LIFESTYLE
อภิธานศัพท์ LGBTQ+...โว้กชวนทำความรู้จักลิสต์คำศัพท์ของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศให้มากขึ้นคุณรู้หรือไม่ว่าปัจจุบัน คำศัพท์ในวงการ LGBTQ+ ไปไกลมากกว่าแค่ 5 ตัวอักษรนี้แล้ว |
เคยถามตัวเองกันไหมว่า ตัวคุณเองรู้จัก LGBTQ+ แค่ไหนกันเชียว ไม่ต้องพูดให้มากความหรือไกลตัวไปมากกว่า ตัวอักษร 5 ตัวพื้นฐานที่พวกคุณคุ้นตา รู้หรือไม่ว่าตัวอักษรเหล่านี้คือตัวย่อที่มาจาก “คำศัพท์” สำคัญที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศทั้งสิ้น ดังนั้นแล้วเราจึงมิอาจมองข้ามคำศัพท์เหล่านี้ได้เลยแม้แต่น้อยเพราะนี่คือจุดเริ่มต้นของตาน้ำสำคัญ ก่อนที่จะพาคุณไปพบกับมหาสมุทรอันกว้างใหญ่แห่งความหลากหลายทางเพศ ซึ่งจากหลักฐานพบว่า LGBT นั้นเป็นคำศัพท์แรกที่ถูกใช้กันมาตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 1990s (ก่อนที่ต่อมาจะมีการเพิ่มตัวอักษรไปตามความลื่นไหลทางเพศของยุคสมัยที่เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการให้เกียรติต่อทุกเพศวิถี และเพศสภาวะอย่างเท่าเทียม) ซึ่งถูกใช้เรียกแทนกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเป็น เกย์, เลสเบี้ยน หรือกะเทย เป็นต้น แต่นั่นก็หมายรวมไปถึงความหลากหลายในมิติของเพศวิถี และเพศสภาวะด้วย ครั้งนี้โว้กจึงได้รวบรวมความหมายของคำศักพท์พื้นฐานควรรู้มาให้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ได้ทำความรู้จักกันแล้วที่นี่...
Sam Smith และ Demi Lovato ศิลปินผู้ออกมาประกาศตนว่าเป็นนอน-ไบนารี่ พร้อมเปลี่ยนคำสรรพนามเป็น They หรือ Them ในการเรียกขาน
(L) ย่อมาจาก Lesbian ซึ่งหมายถึง กลุ่มคนหญิงรักหญิง หรือบุคคลที่มีแรงดึงดูดทางความสัมพันธ์ และแรงดึงดูดทางเพศระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิงด้วยกัน
(G) ย่อมาจาก Gay หรือ Gay man ซึ่งหมายถึง กลุ่มคนชายรักชาย หรือบุคคลที่มีแรงดึงดูดทางความสัมพันธ์ และแรงดึงดูดทางเพศระหว่างผู้ชายกับผู้ชาย กระนั้นคำว่า “เกย์” ยังถูกใช้ทั่วไปในการเรียกแทนกลุ่มคนรักเพศเดียวกันโดยไม่แบ่งเพศหญิง-ชายในบางครั้งอีกด้วย
(B) ย่อมาจาก Bisexual ซึ่งหมายถึง บุคคลที่มีแรงดึงดูดทั้งด้านความสัมพันธ์ และแรงดึงดูดทางเพศกับทั้ง 2 เพศ ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย นั่นคือทั้งบุคคลเพศเดียวกัน และเพศตรงข้าม
(T) ย่อมาจาก Transgender ซึ่งหมายถึงบุคคลที่ระบุว่าเป็นเพศที่แตกต่างจากเพศกำเนิด นั่นคือหากเพศกำเนิดเป็นผู้ชายก็จะระบุว่าตนเป็นผู้หญิง หรือในทางกลับกัน โดยส่วนมากแล้ว ‘ทรานส์เจนเดอร์’ จะได้รับการระบุตัวตนจากกลุ่มบุคคลที่เปลี่ยนผ่านเพียงรูปลักษณ์ภายนอกไปในทางตรงข้ามกับเพศกำเนิดเท่านั้น แต่ยังไม่ได้มีการผ่าตัดแปลงเพศ ซึ่งต่างกับ Transexual ที่จะถูกระบุตัวตนในกลุ่มบุคคลที่มีการผ่าตัดแปลงเพศ และการเปลี่ยนผ่านด้านชีววิทยาของร่่างกายแล้วนั่นเอง
(Q) ย่อมาจาก Queer หรือ Questioning สำหรับ ‘เควียร์’ นั้นหมายถึงกลุ่มบุคคลที่มีแรงดึงดูดทั้งในเชิงความสัมพันธ์ และทางเพศกับบุคคลใดก็ได้ เพศใดก็ได้ ไม่จำกัดว่าคนๆ นั้นต้องเป็นเพศใด โดยส่วนมากแล้วคำว่าเควียร์จะถูกใช้เป็นร่มใหญ่ของ LGBTQ+ ส่วนคำว่า ‘เควสชันนิ่ง’ นั้นหมายถึงบุคคลที่ยังสงสัย และตั้งคำถามเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศ หรือเพศวิถีของตัวเอง เป็นช่วงเวลาที่คนๆ นั้น ยังค้นหาตัวเองอยู่ว่าเป็นเพศอะไร
ไม่เพียงเท่านั้น เพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง และการยอมรับความหลากหลายทางเพศที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง นำมาซึ่งการค้นหาอัตลักษณ์ในตัวตนของแต่ละบุคคลที่มาก และกว้างขวางขึ้น ทำให้ในปัจจุบันนี้ ไม่ได้มีเพียงอักษรย่อ 5 ตัวนี้เท่านั้น หากยังเพิ่มขึ้นอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น...
(I) ย่อมาจาก Intersex ซึ่งโดยหลักแล้วหมายถึงบุคคลที่มีอวัยวะเพศสองเพศ หรือมีอวัยวะเพศไม่ชัดเจนที่จะระบุได้ว่าเป็นเพศใดแต่กำเนิด อีกทั้งคำศัพท์นี้ยังหมายรวมไปถึงบุคคลที่มี ฮอร์โมน หรือโครโมโซม ไม่ตรงกับเพศกำเนิด ยกตัวอย่างเช่น เพศหญิงที่มีโครโมโซมแฝงเป็น XY อยู่ด้วย เป็นต้น
(A) ย่อมาจาก Asexual ซึ่งหมายถึงบุคคลที่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศต่อใคร หรือไม่นิยมในการมีเพศสัมพันธุ์กับผู้อื่น นอกจากนี้ยังหมายถึง Agender นั่นคือบุคคลที่ไม่นิยมระบุอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง หรือระบุว่าตนเองไม่มีอัตลักษณ์ทางเพศ และรวมไปถึง Androgyne คำคุ้นหูของคนแฟชั่น ที่หมายถึงบุคคลที่มีความเป็นผู้หญิง และความเป็นผู้ชายรวมอยู่ในคนเดียวกัน และไม่แสดงออกตามบรรทัดฐานทางเพศที่สังคมกำหนด
(N) ย่อมาจาก Non-Binary ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่มีความหมายตรงข้ามกับ Binary หมายถึงมายาคติ 2 ขั้วเพศ นั่นคือหญิงหรือชายเท่านั้น ดังนั้น ‘นอน-ไบนารี่’ จึงหมายถึงสำนึกทางเพศของบุคคลที่ไม่ได้เกาะอยู่กับขั้วเพศหญิง-ชายตลอดเวลา โดยปัจจุบันบุคคลที่ระบุตัวตนว่าเป็นนอน-ไบนารี่ส่วนมากในฝั่งตะวันตก ยังจะจำกัดสรรพนามแทนตนด้วยว่าเป็น They หรือ Them แทนสรรพนามระบุเพศทั่วไป
(C) ย่อมาจาก Cis Gender หรือบุคคลที่ระบุเพศสภาวะของตนเองตรงกับเพศโดยกำเนิด อีกทั้งยังมี Centerosexual ที่หมายถึงบุคคลที่มีแรงดึงดูดต่อบุคคลที่เป็นนอน-ไบนารี่โดยเฉพาะ
WATCH
จากลิสต์ที่กล่าวไปข้างต้นนั้นเป็นคำศัพท์พื้นฐานของกลุ่มคน LGBTQ+ ที่ทุกคนควรรู้จักขั้นพื้นฐานเท่านั้น เพราะยังมีอีกหลากหลายคำศัพท์ที่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทยมากนักในเวลานี้ และมีแนวโน้มว่าจะมีการบัญญัติคำศัพท์เกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องแน่นอน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราเห็นเครื่องหมายบวก ที่สะท้อนให้เห็นถึงคำศัพท์เพิ่มเติมในอนาคตนั่นเอง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้เขียนและโว้กประเทศไทยต้องการให้ทุกคนตระหนักถึง ไม่ใช่แค่ความหมายของคำศัพท์แต่ละตัวเท่านั้น หากรวมไปถึง “การเคารพ” ในตัวตน และการระบุตัวตนของเพื่อนร่วมโลก ในฐานะของมนุษย์ที่ทัดเทียมกัน ซึ่งตรงนี้เองที่นับเป็นแก่นหลักสำคัญของการยอมรับ “ความหลากหลายทางเพศ” ในปัจจุบัน
ข้อมูล : Wikipedia, New York Times, National Geographic, www.amnesty.or.th, นอกกล่องเพศ; Non-ฺBinary และ spectrumth.com
WATCH