เปิดความหมายของแต่ละสีบนธงสีรุ้ง LGBTQ+ หมายถึงอะไร และใครเป็นผู้สร้าง
ก่อนธงสีรุ้ง 6 เฉดในปัจจุบันที่เราได้เห็นนั้นผืนแรกสุดมีทั้งหมด 8 สี!
ก้าวสู่เดือนมิถุนายนแล้วอย่างเป็นทางการกับเดือนที่ทั่วโลกยกให้เป็นความภาคภูมิใจของกลุ่มหลากหลายทางเพศ #PrideMonth ซึ่งในเดือนนี้เองโว้กยังได้พาแฟนๆ ย้อนเวลาสู่ปี 1969 ไปรู้จักต้นกำเนิดของการเดินขบวนที่สืบเนื่องจากการปะทะกันของตำรวจและกลุ่มเพศทางเลือกที่บาร์ “Stonewall” (คลิกไปอ่านได้ที่นี่) ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นดั่งฉนวนให้เกิดการลุกฮือของกลุ่มเพศทางเลือกที่ออกมาตั้งขบวนเรียกร้องถามหาความยุติธรรมและความเท่าเทียมกันอย่างฮึกเหิม การประท้วงครั้งนั้นเป็นการปลดแอกครั้งแรกสุด และกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการขับเคลื่อนพลังทางสังคมที่โลกต้องจารึกในประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน
สีสันของการเดินขบวนพาเหรด #PideMonth ในปัจจุบัน / NBC News
หลังจากขบวนพาเหรดครั้งแรกที่เกิดขึ้นมีจุดประสงค์เพื่อการประท้วงและเรียกร้องความเท่าเทียมของกลุ่มเพศทางเลือก แต่ในครั้งต่อๆ มาจุดมุ่งหมายกลับกลายเป็นขบวนพาเหรดที่เราได้เห็นความคิดสร้างสรรค์ ความสนุกสนาน ความเป็นตัวเอง ความรัก และรอยยิ้มที่ถูกโปรยปรายไปทั่วแทน โดยปราศจากการใช้กำลังห้ำหั่นกัน และเพื่อเป็นการย้ำเตือนถึงความเท่าเทียมกันของเพศทุกแบบบนโลกใบนี้ เดือนมิถุนายนของทุกปีจึงกลายเป็นธรรมเนียมที่เหล่า LGBTQ+ จะได้ร่วมฉลองความภูมิใจและเปิดมุมมองความเท่าเทียมให้สังคมได้รับรู้อย่างกว้างขวางมากขึ้น
กิลเบิร์ต เบเกอร์ / Dwell
เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการเดินพาเหรดของกลุ่ม LGBTQ+ เกิดขึ้นก็มักจะปรากฏเห็นธงสีรุ้งโบกสะบัดไปทั่วพื้นที่ สีรุ้งที่เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มโดยบอกเล่าถึงความหลากหลายของเฉดสีเสมือนความหลากหลายของมนุษย์ที่ไม่ควรถูกจำกัดและเจาะจงเพียงแค่เพศเท่านั้น หากลึกลงไปกว่านั้นแล้วทุกคนล้วนมีคุณค่าในตัวเองโดยที่ไม่เกี่ยวกับเพศกำหนดเช่นเดียวกับความหมายอันยิ่งใหญ่ที่ซ่อนอยู่ภายใต้เหล่าสีรุ้งนั่นเอง ต้นกำเนิดของธงสีรุ้งที่เราได้เห็นกันในขบวนพาเหรดเริ่มต้นจากการออกแบบของนักทำธงอย่าง “กิลเบิร์ต เบเกอร์” ด้วยการนำผ้าไปย้อมให้ได้ทั้งหมด 8 เฉดสีแล้วนำมาประกอบเข้าด้วยกันผ่านการเย็บมือเพื่อใช้ในขบวน Gay Freedom Day Parade ที่ซานฟรานซิสโกในปี 1978 ภายใต้แนวคิดของความหลากหลายที่สามารถอยู่ร่วมกันได้เหมือนสีทั้ง 8 เฉดที่แตกต่างทางความหมายแต่กลับอยู่ด้วยกันได้อย่างกลมกลืน
WATCH
กิลเบิร์ต เบเกอร์ กับต้นฉบับธงสีรุ้งยุคแรก / Medium.com
ชมพู = เพศวิถี
แดง = ชีวิต
ส้ม = การเยียวยาจิตใจ
เหลือง = แสงอาทิตย์
เขียว = ธรรมชาติ
ฟ้าเทอควอยซ์ = ความมหัศจรรย์ ศิลปะ
คราม = ความกลมกลืน
สีม่วง = จิตวิญญาณมนุษย์
สำหรับตัวกิลเบิร์ตนั้นเขาจากไปเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมาด้วยอายุ 65 ปี นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิกลุ่มเพศทางเลือกคนนี้นอกจากจะเป็นศิลปินทำธงในซานฟรานซิสโกแล้ว เขายังแต่งแดร็กเพื่อการแสดงโดยใช้ชื่อในวงการว่า “เกย์ เบ็ตซี่ รอส” อีกด้วย โดยธงสีรุ้งต้นฉบับนั้นตัวกิลเบิร์ตเองไม่ได้จดลิขสิทธิ์ไว้ ซึ่งตัวเขาเองเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าเขายินยอมให้คนนำไปปรับใช้อยู่แล้ว ปัจจุบันจึงได้มีการปรับธงสีรุ้งให้เหลือเพียงแค่ 6 สีเท่านั้นโดยตัดสีชมพูและสีครามออกไป และสำหรับธงสีรุ้งต้นฉบับโดยกิลเบิร์ตปัจจุบันถูกจัดให้เยี่ยมชมได้ที่พิพิธภัณฑ์ MoMA ในนิวยอร์กเพื่อเป็นการระลึกถึงสัญลักษณ์แรกสุดของการเป็นศูนย์รวมจิตใจของกลุ่มความหลากหลายทางเพศนั่นเอง
Taylor Swift / Rolling Stone
ธงสีรุ้งนี้นับว่าเป็นหลักไมล์ที่สำคัญสำหรับกลุ่ม LGBTQ+ และเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการพูดถึงกลุ่มคนเหล่านี้เราจะได้โอกาสเห็นสีรุ้งอันสดใสเป็นสัญลักษณ์ปรากฏขึ้นเมื่อนั้น เช่นเดียวกับปัจจุบันที่เราได้เห็นคนดังหลายคนออกมาร่วมใช้สัญลักษณ์สีรุ้งเพื่อสนับสนุนกลุ่มคนเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นคอนเสิร์ตของ Ariana Grande และหนุ่ม Harry Styles รวมไปถึงการอุทิศทั้งเพลงให้กับกลุ่มเพศทางเลือกของ Taylor Swift ไปจนถึงการจัดตั้งมูลนิธิ LGBT Foundation และอีกมากมายเลยทีเดียว
The Gottman Institute
สุดท้ายแล้วผู้เขียนเชื่อว่าการบ่งบอกว่าเป็นเพศอะไรมันเป็นเพียงแค่การถูกสวมบทบาทให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของสังคมโลกเท่านั้น เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่บริบทของสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไป เพศวิถีเองก็ต้องถูกปรับเปลี่ยนไปด้วยไม่ใช่หรือ ดังนั้นถ้าพูดกันตามความจริงเมื่อไม่นับเรื่องเพศแล้ว เราก็คือมนุษย์เหมือนกัน สิ่งที่สำคัญในการเป็นมนุษย์คือความเอื้ออาทรและความเข้าใจที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันต่างหาก โลกถึงเวลาหมุนเปลี่ยนไปอีกครั้ง หากคุณไม่อยากเป็นมนุษย์ที่ถูกขีดโดยกฎเกณฑ์ล้าสมัยก็จงเข้าใจว่าโลกเราไม่ใช่แบบเดิม และมันถูกเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น และหลากหลายขึ้นเช่นเดียวกัน
ข้อมูล : Britannica, Seventeen, Marie Clair
WATCH