LIFESTYLE

เรื่องเล่าจากภารกิจสู่ดวงจันทร์ของ Neil Armstrong ท่ามกลางความหวังของมนุษยชาติและห้วงอวกาศแสนไกล

“บนดวงจันทร์...มันเป็นพื้นผิวที่สดใสในแสงแดด เส้นขอบฟ้าดูเหมือนอยู่ใกล้มากเพราะความโค้งเด่นชัดกว่าบนโลกมาก ผมหวังว่าจะมีใครสักคนกลับไปที่นั่นในสักวันหนึ่ง และลบมันทิ้งไป”

คำอธิบายรูป: Neil Armstrong ในมาดทหารอากาศวัยหนุ่มก่อนที่ต่อมาเขาจะกลายเป็นนักบินอวกาศผู้จารึกประวัติศาสตร์

 

ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหน หรือจะนึกถึงมันอีกสักกี่ครั้ง แต่ทุกครั้งก็ยังอดไม่ได้ที่จะรู้สึกทึ่งกับมัน เพราะสำหรับเรามันคือหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ ถึงแม้ว่าเราจะเกิดไม่ทันรับรู้ความรู้สึกในตอนนั้นแบบสดๆ ก็ตาม…เรากำลังพูดถึงการเหยียบพื้นดวงจันทร์ของภารกิจ Apollo 11 ที่นำโดย Neil Armstrong, Buzz Aldrin, และ Michael Collins

 

ไม่รู้ด้วยเหตุผลกลใดแต่เรื่องราวการเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ของมนุษย์โลกนั้นมีเสน่ห์ให้รู้สึกหลงใหลใคร่รู้อยู่เสมอ “โลกในฐานะดาวเคราะห์สีน้ำเงินจะสวยงามขนาดไหน” “การเป็นมนุษย์ตัวเล็กๆ ท่ามกลางห้วงจักรวาลกว้างใหญ่ไร้ที่สิ้นสุดจะรู้สึกยังไง”  หนึ่งในคนที่จะตอบคำถามเหล่านี้ได้ดีที่สุดจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก Neil Armstrong มนุษย์คนแรกผู้เหยียบผิวดวงจันทร์ และบทความนี้จะพาไปสำรวจห้วงความคิด อารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ของผู้ชายธรรมดาในช่วงเวลาที่เขาอยู่ท่ามกลางดวงดาราและดวงจันทร์ 

คำอธิบายรูป: Neil Armstrong ในขณะเหยียบบนพื้นผิวดวงจันทร์ จารึกรอยเท้าแห่งมนุษยชาติ

 

ก่อนพุ่งทะยาน

คนส่วนใหญ่รู้จักชื่อ Neil Armstrong จากภารกิจ Apollo 11 ในฐานะมนุษย์คนแรกที่ได้เหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ อย่างไรก็ตามนั่นไม่ใช่ครั้งแรกที่ Neil ได้เดินทางสู่ห้วงอวกาศ เพราะก่อนหน้านั้นเขาเคยพุ่งทะยานออกนอกผิวโลกไปแล้วครั้งหนึ่งในภารกิจ Gemini 8 โครงการทดสอบสิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการนำมนุษย์ไปลงดวงจันทร์ และเดินทางกลับโลกอย่างปลอดภัย หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจ Gemini 8 Neil ก็ได้รับมอบหมายอีกหนึ่งหน้าที่สำคัญ คือการเป็นผู้บัญชาการภาคพื้นดินให้กับโครงการ Apollo 8 ที่จะส่งมนุษย์ไปโคจรรอบดวงจันทร์ ดูด้านมืดของมัน และจะเป็นมนุษย์กลุ่มแรกที่ได้เห็นโลกในฐานะดาวเคราะห์สีน้ำเงินเต็มดวง

 

หลังจากที่ควบคุมภารกิจ Apollo 8 เสร็จสิ้นไปได้ด้วยดี วันหนึ่ง Neil ก็ได้รับข่าวสารที่ไม่คาดฝัน “มีเวลาสักครู่ไหม” Deke Slayton ผู้บังคับบัญชาของ Neil เดินเข้ามาถามแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย “แน่นอนครับหัวหน้า” Neil ตอบรับ “ตอนนี้เรากำลังคิดเรื่องภารกิจต่อไปนี่จะมอบหมายให้คุณทำ” 

“เยี่ยมไปเลยครับ”

“เราคิดว่าจะส่งคุณไปทำภารกิจ Apollo 11”

“ขอบคุณสำหรับความเชื่อมั่นครับ ผมจะพยายามอย่างเต็มที่” Neil  พูดพร้อมฉีกยิ้มกว้าง Neil ไม่ได้โกหก เขารู้สึกดีใจและยินดีกับโอกาสที่ได้รับ ทั้งๆ ที่ในตอนนั้นโอกาสที่ Apollo 11 จะสามารถลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้อย่างปลอดภัยมีเพียง 50% เท่านั้น นั่นหมายความว่าภารกิจครั้งใหม่ก็อาจจะไม่ได้ต่างอะไรจากการโยนเหรียญเสี่ยงทาย มีโอกาสเพียงครึ่งเดียวที่เขาจะได้กลับมาเจอครอบครัวอีกครั้งNeil ได้เปิดออกมาเปิดเผยแนวคิดของเขาในภายหลัง และมันก็ทำให้คนภายนอกเข้าใจตัวตนของเขาที่รู้สึกยินดีกับการทำภารกิจเสี่ยงตาย “ผมคิดว่าการที่มนุษย์จะไปดวงจันทร์ก็เพราะธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องเผชิญกับความท้าทาย เราจำเป็นต้องทำสิ่งเหล่านี้เช่นเดียวกับปลาแซลมอนที่ว่ายทวนน้ำความลึกลับสร้างความสงสัย และความสงสัยเป็นพื้นฐานของความปรารถนาที่มนุษย์ต้องการจะเข้าใจ” “ผมคิดว่ามนุษย์ทุกคนมีจำนวนการเต้นของหัวใจที่จำกัด และผมไม่อยากจะทำให้มันสูญเปล่าไปแม้แต่ครั้งเดียว”

คำอธิบายรูป: Neil Armstrong ในยาน Apollo 11

 

บนจันทรา ท่ามกลางหมู่ดาว

“This is Major Tom to Ground Control

I’m stepping through the door

And I’m floating in a most peculiar way

And the stars look very different today

For here

Am I sitting in a tin can

Far above the world

Planet Earth is blue

And there’s nothing I can do”

ท่อนหนึ่งจากเพลง Space Oddity ของ David Bowie ศิลปินร็อกระดับตำนานที่ปล่อยออกมาให้สาธารณชนได้รับฟังในวันที่ 11 กรกฎาคม ปี 1969 หรือ 5 วันก่อน Apollo 11 จะถูกปล่อยออกจากฐานยิงในเมือง ฮุสตัน รัฐเท็กซัส บทเพลง Space Oddity ว่าด้วยเรื่องราวของผู้พันทอมที่ต้องลาภรรยาและครอบครัวเพื่อเดินทางไปปฏิบัติภารกิจในห้วงอวกาศ แม้ช่วงแรกจะยังสามารถติดต่อกับหอบังคับภาคพื้นดินได้ แต่เมื่อระดับความสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สัญญาณเริ่มขาดหาย จนกระทั่งสุดท้ายผู้พันทอมตัดสินใจก้าวออกมาจากยานอวกาศเพื่อสัมผัสความงามของห้วงอวกาศอันไกลโพ้น

 

บทเพลงของ เดวิด โบวี่ มีความลึกซึ้งเสมอ และใน Space Oddity ผู้คนสามารถตีความหมายของมันออกไปได้ในหลายทิศทาง บ้างก็ว่านี่คือบทเพลงแสนเหงาในยามที่ห่างไกลคนรัก บ้างก็ว่าเป็นบทเพลงของคนที่ตัดสินใจละทิ้งความโศกเศร้าไว้เบื้องหลังเพื่อก้าวไปสู่สิ่งใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งเป็นบทเพลงที่เล่าถึงชีวิตของ เดวิด โบวี่ เองก็มีความเป็นไปได้ไม่น้อย ทว่าในอีกแง่มุมหนึ่ง เพลง Space Oddity ไปไกลกว่านั้น เพราะนี่คือเพลงที่ซ่อนนัยยะการเสียดสีความก้าวหน้าด้านอวกาศของอังกฤษไว้อย่างแยบยล เพลงนี้ถูกเขียนขึ้นอยู่ช่วงที่สงครามเย็นยังคุกรุ่น และท่ามกลางการแข่งขันด้านอวกาศอย่างเข้มข้นระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต อังกฤษกลับไม่ได้มีบทบาทโดดเด่นอย่างที่ควรจะเป็นนัก ผู้พันทอมจึงเปรียบเสมือนตัวแทนที่สะท้อนความล้มเหลวด้านอวกาศของอังกฤษ ถึงแม้จะเป็นเพลงที่มีนัยยะแฝงไว้มากมาย แต่ถ้าแปลงแบบตรงตัวเพลงนี้ก็คือบทพร่ำพรรณนาถึงความสวยงามของห้วงอวกาศอันเปลี่ยวเหงาและโดดเดี่ยวของผู้ชายธรรมดาคนหนึ่ง…ไม่ต่างอะไรจากสิ่งที่ Neil รู้สึกในภารกิจ Apollo 11



WATCH




คำอธิบายรูป: Richard Nixon ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 37 ขณะเข้าเยี่ยมนักบินอวกาศ Apollo 11 ทั้ง 3 คนที่กำลังกักตัวหลังกลับจากดวงจันทร์

 

“ถึงฮุสตัน The Eagle ลงจอดบน Tranquility Base (ชื่อเรียกพิกัดบนพื้นผิวดวงจันทร์) เรียบร้อยแล้ว” Neil ส่งข้อความนี้ถึงศูนย์ปฏิบัติการบนโลกในเวลาบ่าย 3 โมง 17 นาที ของวันที่ 20 กรกฎาคม ปี 1969 ข้อความจาก Neil คือสิ่งที่ทุกคนกำลังเฝ้ารอคอยอย่างใจจดใจจ่อ เนื่องจากการลงจอดมีปัญหาขัดข้องที่อาจส่งผลทำให้ภารกิจทั้งหมดล้มเหลวได้ แต่สุดท้ายพวกเขาก็ทำมันสำเร็จ “ที่นี่มีผู้ชายจากดาวเคราะห์ที่มีชื่อเรียกว่าโลก เดินทางมาเหยียบดวงจันทร์ ในเดือนกรกฎาคมปี 1969 เรามาอย่างสันติเพื่อมวลมนุษยชาติ” Neil ในฐานะผู้บัญชาการของภารกิจอ่านออกเสียงข้อความนี้ตามธรรมเนียมปฏิบัติ ก่อนที่หลังจากนั้นเขาและ บัซ อัลดริน จะทำสิ่งยิ่งใหญ่ที่ทุกคนกำลังเฝ้ารอ…กระโจนลงบนพื้นผิวของดวงจันทร์

 

“นี่คือก้าวเล็กๆ ของมนุษย์ แต่เป็นการกระโดดครั้งยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ” คำพูดแรกของ Neil เมื่อเท้าของเขาสัมผัสกับพื้นผิวดวงจันทร์ โดยมีมนุษย์โลกหลายล้านชีวิตเป็นสักขีพยาน  หลังจากนั้น Neilกับ Buzz ก็แยกย้ายกันไปปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมาย โดยส่วนใหญ่ก็เป็นการรวบรวมสสารต่างๆ บนดวงจันทร์เก็บกลับมาที่โลก ทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าวต่างคนต่างก็มีเวลาได้อยู่กับตัวเอง และด้วยบรรยากาศที่ไม่คุ้นเคยทำให้ห้วงความคิดของ Neil ฟุ้งไปต่างๆ นานา “มันเป็นพื้นผิวที่สดใสในแสงแดด เส้นขอบฟ้าดูเหมือนอยู่ใกล้มากเพราะความโค้งเด่นชัดกว่าบนโลกมาก เป็นสถานที่ที่น่าสนใจจริงๆ” ห้วงความคิดของ Neil เมื่อเหม่อมองไปรอบๆ ดวงจันทร์ที่ยืนอยู่ โดยเขาได้ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงความรู้สึกนี้ในภายหลัง

 

“ผมสามารถยกนิ้วโป้งตัวเองขึ้นมาบังโลกทั้งใบได้เลย” Neil พูด และเขาก็ทำเช่นนั้นจริงๆ โลกอาจจะเคยเป็นสถานที่อันกว้างใหญ่ แม้แต่มนุษย์เองก็ยังสำรวจไม่ครบทุกซอกทุกมุม แต่ตอนนี้ด้วยระยะทางความห่างไกล 244,390 ไมล์ โลกทั้งใบกลับดูเล็กนิดเดียว ราวกับเป็นก้อนอัญมณีสีน้ำเงินที่ส่องประกายระยิบระยับชวนมอง “ในปี 1969 คุณปู่เล่าให้ฟังว่า เขามองกลับมาที่โลกจากดวงจันทร์ แล้วรู้สึกว่ามันช่างเป็นสถานที่ที่เปราะบางเหลือเกิน ก็ได้แต่หวังว่าผู้คนจะช่วยรักษาดูแลมันเอาไว้เป็นอย่างดี มันคือสถานที่อันสวยงาม เป็นบ้านอันอบอุ่นท่ามกลางอวกาศไร้สีสัน” คำบอกเล่าของ คาลี อาร์มสตรอง หลานสาวแท้ๆ ของ Neil 

 

Neil และ Buzz ใช้เวลาอยู่บนพื้นผิวดวงจันทร์ 2 ชั่วโมง 36 นาที ก่อนจะออกเดินทางกลับสู่โลก โดยมีรายงานว่าเมื่อยานพุ่งตัวออกจากดวงจันทร์ได้สักครู่ ทั้ง 3 คนก็หลับสนิทเป็นตายรวดเดียวกว่า 8 ชั่วโมง ถือเป็นการนอนหลับที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ภารกิจเริ่มต้น…ไม่ต่างอะไรจากเด็กๆ ที่นอนหลับในรถขณะที่พ่อแม่กำลังพาพวกเขากลับบ้าน

คำอธิบายรูป: Neil Armstrong ในวัยชรา เขาเลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างเงียบๆ และจากไปอย่างสงบ

 

On the Way Homeกลับบ้าน

“คุณมีแผนที่จะทำอะไรหรือไปที่ไหนกับ Neil หรือเปล่าหลังจากที่เขากลับมาถึง” นักข่าวยิงคำถามใส่ภรรยาของ Neil ในระหว่างที่ทั้ง 3 กำลังเดินทางกลับมาที่โลก “ฉันยังไม่ได้วางแผนเลย แต่สำคัญที่สุดคือพวกเขาต้องกลับมาอย่างปลอดภัย”แคปซูลที่บรรจุร่างของ Neil Buzz และ Michael ดิ่งลงกระทบกับพื้นผิวน้ำสีครามของมหาสมุทรแปซิฟิคในเวลาเที่ยง 50 นาที ของวันที่ 24 กรกฎาคม ปี 1969 ท่ามกลางเสียงปรบมือกึกก้องของชาวโลก ทั้ง 3 ถูกนำตัวขึ้นมาราวกับวีรบุรุษ อย่างไรก็ตามพวกเขาจำเป็นที่จะต้องถูกกักตัวไว้ในอากาศยาน USS Hornet Aircraft เป็นเวลาถึง 3 สัปดาห์ เพื่อยืนยันว่าพวกเขาไม่ได้นำเชื้อโรคติดตัวจากดวงจันทร์กลับมาด้วย  หลังจากเสร็จสิ้นขั้นตอนทุกอย่าง ชีวิตของ Neil ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เขาได้กลายเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก ได้เข้าพบกับประธานาธิบดี Richard Nixon ถึงทำเนียบขาว เรียกได้ว่าทุกสายตาจับจ้องมายังเขา

 

ธรรมชาติของ Neil ค่อนข้างที่จะเป็นคนรักความสันโดษ ดังนั้นสิ่งต่างๆ ที่เขาต้องเผชิญหลังจากกลับมาที่โลกจึงค่อนข้างสาหัสพอสมควร และอาจจะรับมือยากกว่าอุปสรรคทั้งหมดที่เขาฝ่าฟันไปพิชิตดวงจันทร์อีกด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม Neil ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองคิดผิด ยังไงเขาก็รู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์นี้ “คุณเคยคิดหรือเปล่าว่าถ้าย้อนเวลากลับไปได้ คุณจะไม่ได้ไปดวงจันทร์แลกกับการได้ชีวิตส่วนตัวของคุณกลับคืนมา คุณจะแลกหรือเปล่า”

 

“ไม่มีทาง” Neil ตอบกลับสั้นๆ แต่ได้ใจความ “คุณเสียใจหรือเปล่าที่สิ่งที่คุณทำในตอนนี้กลายเป็นเพียงบทเรียนหนึ่งที่อยู่ในหนังสือเรียนของนักเรียนเท่านั้น”

 

“ผมเดาว่าทุกคนคงอยากเห็นสิ่งต่างๆ มากกว่านี้ อยากให้การเดินทางครั้งนั้นจุดประกายให้เกิดอะไรมากกว่านี้ แต่สำหรับเด็กๆ พวกเขายังรู้สึกตื่นเต้นกับเรื่องราวนั้นเสมอ และมันก็กลายเป็นแรงบันดาลใจชั้นดีให้กับหลายๆ คน ในตอนแรกเรื่องนี้ถูกบันทึกลงในตำราวิชาวิทยาศาสตร์ ต่อมาก็เป็นวิชาประวัติศาสตร์ และสักวันมันก็จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศสหรัฐอเมริกา” หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจ Apollo 11 Neil ก็เลือกใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายโดยทำงานให้กับชุมชนการบินสหรัฐอเมริกา เขาเลือกที่จะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อจำเป็นเท่านั้น ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่ได้รับรู้เรื่องราวเขามากมายนัก ทั้งๆ ที่เขาคือหนึ่งในบุคคลสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่มนุษย์ได้ถือกำเนิดขึ้น จนกระทั่งเขาเสียชีวิตลงในเดือนสิงหาคม ปี 2012 ด้วยอายุ 82 ปี

 

“คุณรู้สึกอย่างไรที่รอยเท้าของคุณจะประทับอยู่บนดวงจันทร์ไปอีกนับพันปี” คำถามของนักข่าวคนหนึ่งในการสัมภาษณ์ก่อนที่ Neil จะเสียชีวิตไม่นาน “ผมหวังว่าจะมีใครสักคนกลับไปที่นั่นในสักวันหนึ่ง และลบมันทิ้งไป”

WATCH