LIFESTYLE
'Gay Love Was Hidden' เปิดชีวิตรักของเกย์ยุค 70s ที่แม้แต่คนกลุ่มเดียวกันยังอาจ(เคย)ละเลยแม้จะมีการออกมาเรียกร้องความเท่าเทียมกันทั่วทุกหัวระแหง แต่คนบางกลุ่มยังอาจละเลยและเสพสุขกับการใช้ชีวิตรักแบบลับๆ ต่อไป |
เรื่องราวความรักและสิทธิ์เรื่องความเท่าเทียมในยุค ‘70s ดูจะเป็นช่วงยุคแห่งการผลิบานในด้านความหลากหลายเพศ เหล่าเกย์จำนวนมากต่างออกมาเรียกร้องกับสิ่งที่ไม่เป็นธรรมต่อชีวิต ในเมื่อทุกคนเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน แตกต่างกันเพียงรสนิยมทางเพศ การถูกมองว่าผิดธรรมชาติ เรื่อยไปจนถึงผิดกฎหมายจึงไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง พวกเขาออกมาประกาศอย่างชัดเจนว่าการมีตัวตนของพวกเขานั้นไม่ควรถูกลบเลือนหรือปิดกั้นออกจากสังคม ความรักอันแสนบริสุทธิ์ล้วนต้องการพื้นที่ในการแสดงออก ไม่ใช่หลบอยู่ในซอกในหลืบ ทว่าการเรียกร้องดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจากพลังของ “ทุกคน” เพราะบางกลุ่มอาจกำลังหลบซ่อนและก้าวข้ามปัญหาบางอย่างด้วยสถานะทางสังคมที่สูงกว่าคนอื่น
บรรยากาศความวุ่นวายจากเหตุการณ์ Stonewall Riots / ภาพ: TIME
“ในขณะที่คนกลุ่มใหญ่กำลังเรียกร้องความเป็นธรรม คนบางกลุ่มอาจกำลังหลบซ่อนและหาความสุขกับความเหนือระดับที่ปิดบังอัตลักษณ์ทางเพศ” หากพูดเช่นนี้คงไม่ผิดนัก เพราะคนที่ออกมาเรียกร้องส่วนมากเป็นชนชั้นกลางทางสังคมที่มองว่าโลกนี้ควรให้เกียรติกับทุกเพศเท่าเทียมกัน อีกทั้งยังต้องการให้สถานที่ต่างๆ ทั่วเมืองให้อิสระสมกับที่พวกเขาเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับการระบุว่าเพศแบบ Binary Opposition (ชาย-หญิง) เหตุผลสำคัญคือเหล่าชนชั้นกลางไปจนถึงชนชั้นรองของสังคมต้องใช้พื้นที่สาธารณะในการดำเนินชีวิต การถูกปิดกั้นด้วยระบบระเบียบบางอย่างบีบบังคับให้เขาต้องหลบซ่อนเพื่อรักษาสิทธิ์อันพึงประสงค์ไว้กับตัว ดังนั้นพวกเขาจึงยอมแลกด้วยวิธีการปิดบังตัวตนของตัวเอง แน่นอนว่ามันสร้างความอึดอัดตกทอดกันมาหลายทศวรรษ ถึงเวลาแห่งยุคเสรีอย่างยุค ‘70s ทุกอย่างจึงดำเนินไปอย่างรวดเร็วและกลายเป็นการเคลื่อนไหวสำคัญของมวลมนุษยชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเริ่มต้นขึ้นของชนวนสงครามเรื่องสิทธิ์จาก “Stonewall Riots” (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการจลาจลได้ ที่นี่)
บรรยากาศการเดินขบวนพาเหรดเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศกลางมหานครนิวยอร์กในปี 1976 ลั่นชัตเตอร์โดย George Dudley / ภาพ: the Estate of George Dudley and the Leslie-Lohman Museum
George Dudley ช่างภาพและศิลปินผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของพิพิธภัณฑ์เลสลี โลห์มัน กลางมหานครนิวยอร์กคือผู้บันทึกเรื่องราวขบวนพาเหรด “Gay Pride” ตั้งแต่ยุค ‘70s เขาบันทึกพลังบวกที่พร้อมสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคม ทุกคนในขบวนต่างใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อเรียกร้องโดยมีสีสันสดใสเป็นอาวุธแทนที่อาวุธสังหาร ทุกปีที่จอร์จเก็บภาพก็จะมีผู้คนเข้าร่วมขบวนมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดระยะหลายปีเขาสามารถบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ไว้ได้มากมาย แต่จุดน่าสังเกตคือไม่มีคนดังหรือซูเปอร์สตาร์ของวงการกล้าเปิดเผยตัวตนเพื่อยืนหยัดกับกลุ่มผู้เรียกร้องเท่าไหร่นัก เนื่องจากจุดปลอดภัยของพวกเขาจะไม่ปลอดภัยอีกต่อไป ชีวิตที่เคยรุ่งโรจน์และเก็บลับอาจจะสูญสลาย พวกเขายอมเสียตรงนี้ไม่ได้ การมีความรักของกลุ่มหลากหลายทางเพศอาจถูกมองผิดแปลก หลายคนอาจเริ่มลุกขึ้นเรียกร้อง แต่สำหรับบางคนการเสพสุขแบบเงียบๆ อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
WATCH
แฟชั่นของเกย์ยุค ‘70s ที่มีข้อความสอดแทรกนัยยะพิเศษผ่านไอเท็มทุกชิ้น / ภาพ: The Bold Italic
“ผู้คนสวมใส่เสื้อผ้าที่ดีไซเนอร์เกย์ออกแบบ แต่ดีไซเนอร์เกย์กลับไม่ได้ออกมาเรียกร้องเพื่อสังคมเกย์เท่าที่ควร” สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ขัดแย้งในตัวเองอย่างมาก และทำให้ผู้เขียนสงสัยว่าทำไมคนที่ผูกติดกับสังคมอันหลากหลายเรื่องเพศถึงปิดกั้นตัวเองไม่ให้ออกจากกรอบที่ยืนอยู่ แม้ตัวเองจะเป็นส่วนหนึ่งของการเรียกร้องความหลากหลายนั้นก็ตาม พอนึกถึงความเป็นจริงและวิเคราะห์หาเหตุผล สิ่งแรกเลยคือความปลอดภัยและไม่จำเป็นต้องเสี่ยง นี่คือสิ่งที่ผู้เขียนสะท้อนออกมาจากชีวิตอู้ฟู่ของเหล่าชนชั้นนำทางสังคม อย่างที่กล่าวไปว่าพวกเขาอาจแสดงออกอย่างโจ่งแจ้งก็จริง แต่สุดท้ายเรื่องราวความรักไม่ได้ถูกเผยแพร่สู่สาธารณะขนาดนั้น ดังนั้นการคาดเดาไม่ได้ย่อมน่ากลัวเสมอ ในเมื่อพวกเขาไม่จำเป็นต้องเสี่ยงเพื่อสิ่งที่ดีกว่านิดหน่อย พวกเขาก็ไม่เสี่ยงเลยดีกว่า
Halston ดีไซเนอร์ผู้ใช้ชีวิตอย่างอู้ฟู่โดยอาจไม่จำเป็นต้องสนใจการเรียกสิทธิ์ในยุคนั้น / ภาพ: WWD
หากเราจับชีวิตรักของดีไซเนอร์ระดับแถวหน้าสักคนมาวิเคราะห์ ผู้เขียนคงต้องหยิบชีวิตของ Halston ที่มีช่วงเวลาอันโลดโผนในยุค ‘70s และก่อนหน้านั้นพอดี หากใครได้ชมซีรี่ส์ชีวประวัติจะสังเกตเห็นว่าเขาต้องการความรักจากชายหนุ่มที่มีรสนิยมเดียวกัน เขาใช้พื้นที่เฉพาะ เช่นบาร์หรือจุดนัดเดตเพื่อสานสัมพันธ์กับคู่ขา สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือการอยู่ในระดับชนชั้นนำทางสังคมตอนนั้นย่อมต้องการสิ่งที่เรียกว่า “ความเอ็กซ์คลูซีฟ” พวกเขาไม่ได้ต้องการจะเหมือนใคร และพวกเขาแสดงพฤติกรรมลับๆ ราวกับว่าตนอยู่แยกออกจากกลุ่มที่กำลังเรียกร้องสิทธิ์อันเท่าเทียม หรือมองอีกมุมคือการที่เขาชอบเรื่องแบบลับๆ จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนักหากการเรียกร้องเกิดขึ้น เพราะสุดท้ายพวกเขาก็ใช้ชีวิตแบบเดิม ดังนั้นจะกระโดดออกจากโซนปลอดภัยไปเสี่ยงทำไม แน่นอนหากมองจากมุมมองยุคนี้มันอาจจะฟังดูเห็นแก่ตัวไปบ้าง แต่ถ้ามองย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีก่อน บางครั้งเราอาจจะเข้าใจในเซฟโซนที่คนบางกลุ่มถวิลหามาตลอดชีวิตก็ได้
บ้านสุดหรูของ Halston อันหมายถึงพื้นที่ส่วนตัวอันโอ่อ่า และเป็นปัจจัยที่ทำให้คนชนชั้นนำทางสังคมแบบเขาอาจไม่สนใจพื้นที่สาธารณะเท่าคนชนชั้นกลาง / ภาพ: Artsy
อีกหนึ่งจุดสำคัญที่ผูกโยงกับความเอ็กซ์คลูซีฟและโซนปลอดภัยคือเรื่องระหว่าง “Private Space” และ “Public Space” เมื่อวิเคราะห์บริบทการใช้ชีวิตของคนยุคก่อน จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าพวกเขาต้องออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านเป็นหลัก เพราะสิ่งบันเทิงและการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันไม่มีวิธีอื่นนอกจากการพบปะเจอกันในชีวิตจริง ต่างจากในปัจจุบันที่เราสามารถปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้แม้ตัวจะอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวก็ตาม เหล่ากลุ่มผู้เรียกร้องจึงต้องการสิทธิ์ความเท่าเทียมเพื่อจะได้เปิดเผยอัตลักษณ์และใช้ชีวิตอย่างเป็นอิสระในพื้นที่สาธารณะ อันหมายถึงพื้นที่สำหรับทุกคน มากไปกว่านั้นการแสดงความรักในพื้นที่สาธารณะไม่ว่าเพศใดจะต้องเป็นเรื่องปกติ ไม่ต้องหวาดระแวงและหลบซ่อนอีกต่อไป
Victor Hugo (ขวา) คู่รักของ Halston ที่เคยเสพสมชีวิตรักในพื้นที่ส่วนตัวอันยิ่งใหญ่ของดีไซเนอร์ระดับไอคอนิก / ภาพ: Newsweek
สำหรับพื้นที่สาธารณะมันอาจยิ่งใหญ่สำหรับคนชนชั้นกลางทั่วไป แต่ถ้าหากมองในมุมของคนชนชั้นสูงที่สร้างพื้นที่ส่วนตัวอันใหญ่โตได้ พื้นที่สาธารณะก็ถูกลดทอนความสำคัญลงไปอย่างน่าใจหาย ชีวิตของฮัลสตันก็เช่นเดียวกัน เขามีบ้านหลังโต ออฟฟิศสุดหรูบนตึกสูง ทั้งหมดสามารถเป็นพื้นที่ส่วนตัวที่กว้างใหญ่พอจะยัดโลกความสัมพันธ์ทางเพศไว้ได้อย่างสบายตัว รวมถึงมีบ้านพักตากอากาศที่ห่างไกลผู้คนอีกด้วย ทั้งหมดสร้างโครงข่ายโลกส่วนตัวที่ใหญ่เกินพอสำหรับการสร้างความรักแบบไม่อึดอัด ความสัมพันธ์ของเขากับ Victor Hugo ส่วนมากจึงถูกถ่ายทอดในพื้นที่ส่วนตัวมากกว่า หรือถ้ามองถึงชีวิตคนระดับบนของสังคมจะเห็นว่าพวกเขามีสถานที่พิเศษสำหรับเรื่องราวพิศวาสอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมุ่งทะยานหาโลกสาธารณะที่ยังแน่ใจไม่ได้ว่าสังคมจะเปิดรับจริงหรือไม่
กลุ่มคนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมให้กับเพศหลากหลายรูปแบบในพาเหรด Pride Month ครั้งแรกในปี 1970 / ภาพ: Fred W. McDarrah
ดังนั้นชุดความคิดของกลุ่มหลากหลายทางเพศจึงไม่ได้ผสานรวมกันเป็นหนึ่งอย่างที่หน้าประวัติศาสตร์บันทึกไว้ เฉกเช่นกับกลุ่มชายและหญิงที่ไม่ใช่ว่ามีเพศสภาพเดียวกันแล้วจะต้องแสดงออกแบบเดียวกันทั้งหมด นี่คือจุดกำเนิดชุดความคิดแบบปัจเจกบุคคลรูปแบบหนึ่ง สุดท้ายการจะทำความเข้าใจใครสักคนหรือกลุ่มคนสักกลุ่มหนึ่ง เราต้องเข้าใจบริบทของคนอย่างถ่องแท้ก่อน แน่นอนว่าประวัติศาสตร์กระแสหลักกำลังพูดถึงกลุ่มคนที่พยายามเรียกร้องความเท่าเทียม แต่ในขณะเดียวกลุ่มสังคมย่อยๆ ภายใต้สังคมนั้นยังมีบางส่วนที่ละเลยหรือไม่พยายามจะออกมาเรียกร้องเพราะเหตุผลบางประการ ความรักของเหล่าเกย์และกลุ่มหลากหลายทางเพศทั้งหมดจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่เรื่องเพศ แต่ขึ้นอยู่กับทั้งสถานะทางสังคม ฐานะการเงิน รูปแบบการใช้ชีวิต และอื่นๆ อีกมากมาย แล้วเราจะตัดสินใจและตีตราพวกเขาว่าเป็นกลุ่ม “Ignorance” ได้หรือไม่ เรื่องนี้ก็อยู่ที่วิจารณญาณของแต่ละคน ทว่าหากจะครอบสถานะอะไรให้ใครสักคน อย่างน้อยก็จงยึดถือวลี “Put yourself in someone’s shoes” ก่อน บางครั้งเราอาจจะเรียนรู้ว่าเราสามารถเพียงแต่ทำความเข้าใจและมิอาจตัดสินใจอะไรใครได้เลยก็ได้เช่นกัน
ข้อมูล:
WATCH