Hierarchy ซีรี่ส์สะท้อนปัญหาสังคม จุดเริ่มต้นของการบูลลี่ที่อาจเริ่มจากการเลี้ยงดู
Hierarchy อีกหนึ่งซีรี่ส์จากเกาหลีใต้ที่สะท้อนถึงปัญหาการเลี้ยงดูที่ขาดความอบอุ่นและการละเลยจากผู้ใหญ่ ส่งผลจนเกิดเป็นปัญหาการบูลลี่ในโรงเรียน ซีรี่ส์นี้ไม่เพียงชี้ให้เห็นถึงความเป็นจริงและปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม แต่ยังแสดงถึงความสำคัญของการแก้ปัญหาการบูลลี่อย่างจริงจังเพื่อสร้างสังคมที่ดีขึ้น
เรื่อง: Korawich Panuthai
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา วงการบันเทิงเกาหลีใต้ได้ผลิตสื่อที่สะท้อนความเป็นจริงของสังคมออกมาอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็น The Penthouse เรื่องราวในสังคมชั้นสูงที่เต็มไปด้วยความอิจฉาริษยาและการบูลลี่ในโรงเรียนเอกชนชื่อดังของเกาหลี ความแตกต่างทางฐานะส่งผลต่อกลุ่มเพื่อนและความเป็นอยู่ของตัวละครลูก ซึ่งปมที่ถูกปลูกฝังผ่านตัวละครนำมาสู่การนองเลือดในที่สุด หรือจะเป็น Itaewon Class ถึงจะไม่ใช่ซีรี่ส์ที่เน้นเรื่องการบูลลี่โดยตรง แต่มีส่วนที่สะท้อนถึงการถูกรังแกและการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในสังคม ทั้งหมดนี้นอกจากจะเน้นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในสังคมแล้วยังเน้นที่คุณภาพของผลงานที่ผู้บริโภคจะได้รับ นั่นจึงทำให้ประเทศเกาหลีใต้ประสบผลสำเร็จในด้านนี้เป็นอย่างมาก
กระทั่งล่าสุดกับซีรี่ส์เรื่องใหม่บนสตรีมมิ่ง Netflix อย่าง Hierarchy ก็ได้กลายเป็นกระแสขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยเนื้อหาที่ไม่เพียงแต่ให้ความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังสะท้อนปัญหาการบูลลี่ในสังคมได้อย่างลึกซึ้ง เรื่องราวในซีรี่ส์เรื่องนี้เล่าถึงกลุ่มนักเรียนในโรงเรียนชั้นนำที่ให้ความสำคัญต่อชนชั้นและรายได้ของครอบครัวภายในโรงเรียน จึงต้องเผชิญกับการแย่งชิงอำนาจและความรักจนเกิดการถูกกลั่นแกล้งทั้งทางร่างกายและจิตใจ จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น โดยมีผู้ที่มีอำนาจในโรงเรียนอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์เหล่านี้
Hierarchy แสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนของการบูลลี่ในโรงเรียนผ่านตัวละครต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น คังอินฮัน ที่ถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนร่วมชั้นเพราะเขาเป็นเด็กนักเรียนทุนและมาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน เขาต้องเผชิญกับการล้อเลียนและการถูกกีดกันจากกิจกรรมต่างๆ ทำให้เขารู้สึกโดดเดี่ยวและเจ็บปวดจนได้พบกับเพื่อนอย่าง จุล แจอี แต่สนิทกันได้ไม่นานก็มีเหตุร้ายทำให้เขาถึงแก่ชีวิตในที่สุด จนทำให้น้องชายของเขาอย่าง คังฮา ต้องกลับมาสะสางความคับข้องใจนี้ ซีรี่ส์นี้ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงความท้าทายที่ตัวละครนักเรียนหลายคนในประเทศต้องเผชิญในชีวิตจริง แต่ยังแสดงถึงจุดเริ่มต้นของการเอาแต่ใจและการแก้ไขปัญหาอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่าจุดเริ่มต้นของปัญหาการบูลลี่กันในโรงเรียนคือการเลี้ยงดูจากครอบครัวที่ไม่อบอุ่นและขาดการเอาใจใส่ ที่แม้ว่าจะเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของการสร้างเกราะป้องกันทางธรรมชาติโดยไม่รู้ตัว แต่กลับส่งผลทำให้เด็กคนหนึ่งไปทำร้ายคนอื่นได้โดยที่ไม่ได้ตั้งใจหรือไม่ได้ตระหนักถึงมนุษยธรรมมากพอ เพราะครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ เราจึงควรแก้ไขปัญหาการบูลลี่ในสังคมให้ตรงจุดและจริงจังมากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้สังคมไทยเกิดโศกนาฏกรรมอย่างเช่นนี้
คำว่า ต้นทุนของเราไม่เท่ากัน อาจจะเป็นคำที่กลุ่มตัวละครเด็กทุนภายในเรื่องต้องการสื่อสารออกมา การกระทำที่จำยอมต่อความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม และปล่อยให้สังคมพาไปโดยไม่สมัครใจ เพียงเพราะนักเรียนคนอื่นจ่ายค่าเทอมให้พวกเขา จนพวกเขากลายเป็นอีกหนึ่งชนชั้นของสังคมโดยปริยาย ถูกกดขี่ข่มเหงและไม่ได้รับความสนใจจากครูและผู้มีอำนาจในโรงเรียน เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องที่ผู้จัดซีรี่ส์และผู้กำกับซีรี่ส์เรื่องนี้พยายามสื่อถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ที่มีแต่การบูลลี่กันแต่ผู้ใหญ่และผู้ที่มีความรับผิดชอบกลับนิ่งเฉยและไม่แก้ปัญหาต่อสถานการณ์เหล่านี้อย่างจริงจัง
Hierarchy ยังสะท้อนให้เห็นอีกว่า การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย การสนับสนุน และการให้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงดู รวมถึงการดูแลเด็กที่โรงเรียนควรจะเชื่อมโยงถึงแต่ละครอบครัว เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการบูลลี่ในระยะยาว อีกทั้งซีรี่ส์เรื่องนี้ยังสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ชมให้ร่วมมือกันสร้างสังคมที่เป็นธรรมและเคารพในความหลากหลาย รวมถึงยืนหยัดเพื่อตนเองและสนับสนุนผู้อื่นในการต่อสู้กับการบูลลี่ ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการสร้างสังคมที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน
WATCH