Art Restoration, ฟื้นฟูงานศิลปะ, ฟื้นฟูศิลปะ
LIFESTYLE

เปิดคลิปบำรุงงานศิลปะสุดไวรัล เมื่อภาพเคลือบเงาเหลืองถูกขัดออกจนเห็นสีจริงแสนสด

Philip Mould คือผู้อยู่เบื้องหลังการฟื้นฟูและเผยแพร่ความพิเศษเหล่านี้ให้ทุกคนได้ชม

     ห้วงเวลาแห่งความสร้างสรรค์คือคำตอบของงานศิลปะจำนวนนับหมื่นนับแสนชิ้นที่ปรากฏขึ้นบนหน้าประวัติศาสตร์ กว่าผลงานแต่ละชิ้นจะออกมาว่ายากแล้ว การเก็บรักษาผลงานอายุหลายร้อยหรืออาจจะหลักพันปีนั้นยากกว่า ดังนั้นการบำรุงรักษาจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและไม่ค่อยถูกเปิดเผยให้เห็นทั่วไปสักเท่าไหร่ ตอนนี้ Philip Mould นักสะสมและฟื้นฟูศิลปะ ควบตำแหน่งนักเขียนและนักประวัติศาสตร์คือบุคคลที่ออกมาเผยเบื้องหลังความละเอียดอ่อนครั้งนี้


     ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าศิลปะแต่ละพื้นที่ในแต่ละยุคสมัยมีสไตล์และเทคนิคต่างกันอย่างเห็นได้ชัด วิธีในการเก็บรักษาและซ่อมแซมนั้นย่อมต่างกันด้วยเช่นกัน วิดีโอสุดไวรัลที่ฟิลิปเผยแพร่ออกมานัันเป็นผลงาน Jacobean Panel Portrait of a Noblewoman ซึ่งเป็นผลงานตั้งแต่ปี 1617 นับจนถึงปัจจุบันก็มีอายุเกินกว่า 4 ศตวรรษ ผลงานชิ้นนี้ยังอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ รายละเอียดต่างๆ ยังครบถ้วน ทว่าสารเคลือบเงาสีเหลืองที่เราเห็นกันตามงานศิลปะเก่าอาจกำลังบดบังความสวยงามที่แท้จริง ฟิลิปจึงตัดสินใจฟื้นฟูด้วยการขัดสารเหล่านั้นออก ซึ่งนั่นทำให้ผู้คนสนใจแม้วีดีโอจะยาวเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น



WATCH





     เหตุผลที่ทำให้ผู้คนสนใจผลงานชิ้นนี้คือฟิลิปละเลงขัดสีเคลือบออกอย่างประณีตและทำให้เห็นความแตกต่างของผลงานจริงกับผ่านฟิลเตอร์สีเหลืองที่หลายคนคิดว่าเป็นสีจริงของผลงานเสียด้วยซ้ำ และอย่างที่กล่าวไปว่ากระบวนการฟื้นฟูงานศิลปะนั้นไม่ค่อยถูกเปิดเผยออกสู่สาธารณะ การที่ฟิลิปเผยวิดีโอโคลสอัพแบบนี้ยิ่งทำใหัผู้คนสนใจอยากชมความพิเศษไม่เหมือนใครนี้ งานศิลปะบางชิ้นเคยถูกนำไปฟื้นฟูใหม่แต่ผลลัพธ์ก็ล้มเหลวอย่างเห็นได้ชัด ยกตัวอย่างภาพพระเยซูจากประเทศสเปนที่เคยเข้ากระบวนการขัดสารเคลือบสีออกแล้วผลลัพธ์ออกมาเป็นหน้าลิงเสียอย่างนั้น ซึ่งเราจะเล่าเรื่องราวนี้ในครั้งต่อไป กลับมาที่การฟื้นฟูของฟิลิป เขาไม่ได้โชว์เทคนิคอะไรซับซ้อน แต่เผยให้เห็นความใส่ใจ นอกจากนี้เขายังโพสต์วิดีโอภาคต่ออย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ชมเห็นว่าสุดท้ายการบำรุงรักษางานศิลปะให้กลับมาอยู่สภาพเดิมแบบแท้จริงนั้นจะออกมาเป็นเช่นไร


WATCH

คีย์เวิร์ด: #VogueArts