเดิม แต่ในยุคที่ความต้องการและความสนใจของผู้ชมมีความหลากหลาย การนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน ภาพยนตร์หรือซีรี่ส์ในปัจจุบันจึงต้องสามารถเชื่อมโยงกับผู้ชมใหม่ที่มีรสนิยมและค่านิยมที่แตกต่างกันออกไป การปรับเนื้อหาหรือปรับรูปแบบการเล่าเรื่องให้ทันสมัยขึ้นสามารถช่วยให้เรื่องราวยังคงความสดใหม่และน่าสนใจสำหรับผู้ชมที่มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีใหม่ๆ และการเปลี่ยนแปลงในสังคม

ตัวอย่างที่ดีของความประสบความสำเร็จในการรีบูตภาคต่อคือภาพยนตร์ Spider-Man: Homecoming (2017) ที่ไม่เพียงแค่รีบูตตัวละครและเนื้อหาของ Spider-Man แต่ยังนำเรื่องราวไปผูกกับจักรวาลของ Marvel Cinematic Universe (MCU) จากการที่ตัวละคร Spider-Man ซึ่งเคยนำแสดงโดย ‘Tobey Maguire’ และ ‘Andrew Garfield’ ถูกนำมาสร้างใหม่ในแนวทางที่แตกต่างออกไป จาก Spider-Man ที่เคยเป็นเพื่อนบ้านที่แสนดีก็มีการขยายสเกลตัวร้ายมากขึ้น มีความเป็นฮีโร่ตามสไตล์จักรวาล Marvel มากขึ้น ทำให้แฟนคลับรู้สึกถึงความเชื่อมโยงกับตัวละครและเปิดโอกาสให้ผู้ชมหน้าใหม่ได้สัมผัสกับความสดใหม่ในจักรวาลของ MCU ที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้นและมิติใหม่ๆ ของการเล่าเรื่อง ด้วยการปรับตัวตามยุคสมัยทำให้ Spider-Man: Homecoming สามารถดึงดูดใจทั้งแฟนคลับหน้าเก่าและหน้าใหม่ได้อย่างลงตัว

 

เพราะทุกความคาดหวังมักมาพร้อมกับความเสี่ยง

เป็นความจริงที่การรีบูตภาคต่อของหนังแฟรนไชส์มักจะมาพร้อมความคาดหวังที่สูงขึ้นจากเดิมด้วยความรักและผูกพันกับเรื่องราวหรือคาแร็กเตอร์ในเวอร์ชั่นเดิม ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนดูมีความคาดหวังกับองค์ประกอบที่จะส่งให้หนังที่พวกเขารักนั้นกลับมาใหม่ในเวอร์ชั่นที่ดียิ่งขึ้น การรักษาเอกลักษณ์เดิมหรือการนำเสนอสิ่งที่คุ้นเคยจะสามารถช่วยให้แฟนคลับรู้สึกผูกพันและรู้สึกดีกับตัวละครหรือเนื้อเรื่องมากกว่าเดิม แต่หากทำได้ไม่ดีหรือไม่ตรงกับบรรทัดฐานเดิมที่เคยทำไว้ แฟรนไชส์หนังก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงความผิดหวังที่ถาโถมใส่จนเกิดเป็นกระแสวิจารณ์เชิงลบที่จะส่งผลต่อการเลือกรับชมอีกที

โดยแฟรนไชส์ภาพยนตร์ที่เห็นได้ชัดคือ Star Wars: The Last Jedi (2017) ที่สร้างความขัดแย้งเป็นอย่างมากในกลุ่มแฟนคลับเนื่องจากทิศทางการเล่าเรื่องราวที่บางกลุ่มมองว่าทำลายมรดกเดิมของ Star Wars ทิ้งไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงตัวละครหลักและการตัดสินใจที่ดูขัดแย้งกับสิ่งที่แฟนๆ คาดหวังจากภาคก่อนๆ แม้ว่าจะได้รับการชื่นชมในบางแง่มุมอย่างการนำเสนอที่สร้างสรรค์และความกล้าที่จะทดลองสิ่งใหม่ๆ แต่กระแสวิจารณ์ด้านลบที่เกิดขึ้นจากภาคต่อที่ไม่ตรงกับความคาดหวังของแฟนๆ ก็มีผลต่อภาพรวมและการรับรู้ของผู้ชม อีกหนึ่งตัวอย่างซีรี่ส์ดังอย่าง Game of Thrones (2011-2019) หนึ่งในซีรี่ส์แฟนตาซีขึ้นหิ้งระดับตำนานที่ปูเรื่องราวมาอย่างดีตั้งแต่ซีซั่น 1 และทำดีเรื่อยมาจนถึงซีซั่น 8 ซีซั่นปัจฉิมบทที่ทำเรตติ้งได้น้อยที่สุดตั้งแต่สร้างซีรี่ส์เรื่องนี้มา โดยเกิดกระแสวิจารณ์ว่าซีซั่นนี้ทำได้ต่ำกว่ามาตรฐานและมีตอนจบที่ไม่ตรงกับความคาดหวังของแฟนๆ

 

กุญแจของการขยายฐานแฟนคลับคือการผสมผสานเนื้อหาให้มีความน่าสนใจ

การรีบูตภาคต่อของหนังที่มีฐานแฟนคลับเหนียวแน่น มักจะมีโอกาสในการขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังผู้ชมหน้าใหม่ที่อาจจะไม่เคยสัมผัสกับผลงานต้นฉบับมาก่อน การปรับเนื้อหาให้ทันสมัยและสอดคล้องกับเทรนด์ในปัจจุบันสามารถช่วยดึงดูดความสนใจจากผู้ชมใหม่ๆ ได้อย่างดี โดยเฉพาะการปรับรูปแบบหรือองค์ประกอบบางอย่าง เช่น การนำเสนอธีมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสังคมหรือการใช้เทคโนโลยี หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ Stranger Things (2016) ซีรี่ส์ที่สามารถดึงดูดทั้งผู้ชมกลุ่มวัยรุ่นและวัยเก๋าได้อย่างยอดเยี่ยม ด้วยการผสมผสานสไตล์และบรรยากาศของยุค 80s ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์เข้ากับเนื้อหาที่ทันสมัยตอบโจทย์ผู้ชมยุคใหม่ในหลายๆ ด้าน เช่น เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทหรือการสะท้อนประเด็นสังคมที่คนรุ่นใหม่สนใจ โดยซีรี่ส์นี้ไม่เพียงแต่ได้รับความนิยมจากแฟนๆ รุ่นเก๋าเท่านั้น แต่ยังดึงดูดผู้ชมรุ่นใหม่ที่ได้สัมผัสกับเรื่องราวที่ทั้งคุ้นเคยและสดใหม่ได้อย่างลงตัว ทำให้ Stranger Things กลายเป็นหนึ่งในซีรี่ส์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

 

การสร้างภาคต่อจากกระแสความสำเร็จในตลาด

ในมุมมองของการตลาด การสร้างภาคต่อมักถูกมองว่าเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยสำหรับสตูดิโอและผู้ผลิต ด้วยความที่มีฐานแฟนคลับอยู่แล้วสามารถทำให้โปรเจกต์ใหม่มีโอกาสประสบความสำเร็จสูงขึ้นเมื่อเทียบกับโปรเจกต์ใหม่ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ในแง่ของผลตอบรับ การรีบูตภาคต่อจะเป็นการลดความเสี่ยงในแง่ของการลงทุนเนื่องจากสามารถคาดการณ์ผลตอบรับจากตลาดได้ดีกว่า เรามักเห็นได้จากซีรี่ส์หรือภาพยนตร์บางเรื่องที่เพิ่งฉายจบไปก็ประกาศทำภาคต่อทันทีโดยเป็นผลมาจากกระแสการตอบรับที่เกินคาด ตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์เรื่อง ‘ธี่หยด’ (2024) ที่ทำกระแสมาตั้งแต่ภาคแรกเมื่อฉายภาคสองจบไปก็มีการประกาศฉายภาคสามทันที และอีกซีรี่ส์ที่เป็นไวรัลไปทั่วโลกอย่าง ‘Squid Game’ (2021-2025) ที่สร้างกระแสความแปลกใหม่ในซีซั่นแรก และมีตอนจบแบบปลายเปิดถึงซีซั่นสองจนล่าสุดประกาศถ่ายทำซีซั่นสามเป็นที่เรียบร้อย ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำการตลาดสำหรับการสร้างภาคต่อสามารถใช้ประโยชน์จากฐานแฟนคลับเดิมที่มีอยู่และสามารถสร้างกระแสรับรู้ตั้งแต่ก่อนที่จะเข้าฉายได้จริง ซึ่งทำให้โปรเจกต์มีโอกาสประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว ดังสำนวน ‘น้ำขึ้นให้รีบตัก’

การรีบูตหรือสร้างภาคต่อของภาพยนตร์ที่มีฐานแฟนคลับนั้นสามารถดึงดูดผู้ชมได้ หากการสร้างสรรค์มีการรักษามาตรฐานและความสมดุลระหว่างการเคารพในมรดกเดิมและการนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ผู้ชมในยุคปัจจุบัน ที่จะช่วยรักษาฐานแฟนคลับเดิมและตกผู้ชมหน้าใหม่ไปพร้อมๆ กัน ความสำเร็จของภาพรวมขึ้นอยู่กับความสามารถในการดึงดูดความสนใจจากหลากหลายกลุ่มผู้ชม รวมถึงการรักษาคุณภาพและความน่าสนใจของเนื้อหาที่สามารถอยู่รอดได้ในวงการบังเทิงที่การแข่งขันสูง

 

ภาพ: Courtesy of Netflix

 

(สามารถอ่านเรื่อง ซีรี่ส์ Squid Game ซีซั่น 3 เตรียมเข้าฉายบน Netflix ในปี 2025 ได้ที่นี่)

WATCH

 
Close menu