LIFESTYLE

เปิดผลงาน 'ความหวัง' ของศิลปินทั้ง 17 คนในนิทรรศการ VOGUE HOPE พร้อมแรงบันดาลใจเบื้องหลัง

โว้กเดือนกันยายนกับธีมความหวัง ที่โว้กประเทศไทยเลือกการนำเสนอผ่านผลงานศิลปะในรูปแบบแตกต่างกันไป

                ถ้าพูดถึง “ความหวัง” นิยามของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไปตามแต่บริบทสังคม ในโลกศิลปะของเหล่าศิลปินก็เช่นกัน ทุกคนได้รับโจทย์เดียวกันหมดคือผลงานที่สะท้อนความหวังในความคิดของตัวเอง โปรเจกต์ “HOPE” ที่โว้กทุกอิดิชั่นทั่วโลกพร้อมใจกันเชื่อมโยงธีมในแต่ละบริบทให้เห็นได้ชัดผ่านผลงานรูปแบบต่างๆ และโว้กประเทศไทยเองก็ตั้งใจนำเสนอความหวังในรูปแบบศิลปะแขนงต่างๆ ตั้งแต่ภาพจิตรกรรมไปจนถึงภาพถ่ายจากช่างภาพของโว้กเอง จะมีผลงานของใครบ้าง และแต่ละคนตีความความหวังจนออกมาเป็นผลงานอย่างไร ติดตามชมได้ในบทความนี้อุ่นเครื่องก่อนไปชมผลงานจริงทั้งหมด 17 ชิ้นในงานนิทรรศการ HOPE ได้ตั้งแต่วันที่ 3-10 กันยายนนี้ ณ สยามเซ็นเตอร์ อย่ารอช้าเริ่มชมงานทั้งหมดด้านล่างนี้เลย

ชื่อผลงาน: The Door of Sunshine

ศิลปิน: กันตภณ เมธีกุล

เทคนิค: สีอะคริลิกบนแคนวาส

“ผลงานชิ้นนี้สื่อถึงความหวังในภาวะที่คนถูกจำกัดขอบเขตให้อยู่ในห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ โดนบีบคั้นทางสังคมจนไม่สามารถเป็นตัวเองได้ความหวังในภาพนี้สะท้อนผ่านบานประตูที่เปิดให้เขาก้าวออกไปพบแสงสว่างและสามารถใช้ชีวิตได้ตามต้องการ”

ชื่อผลงาน: Carnation, Lily, Lily, Hope

ศิลปิน: นักรบ มูลมานัส

เทคนิค: ดิจิทัลคอลลาจประดับทองคำเปลว

“ดัดแปลงจากภาพเขียน Carnation, Lily, Lily, Rose ของ John Singer Sargent บรรยากาศอันอบอุ่นชวนฝันในภาพทำให้นึกถึงความหวังความหม่นมืดโพล้เพล้ทำให้เราเห็นประกายไฟริบหรี่ชัดเจนขึ้น องค์ประกอบความงามแบบไทยแต่งแต้มเด็กสาวผู้จุดประกายความหวังให้งามขึ้นกว่าเดิม ในขณะที่สัตว์น้อยใหญ่เพิ่มเติมเข้ามาเพื่อเฉลิมฉลองให้กับฤดูกาลใหม่ นอกจากเทคนิคดิจิทัลคอลลาจแล้ว งานชิ้นนี้ยังปิดท้ายด้วยกระบวนการสร้างสรรค์จิตรกรรมไทยอย่างการประดับทองคำเปลวและตัดเส้นผสานอารมณ์แบบตะวันออกกับตะวันตก เพื่อสร้างบรรยากาศร่วมสมัย”



WATCH




ชื่อผลงาน: HOPE (Still Life)

ศิลปิน: Alex Face

เทคนิค: สีน้ำมันบนผ้าลินิน

“ในสถานการณ์โรคระบาดที่เราต้องขังตัวเองอยู่ในบ้าน การวาดภาพหุ่นนิ่ง (Still life) ในสตูดิโอจึงเป็นทางออกชั่วคราวสำหรับคนทำงาน Street art ขนบของภาพวาด Still life ถูกดึงมาผสมผสานกับงานคาแร็กเตอร์ที่ใช้เล่าเรื่อง ดอกไม้ถูกจัดวางในความคิดเพื่อระลึกถึงความงามเพียงชั่วครู่และความหวังในการผลิบานอีกครั้ง ผีเสื้อถูกจับจ้อง เป็นภาพแทนของความหวังแบบใหม่ในสถานการณ์แบบใหม่”

ชื่อผลงาน: Hope

ศิลปิน: ธนวัต ศักดาวิษรักษ์

เทคนิค: ภาพวาดดิจิทัล

“ไม่ว่าจะเกิดอะไร เราจะผ่านมันไปได้หากเราไม่ละทิ้งความหวัง ความหวังคือแรงผลักดันสำคัญ ทำให้เรามีพลังต่อสู้กับเรื่องราวต่างๆ ในชีวิต แล้วเราจะผ่านมันไปด้วยกัน!”

ชื่อผลงาน: The Crowded Day in a Tailoring Room

ศิลปิน: ปัณฑิตา มีบุญสบาย

เทคนิค: สีน้ำมันบนอะลูมิเนียม

“ในสภาวะที่มนุษย์ต้องหยุดกิจกรรมทางสังคมเพราะโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้น สิ่งต่างๆ รอบตัวไม่ได้ดำเนินไปตามปกติเช่นที่ควรจะเป็น ในขณะเดียวกันธรรมชาติก็มีโอกาสฟื้นฟูตัวเองอีกครั้ง”

ชื่อผลงาน: Conversation with Apichatpong

ศิลปิน: กุลธิดา ประชากุล

เทคนิค: สีอะคริลิกบนผ้าใบ

“เริ่มมาจากความต้องการบอกเล่าเรื่องราวของคนเอเชียพลัดถิ่นอย่างตัวเราเอง น.ำมาวาดให้มองเห็นชัดผ่านงานศิลปะ การวาดคือวิธีที่เราพูดคุยกับตัวเอง สะท้อน ทำความเข้าใจตัวเอง พี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) เป็นศิลปินที่มีอิทธิพลต่อความคิดของเรารวมถึงวิธีที่เรามองตัวเองแบบคนไทย คนอีสาน งานชิ้นนี้จึงเป็นทั้งภาพที่เล่าเรื่องราวและสื่อถึงอัตลักษณ์ที่เรามีร่วมกันในความเป็นคนไทย”

ชื่อผลงาน: Blooming Hope

ศิลปิน: จิรายุ คูอมรพัฒนะ

เทคนิค: Mixed Media

“Where there is hope, there is blooming life.”

ชื่อผลงาน: ΥΓΙΕΙΑ

ศิลปิน: กฤติน ธีรวิทยาอาจ

เทคนิค: ภาพวาดดิจิทัล

“Hygeia (เทพีกรีกแห่งสุขภาพอนามัย มีหน้าที่รักษาโรคภัยไข้เจ็บ นามของนางเป็นรากศัพท์ของคำว่า Hygiene) ต้นแบบของภาพนี้มาจากภาพ Medicine ของ Gustav Klimt ผ่านการตีความใหม่ให้ดูล้ำสมัย แสดงถึงสัจธรรมเรื่องสุขภาพ ที่ไม่ว่ายุคสมัยใด การป้องกันโรคย่อมดีกว่าการรักษาโรคเสมอ”

ศิลปิน: ณัฐพงศ์ ดาววิจิตร

เทคนิค: Digital Painting

“ความหวังของยุคสมัยอาจไม่ใช่การคิดค้นนวัตกรรมหรือการค้นพบดาวดวงใหม่ หากคือการมีความหวังกับสิ่งอันเรียบง่ายที่สุด นั่นคือความเป็นมนุษย์”

ชื่อผลงาน: HOPE/ความหวัง

ศิลปิน: ธีรวัฒน์ เฑียรฆประสิทธิ์

เทคนิค: โฟโต้ช็อป

“วิกฤติการณ์เหมือนความมืดมิดที่มองไม่เห็นทาง เราจึงอยากมอบ Typography คำว่า Hope และความหวังที่เขียนด้วยต้นไม้ซึ่งกำลังผลิดอกงดงามและส่องแสงสว่างในความมืดมิด เพื่อเป็นกำลังใจให้ทุกคนผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน”

ชื่อผลงาน: Blooming Day

ศิลปิน: ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา

เทคนิค: สีอะคริลิกบนแคนวาส

“ช่วงกักตัวหลายๆ อย่างอาจต้องหยุดดำเนินการ แต่ดอกไม้ยังคงผลิบาน ช่วงเวลานี้ทำให้เราได้สำรวจตัวเองคนรอบตัว สังคมที่เราอยู่ ได้เห็นการเคลื่อนไหวทางสังคมหลายอย่างที่สะท้อนถึงความหวัง เป็นพลังบวกให้เราเดินหน้าต่อไป”

ชื่อผลงาน: Hope

ศิลปิน: ปัณพัท เตชเมธากุล

เทคนิค: สื่อผสมระหว่างสีมาร์กเกอร์บนกระดาษกับการซ้อนภาพสไตล์ Lenticular 3 มิติ

“ในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาตินั้นเราทั้งหลายล้วนผ่านความเจริญรุ่งเรืองและการล่มสลาย ความเเจริญวิ่งขนานตีคู่ไปพร้อมกับความฝันไม่มีวันรู้จบของมนุษย์ จนบางครั้งมันกลับเป็นตัวบ่อนทำลายสมดุลของสรรพสิ่งในธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้ความหวังในโลกยุคใหม่สำหรับฉันคือความสมดุลระหว่างความฝันกับความหวัง หน้าตาของมันแลดูเหมือนตุ๊กตาล้มลุกที่ค้นหาจังหวะและวิถีของตัวมันเอง ล้มบ้างตามแรงโน้มถ่วงของโลก แต่ยังสามารถกระดอนกลับขึ้นมาด้วยความฝันและแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต”

ชื่อผลงาน: Under Construction

ศิลปิน: เอกรัชต์ อุบลศรี

เทคนิค: ภาพถ่าย

“เมื่อพูดถึงความหวังผมนึกถึงรากฐานของคนไทยคือศาสนาพุทธ และวัดคือศูนย์รวมใจทั้งในยามทุกข์และยามสุข เป็นทั้งที่ปลีกวิเวกจากความวุ่นวายสับสน เป็นที่สวดมนต์ภาวนา นอกจากพระพุทธรูปในภาพนี้จะเปรียบเหมือนความหวังของพุทธศาสนิกชนแล้ว การก่อร่างสร้างขึ้นจากความตั้งใจจริงของผู้คนก็สะท้อนถึงอีกนัยหนึ่งของความหวังด้วยเช่นกัน แม้จะเนิบช้าแต่ทว่าแข็งแกร่งมั่นคง”

ชื่อผลงาน: New World

ศิลปิน: สุดเขต จิ้วพานิช

เทคนิค: ภาพถ่าย

“แนวคิดเรื่อง ‘ความหวัง’ ในช่วงต้นแลดูไม่สลับซับซ้อน เพราะเราล้วนมีความหวังด้วยกันทั้งนั้น อย่างไรก็ตาม การตีความนามธรรมที่ไร้รูปทรงของแนวคิดนี้ออกมาเป็นภาพถ่ายกลับเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ภาพทารกแรกเกิดซึ่งเป็นลูกของเพื่อนกลายเป็นคำตอบสุดท้ายของกระบวนการค้นหานิยามอันยาวนาน เพราะทุกการอุบัตินำมาซึ่งความหวังทั้งสิ้น จากความหวังที่ผูกโยงกับอนาคต ถึงความหวังซึ่งเชื่อมต่อกับการเริ่มต้นใหม่ และไม่ว่าโลกจะหมุนไปเผชิญกับสถานการณ์ใดก็ตาม ความไร้เดียงสาและความบริสุทธิ์ของเด็กน้อยก็ยังสะท้อนถึงความหวังได้เสมอ”

ศิลปิน: ณัฐ ประกอบสันติสุข

เทคนิค: ภาพถ่าย

“I have become my own version of an optimist. If I can’t make it through one door, I’ll go through another door - or I’ll makea door. Something terrific will come no matter how dark the present.” - Rabindranath Tagore

- รูปผู้หญิงกับคลื่น “There’s always a light in the dark.”

- รูปผู้ชายกับวงกลม “We will create our own clear blue sky.”

ชื่อผลงาน: อิสระ

ศิลปิน: ธาดา วาริช

เทคนิค: ภาพถ่าย

“ไม่ใช่แค่การออกไปเจอโลกภายนอก แต่ยังหมายถึงความพึงพอใจที่ได้ทำในสิ่งที่ต้องการโดยไร้ขีดจำกัด”

ชื่อผลงาน: ดวงตาและรอยยิ้ม

ศิลปิน: วสันต์ ผึ่งประเสริฐ

เทคนิค: ภาพถ่าย

“เป็นภาพวิถีชีวิตของคนในภาคเหนือของประเทศไทยซึ่งอยู่ไกลจากเมืองหลวง วันนั้นเรากำลังเดินทางไปอีกที่หนึ่งและได้พบเด็กกลุ่มนี้บนรถโดยสารที่ทาสีสันจัดจ้านรอบคันตัดกับฉากทุ่งนาเขียวขจี ดูแปลกตาสำหรับคนต่างถิ่นอย่างพวกเรา เด็ก 4 คนส่งยิ้มให้ เราสัมผัสได้ถึงมิตรภาพ รูปถ่ายใบนี้จึงเต็มไปด้วยความจริงใจที่ส่งออกมาจากดวงตาและรอยยิ้มของพวกเขา... บางครั้งเราก็สามารถบันทึกช่วงเวลาแห่งความสุขแม้จะเพียงสั้นๆ ไว้ในภาพได้”

 

     แล้วอย่าลืมไปชมภาพสดของจริงได้ที่งานนิทรรศการ HOPE ที่สยามเซ็นเตอร์ ตั้งแต่วันที่ 3-10 กันยายน 2563

WATCH

TAGS : HOPE