LIFESTYLE

เมื่อ Big Mountain ถูกยกเลิก! ถกประเด็นความอยู่รอดของเทศกาลดนตรีในยุคโควิด เราจะมีวันนั้นหรือไม่...

“ผู้คนจะแห่แหนกันออกมาเพื่อที่จะไปดูคอนเสิร์ต และผู้เล่นที่เหลืออยู่ก็จะได้รับประโยชน์ แต่คุณต้องอยู่ถึงวันนั้นให้ได้” - ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม

เหล่าผู้คลั่งไคล้การชมเทศกาลดนตรีหรือคอนเสิร์ตต่างร่ำร้องว่าเมื่อใดจะได้กลับไปสนุกสุดเหวี่ยงกันอีกครั้ง หรือมิวสิกเฟสติวัลในเมืองไทยจะไร้ซึ่งทางออก(ในเร็ววัน)

POST MALONE

 

ย้อนกลับไปช่วงก่อนโรคระบาดจะบุกลุกลามไปทั่วโลก จะเรียกว่าเป็น “ขาขึ้น” ของมิวสิกเฟสติวัลและคอนเสิร์ตในเมืองไทยก็ว่าได้ เพราะไม่ได้มีเพียงศิลปินไทยที่ตบเท้าขึ้นบนเวทีสร้างความมัน ศิลปินต่างชาติทั้งฝั่งเอเชีย ยุโรป และอเมริกาต่างก็เข้าคิวมาแสดงฝีมือลายมือให้ได้ตื่นตาตื่นใจกัน บางเดือนมีให้ดูทุกสัปดาห์ หรือแม้แต่วันธรรมดาก็ยังจัดคอนเสิร์ตได้ ยิ่งช่วงสิ้นปีแบบนี้ถือเป็น “ฤดูแห่งเทศกาลดนตรี” เลยทีเดียว จะว่าไปความทรงจำในช่วงนั้นก็ชักจะรางเลือน ไม่รู้มีใครเป็นเหมือนผู้เขียนหรือเปล่า เพราะนับตั้งแต่โลกใบนี้รู้จักคำว่าโควิด-19 ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เทศกาลดนตรีและคอนเสิร์ตที่เคยจัด On ground ไม่ว่าจะเป็นเอาต์ดอร์หรืออินดอร์ก็ต้องจัดเป็นออนไลน์แทน ศิลปินเล่นต่อหน้าพื้นที่ว่างเปล่า ส่วนผู้ชมก็จับจ้องอยู่หน้าโน้ตบุ๊กหรือสมาร์ตโฟน

BTS

 

“ธุรกิจของเราเป็นธุรกิจที่ไม่สามารถทำได้เลยในช่วงโควิด-19” ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม หัวเรือใหญ่แห่งเทศกาลดนตรี Big Mountain ซึ่งตอนนี้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการอาวุโสหน่วยงาน Showbiz ในฐานะผู้บริหาร GMM Show ในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ พูดถึงสถานการณ์ปัจจุบันของผู้จัดเทศกาลดนตรีในเมืองไทย ไม่ต่างจากสามขวัญ ตันสมพงษ์ กรรมการผู้จัดการค่ายเพลง What The Duck ที่มีประสบการณ์การจัดคอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรีอย่างโชกโชน “แต่ของเรามันหนักตรงที่โดนก่อน ฟื้นทีหลัง ก็คงต้องหาทางอื่นเพื่อเอาตัวให้รอด ส่วนของผมเองอาจจะโชคดีที่ยังมีค่ายเพลงที่สามารถทำรายได้จากทางอื่นๆ ได้”



WATCH




ED SHEERAN

ด้านกิรตรา พรหมสาขา ณ สกลนคร ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง Maho Rasop Festival และผู้จัด Have You Heard? แสดงความคิดเห็นว่า “คิดว่าผู้จัดหลายๆ คนกำลังรอการได้กลับมาจัดงานอีกครั้งนะคะ ในระหว่างนี้เราก็หาวิธีการใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับมาตรการต่างๆ ค่ะ” นอกจากนั้น กิรตรายังมองว่าผู้จัดมิวสิกเฟสติวัลควรจะศึกษาเทรนด์ใหม่ๆ เอาไว้สำหรับปรับตัวด้วย

MAHO RASOP

 

ข้ามไปดูสถานการณ์เมืองนอกบ้าง เทศกาลดนตรีระดับโลกเปิดฉากอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็น Reading & Leeds 2021 ที่ประเทศอังกฤษ หรือ Fuji Rock Festival 2021 ณ แดนอาทิตย์อุทัย ซึ่งมีแต่ศิลปินในประเทศขึ้นแสดง รวมไปถึงศิลปินฝั่งตะวันตกที่ออกตารางทัวร์กันมาไม่ขาดสาย ส่วนคนไทยก็รับชมผ่านช่องทางออนไลน์ และรอคอยการกลับมาของมิวสิกเฟสติวัลอย่างใจจดจ่อ

BIG MOUNTAIN

 

“ถ้าโควิด-19 หายไป ผมเชื่อว่าผู้เล่นในธุรกิจการแสดงสดไม่น่าจะเท่าเดิม น่าจะมีผู้เล่นที่ไม่สามารถยืนระยะได้จนถึงวันที่เทศกาลดนตรีกลับมาอีกครั้ง” ยุทธนาคาดการณ์นอกจากนี้เขายังมองว่าจะมี “ปรากฏการณ์หมูกระทะ” เกิดขึ้นด้วย “เราได้เห็นปรากฏการณ์หมูกระทะในช่วงที่มีการผ่อนคลายมาตรการ สามารถนั่งทานอาหารในร้านกันได้อีกครั้ง ทุกร้านคิวยาว ผู้คนโหยหาการออกมารับประทานอาหาร ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นกับแวดวงคอนเสิร์ตและมิวสิกเฟสติวัลครับ ผมว่าบัตรจะขายดีมาก ผู้คนจะแห่แหนกันออกมาเพื่อที่จะไปดูคอนเสิร์ต ไปมิวสิกเฟสติวัลที่เขาคิดถึงกัน และผู้เล่นที่เหลืออยู่ก็จะได้รับประโยชน์จากปรากฏการณ์หมูกระทะนี้ แต่คุณต้องอยู่ถึงวันนั้นให้ได้ ปัญหาคือตอนนี้เรายังไม่รู้ว่าวันนั้นจะกลับมาเมื่อไร” ยุทธนาอธิบาย

BLACKPINK

 

ผู้จัดเทศกาลดนตรีและคอนเสิร์ตทั้ง 3 คนพูดถึง “ความหวัง” ที่ธุรกิจนี้จะคัมแบ็กในเร็ววัน กิรตรากล่าวกับเราว่า “ต้องทำตัวให้พร้อมสำหรับการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่คาดว่าจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ” ในขณะที่สามขวัญมองว่าเทศกาลดนตรีคงไม่มีทางออกมากนัก เพราะมันเป็นประสบการณ์ที่หาอะไรมาแทนไม่ได้  

READING FESTIVAL

 

“ในระยะเวลาเกือบ 2 ปี เราได้ทำคอนเสิร์ตออนไลน์มาไม่น้อย ซึ่งอาจจะมาทดแทนกันได้บ้าง แต่เอาเข้าจริงมันไม่ใช่โปรดักต์เดียวกันเลยแม้แต่น้อย” ด้านยุทธนามองว่าเทศกาลดนตรีจะกลับมาจัดได้อีกก็ต่อเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายแล้วเท่านั้น “ผมว่าพวกเราทุกคนยอมรับเรื่องนี้กัน มันเป็นเรื่องของการรับผิดชอบต่อสังคม ดังนั้นเราก็ต้องรอ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องวางแผนเตรียมที่จะกลับมาในวันที่กลับมาได้ แม้จะไม่ได้กลับมาในแบบปกติในทันทีก็ตาม”

 

คำกล่าวปิดท้ายของกิรตราทำให้เรายิ้มออก “ตราบใดที่ยังมีคนชอบดูการแสดงสด เราย่อมมีทางออกให้สามารถกลับมาจัดงานได้อีกครั้งแน่นอน” เธอกล่าวอย่างมุ่งมั่น 

WATCH