LIFESTYLE

เจาะลึกชีวิต Lynda Radlett ตัวละครที่ Lily James รับบทในซีรีส์ที่ทุกคนไม่ควรพลาด

ความกดดันทางสังคมหล่อหลอมหญิงสาวคนหนึ่งจนมีเส้นชีวิตในรูปแบบหนึ่ง และผู้เขียนก็ถ่ายทอดมันออกมาได้อย่างมีชั้นเชิง

     หลังจากบีบีซีปล่อยซีรีส์เรื่อง The Pursuit of Love ออกมาซึ่งถือเป็นซีรีส์พีเรียดดราม่าที่ได้รับการจับตามองจนนักวิจารณ์หลายคนมองว่าจะเป็นซีรีส์ที่จะมาต่อยอดความสำเร็จของเรื่องราวย้อนยุคของอังกฤษต่อจาก Bridgerton ทว่าตัวละครหลักหลายตัวอาจไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากนัก(เช่นเดียวกับ Bridgerton ในช่วงแรก) วันนี้โว้กจะพาไปทำความรู้จักกับ Linda Radlett ที่ได้ Lily James มารับบทว่าเธอมีคาแรกเตอร์อย่างไรและเธอสะท้อนสังคมจากยุคสมัยที่ Nancy Mitford สร้างสรรค์ตัวละครอย่างไรบ้าง

     ช่วงเวลาในเรื่องนี้แนนซีย้อนเล่าถึงยุคระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 โดยเธอค่อยๆ สร้างสรรค์ตัวละครขึ้นมาภายใต้กรอบสังคมยุคที่เธอผ่านประสบการณ์มาด้วยตัวเอง ดังนั้นเธอจึงสามารถสอดแทรกแง่มุมทางสังคมสะท้อนให้เราเห็นผ่านตัวละครลินดาและตัวละครอื่นๆ ได้อย่างมีมิติที่สัมผัสลึกถึงแก่นมากขึ้น ความในใจของหญิงสาวที่ต้องการหาคู่ครองไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นาน แต่เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าการโหยหาความรักไม่ใช่เรื่องของเพศใดเพศหนึ่ง แต่เป็นอารมณ์ความรู้สึกที่เพศใดก็สามารถทำได้มาโดยตลอด

     หากใครได้อ่านเรื่องย่อหรือสรุปเนื้อเรื่องของ The Pursuit of Love จะเห็นว่าตัวละครลินดานั้นมีชีวิตที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์หลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะประสบการณ์ความรักซึ่งเป็นแกนหลักของเรื่องนี้ มีชื่อผู้ชายหลายคนเข้ามาในชีวิตของเธอจากหลายเวลาและสถานที่ ครอบครัวของตัวละครหลักก็เป็นอีกจุดสำคัญที่หล่อหลอมตัวตนของหญิงผู้นี้เสมอมา ดังนั้นถ้าใครเริ่มติดตามงานประพันธ์ของแนนซีเรื่องนี้จะทราบทันทีว่าเราไม่สามารถตัดสินเนื้อแท้ของลินดาได้ด้วยมุมมองผิวเผิน แต่ต้องเจาะลึกรายละเอียดเข้าไปถึงแรงบันดาลใจเบื้องหลัง เพราะความรักในยุคสมัยนั้นและตัวละครลินดาเองซับซ้อนกว่าแค่ความโรแมนติกระหว่างหนุ่มสาวทั่วไป



WATCH




     ความสัมพันธ์แรกของลินดาคือลูกพี่ลูกน้องอย่าง Fanny Logan ที่พ่อแม่ทิ้งเธอให้อยู่กับป้าและลุง(พ่อและแม่ของลินดา) ซึ่งกิจกรรมสุดโปรดของทั้งคู่คือการล่าสัตว์ ซึ่งจุดนี้เองเป็นจุดแรกที่มีการอธิบายถึงความขัดกับภาพลักษณ์ของหญิงสาว ถือเป็นหลักฐานชิ้นแรกว่าผู้หญิงในสมัยก่อนถูกมองว่ามีความเฟมินีนสูงและไม่น่าจะสอดคล้องกับกิจกรรมของเพศชายซึ่งถูกมองว่าแข็งแกร่งกว่า ณ ในตอนนั้น อีกทั้งยังมีการระบุว่าพ่อของเธอเป็นพวกอนุรักษ์นิยมเต็มสูบ เพราะฉะนั้นแค่ต้นเรื่องของ The Pursuit of Love ก็เห็นความขัดแย้งและกลิ่นอายความขบถของแนนซีที่พยายามสร้างตัวละครเพื่อสะท้อนความอัดอั้นของหญิงสาวได้เป็นอย่างดี

     เชื่อไหมว่าลินดามีพื้นเพเบื้องหลังที่พ่อไม่อยากให้ได้รับการศึกษา...เรื่องนี้อาจฟังดูแปลกประหลาดอย่างยิ่งในปัจจุบัน แต่ถ้าย้อนไปถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 ลินดาคือตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของผลกระทบทางสังคมที่ชายหลังยุคสงครามบีบรัดเธอเอาไว้ ช่วงสงครามผู้หญิงเข้ามามีบทบาทอย่างจริงจังในการขับเคลื่อนสังคมแทนผู้ชาย เนื่องจากผู้ชายกว่าค่อนประเทศ(โดยเฉพาะประเทศคู่สงคราม) ต้องรับหน้าที่ทหารเพื่อออกรบ พวกเธอกลายเป็นแกนหลักสำคัญในสังคม ทว่าเมื่อสงครามจบผู้ชายที่เคยยิ่งใหญ่ไม่ได้ต้องการให้ผู้หญิงอยู่ในชนชั้นปกครองและมีสิทธิ์เหนือกว่าพวกเขา ด้วยเหตุผลนี้ลินดาซึ่งเป็นตัวแทนของผู้หญิงยุคดังกล่าวจึงได้รับความกดดันไม่ให้เข้ารับการศึกษาอย่างจริงจัง และแน่นอนว่าสิทธิด้านอำนาจต่างๆ ในสังคมก็เช่นกัน งานเขียนของแนนซีสะท้อนแง่มุมนี้ออกมาผ่านตัวละครเอกได้อย่างชัดเจน นับเป็นช่วงที่ผู้หญิงงุนงงในสถานะของตัวเอง ไม่รู้ว่าจะวางตัวในตำแหน่งไหนในสังคมและตกอยู่ในห้วงสูญญากาศจนต้องหาวิธีแสดงออกในด้านต่างๆ และเชื่อว่าแนนซีซึ่งเคยผ่านยุคนี้มาจึงหล่อหล่อมตัวละครลินดาและแฟนนีขึ้นได้สอดคล้องกับประวัติศาสตร์พอดี

     กายโหยหาความรักและแต่งงานคือคำตอบ เราจะเห็นว่าความโรแมนติกต่างๆ ถูกทำให้(ดู)โรแมนติกขึ้นอีกระดับเพราะผู้หญิงไม่สามารถเปล่งเสียงความต้องการของตัวเองได้ เรื่องความรักและความมั่นคงในชีวิตคู่จึงเป็นอีกส่วนที่สามารถเติมเต็มความรู้สึกของพวกเธอไม่มากก็น้อย ลินดาก็เหมือนกันเมื่อเธอเป็นผู้หญิงที่ได้รับการศึกษาเธอจึงอยากหลีกหนีแนวคิดอนุรักษ์นิยมเดิมออกไปให้ไกลและสร้างชีวิตใหม่อย่างมั่นคง แต่ชีวิตของลินดาถูกเสริมด้วยการมองรอบด้านอย่างละเอียดของแนนซีผู้เขียนด้วยมุมมองที่ว่าผู้หญิงยังโหยหาความโรแมนติกในชีวิตไม่ต่างจากเดิม ไม่ใช่ว่าการออกไปหาคู่ครองจะต้องมุ่งเป้าหมายไปในเรื่องของการบีบรัดทางสังคมเท่านั้น ชีวิตของลินดาใน The Pursuit of Love จึงเพิ่มระดับความซับซ้อนขึ้นอีกขั้น

     ในมุมหนึ่งของลินดาคือการออกไปหาสังคมและคู่ครองในอุดมคติ แต่นั่นจะใช่คำตอบสุดท้ายของชีวิตรักหรือไม่...ลินดาสามารถพาตัวเองเข้าไปในสังคมดีๆ ได้ เธอมีโอกาสได้พบเจอผู้ชายในสถานะชนชั้นนำทางสังคม เธอถูกญาติผู้ใหญ่ขัดขวางด้วยเหตุผลบางอย่าง และด้วยการบีบรัดที่เธอสะสมมาตลอดทำให้เธออยากตัดสินใจมันด้วยตัวเองบ้าง แต่บางครั้งความเพียบพร้อมในหลายด้านก็อาจจะไม่ใช่คำตอบของคำว่า “รัก” ซึ่งมนุษย์ทุกคนมีอารมณ์ความรู้สึก ถึงแม้จะมีเรื่องสังคมหล่อหลอมมาเกี่ยวข้อง แต่ความรู้สึกนึกคิดส่วนตัวบางส่วนยังคงมีอยู่ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญในการเป็นมนุษย์ไม่ว่าจะยุคไหนก็ตาม สำหรับลินดาความสมบูรณ์แบบอาจไม่ใช่ความรักที่แท้จริง เพียงแต่การตัดสินใจก่อนหน้านี้เธอถูกพรางตาด้วยแรงกดดันในอดีตทำให้เธอต้องไขว่คว้าบางสิ่งที่สามารถเจือจางประสบการณ์สุดแสนอึดอันนั้นได้

     เรื่องราวต่อจากนั้นเธอคือหญิงสาวผู้ตามหาความรักที่แท้จริง ความรักที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับแรงบีบอัดทางสังคม เธออยากรู้สึกรักแบบที่ความรักควรจะเป็น สุดท้ายเธอก็คือมนุษย์ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกไม่ต่างคนยุคไหนๆ การพยายามหาสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า เพียบพร้อมกว่านั้นไม่ใช่แก่นที่แท้จริงของตัวเธอเลย การตัดสินใจก่อนหน้านี้อาจใช้คำว่าผิดพลาดได้ไม่เต็มปาก เพราะมันสะท้อนความหนักหน่วงรุนแรงที่ผู้หญิงยุคหนึ่งต้องเผชิญมาโดยตลอด และแนนซีเองก็พยายามสอดแทรกสิ่งเหล่านี้ลงไปให้ผู้อ่านซึมซับทั้งเรื่องอารมณ์ การตัดสินใจ การวางตัวในสังคม รวมถึงการฝืนความรู้สึกตัวเองไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว

     สุดท้ายเราอาจมองว่าตัวละครลินดาคือตัวละครหลักของเรื่องราวพีเรียดดราม่าทั่วไป แต่เรื่องราวเบื้องหลังแสดงให้เห็นว่าเธอคือตัวแทนสะท้อนความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง ไม่ได้ขาวสะอาด ไม่ได้ดำสนิท ไม่ได้ทำตามระบบดั่งเครื่องจักร หรือแม้แต่เต็มไปด้วยอารมณ์ความโรแมนติก เพราะชีวิตจริงทุกแง่มุมของชีวิตสอดประสานเดินหน้าไปพร้อมกัน ถ้าผู้หญิงอย่างลินดากระทำทุกเรื่องด้วยแรงกดดันจากสังคมหรือการหลุดพ้นจากสังคมอย่างเดียวเธอก็เหมือนหนึ่งจุดในห่วงโซ่สังคมอนุรักษ์นิยมดั้งเดิม หากทำตามแต่อารมณ์ความรู้สึกก็อาจจะเป็นเรื่องเพ้อฝันเกินจริง ความลงตัวตรงนี้แนนซีแสดงให้เราเห็นว่าผู้หญิงยุคนั้นอยู่ภายใต้กรอบบางอย่างก็จริงแต่พวกเธอก็มีความรู้สึกนึกคิดและมีความต้องการที่ผสมผสานแนวคิดเชิงเหตุผลและอารมณ์ความรู้สึกตามธรรชาติเข้าด้วยกัน ลินดาจึงไม่ใช่ตัวละครทั่วๆ ไปแต่คือตัวแสดงสมมติที่ช่วยให้เราซึมซับวิถีของผู้หญิงยุคหนึ่งได้อย่างดีที่สุดและต่อยอดสู่การย้อนศึกษาประวัติศาสตร์นั่นเอง

 

ข้อมูล

www.radiotimes.com

www.standard.co.uk

digscholarship.unco.edu

www.imdb.com

www.bbc.co.uk

The Pursuit of Love by Nancy Mitford, Published 1999 by Penguin Books Limited 

 

ภาพ: BBC Studios

WATCH