Kota Miura
LIFESTYLE

ผู้ชายนั่งไขว่ห้างไม่ได้หรือ...ถอดรหัสท่านั่ง Kota Miura ที่กำลังถูกโจมตีว่าตัวเขานั้น 'ไม่แมน'!

นี่คือความชั่วร้ายของสิ่งที่เรียกว่า 'ปิตาธิปไตย' ที่ย้อนกลับมาทำร้ายเพศชายโดยไม่รู้ตัว

     กำลังเป็นกระแสอยู่ในประเทศไทยตอนนี้ สำหรับการมาถึงของนักมวยดาวรุ่งชาวญี่ปุ่นอย่าง Kota Miura หลังจากที่มีกระแสข่าวว่าโคตะจะเดินทางมาเยือนเมืองไทย เพื่อขึ้นโชว์แข่งขันชกมวยนัดพิเศษกับ บัวขาว นักมวยในตำนานของไทย ที่เวทีมวยราชดำเนิน ในชื่อ  Exhibition Kickboxing Match ในโปรแกรม "เลเจนต์ ออฟ ราชดำเนิน" ของศึก ราชดำเนิน เวิลด์ ซีรี่ส์ ในช่วงนี้เราจึงได้เห็นหนุ่มโคตะบนหน้าสื่อของเมืองไทยไม่เว้นวัน แต่ก็ดูเหมือนว่าตอนนี้ นอกจากการแข่งขันมวยนัดพิเศษที่เป็นที่พูดถึงแล้วนั้น ยังมีอีกหนึ่งประเด็นที่ทำโคตะถูกพูดถึงอย่างเป็นวงกว้างในช่วงนี้

Kota Miura

     หลังจากที่เราได้เห็นโคตะโผล่อยู่บนหน้าสื่อของประเทศไทยนับไม่ถ้วน ก็กลับมีผู้เสพสื่อกลุ่มหนึ่งที่สังเกตอากัปกิริยาของนักมวยหนุ่มคนนี้ ไม่ว่าจะยืน เดิน หรือนั่ง จนกลายเป็นประเด็นให้ได้ถกเถียงกันในสังคมอีกครั้ง เมื่อผู้เสพสื่อหลายคนมองว่าท่านั่งไขว่ห้างของโคตะนั้นดู ‘ไม่ค่อยจะแมน’ สักเท่าไหร่ ก่อนที่จะมีอีกหลายคนที่ออกมาแก้ต่างว่า ท่านั่งไขว่ห้างแบบนั้นที่เราได้เห็นโคตะนั่งและถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็น เป็นท่านั่งแบบสากล (European Leg Cross) ที่คนนั่งกันทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นที่นิยมของชาวยุโรปและชาวเอเชียบนหน้าประวัติศาสตร์อีกด้วย

     สำหรับผู้เขียนแล้วออกจะเป็นเรื่องไร้สาระสักหน่อยกับการที่ต้องมานั่งถกเถียงถึงประเด็น ‘การนั่งไขว่ห้าง’ ที่ดูไม่เหมือนผู้ชายของโคตะ ทว่าก็มีประเด็นซ่อนเร้นแอบแฝงที่น่าสนใจ ที่อยากจะชวนผู้อ่านทุกคนมาถอดรหัสและทำความเข้าใจกันอีกครั้งว่า เพราะเหตุใดการนั่งไขว่ห้างของโคตะ และผู้ชายหลายๆ คนบนโลกนี้ถึงถูกจับจ้องขนาดนั้น

     (ตามไปอ่านเรื่องราวอื่นๆ เกี่ยวกับประเด็นของปิตาธิปไตยและเฟมินิสต์ต่อได้ที่ https://www.vogue.co.th/fashion/article/tom-holland-shorter-than-zendaya-issue)

Kota Miura

     เมื่อเราได้พิจารณาและมองด้วยแว่นของการเคลื่อนไหวแบบ ‘เฟมินิสต์’ แล้วจะพบว่า นี่แหละคือสิ่งที่เรียกว่าระบบความคิดแบบ ‘ปิตาธิปไตย’ ที่ฝังรากลึกในสังคมมานาน ที่ย้อนกลับมาทำร้ายทั้งเพศชาย และเพศหญิง หรือทุกเพศโดยไม่รู้ตัว เหตุการณ์ของโคตะที่มีคนบังอาจมานั่งวิจารณ์การนั่งไขว่ห้างของเขานั้น ก็เป็นเพราะสถาบันปิตาธิปไตยนั้นได้สถาปนามายาคติ ‘ความเป็นชาย’ แบบปลอมๆ เอาไว้ตั้งแต่ในอดีต ยกตัวอย่างเช่น ผู้ชายต้องไม่ร้องไห้ ผู้ชายต้องคู่กับสีฟ้า ผู้ชายที่สมบูรณ์แบบต้องสูงและกำยำ ต้องมีน้ำเสียงทุ้มต่ำและเข้มขึง และอีกมากมาย ส่งผลให้เพศชายที่มีลักษณะที่แตกต่างออกไปจากนี้ถูกกีดกันออกจากพื้นที่ความเป็นชายของสังคมปิตาธิปไตยเข้มข้น ด้วยการตั้งคำถาม วิจารณ์ กระทั่งด่าทอว่า ทำไมไม่ทำตัวให้ดูเป็นผู้ชายให้มากกว่านี้

     เช่นเดียวกันกับกรณีของโคตะในท่าไขว่ห้าง เพราะสังคมปิตาธิปไตยเข้มข้นในไทยไม่คุ้นชินภาพลักษณ์ของเพศชายในลักษณะนี้ (จะคุ้นชินก็เพียงแค่ท่านั่งอ้าขากว้างๆ ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับคนบนพื้นที่ขนส่งสาธารณะเสียมากกว่า และมองว่านั่นแหละคือชายชาตรี) เมื่อกระบวนการทางปิตาธิปไตยในหัวจับผิดดำเนินไปเช่นนั้นแล้ว จึงเกิดการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ ไปจนถึงขั้นปรักปรำใครต่อใครที่ไม่ทำตามความเป็นชายเก่าว่า เป็นพวกลักเพศ หรือ ‘ไม่แมน' เพื่อกีดกันคนพวกนี้ให้ออกไปจากพื้นที่ความเป็นชายที่ถูกสร้างขึ้นแบบปลอมๆ เพื่อไม่ให้เป็นที่มัวหมองแก่ระบอบแนวคิดแบบปิตาธิปไตยนั่นเอง

     อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนก็คงจะพอเห็นภาพแล้วว่า เบื้องหลังของข้อครหาต่อการนั่งไขว่ห้างของ โคตะ มิอุระ นักมวยชื่อดังนั้น มีกระบวนการคิดอย่างไร อีกทั้งผู้เขียนยังหวังว่ากรณีนี้จะสะท้อนสะเทือนให้ผู้อ่านหลายคนได้เห็นและเข้าใจเสียใหม่ว่า ‘ปิตาธิปไตยไม่ใช่ผู้ชาย แต่คือแนวความคิดล้าหลังที่กดทับคนทุกเพศเหมือนกัน’ และควรจะหมดไปจากสังคมได้แล้วในยุคนี้



WATCH




WATCH