LIFESTYLE
Joe Hisashi พ่อมดผู้ร่ายเวทมนตร์แห่งท่วงทำนองลงบนเรื่องราวใน Studio Ghibliปฏิเสธไม่ได้เลยว่าถ้าอนิเมชั่นของ Studio Ghibli ไม่ได้เขามาประพันธ์ดนตรีประกอบให้ ผลงานที่ออกมาก็คงไม่สมบูรณ์กลายเป็นมาสเตอร์พีซเหมือนเช่นทุกวันนี้ |
Spirited Away อนิเมชั่นเรื่องเยี่ยมจากปี 2001 ที่ ผลงานการกำกับของ ฮายาโอะ มิยาซากิ แห่ง Studio Ghibli ที่สามารถพาวงการอนิเมชั่นญี่ปุ่นไปให้ชาวโลกได้ประจักษ์ด้วยการสามารถคว้ารางวัลออสการสาขาอนิเมชั่นยอดเยี่ยมได้สำเร็จ และจากวันนั้นถึงวันนี้ Spirited Away ก็ยังคงเป็นตัวแทนจากฝั่งเอเชียเพียงเรื่องเดียวที่ทำเช่นนั้นได้
หนึ่งในเหตุผลหลักที่ส่งให้ Spirited Away ไปไกลเช่นนั้นคือความมหัศจรรย์ของ โจ ฮิไซชิ (Joe Hisashi) ชายผู้ประพันธ์เพลงประกอบและรวมถึงดนตรีประกอบให้กับแอนิเมชั่นของ Studio Ghibli อีกมากมายหลายเรื่อง เขาสามารถดึงจิตวิญญาณในเรื่องราวนำมาบรรจงใส่ในตัวโน้ตได้อย่างมหัศจรรย์ จนทำให้ผู้ฟังล่องลอยไปกับท่วงทำนอง
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าถ้าอนิเมชั่นของ Studio Ghibli ไม่ได้เขามาประพันธ์ดนตรีประกอบให้ ผลงานที่ออกมาก็คงไม่สมบูรณ์กลายเป็นมาสเตอร์พีซเหมือนเช่นทุกวันนี้ ครั้งนี้เราจึงจะพานักอ่านไปทำความรู้จักกับผู้ชายคนนี้กันว่าแท้จริงแล้วตัวตนที่ซ่อนอยู่ภายใต้ท่วงทำนองเป็นอย่างไร และเขาทำอย่างไรถึงสามารถสร้างจิตวิญญาณผ่านท่วงทำนองลงบนเรื่องราวของ Studio Ghibli ได้
กว่าจะเป็น โจ ไฮซาชิ
ในตอนที่ลืมตาดูโลก โจ ไฮซาชิ ยังไม่ใช่ โจ ไฮซาชิ แต่เขามีชื่อว่า มาโมรุ ฟูจิวาระ เกิดในปี 1950 ณ เมืองนากาโนะ ประเทศญี่ปุ่น และหลังจากนั้นเพียง 5 ปี โจ ก็ได้ทำความรู้จักกับดนตรีเป็นครั้งแรกด้วยการเรียนไวโอลิน…นี่คือการเปิดประตูครั้งสำคัญเข้าสู่โลกแห่งเสียงเพลงและท่วงทำนอง ซึ่งหลังจากนั้นเขาก็ไม่เคยก้าวเท้าออกจากโลกใบนี้อีกเลย หลังจากนั้นไม่ว่าจะช่วงประถมหรือมัธยมศึกษา ชีวิตของ โจ ก็ราบเรียบไม่ต่างอะไรจากบทเพลงแนวมินิมอลลิสต์ที่เขาประพันธ์ออกมา เนื่องจากเขาแทบไม่ได้ให้ความสนใจกับสิ่งใดเลยนอกจากการเรียนและดนตรี จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย โจ ได้ย้ายออกจากเมืองนากาโนะ เดินทางสู่เมืองทาชิคาวะ เพื่อเข้าศึกษาที่ Kunitachi College of Music มหาวิทยาลัยดนตรีที่มีชื่อเสียงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศญี่ปุ่น
ในช่วงชีวิตการเป็นนักศึกษา โจ มีความสนใจในเรื่องดนตรีโดยไม่ได้แบ่งเป็นหมวดหมู่หรือประเภท เขาสนใจตั้งแต่รากเหง้าวิธีคิด วิธีเรียบเรียงของศิลปินทุกแขนง แต่หนึ่งในแรงบันดาลใจสำคัญที่มีผลต่อชีวิตการเขียนเพลงในเวลานั้นของ โจ อย่างมากคือวงดนตรีอิเล็กทรอนิกชื่อ Yellow Magic Orchestra ที่มี เรียวจิ ซากาโมโตะ หนึ่งในศิลปินญี่ปุ่นผู้ยิ่งใหญ่ในปัจจุบันเป็นสมาชิกอยู่ด้วย รวมถึง สตีฟ ไรคห์ ยอดนักประพันธ์จากประเทศสหรัฐอเมริกาที่ก็มีอิทธิพลต่อการเรียบเรียงตัวโน้ต กลั่นออกมาเป็นท่วงทำนองของ โจ ไม่แพ้กัน
หลังสำเร็จการศึกษาจาก Kunitachi College of Music โจ ก็ไม่รอช้าเริ่มต้นออกเดินทางในอาชีพนักประพันธ์เพลงทันที โดยผลงานในช่วงแรกของ โจ คือการประพันธ์ดนตรีประกอบละครโทรทัศน์เป็นส่วนใหญ่ แต่ถึงจะจำเป็นต้องทำงานเชิงพาณิชย์เพื่อเลี้ยงชีพ แต่ โจ ก็ไม่ทิ้งจิตวิญญาณความเป็นตัวเอง เพราะหลังจากนั้นในปี 1981 โจ ก็มีผลงานอัลบั้มแรกในชีวิต โดยใช้ชื่อว่า Mkwaju ซึ่งมาจากภาษาสวาฮิลี (ภาษาหลักที่ใช้ในแถบแอฟริกาตะวันออก) มีความหมายถึงคำใช้เรียกแทนต้นมะขามในแอฟริกาที่เป็นวัสดุหลักในการสร้างเครื่องเพอร์คัสชันพื้นเมือง สิ่งที่ทำให้ผลงานชิ้นนี้ของ โจ กลายเป็นที่พูดถึงและสร้างชื่อให้กับเขานอกจากบทเพลงข้างในแล้ว ธีมลับ ๆ ที่เขาแอบซ่อนเอาไว้อย่างการแต่งเพลงให้อยู่บนพื้นฐานของความหมายในตัวอักษร “m” กับ “a” จากชื่ออัลบั้มที่ถ้าเอามารวมกันว่า “ma” ในภาษาญี่ปุ่นจะหมายถึง “ความว่างเปล่า” เพลงในอัลบั้มนี้จึงเต็มไปด้วยช่องว่างระหว่างโน้ตถึงโน้ต มีความมินิมอล และเมื่อสดับลึกลงไปในช่องว่างเหล่านั้นก็จะพบกับซาวด์สังเคราะห์ระยิบระยับคลอกับเสียงเปียโน ซึ่งต่อมาสิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นเอกลักษณ์ในงานแทบทุกชิ้นของ โจ
อัลบั้ม Mkwaju ทำให้โจเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดัง ก่อนที่เขาจะเปลี่ยนชื่อในวงการเป็น โจ ฮิไซชิ เพื่อการจดจำที่ง่าย รวมถึงชื่อนี้สามารถแพร่หลายในโลกตะวันตกได้มากกว่า โดยมีที่มามาจากโปรดิวเซอร์ คอมโพสเซอร์ คอนดักเตอร์ และมือทรัมเป็ตระดับปูชณียบุคคลของโลกอย่าง “ควินซี่ โจนส์” (Quincy Jones) คำว่า ‘Hisaishi’ ในตัวคันจิ อ่านเหมือนกับคำว่า ‘Kuishi’ ซึ่งออกเสียงคล้ายกับคำว่า “Quincy”’ หลังจากนั้นเพียง 2 ปี ในปี 1983 ท่วงทำนองแห่งโชคชะตาก็บรรเลงให้ โจ ได้มารู้จักกับ ฮายาโอะ มิยาซากิ โดยฝ่ายผู้กำกับแห่ง Studio Ghibli เป็นคนเอ่ยปากชวน โจ ให้มาทำดนตรีประกอบให้กับแอนิเมชั่นเรื่อง Nausicaä of the Valley of the Wind…นี่คือจุดเริ่มต้นของเรื่องราว และหลังจากนั้นเหล่าผู้คนต่างกล่าวขานกันว่ามันคือตำนาน
Joe Haisaishi และ Hayao Miyazaki
กลั่นตัวโน้ตจากจิตวิญญาณใส่ลงไปในเรื่องราว
“ผมจำเป็นที่จะต้องเข้าใจไอเดียของพล็อตเรื่องได้อย่างทะลุปรุโปร่ง แล้วต่อจากนั้นจึงไปพบกับผู้กำกับเพื่อเรียนรู้ความคิดของเขา เพื่อให้เข้าใจว่าเขาต้องการให้ผมส่งความรู้สึกผ่านเสียงดนตรีออกไปอย่างไรในแต่ละท่วงท่าการเคลื่อนไหวของเหล่าตัวละคร” “ยกตัวอย่างเช่นฉากหนึ่งที่มีตัวละครเดินเข้ามาในห้องก่อนจะนั่งลงบนเก้าอี้อย่างช้าๆ กับฉากที่มีตัวละครวิ่งเข้ามาในห้องอย่างรีบร้อน ก่อนจะนั่งลงแบบพลันแล่น ความแตกต่างเพียงเท่านี้ก็ส่งผลมากมายแล้วต่อเสียงดนตรีที่จะประพันธ์ออกมา”
“เมื่อเข้าใจทุกอย่างเป็นอย่างดีแล้วผมก็จะเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการทำงาน แน่นอนว่าทุกอย่างเริ่มต้นจากการกดโน้ตบนเปียโน ผมใช้เทคโนโลยีนะแต่ไม่พึ่งพามัน มันควรจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงานแต่ไม่ใช่ทั้งหมด” โจ เล่าให้ฟังถึงกระบวนการทำงานของเขากับ Studio Ghibli จากบทสัมภาษณ์เหล่านี้ทำให้รู้ว่ากว่าที่เสียงดนตรีแต่ละโน้ตจะค่อยๆ บรรจงหยิบจับมาร้อยเรียงผ่านเรื่องราวของ Studio Ghibli โจ ต้องทำงานอย่างหนัก เขาต้องลงลึกไปในระดับจิตวิญญาณของตัวละครแทบทุกตัวภายในเรื่องว่าในแต่ละฉาก แต่ละเหตุการณ์พวกเขาคิดอะไรอยู่ รู้สึกอย่างไร ข้อความที่จะสื่อให้ผู้ชมได้รับรู้คืออะไร เรียกได้ว่า โจ ต้องรู้ลึกรู้จริงลงไปถึงแก่นไม่แพ้ผู้กำกับและมือเขียนบทเลยทีเดียว
“การได้ทำงานร่วมกับ Studio Ghibli เปิดโลกให้ผมเป็นอย่างมาก ไม่ใช่แค่ในมุมมองของนักดนตรี แต่รวมถึงมุมมองในฐานะผู้กำกับด้วย”
“ผมถึงได้เข้าใจ ฮายาโอะ ผมไม่ต้องการที่จะร่วมงานกับผู้กำกับที่ใช้ดนตรีเพื่อเป็นเสียงประกอบเท่านั้น ผมอยากร่วมงานกับคนที่ให้คุณค่ากับมันจริงๆ”
WATCH
Spirited Away (2001)
“ผมต้องอินกับมันมากๆ ถึงขั้นที่ว่าเมื่อแต่ละเรื่องจบลงไปแล้ว ผมยังอดไม่ได้ที่จะอยากดูตอนต่อๆ ไปเพื่อรู้ว่าตัวละครที่เรารักแต่ละตัวจะมีชีวิตต่อไปอย่างไร แต่ก็นั่นล่ะ ถ้าคุณได้ดูปฐมบทแล้วก็ต้องเข้าใจว่าทุกอย่างนั้นมีปัจฉิมมบทสร้างไว้รอเสมอไม่เว้นแต่ชีวิตจริง” ถึงแม้ว่าการได้ร่วมงานกับ Studio Ghibli สร้างสรรค์ท่วงทำนองประกอบเรื่องราวให้เต็มไปด้วยจิตวิญญาณและสีสันของชีวิตจะเป็นงานที่ โจ ชื่นชอบ แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ยอมรับว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะไม่ว่าจะพยายามเข้าไปนั่งในจิตใจของตัวละครเท่าไร แต่สุดท้ายเขากับตัวละครก็เป็นคนละคนกัน บางครั้งอาจจะไม่สามารถเข้าใจได้อย่างครบถ้วนรอบด้านจริงๆ ต่างจากผลงานส่วนตัวที่เขาอยากจะประพันธ์ออกมาแบบไหน สื่ออารมณ์ยังไงก็ได้
“ขั้นตอนที่เจ็บปวดที่สุดก็คือขั้นตอนที่เริ่มประพันธ์หาไอเดียนั่นแหละ เพราะบางครั้งผมก็ไม่มีอะไรอยู่ในใจ และไม่รู้จริงๆ ว่าตัวละครคิดอย่างไร มันยากมากๆ เลย แต่อยู่ๆ เมื่อผมเข้านอนและหลับตา ไอเดียบางอย่างก็พลันเกิดขึ้น” หลังจากที่ไอเดียทุกอย่างแจ่มชัดพอที่ให้ โจ สามารถประพันธ์ดนตรีประกอบออกมาได้แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าหน้าที่ของเขาจะจบลงแค่นั้น อย่างที่บอก โจ ให้ความสำคัญกับงานนี้อย่างมาก ทุกโน้ต ทุกเสียงที่อยู่ในหัวของเขากับที่ไปปรากฏอยู่ในอนิเมชั่นจะต้องเหมือนกัน คลาดเคลื่อนไม่ได้แม้แต่มิลลิเมตรเดียว ไม่เช่นนั้นจะส่งผลให้หมู่มวลอารมณ์ที่ล่องลอยอยู่ในเรื่องผิดเพี้ยนไป ดังนั้นนอกจากการประพันธ์แล้ว ในส่วนของการบันทึกเสียง โจ ก็รับหน้าที่ควบคุมมันด้วยตัวเอง
“ผมจำเป็นต้องอยู่ที่นั่นเพื่ออธิบายให้วงออเครสต้าทั้งวงเข้าใจว่าพวกเขาต้องเล่นอย่างไร ต้องสื่ออะไรออกไปให้กับผู้ฟัง ไม่มีทางอื่นที่จะทำให้งานนี้สำเร็จลุล่วงนอกจากทางนี้” โจ อธิบาย “โจ คือศิลปินที่เต็มไปด้วยความประณีต อาจจะถึงขั้นย้ำคิดย้ำทำ แต่สุดท้ายแล้วสิ่งเหล่านี้ก็ส่งผลให้ผลงานของเขาออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบจริงๆ” ความคิดเห็นของ ฮายาโอะ ที่มีต่อโจ
Nausicaä of the Valley of the Wind จุดเริ่มต้นของ Joe Haisaishi กับ Studio Ghibli
หลังจากที่ผลงานของ โจ ใน Nausicaä of the Valley of the Wind สามารถผสมผสานกับเรื่องราวด้านภาพที่ ฮายาโอะ ต้องการนำเสนอได้เป็นอย่างลงตัว นำพาผู้ชมให้ลอยหลุดล่องไปตามสายลมในหุบเขา อบอวลด้วยกลิ่นอายแฟนตาซีเหนือจินตนาการ ส่งผลให้หลังจากนั้น โจ กับ ฮายาโอะ ก็ไม่ใช่แค่เพื่อนร่วมงานอีกต่อไป พวกเขากลายเป็นคู่ซี้กันในชีวิตจริง ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แอนิเมชั่นในการกำกับของ ฮายาโอะ แทบทุกเรื่อง จะมีชื่อของ โจ ฮิไซชิ นั่งแท่นเป็นผู้ประพันธ์ดนตรีประกอบ ด้วยเหตุนี้ทำให้ โจ ได้รับฉายาว่า “John William of Asia” เนื่องจากนักประพันธ์เอกของโลกอย่าง จอห์น วิลเลี่ยม นั้นก็มีคู่หูเป็นผู้กำกับชื่อดังอย่าง สตีเว่น สปีลเบิร์ก เช่นเดียวกัน นอกจากนั้นในเรื่องของฝีมือก็ไม่มีใครยิ่งหย่อนกว่าใครเลย
ผลงานเรื่องต่อมาคือ Laputa : Castle In The Sky โดยแรกเริ่มเดิมทีดนตรีประกอบของเรื่องนี้ โจ แต่งขึ้นด้วยการใช้ซินธิไซเซอร์เป็นเครื่องดนตรีบรรเลงหลัก ก่อนจะปรับแก้ให้เป็นดนตรีรูปแบบซิมโฟนีออเครสต้า เพื่อให้งานสามารถขายในต่างประเทศได้ด้วย ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงเป็นเสียงดนตรีที่ทั้งประณีต เต็มไปด้วยรายละเอียดของซาวด์สังเคราะห์ที่ถูดจัดวางอย่างดี ทั้งยังมีความเป็นมินิมอลในแบบเฉพาะตัวของ โจ อีกด้วย ผลงานอนิเมชั่นของ Studio Ghibli โดยเฉพาะการกำกับของ ฮายาโอะ มิยาซากิ ส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับท้องฟ้า สายลม และการโบยบิน ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ก็เป็นหน้าที่ของ โจ ที่จะต้องสร้างสรรค์ท่วงทำนองดึงผู้ชมให้รู้สึกคล้อยตามราวกับมีลมกำลังปะทะใบหน้าอยู่ให้ได้
“ผลงานแทบทุกชิ้นของ ฮายาโอะ เต็มไปด้วยฉากเครื่องบินเสมอ และการบินก็เป็นเสมือนความฝันอย่างหนึ่งที่มนุษย์อยากจะทำได้ ผมจึงพยายามเชื่อมต่อกับความฝันและความหวังเหล่านั้น ทำเพลงในซีนนั้นให้ช้า ๆ เพื่อให้ผู้ชมได้สัมผัสกับสิ่งที่อยู่ในช่องว่างระหว่างการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น” การได้ทำงานร่วมกับ Studio Ghibli สร้างชื่อให้กับ โจ เป็นอย่างมาก โดยเขาสามารถคว้ารางวัลดนตรีประกอบยอดเยี่ยมจาก Japanese Academy Award มาครองได้มากถึง 8 ครั้ง และใน 10 ภาพยนตร์ทำเงินสูงที่สุดตลอดกาลของประเทศญี่ปุ่น 10 อันดับแรก ก็มีผลงานที่ โจ มีส่วนร่วมมากถึง 4 เรื่องเลยทีเดียว ถ้าจะถามว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้ โจ ฮิไซชิ กลายเป็นนักประพันธ์มือทองแห่ง Studio Ghibli ดั่งเช่นทุกวันนี้นอกเหนือไปจากฝีมือด้านทฤษฎีดนตรี สิ่งนั้นก็คงเป็นเพราะการทุ่มเทให้กับงาน ถึงขั้นที่ต้องพาตัวเองเข้าไปแทนที่ตัวละครในเรื่อง มองทุกอย่างได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ก่อนที่จะเริ่มกดตัวโน้ตตัวแรก นอกจากนั้น โจ ยังตกหลุมรักในสิ่งที่ตัวเองทำมาทั้งชีวิต เขายินดีที่จะลองอะไรใหม่ ๆ อยู่เสมอ ไม่ปิดกั้นตัวเอง เพื่อเติบโตขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
“ภาพยนตร์กับดนตรีสองสิ่งนี้ใช้ภาษาแบบเดียวกัน และนั่นคือเอกลักษณ์ที่สำคัญของมัน”
Spirited Away (2013)
ผลงานในความทรงจำ
หลังจากที่ได้ทำความรู้จักถึงตัวตนและวิธีการทำงานก่อนจะกลายเป็นเสียงดนตรีประกอบที่ปรากฏอยู่ในผลงานแอนิเมชั่น Studio Ghibli ของผู้ชายที่ชื่อ โจ ฮิไซชิ กันไปแล้ว เราอยากทิ้งท้ายบทความนี้ด้วยการหยิบยกผลงานของ โจ ที่ยังงดงามในความทรงจำทั้งตัวเขาเองและผู้ชมทั้งหมด 5 เรื่องมากล่าวถึง เริ่มต้นเรื่องแรกด้วย Laputa: Castle in the Sky จากปี 1986 ที่ว่าด้วยเรื่องราวตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาว่าในอดีตมนุษย์มีวิทยาการและอารยธรรมสูงส่งถึงขนาดสร้างอาณาจักรลอยฟ้าขึ้นมาได้ ทุกคนเรียกขานอาณาจักรนั้นว่า “ลาพิวต้า” แต่ด้วยสาเหตุบางประการทำให้อาณาจักรนั้นล่มสลายลง แต่ก็ยังคงมีความเชื่อว่าลาพิวต้ายังคงลอยอยู่ที่ใดที่หนึ่งบนโลกใบนี้ หนึ่งในนั้นคือเด็กหนุ่มกำพร้านามว่า ปาซู ที่ยังคงมุ่งมั่นในการค้นหาอาณาจักรสาบสูญแห่งนี้
โดยโทนเรื่องที่โดดเด่นด้วยการเชิดชูความฝันและการผจญภัย ดังนั้นดนตรีประกอบของเรื่องจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่ง ฮายาโอะ อาจจะเป็นผู้สร้างภาพแห่งจินตนาการให้กับผู้ชม ส่วน โจ คือผู้ที่จะนำพาผู้ชมขึ้นรถนำทางไปให้ถึงอาณาจักรลาพิวต้า แล้วเขาก็ทำหน้าที่ในส่วนนี้ได้อย่างดีเยี่ยม ด้วยดนตรีรูปแบบซิมโฟนีออเครสต้าที่นำมาผสมผสานกับซาวน์สังเคราะห์ได้อย่างลงตัว เห็นได้ชัดจากเพลงที่มีชื่อว่า The Girl Who Fell from the Sky ที่ถ้าลองหลับตาฟัง จะรู้สึกว่าตัวเองล่องลอยอยู่ในอาณาจักรท่ามกลางท้องฟ้าสีครามสุดลูกหูลูกตาอยู่จริงๆ
เรื่องต่อมาคือ My Neighbor Totoro ผลงานจากปี 1998 ที่ถือหนึ่งในผลงานของ Studio Ghibli ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดทั้งในแง่รายได้และคำวิจารณ์ บอกเล่าเรื่องราวของเด็กผู้หญิงสองคน ซะสึกิ และ เม ที่ย้ายมาอยู่บ้านใหม่ในแถบชนบทกับพ่อ เพื่อที่จะอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลที่แม่ของพวกเธอนอนรักษาตัวอยู่ ซะสึกิ และ เม ได้ค้นพบว่า ในป่าข้างบ้านมี โทโทโระ สัตว์วิเศษผู้พิทักษ์ป่าอาศัยอยู่ ก่อนที่จะกลายเป็นเพื่อนกัน พร้อมเปิดโลกการผจญภัยสุดมหัศจรรย์เหนือจินตนาการให้กับทั้งคู่ ถึงแม้ My Neighbor Totoro จะยังคงโดดเด่นด้วยการเล่าเรื่องแนวผจญภัยที่มีความแฟนตาซีเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ก็มีความแตกต่างกับ Laputa: Castle in the Sky อยู่พอสมควร เพราะการผจญภัยในเรื่องนี้ไม่ได้ยิ่งใหญ่อลังการ แต่แฝงไปด้วยความน่ารักน่าค้นหาเสียมากกว่า เนื่องจากตัวละครหลักเป็นเด็กผู้หญิงไร้เดียงสา ส่งผลโดยตรงต่อการทำดนตรีประกอบที่จำเป็นต้องให้ความรู้สึกสดใสมีชีวิตชีวา ไม่ยิ่งใหญ่อลังการ จับต้องได้
โจ สร้างความโดดเด่นให้กับดนตรีประกอบของเรื่อง My Neighbor Totoro โดยการใช้ซินธิไซเซอร์ และซาวน์สังเคราะห์ที่มีความแปลกใหม่ มีการพลิกแพลงได้อย่างน่าติดตาม จนสามารถดึงดูดผู้ชมให้เกาะติดไปกับการผจญภัยของสองเด็กสาวตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง
เรื่องที่สามคือ Spirited Away จากปี 2001 สำหรับเรื่องนี้คงไม่ต้องอธิบายอะไรให้ยืดยาว เพราะมันคือผลงานมาสเตอร์พีซของทั้งตัว ฮายาโอะ ผู้กำกับ และ โจ ในเรื่องการทำดนตรีประกอบ ถึงขั้นที่ว่าสามารถคว้ารางวัลออสการ์มาแล้ว Spirited Away ว่าด้วยเรื่องราวของ ชิฮิโระ เด็กหญิงวัยสิบปีที่กำลังอยู่ระหว่างการเดินทางย้ายมาบ้านใหม่กับพ่อแม่ แต่กลับหลงเข้าไปในอีกมิติหนึ่งโดยบังเอิญ ซึ่งเป็นมิติที่เต็มไปด้วยภูตผีและเรื่องราวมหัศจรรย์ที่เธอไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ระหว่างความสับสนที่เกิดขึ้น เธอได้รับการช่วยเหลือจาก “ฮากุ” เด็กชายปริศนาที่ทำให้เธอได้เข้าสู่การหลบซ่อนภายในโรงอาบน้ำของ “ยูบาบา” แม่มดใจร้ายที่ควบคุมมิติเเห่งนี้ ก่อนที่การผจญภัยสุดมหัศจรรย์จะเริ่มต้นขึ้น
My Neighbor Totoro (1988)
แน่นอนว่าเมื่อมีรางวัลออสการ์มาการันตี ภายใต้ฉากหน้าที่เป็นการผจญภัยเด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูดีกลับแฝงไปด้วยประเด็นทางปรัชญามากมายชวนให้ขบคิดหาคำตอบ ดังนั้นในส่วนดนตรีประกอบก็เช่นกัน โดยเฉพาะในเพลง One Summer’s Day ที่ผสมผสานไว้ทั้งความหม่นเศร้า อาวรณ์คร่ำครวญหา แต่เมื่อฟังไปเรื่อยๆ มันกลับค่อยๆ จูงมือผู้ฟังไปยังสถานที่แห่งหนึ่งที่มีแสงแดดแห่งคิมหันต์ฤดูสาดส่องอยู่ และเมื่อถึงตอนนั้นเวลาแห่งการร่ำลาก็มาถึง
The Wind Rises น่าจะเป็นผลงานที่มีความหมายที่สุดต่อทั้ง ฮายาโอะ มิยาซากิ และ โจ ฮิไซชิ เพราะนี่คือผลงานเรื่องสุดท้ายก่อนจะเกษียณตัวออกจากวงการไปของ ฮายาโอะ แน่นอนว่า โจ ได้รับหน้าที่เดิมอย่างที่เขาได้รับมาจากเพื่อนคนนี้ตลอดหลายสิบปี และเขาคงตั้งใจทำออกมาอย่างดีที่สุด ให้การปัจฉิมครั้งนี้อยู่ในความทรงจำตลอดไป The Wind Rises สร้างมาจากเรื่องราวของบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์อย่าง “จิโระ” เด็กหนุ่มที่ใฝ่ฝันจะเป็นช่างสร้างเครื่องบินผู้ยิ่งใหญ่ในอนาคต จนในที่สุดเขาก็เป็นส่วนสำคัญในการสร้างเครื่องบินรบช่วงสงครามโลกที่ 2 ได้สำเร็จ ถึงแม้จะเป็นเรื่องราวของ จิโระ แต่ถ้าใครเป็นแฟนของ Studio Ghibli ก็คงดูออกได้ไม่ยากว่า ฮายาโอะ ใช้ จิโระ เป็นตัวแทนตัวเขาเอง โดยต้องการบอกให้โลกได้ทราบถึงความรักความทุ่มเทที่เขามอบให้การสร้างสรรค์ผลงานแอนชิเมชั่นในช่วงชีวิตที่ผ่านมา โจสามารถสร้างเสียงเพลงข้างหลังภาพฝันของฮายาโอะได้อย่างสวยงาม เขาใส่ใจกับความมินิมอลของดนตรีประกอบในหนังเรื่องนี้อย่างมาก ยิ่งหลับตาฟังยิ่งรู้สึกเหมือนสายลมกำลังพัดผ่านร่างกายพร้อมกับหอบเรื่องราวอะไรบางอย่างจากไปด้วย
“การที่ ฮายาโอะ เกษียณมันก็เหมือนบทชีวิตของผมบทหนึ่งได้ถูกปิดตามลงไปด้วย” โจ กล่าว
The Tale of Princess Kaguya (2013)
ปิดท้ายด้วย The Tale of Princess Kaguya หรือตำนานเจ้าหญิงกระบอกไม้ไผ่ ผลงานที่พิสูจน์ว่าต่อให้เขาไม่ได้ร่วมงานกับ ฮายาโอะ เขาก็ยังสามารถสร้างสรรค์ดนตรีได้อย่างยอดเยี่ยม The Tale of Princess Kaguya คือผลงานจากปี 2013 ของ อิซาโอะ ทากาฮากะ อีกหนึ่งหัวเรือใหญ่ของ Studio Ghibli ที่หยิบยกเรื่องราวนิทานพื้นบ้านชื่อดังของญี่ปุ่นอย่างเจ้าหญิงกระบอกไม้ไผ่มาบอกแล้วอย่างตรงไปตรงมาผ่านแอนิเมชั่นลายเส้นพู่กันสีน้ำ
The Tale of Princess Kaguya ถือว่าแตกต่างจากผลงานที่ โจ เคยร่วมสร้างสรรค์เรื่องก่อนๆ โดยสิ้นเชิง ทั้งในแง่เรื่องราวและลายเส้น ซึ่งสิ่งนี้ก็ส่งผลโดยตรงต่อดนตรีประกอบที่เขาเลือกใช้ โดยในเรื่องนี้ โจ เน้นไปที่การหยิบเอาเครื่องดนตรีพื้นบ้านของญี่ปุ่นมาร่วมบรรเลง พร้อมขับขานออกมาในทำนองน่วงเศร้า ไม่อลังการ เพราะเจ้าหญิงกระบอกไม้ไผ่ถึงจะมีความแฟนตาซีมาเกี่ยวข้อง แต่โดยรวมแล้วมันก็คือโศกนาฏกรรมที่มนุษย์ธรรมดาต้องประสบพบเจอเท่านั้น
WATCH