LIFESTYLE

'คังคุไบ' หญิงที่สามีขายทอดตลาดด้วยมูลค่าหลักร้อยสู่ชีวิตที่ครอง Bentley มูลค่าหลายล้าน

เบื้องหลังรถ Bentley คันนี้เป็นมากกว่าทรัพย์สิน เพราะรถยนต์คู่ใจของเธออาจหมายถึงพลังอำนาจทางสังคมทางอ้อม

     ตอนนี้ภาพยนตร์เรื่อง “คังคุไบ กฐิยาวาฑี” หรือ “Gangubai Kathiawadi” กำลังโด่งดังเป็นพลุแตกบนแพลตฟอร์มเน็ตฟลิกซ์ ผู้ชมต่างเข้าถึงเรื่องราวอันเข้มข้นในชีวิตของ “ราชินีมาเฟียแห่งมุมไบ” เพราะเรื่องราวชีวิตของเธอเต็มไปด้วยความดราม่าที่น่าสนใจ ความดำมืดที่สอดแทรกสิ่งที่สะท้อนทางวัฒนธรรมอันหมายถึงความไร้ซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีของสตรีในประเทศอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหญิงสาวที่ขายบริการทางเพศ ความโดดเด่นของผู้หญิงคนนี้ไม่เพียงปรากฏขึ้นด้วยความเก่งกาจ ณ ฉากหน้า แต่ยังมีเรื่องราวเบื้องหลังอันโหดร้ายที่หล่อหลอมให้เธอกลายเป็นหญิงแกร่งจนกลายเป็นตำนานเล่าขานจนถึงปัจจุบัน

ตัวอย่างสภาพบ้านเมืองในกรุงบอมเบย์ ประเทศอินเดียปี 1939 ที่เต็มไปด้วยประชาชนเพศชายบนท้องถนน / ภาพ: Mumbai Heritage

     คังคุไบคือหญิงสาวที่เกิดในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 (ปี 1939) ซึ่งถือเป็นโลกยุคเก่าที่ผู้หญิงถูกกีดกันจากสิทธิต่างๆ มากมาย ยังไม่พูดถึงการเป็นโสเภณีหรืออาชีพสีเทาหลากหลายรูปแบบ เพียงแค่ขึ้นสถานะว่าเป็นหญิง โลกตอนนั้นก็ไม่ได้เปิดกว้างสำหรับพวกเธอเฉกเช่นทุกวันนี้ และถ้าจะให้ลงลึกถึงประเทศอินเดีย ประเทศที่มีข้อจำกัดด้านโครงสร้างของสังคมที่กดทับผู้หญิงอย่างชัดเจน จะเห็นว่าผู้หญิงถูกลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐาน อีกทั้งยังถูกแปรสภาพให้กลายเป็นวัตถุของเพศตรงข้ามบ่อยครั้ง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเธอจึงไม่ได้นิยามด้วยตัวเอง แต่กำลังถูกนิยามจากผู้มีอำนาจทางสังคม และแน่นอนว่าเป็นผู้ชาย

รัมนิก ลัลในเวอร์ชั่นภาพยนตร์ที่ขายคังคุไบให้กับซ่องเพื่อค้าประเวณี / ภาพ: The Quint

     หญิงสาวที่เกิดในครอบครัวอันเพียบพร้อมอาจไม่ได้การันตีชีวิตที่เลิศหรู คังคุไบเป็นลูกสาวคนเดียวของบ้านที่ทำอาชีพด้านกฎหมาย ถ้าเป็นโลกยุคปัจจุบันเราอาจจะคาดเดาชีวิตของเด็กสาวคนนี้ด้วยมุมมองอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ในยุคของคังคุไบมันไม่ใช่แบบนั้น เด็กสาวคนนี้เติบโตขึ้นและมีความรักให้กับชายคนหนึ่งที่ชื่อ “รัมนิก ลัล” ชายคนนี้คือผู้เปลี่ยนชีวิตเธอไปตลอดกาล การที่เธอมอบความรักแบบสุดหัวใจทำให้เธอยอมทุกอย่างแม้กระทั่งหนีออกจากบ้านเพื่อตามหาเส้นทางรักอันหอมหวานที่มนุษย์สักคนหนึ่งใฝ่ฝัน ทว่าเส้นทางนั้นกลับไม่ได้เรียงรายด้วยสีรุ้งสวยงาม แต่เป็นสีดำที่สาดเลอะอยู่ตามรายทาง ซึ่งถนนเส้นนี้เปลี่ยนชีวิตคังคุไบไปตลอดกาล



WATCH




กามธิปุระ ย่านที่คังคุไบเคยเรืองอำนาจในอดีต / ภาพ: Outlook India

     ฝันที่อยากเป็นนักแสดงแปรเปลี่ยนสู่เส้นทางชีวิตการแสดงลวดลายทางเพศท่ามกลางบรรยากาศโคมแดง...คังคุไบไม่ใช่หญิงสาวคู่ชีวิตของรัมนิก เพราะฝ่ายชายไม่ได้มองเธอเป็นคู่ครอง(หรืออย่างมากก็มองเป็นแบบนั้น ณ ช่วงเวลาหนึ่ง) ทว่าเขากลับมองเธอเป็นวัตถุที่สามารถสร้างเม็ดเงินได้ อย่างที่กล่าวไปว่าสังคมอินเดียยุคก่อนมีความแตกต่างของระดับชนชั้นทางเพศ ผู้ชายมีอำนาจมากกว่าและมักจะเห็นผู้หญิงด้อยกว่า หรือบางครั้งถึงขั้นไม่ได้มองพวกเธอเป็นมนุษย์ แต่เป็นวัตถุที่จะทำอย่างไรด้วยก็ได้ อ้างอิงตามเรื่องราวตามชีวประวัติที่ถูกนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์ คังคุไบถูกสามีขายให้กับซ่องในเมืองมุมไบด้วยราคาเพียง 500 รูปี (อ้างอิงตามข้อมูลของฮุสเซน ผู้ประพันธ์เรื่องราวต้นแบบที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์) หรือประมาณ 220 บาท หากคิดในค่าเงินปัจจุบันจะอยู่ราวๆ 8,000 รูปี หรือประมาณ 3,500 บาท ซึ่งก็ไม่ใช่เงินจำนวนเยอะอยู่ดี และถึงแม้ราคาค่าตัวเธอจะทะยานสู่หลักล้านก็ไม่ใช่สิ่งที่น่าพึงพอใจ เพราะมนุษย์ไม่ว่าคนใดก็แล้วแต่ไม่ควรถูกปฏิบัติราวกับวัตถุเช่นนี้เลยจริงๆ

คังคุไบตัวจริงผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็นราชินีมาเฟียแห่งมุมไบ / ภาพ: Wiki Library

     หากใครชมภาพยนตร์เรื่องนี้หรือเคยอ่านส่วนหนึ่งจากหนังสือ “Mafia Queens of Mumbai” คงทราบเรื่องราวว่าเธอต้องตรากตรำชีวิตแสนลำบากในการเป็นโสเภณี หญิงสาวประเภทที่ถูกกีดกันออกจากสังคมอย่างสิ้นเชิง แค่เป็นผู้หญิงที่ถูกตีกรอบจากระเบียบทางสังคมก็น่าหนักใจพออยู่แล้ว ยิ่งมาข้องเกี่ยวกับธุรกิจสีเทาแบบนี้ พวกเธอแทบไม่มีปากมีเสียงในสังคมแม้แต่นิดเดียว คังคุไบต้องใช้ชีวิตโสเภณีขายบริการทางเพศจนไต่เต้าขึ้นในระดับสูงของอุตสาหกรรมสีเทาดังกล่าว และต่อมาก็กลายเป็นเจ้าของซ่องที่มีอิทธิพลอย่างมาก อีกทั้งยังข้องเกี่ยวกับการเป็นมาเฟีย ซึ่งพัวพันกับเรื่องกึ่งดำกึ่งขาวมาตลอดชีวิต

ภาพคังคุไบและรถยนต์ Bentley คู่ใจของเธอจากภาพยนตร์เรื่อง Gangubai Kathiawadi / ภาพ: Netflix

     “รถ Bentley สัญลักษณ์แห่งความรุ่งโรจน์และทรงอิทธิพล” ตามรายงานของ Hussain Zaidi นักข่าวผู้เขียนเรื่องราวของเธอจนเป็นหนังสือที่ใช้อ้างอิงในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ คังคุไบเป็นผู้ข้องเกี่ยวกับธุรกิจค้ากามหญิงคนแรกที่มีรถหรูระดับนี้ในประเทศอินเดีย หากใครได้ชมตัวอย่างภาพยนตร์จะเห็นรถเบนท์ลีย์คันยาวสีดำปรากฏอยู่ นั่นเป็นรถหรูที่แสดงให้เห็นถึงชีวิตระดับยอดมงกุฎของคังคุไบที่ต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อและความเจ็บปวด ซึ่งอาชีพโสเภณีไม่เพียงแต่ต้องแลกความเหนื่อยล้าทางร่างกาย แต่ต้องแลกด้วยสภาพจิตใจที่แทบไม่มีโอกาสได้คืน ในปี 1960 การที่ผู้หญิงคนหนึ่งในประเทศอินเดียครอบครองรถเบนท์ลีย์ก็อนุมานได้ว่าผู้หญิงคนนี้ทรงอิทธิพลมากเพียงใด

Bentley S2 Flying Spurs รถยนต์ 4 ประตูสัญชาติอังกฤษที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นรถหรูที่สุดคันหนึ่งช่วงยุค 1960s / ภาพ: Bentley Media

     หากถามว่ารถยนต์หรูคันหนึ่งมีอิทธิพลมากเพียงใดต่อสังคม เรื่องนี้ไม่สามารถอธิบายออกมาให้เป็นรูปธรรมมากนัก แต่หากมองถึงสัญลักษณ์ความเป็นเบนท์ลีย์ รถยนต์หรูจากประเทศอังกฤษนั้นสามารถบอกอะไรได้หลายอย่าง ความเป็นลักชัวรีคาร์ของแบรนด์ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเครื่องบ่งบอกความร่ำรวยอย่างเดียวเท่านั้น เพราะการครอบครองรถหรูแบบนี้บ่งบอกถึงรสนิยม การแสดงพลังอำนาจ รวมถึงแสดงจุดยืนว่าตนมีเทียบเท่าหรือมากกว่าในแง่ของพลังทางชนชั้น เรื่องแบบนี้ถูกมองตามหลักสังคมวิทยา หากใครจะกล่าวถึงเรื่องอำนาจ ก็ต้องมีสัญลักษณ์บางอย่างที่บ่งบอกถึงสิ่งนั้น หลายครั้งเราเห็นว่าใครที่มีพลังมากพอในการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างมักมาพร้อมกับสัญญะด้วยเช่นกัน และในบริบทนี้คังคุไบมีรถเบนท์ลีย์ที่การันตีความเชื่อมั่นดังกล่าว

คังคุไบในฉบับภาพยนตร์ที่มีภาพลักษณ์เป็นหญิงทรงพลังอำนาจและนำการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิของหญิงขายบริการ / ภาพ: iDiva

     พลังแห่งการเรียกร้องที่ตั้งอยู่บนความแข็งแกร่งเชิงอิทธิพลและสัญลักษณ์ เรื่องราวความยิ่งใหญ่ของคังคุไบที่ทำให้ประวัติศาสตร์ต้องจารึกคือเรื่องการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมให้กับอาชีพขายบริการทางเพศ “คุณเสียศักดิ์ศรีไปครั้งหนึ่ง มันจะหายไปตลอดกาล ...ส่วนพวกเขา (อาชีพขายบริการทางเพศ) ขายศักดิ์ศรีทุกคืน แต่ก็ดูเหมือนจะไม่หมดสักที” คำกล่าวสุนทรพจน์ที่ทำให้ทุกคนต้องนึกย้อนและให้ความสำคัญอย่างเต็มที่ และตั้งคำถามว่าควรเปิดพื้นที่ให้กับพวกเธอมีสิทธิ์เฉกเช่นมนุษย์ได้แล้วหรือยัง เธอต้องการทำลายแรงกดขี่มหาศาลในสังคมให้สูญสลายไปเสียที และการเรียกร้องเกี่ยวข้องเบนท์ลีย์อย่างไร รถยนต์อันเปรียบดั่งเครื่องหมายยืนยันทางพลังของเธออย่างที่กล่าวไปมีส่วนสำคัญทางอ้อมที่ทำให้คนในสังคมวัตถุนิยมสามารถยึดถือหลักความมั่นคงทางอำนาจ เธอไม่ได้เป็นหญิงสาวทั่วไป แต่เธอเป็นเจ้าของรถยนต์หรูที่น้อยคนในโลกจะได้สัมผัส นั่นแสดงถึงพลังอำนาจทางอ้อมที่รถกลายเป็นสัญลักษณ์อันแข็งแกร่งอยู่เบื้องหลังคังคุไบ แน่นอนมันเป็นเพียงวัตถุชิ้นหนึ่ง แต่วัตถุชิ้นนี้มีมูลค่าเชิงสังคมมากกว่ามูลค่าราคาในท้องตลาดของมันอย่างแน่นอน

 
     สุดท้ายการเรียกร้องของคังคุไบกลายเป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์อินเดียที่ถูกแปลงโฉมออกมาเป็นภาพยนตร์บนเน็ตฟลิกซ์ วันนี้ทุกคนมีโอกาสซึมซับเรื่องราวของตำนานผู้นี้ในแง่มุมความบันเทิง ชีวิตในภาพยนตร์เต็มไปด้วยดราม่าและจุดเปลี่ยนมากมาย แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้เธอยืนหยัดและเรียกร้องความเท่าเทียมในชีวิตจริงคือพลังอำนาจที่สั่งสมมาอย่างต่อเนื่อง และสัญลักษณ์ทั้งเชิงอิทธิพลของตัวเองและเชิงวัตถุหนุนหลังให้เธอมีหลักประกันในการออกเสียงดังกังวาล แน่นอนล่ะว่าแนวคิดที่ผูกติดกับวัตถุแบบนี้เป็นแนวคิดจากโลกยุคเก่า แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าแนวความคิดจากโลกยุคนั้นทำให้เธอและรถเบนท์ลีย์ยืนหยัดได้อย่างแข็งแกร่งในสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยการแบ่งแยกความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง ใครสนใจเรื่องราวชีวิตของคังคุไบ สามารถรับชมภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงได้แล้วบนเน็ตฟลิกซ์

 

ข้อมูล:

springnews.co.th

starsunfolded.com

inflationtool.com/indian-rupee

scoopwhoop.com

bentleymedia.com

WATCH