LIFESTYLE
เฟมินิสต์ตัวแม่! รู้จัก 3 ภาพยนตร์น้ำดีของ Greta Gerwig ผู้กำกับหญิงระดับพันล้านคนแรกของโลกGreta Gerwig ไม่เคยทำให้แฟนหนังผิดหวัง และคงไม่ผิดมากนักถ้าจะบอกว่า "เธอนี่แหละ...เฟมินิสต์ตัวแม่!" |
ประสบความสำเร็จไปอีกคน สำหรับผู้กำกับหญิงมากฝีมือ ผู้เคยเข้าชิงรางวัลออสการ์มาแล้วอย่าง Greta Gerwig ซึ่งผลงานลำดับล่าสุดของเธออย่างภาพยนตร์เรื่อง Barbie ทำรายได้ทะลุ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐไปแล้วเรียบร้อย หลังจากเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ได้เพียงแค่ 17 วันเท่านั้น ส่งผลให้เธอกลายเป็นผู้กำกับหญิงเดี่ยวคนแรกในหน้าประวัติศาสตร์ของวงการฮอลลีวู้ดที่สามารถกวาดรายได้ไปด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเช่นนั้น ซึ่งมาพร้อมกับกระแสนิยมในภาพยนตร์เรื่อง Barbie ที่ได้รับการปูทางโปรโมตมาเป็นอย่างดี ส่งเสริมให้ภาพยนตร์น้ำดีเรื่องนี้เป็นที่จดจำ และเป็นที่พูดถึงไปทั่วโลกโซเชียลมีเดียยาวนาน จนอาจเรียกได้ว่าเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จทั้งด้านรายได้ คำวิจารณ์ และกระแสนิยมจากสังคม อย่างล้นหลาม
หากใครก็ตามทึ่เป็นแฟนคลับสาวกงานกำกับของ เกรต้า เกอร์วิก ก็คงจะทราบดีว่าหนึ่งในลายเซ็นสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานของผู้กำกับหญิงคนนี้ก็คือ “การสอดแทรกแนวคิดแบบสตรีนิยม (Feminism)” เข้าไปอยู่ในผลงานภาพยนตร์ของเธอเสมอ โดยมีจุดร่วมที่น่าสนใจคือ การค้นหาตัวตนและการหาที่ทางหยัดยืนของผู้หญิงในสังคม ผ่านตัวละครหลักในภาพยนตร์ทั้ง 3 เรื่องที่ผ่านมาของเกรต้า ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นตัวละครหญิงทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ภาพยนตร์เรื่อง Lady Bird ในปี 2017, ภาพยนตร์เรื่อง Little Women ในปี 2019 และล่าสุดในภาพยนตร์ Barbie ปี 2023
-
Lady Bird (2017)
ภาพยนตร์เรื่อง Lady Bird คือภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวของตัวละครคริสติน (รับบทโดย เซอร์ชา โรนัน) ที่ได้เปลี่ยนชื่อของตัวเองเป็น Lady Bird เนื่องจากไม่ชอบชื่อที่พ่อแม่ของเธอตั้งให้ และต้องการมีชีวิตที่ดีกว่าในเมืองที่ดีกว่าที่เธออาศัยอยู่ตอนนี้ เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นจึงเป็นเหมือนการพาผู้ชมออกโบยบินตามเลดี้เบิร์ดตัวนี้ไป เพื่อค้นหาตัวเอง ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้พาเราไปทำความรู้จักกับทั้งตัวตนของเธอ ครอบครัว ความสัมพันธ์เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายระหว่างเธอและแม่ของเธอ รวมไปถึงความต้องการที่จะออกไปเจอกับโลกกว้าง และความสัมพันธ์ของวัยรุ่นที่โหยหา แต่ก็ยากที่จะเข้าใจ ซึ่งนำไปสู่ความทะเยอทะยานในชีวิตจริง ที่ทุกอย่างอาจล้มเหลวได้ในพริบตา และดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า ภาพยนตร์ของเกรต้า เกอร์วิก จะมีกลิ่นอายของปรัชญาแนวเฟมินิสต์สอดแทรกอยู่เสมอ เราทุกคนจึงได้เห็นความสัมพันธ์ของตัวละคร “แม่และลูกสาว” ที่คอยสนับสนุนให้ลูกของเธอได้เป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด สะท้อนให้เห็นอีกมุมของการเคลื่อนไหวสตรีนิยมผ่านการเล่าเรื่องความสัมพันธ์ในโลกของผู้หญิง 2 คน ในบทบาทที่แตกต่างกัน นั่นคือตัวละครแม่และลูกสาว ที่นับว่าเป็นอีกหนึ่งในไฮไลต์สำคัญของภาพยนตร์ผลงานเดบิวต์เรื่องแรกของเกรต้า เกอร์วิก เรื่องนี้
-
Little Women (2019)
WATCH
Little Women คือภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมคลาสสิกชื่อดังระดับโลก กับเรื่องราวของการข้ามผ่านช่วงวัยเพื่อเติบโต (Coming of Age) ของเหล่าพี่น้องสี่ดรุณี ไม่ว่าจะเป็น โจ (รับบทโดย เซอร์ช่า โรนัน) ที่มีความฝันอยากเป็นนักเขียน, เม็ก (รับบทโดย เอ็มม่า วัตสัน) ที่มีความฝันอยากเป็นนักแสดง, เอมี่ (รับบทโดย ฟลอเรนซ์ พิวจ์) ที่มีความฝันอยากเป็นจิตรกร และ เบ็ธ (รับบทโดย เอลิซา สแกนเลน) น้องสาวคนสุดท้อง ที่ต้องร่วมกันต่อสู้กับมายาคติและกรอบของสังคมที่ถูกกำหนดขึ้นมาภายใต้โลกปิตาธิปไตยเข้มข้นในยุคก่อน ซึ่งวัดความสำเร็จในชีวิตของผู้หญิงในสังคมเอาไว้เพียงแค่การแต่งงานเท่านั้น ซึ่งพวกเธอทั้ง 4 คนต้องดั้นด้นพิสูจน์ว่า นั่นไม่ใช่บรรทัดฐานเดียวที่จะทำให้ผู้หญิงอย่างพวกเธอประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ทั้ง 4 คนยังต้องทำความเข้าใจถึงแก่นสำคัญของเรื่องที่น่าสนใจคือ “แค่เพราะว่าเธอมีความฝันต่างจากฉัน ไม่ได้หมายความว่าความฝันของฉันไม่สำคัญ” ที่สะท้อนให้เห็นว่าเราทุกคนต่างมีฝันอันหลากหลาย และไม่ได้ถูกจำกัดกรอบเอาไว้แค่เพียงสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น และถึงแม้ว่าเราทุกคนจะต่างความฝันกัน แต่เราก็ยังคงสามารถสนับสนุนกันและกันได้ ที่ทำให้ใครหลายคนนึกไปถึงการต่อสู้เคลื่อนไหวแบบเฟมินิสต์ ในมิติการต่อสู้แบบ Sisterhood ที่ถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างละเมียดละไมในภาพยนตร์เรื่องนี้
-
Barbie (2023)
ภาพยนตร์ลำดับที่ 3 ของเกรต้า เกอร์วิก และเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของเธอ ต้องยกให้ Barbie ภาพยนตร์แนวเฟมินิสต์จ๋าเคลือบสีลูกกวาด กับเรื่องราวของบาร์บี้ (รับบทโดย มาร์โกต์ ร็อบบี้) ที่มีเหตุจำเป็นต้องออกเดินทางจาก Barbie Dreamland เพื่อมุ่งหน้าสู่โลกแห่งความเป็นจริง ก่อนที่เธอจะได้พบกับความจริงที่ว่า ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้นไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบเหมือนอย่างที่โลกของบาร์บี้เป็นแม้แต่อย่างเดียว ซึ่งระหว่างทางการผจญภัยนั้น เกรต้า เกอร์วิก ยังสอดแทรกบทพูดเชิงสตรีนิยมไว้ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความอัตคัดของการเกิดเป็นผู้หญิงบนโลกใบนี้ ทั้งที่อยู่ในบรรทัดฐานที่สังคมกำหนด หรือกลุ่มที่ถูกเขี่ยออกไปอยู่นอกเขตการยอมรับของสังคม เรื่อยไปจนถึงการวิพากษ์เรื่อง Beauty Standard ได้อย่างกระชับ และน่าอัศจรรย์ ซึ่งนักวิจารณ์หลายคนต่างมองว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ควรได้เข้าชิงออสการ์ในสาขารางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมอีกด้วย พร้อมยืนยันว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ใช่ภาพยนตร์สำหรับเยาวชนเท่านั้น แต่เป็นภาพยนตร์ของคนทุกเพศทุกวัยอย่างแท้จริง
ข้อมูล : Wikipedia-Great Gerwig
WATCH