คำถามรอบ 5 คนมิสยูนิเวิร์ส 2021 ที่ฟังดูจำเจ กำลังบอกว่าปัญหาเดิมๆ ไม่ได้รับการแก้ไขเสียที
คำถามต่างๆ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นมาตลอด แม้อาจทำให้ดูน่าเบื่อแต่มันสะท้อนให้เห็นถึงเรื่องที่ทุกคนควรใส่ใจมากขึ้น
เป็นประจำทุกปีสำหรับมิสยูนิเวิร์สที่คำถามรอบ 5 คนสุดท้ายจะเป็นคำถามเกี่ยวกับประเด็นร้อนของโลก ซึ่งคำถามเหล่านี้จะคว้านเอาความคิดของเหล่านางงามมาเผยต่อหน้าคนดูทั้งโลกภายใน 30 วินาที อีกทั้งยังวัดกึ๋นของสาวงามด้วยว่าจะหยิบคำตอบที่น่าสนใจและสามารถสร้างแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ปีนี้ก็เช่นกันนางงามตัวแทนจากประเทศอินเดีย, แอฟริกาใต้, ปารากวัย, โคลอมเบีย และฟิลิปปินส์ ต้องตอบคำถามเกี่ยวกับประเด็นร้อนแรงที่กำลังถูกพูดถึงในปัจจุบัน วันนี้เราจะมีวิเคราะห์กันว่าคำถามทั้ง 5 คำถามนั้นสะท้อนสังคมของโลกยุคนี้อย่างไรบ้าง
Beatrice Luigi Gallarde Gomez ตัวแทนสาวงามจากประเทศฟิลิปปินส์
ประเด็นร้อนเรื่องโควิดเป็นเรื่องที่ไม่พูดถึงไม่ได้ แต่แทนที่จะพูดถึงเรื่องการแก้ปัญหาเชิงระบบและมุมมองระดับภาครัฐ ทางกองมิสยูนิเวิร์สได้นำเสนอคำถามเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นประเด็นโควิดยุคใหม่ที่กล่าวถึงการตรวจสอบใบรับรองการฉีดวัคซีนของประชากรโลก เรื่องนี้ละเอียดอ่อนมากในเรื่องสิทธิส่วนบุคคล แต่มันก็สะท้อนให้เห็นว่าใบตรวจสอบการฉีดวัคซีนเปรียบเสมือนหนังสือเดินทางเล่มที่ 2 การโยนคำถามให้ออกความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงมีแนวโน้มที่ตอบไปได้ในทิศทางที่ไม่หลากหลายมากนัก ดังนั้นความยากของโจทย์ปัญหาข้อนี้คือการนำเสนอความคิดเห็นอย่างไรให้ผู้ฟังรู้สึกถึงเหตุผลที่แท้จริงของการตรวจสอบ และทำอย่างไรให้รู้สึกว่าการฉีดวัคซีนเป็นการป้องกันโควิด-19 ไม่ใช่แค่ตัวเอง แต่หมายถึงป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดกับคนทั่วโลกอย่างแท้จริง
Valeria Maria Ayos Bossa ตัวแทนสาวงามจากประเทศโคลอมเบีย
ปัญหาโลกร้อน, โซเชียลมีเดีย, การเหยียดรูปร่าง รวมถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศ ทั้งหมดยังคงถูกหยิบยกมาพูดถึงกันบนเวทีนี้อย่างต่อเนื่อง แต่ความน่าผิดหวังเล็กน้อยคือทุกคำถามยังเป็นคำถามกว้างๆ ที่ไม่ได้เปิดโอกาสให้นางงามได้เจาะลึกถึงรายละเอียดในประเด็นต่างๆ มากนัก ในเวลา 30 วินาทีเป็นเหมือนช่วงเวลาที่นางงามแต่ละคนจะได้สรรสร้างคำตอบอันน่าสนใจ แต่ยังไม่ได้คว้านลึกไปถึงตนตอเท่าไรนัก อย่างเช่นคำถามเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนที่หลายคนยังวางใจและเรื่องผู้นำชายที่ครองสัดส่วนไปถึง 95 เปอร์เซ็นต์ของสัดส่วนผู้นำทั้งหมดในโลก ทั้งหมดตีกรอบให้สาวงามจากอินเดียและโคลอมเบียตอบในการสร้างแรงกระเพื่อม แต่ไม่ได้พูดถึงความละเอียดที่ลึกลงไปในเรื่องนี้เท่าไรนัก ทั้งนี้ทั้งนั้นก็โทษนางงามไม่ได้ เพราะคำถามกว้างเสียจนเกิดความลักลั่น ถ้าตอบกว้างเกินก็ดูไม่มีเนื้อหาเกินไป หรือถ้าตอบแบบหยิบประเด็นย่อยขึ้นมาเป็นตัวอย่างก็ไม่สามารถตอบคำถามได้อย่างครอบคลุมพอ ดังนั้นคำถาม 2 คำถามนี้จึงเป็นอีกครั้งที่คำถามจากเวทีมิสยูนิเวิร์สอาจไม่เข้มข้นพอจะวัดศักยภาพในการตอบคำถามของนางงามรอบ 5 คนสุดท้ายได้ดีพอ
WATCH
Nadia Tamara Ferreira ตัวแทนสาวงามจากประเทศปารากวัย
คำถามที่ดูจะสร้างพลังได้ดีแต่กลับเมินเฉยปัญหาเชิงโครงสร้างคือเรื่องการเหยียดรูปร่าง ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 5-6 ปีก่อนคำถามที่ว่า “วิธีการรับมือการเหยียดรูปร่างที่ดีที่สุดคืออะไร” อาจเป็นคำถามที่น่าสนใจและเรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อย แต่เมื่อมันเป็นคำถามบนเวทีใหญ่ในปี 2021 มันกลับดูเบาบางและเหมือนโยนปัญหาเฉพาะหน้าให้นางงามต้องบอกผู้หญิงให้ดูแลตัวเอง แต่กลับไม่เปิดพื้นที่ให้ตัวแทนผู้หญิงได้แตะต้องปัญหาเชิงโครงสร้างเลยแม้แต่น้อย คำถามนี้อาจเค้นคำตอบที่สร้างพลังในฉากหน้า แต่มันกลับไม่ใช่คำถามที่สามารถเจาะไปถึงรากลึกของปัญหาอย่างแท้จริง ปัญหาที่ต้องย้อนไปตั้งแต่ผู้กระทำ ไม่ใช่แค่โยนภาระให้ผู้ถูกกระทำดูแลตัวเอง คำถามนี้จึงเป็นคำถามเปิดกว้างที่อาจฟังดูน่าสนใจ แต่ถ้ามองลึกลงไปมันช่างเป็นคำถามที่ตกยุคไม่น้อย
Lalela Mswane ตัวแทนสาวงามจากประเทศแอฟริกาใต้
คำถามที่ดูน่าสนใจมากๆ ในครั้งนี้คือการพูดถึงเรื่องการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ที่เป็นประเด็นสุดละเอียดอ่อนเสมอมา เรื่องนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้ง และเปิดมุมมองให้ทุกคนรับฟังความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับทุกคนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังพลิกมุมมองจากการรับมือความคิดเห็นเชิงลบเป็นการชี้ให้เห็นผลกระทบของการกระทำในวัยเด็กที่เตือนสติเด็กและวัยรุ่นว่าบางครั้งการพูดหรือพิมพ์แบบไม่ยั้งคิดบนโลกออนไลน์อาจส่งผลถึงชีวิตในอนาคต นับว่าเป็นคำถามเดียวโดดๆ ที่ไม่กว้างหรือแคบจนเกินไป อีกทั้งยังสามารถสะท้อนปัญหาสังคม และลับคมความคิดของทั้งผู้ตอบและผู้ฟังอีกด้วย ถ้าเปรียบเทียบว่า 5 คำถามนี้ คำถามไหนโดดเด่นส่งนางงามที่สุด ก็คงต้องเป็นคำถามเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียที่นางงามตัวแทนจากประเทศแอฟริกาใต้ได้ไป
Harnaaz Kaur Sandhu ตัวแทนสาวงามจากประเทศอินเดีย
“ซ้ำจำเจ” คำนี้อาจผุดขึ้นมาในหัวใครบางคนเมื่อได้ฟังคำถามเกี่ยวกับประเด็นเดิมๆ แต่การถามคำถามในประเด็นใกล้เคียงปีก่อนๆ นั้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าปัญหาเหล่านั้นยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและขาดความใส่ใจจากคนทั้งโลก ไม่ว่าจะเรื่องโลกร้อน โซเชียลมีเดีย หรือประเด็นอะไรก็แล้วแต่ เรื่องทั้งหมดนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข การสร้างความตระหนักมากขึ้นๆ ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้ปัญหาต่างๆ ได้รับความใส่ใจและมีโอกาสในการถูกแก้ไขมากขึ้น ดังนั้นคำว่าซ้ำอาจไม่ใช่สิ่งที่น่าเบื่อเสียทีเดียว เพราะคำถามเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าปัญหาต่างๆ ที่ถูกนำมาเป็นคำถามควรได้รับการแก้ไขหรือพัฒนาให้ดีขึ้นเสียที...
WATCH