LIFESTYLE
เรียนรู้บทบาทความเป็น “แม่” ในครอบครัว LGBTQ+ กับวิธีเติมเต็มความรักให้สมบูรณ์หน้าที่ของคนเป็นแม่จริงๆ แล้วคืออะไร |
“ครอบครัว” คือสถาบันขนาดเล็กสุดในสังคมที่มีบทบาทหน้าที่ในการสร้างและกำหนดหน้าที่พึงปฏิบัติอันดีให้กับกลุ่มคน ประกอบไปด้วยพ่อ แม่ และลูก นี่คือคำนิยามของครอบครัวในสังคมที่เราเรียนรู้กันมาจากตำราเรียน หากสังคมในภาพความเป็นจริงแล้วมีความแตกต่างเป็นอย่างมาก ในวันที่โครงสร้างครอบครัวหลากหลายมากขึ้นโดยไม่ได้มีการกำหนดอีกแล้วว่าเพศหญิงต้องเป็นแม่ และเพศชายต้องเป็นพ่อเท่านั้น ปัจจัยเหล่านี้ก่อให้เกิดคำว่า “แม่” มีนิยาม บทบาท และหน้าที่ที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน
เมื่อตัดเรื่องเพศกำหนดและสรรพนามเรียกออก แม่คือองค์ประกอบหนึ่งในครอบครัวที่เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการขัดเกลาให้สถาบันเล็กๆ นี้กลายเป็นกลุ่มคนที่มีคุณภาพ เมื่อพูดแบบนี้แล้วความหมายของครอบครัวจะเป็นมากกว่าแค่พ่อแม่ลูก แต่จะเป็นนิยามที่หมายถึงที่พักพิงที่ปลอดภัย ที่ที่โอบอุ้มชุบชูและผลักดันส่งเสริมให้เราเป็นคนดี เด็กหลายคนเกิดมาพร้อมการเลี้ยงดูจากย่ายายหากเรียกบุคคลนั้นว่าแม่ หรือแม้แต่เด็กที่ถูกเลี้ยงมาโดยแม่บุญธรรมก็ยังเรียกว่าแม่ได้ โดยไม่ได้มีสายเลือดเดียวกันด้วยซ้ำ
แอนนา และลูกชายแอร์พอท / @anna_celebeauty
ครั้งนี้โว้กจะพาไปเปิดมุมมองกับการพูดคุยกับครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ การเติมเต็มคำว่าแม่ให้กับลูกและการสร้างครอบครัวที่ดีของ ‘แอนนา ทีวีพูล’ ในวันที่พิธีกรมากความสามารถหรือ LGBTQ+ สาวคนนี้สร้างครอบครัวกับสามีและมีลูกชายวัยกำลังซนอย่างน้องแอร์พอท บทบาทความเป็นแม่ชัดเจนในใจเธอตั้งแต่วันแรกที่รู้ว่าจะได้เป็นแม่คน หากก็มาพร้อมความคลุมเครือและคำถามมากมายจากสังคมที่เสียดสีด้วยคำพูดว่าเธอเป็นกะเทยเลี้ยงลูก “แอนนามองว่าแม่มันแตกต่างและหลากหลายตามบริบทครอบครัว เราไม่ควรจำกัดคำว่าแม่ว่าเป็นเพศหญิงเท่านั้น มันอยู่ที่คุณสมบัติในด้านจิตใจของเราว่าเราพร้อมจะเป็นแม่คนหรือเปล่า มันไม่ได้อยู่แค่ว่าผู้หญิงแท้จะต้องเป็นแม่ได้อย่างเดียว ตอนนี้สังคมโลกมันเปิดกว้างมากขึ้น บางครอบครัวเป็นชายกับชายเขาก็มีบทบาทความเป็นแม่ได้เหมือนกัน เราไม่ได้รู้สึกว่าขาดอะไรเลยคิดว่าครอบครัวเราอบอุ่น เพราะมันมีความรัก และมีรายละเอียดยิบย่อยอยู่ในนั้น มันไม่ได้สำคัญเลยว่าเป็นเพศหญิงหรือชายแล้วจะให้ความรักลูกได้มากกว่าหรือน้อยกว่า” ความเป็นแม่อาจไม่ได้หมายถึงผู้หญิงที่สามารถให้กำเนิดและให้นมบุตรได้อีกต่อไป เมื่อสัญชาตญาณความเป็นแม่ต่างหากที่สำคัญมากกว่านั้น คือความอบอุ่นจากความรักและการเอาใจใส่
แอนนา และครอบครัว / @anna_celebeauty
แม้ปัจจุบันเธอยังคงมีตำแหน่งในเอกสารราชการว่าเป็น “พ่อบุญธรรม” แทนที่ด้วยคำว่ามารดา และหลายครั้งที่เธอต้องต่อสู้กับความไม่เข้าใจของสังคมว่าทำไม LGBTQ+ อย่างเธอถึงกลายมาเป็นแม่ได้ก็ตาม “คนในกลุ่ม LGBTQ+ เราต้องการการยอมรับจากสังคมก็จริง แต่เราไม่ได้บังคับเพราะเรารู้ว่ามันอยู่ที่จิตใจคนและกฎหมาย แอนนาว่าเราต้องกลับมาทบทวนที่กฎหมายด้วย ถ้ากฎหมายยอมรับในความหลากหลายทางเพศ และทำให้เรารู้สึกมีสิทธิ์เท่าเทียมกับคนอื่นในทุกๆ เรื่อง ถึงเวลานั้นสังคมจะเปิดใจยอมรับมากขึ้นโดยอัตโนมัติเลย” บทบาทความเป็นแม่ของเธอไม่ได้แตกต่างจากครอบครัวอื่น เพราะจุดประสงค์ในการเป็นแม่ให้น้องแอร์พอทคือเพื่อเติมเต็มความสมบูรณ์ให้ครอบครัว “เราให้ความรักและการดูแลเขาอย่างสมบูรณ์เต็มร้อย เราจะไม่ปิดกั้นพร้อมบอกความจริงทุกอย่าง แต่เป็นความจริงในขอบเขตที่เด็กวัยเท่าเขาเข้าใจได้ เราเคยถามลูกด้วยซ้ำว่า คิดว่าแม่คืออะไร เขาก็จะบอกว่าแม่คือคนที่เลี้ยงเขา คนที่รักเขา แค่นั้นเลย เพราะในมุมมองของเด็ก แม่ก็แค่คนคนหนึ่งที่รักลูกเท่านั้นเอง”
ภาษารักไม่ได้มาในรูปแบบของเพศหรือการแบ่งแยกหน้าที่ หากมันคือสัญชาตญาณอย่างหนึ่งของพ่อแม่ในการดูแลปกป้องและให้ความรักกับลูกเพียงเท่านั้น อดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ‘ไบรอัน เดวิดสัน’ และสามีของเขา ‘สกอต ชาง’ เคยให้สัมภาษณ์ทางช่อง BBC News Thailand ถึงเรื่องครอบครัว LGBTQ+ ของตัวเองว่า “เราเป็นเพียงครอบครัวปกติครอบครัวหนึ่งเลย ก็แค่ผู้ชาย 2 คนที่แต่งงานกันมีลูก 3 คน แล้วก็พยายามบาลานซ์ชีวิตการทำงานและชีวิตครอบครัวเท่านั้นเอง ในแต่ละสัปดาห์เราจะจัดสรรเวลาให้เพียงพอ เพื่อให้ลูกๆ ได้รู้ว่าเรารักและคอยดูแลพวกเขาเสมอในเวลาที่พวกเขาต้องการ จริงๆ มันมีหลายเรื่องที่เราต้องคิดและจัดการว่าจะสร้างครอบครัวอย่างไร จะอธิบายให้เด็กๆ ฟังอย่างไรในอนาคต แต่เราก็แค่เป็นตัวเองและพยายามสร้างครอบครัวที่ดีเท่านั้น” ท่านฑูตตอบคำถามอย่างเรียบง่าย ซึ่งในความเป็นจริงมันอาจเป็นแบบนั้นก็ได้ เราและครอบครัวเพียงใช้ชีวิต โดยไม่ต้องถูกจำกัดในกรอบว่าต้องเป็นเพศอะไร เรียกว่าอะไร หรือมีบทบาทอะไรในครอบครัว ในเมื่อความสำคัญที่สุดของโครงสร้างครอบครัวคือความรัก
WATCH
How we live together: thanks to Chris and Patrick at The Guardian for this short piece and photo. Fun tag line though in practice there are many other worthy events for weekend time, including this morning’s Remembrance service at British Club. https://t.co/kMr42QBfT0
— Brian Davidson (@brijdavidson) November 10, 2019
ครอบครัวของไบรอัน เดวิดสัน กับการให้สัมภาษณ์ที่สำนักข่าว The Guardian
“ผมภูมิใจในกฎหมายของสหราชอาณาจักรที่ให้สิทธิ์แก่ผมในการแต่งงานกับพาร์ตเนอร์ของผม มันแสดงให้เห็นว่าประเทศของเราให้ความเคารพต่อคนทุกคน” กฎหมายคือส่วนสำคัญอย่างมากในการกำหนดบทบาทและหน้าที่ของบุคคล ในขณะที่เราดำรงอยู่ในสังคมโลกที่หลากหลาย แต่กฎหมายที่เข้ามารองรับกลับไม่หลากหลายมากพอที่จะจัดสรรปันส่วนให้ทุกคนได้รับสิทธิ์หรือสร้างความเท่าเทียมให้กัน แม้กฎหมายในประเทศอังกฤษจะเปิดกว้างทั้งเรื่องการสมรสเพศเดียวกัน ไปจนถึงกฎหมายครอบครัวในกลุ่ม LGBTQ+ ก็ตาม แต่กฎหมายในประเทศไทยเองยังคงวิ่งวนอยู่กับสภาพสังคมในกรอบและหยิบเอาเรื่องของศีลธรรมมาเป็นข้ออ้างเพื่อกะเกณฑ์ทุกครอบครัวให้เป็นไปในแบบที่ต้องการ หากเมื่อไหร่ก็ตามที่กฎหมายไทยเปิดรับมากขึ้นเราคงจะได้เห็นสังคมที่ใจกว้างและหลายครอบครัวรวมถึงครอบครัว LGBTQ+ ได้ใช้ชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน
Elton John และ David Furnish พร้อมลูกน้อย Zachary และ Elijah / The Splash
สุดท้ายแล้วจากตัวอย่างของทั้งสองครอบครัว LGBTQ+ มันทำให้เราได้เห็นว่าปัจจุบันหน้าที่ของแม่คือการเติมเต็มความรัก ความอบอุ่นให้กับลูกไม่ว่าแม่คนนั้นจะมีเพศอะไร หรือถูกเรียกด้วยสรรพนามอะไรก็แล้วแต่ บทบาทความเป็นแม่ไม่ได้ขึ้นกับว่าคุณเป็นผู้ให้กำเนิดหรือแม้แต่จะมีเลือดเนื้อเชื้อไขหรือไม่เสมอไป ความรัก ความอบอุ่น และความหวังดีที่มอบให้กันเราเชื่อว่ามันทดแทนกันได้มากพอที่จะทำให้ครอบครัวนั้นสมบูรณ์แล้ว
ข้อมูล : BBC News Thailand, สัมภาษณ์ของ แอนนา ทีวีพูล และโว้กประเทศไทย, สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง
WATCH