LIFESTYLE
จากงาช้างสู่ผักกาด...งานแกะสลักชิ้นประณีตที่แบ่งคำวิจารณ์เป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจนความยอดเยี่ยมในเชิงศิลป์คงไม่มีตั้งคำถาม แต่การนำเสนอมันในโลกยุคนี้กำลังสร้างการถกเถียงเรื่องความเหมาะสม |
ผลงานศิลปะมักถูกยกไว้บนหิ้งเพราะความสวยงามและเบื้องหลังการสรรสร้างที่ไม่เหมือนใคร ล่าสุดพิพิธภัณฑ์ Victoria and Albert โพสต์ภาพผลงานชิ้นหนึ่งลงบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นผลงานจากประเทศจีนเมื่อราวๆ 50-70 ปีก่อนตามการคาดการณ์ เสียงสะท้อนเกี่ยวกับงานศิลปะชิ้นนี้ถูกแบ่งเป็น 2 ขั้ว 2 อารมณ์ เพราะนี่คือการผลิตผลงานที่เรียบง่ายแต่ทำยากด้วยวัสดุที่คนส่วนใหญ่คิดว่าล้ำค่าเกินกว่าจะนำมาทำเป็นผลงานศิลปะตั้งไว้บนแท่นแสดงผลงานแบบนี้
ผลงานดังกล่าวชื่อว่า “Model of Cabbage” โดยงานแกะสลักชิ้นนี้เป็นการแกะสลักงาช้างเป็นรูปทรงผักกาด อ่านไม่ผิดแน่นอน ผลงานจากประเทศจีนชิ้นนี้ใช้เทคนิคการแกะสลักอันซับซ้อนเผื่อทำการแต่งรูปทรงงาช้างให้ออกมาเป็นผักกาดขาวที่ทุกคนคุ้นตา มองไกลๆ ผ่านภาพถ่ายผู้ชมจะเห็นเหมือนกับผักกาดจริงๆ ทั้งรูปทรง สีสัน และรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เรียกว่านี่คือการแกะสลักที่สมบูรณ์แบบ ทว่ามันงานศิลปะชิ้นนี้กลับทำให้ความคิดเห็นของคนบนโลกออนไลน์แบ่งเป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจน ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่มองกันต่างมุมมองอย่างสิ้นเชิง
มุมมองแรกมองกันผ่านมุมมองของศิลปะและประวัติศาสตร์ ในยุคเฟื่องฟูรุ่งเรื่องสังคมต่างๆ ล้วนมีการผลิตงานศิลปะเลอค่าเพื่อประดับบารมีเป็นปกติ งานชิ้นนี้ก็เช่นกัน การนำงาช้างมาแกะสลักอย่างละเอียดจนได้ผักกาดเสมือนจริงนั้นเป็นเรื่องพิเศษมาก อีกทั้งยังเติมรายละเอียดของสีที่เหลืองบริเวณปลายเพิ่มความสมจริง เสริมมิติด้วยตั๊กแตน เต่าทอง และดอกเดซี่ นี่คือการแสดงผลงานความละเอียดประณีตที่ยากจะหาสิ่งใดมาเปรียบ งานแกะสลักงาช้างชิ้นนี้จึงนับเป็นผลงานชิ้นประวัติศาสตร์ของโลกศิลปะเลยก็ว่าได้
อีกมุมหนึ่งมองผ่านมุมมองพิทักษ์โลก ขั้วนี้มีแนวคิดเกี่ยวกับการปกป้องธรรมชาติ ผลงานชิ้นนี้สะท้อนในความคิดพวกเขาว่าอาจจะต้องมีช้างสละชีวิตเพื่อผลงานผักกาด “สิ่งนี้คุ้มค่าแล้วหรือ” คือคำถามที่ค้างคาใจใครหลายคน เพราะในปัจจุบันงาช้างเป็นสิ่งที่ไม่ได้ถูกยอมรับให้เป็นของสะสมหรืองานศิลปะเฉกเช่นสมัยก่อนอีกแล้ว มันคือสิ่งสะท้อนรูปแบบความคิดทางสังคมที่ค่อนข้างล้าหลัง เนื่องจากการเบียดเบียนสัตว์เพื่อสนองความต้องการนอกเหนือจากการดำรงชีวิตไม่ใช่กระแสนิยมอีกต่อไป
ทว่าเมื่อมองถึงปีที่ผลงานชิ้นนี้ถูกผลิตขึ้น งาช้างถูกแกะสลักในยุคที่ชุดความคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไม่ได้ถูกตั้งคำถาม มันคือความปกติของสังคม เราจะใช้บรรทัดฐานนี้มาตัดสินสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตได้จริงหรือ อีกแง่หนึ่งพิพิธภัณฑ์นำเสนอสิ่งนี้ในแง่การเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ทว่าก็ต้องตั้งคำถามว่าการนำเสนอแบบนี้เป็นการสนับสนุนการใช้งานช้างผลิตผลงานหรือไม่ หรือเป็นเพียงการย้อนอดีตให้เห็นถึงศิลปะในอดีตเพียงอย่างเดียว ทั้งหมดอยู่ที่การตีความและมุมมองของผู้ชมเท่านั้น แล้วคุณล่ะคิดว่าสิ่งนี้สวยงามเพียงใด คุ้มค่าหรือเปล่า และการนำเสนอผลงานของพิพิธภัณฑ์ชื่อดังนั้นเป็นเรื่องเหมาะสมหรือไม่...
WATCH