LIFESTYLE
เปิดทำเนียบ 5 ฟุตเทจเก่าหายากของไทยที่ควรดูสักครั้งในชีวิตจากยูทูบช่องหอภาพยนตร์ท่องกาลเวลาย้อนอดีตไปกับช่องยูทูบหอภาพยนตร์ที่รวบรวมฟุตเทจหายากของไทยอายุหลายทศวรรษ |
บรรยากาศย้อนยุคหรือภาพหาชมยากกลายเป็นประเภทวิดีโอฮิตที่คนรุ่นใหม่คลิกเข้าชมเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ด้วยเหตุผลที่ว่าคนต่างยุคต้องการสัมผัสถึงรูปแบบชีวิตของคนสมัยก่อน บางครั้ง “Nostalgia” หรือการหวนคิดถึงอดีตอาจเป็นคำตอบว่าทำไมการเดินทางข้ามเวลากลับไปมันถึงหอมหวานนัก และปัจจุบันเมื่อแพลตฟอร์มดิจิทัลมีผลต่อการใช้ชีวิตมนุษย์อย่างมาก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ หลายคนจึงใช้ช่องทางนี้ในการเดินทางกลับไปสู่เรื่องราวเบื้องหลังสมัยเด็ก หรือแม้กระทั่งเดินทางกลับไปในช่วงก่อนจะเกิดมาบนโลกเสียอีก
คนไทยเองก็มีความสนใจบรรยากาศและเรื่องราวเก่าๆ ของตนเองเช่นกัน แต่ปัญหาหลักคือหลักฐานทางภาพถ่ายหรือวิดีโอนั้นช่างหายากหาเย็นเสียเหลือเกิน หากเทียบกับฟุตเทจเก่าจากฝั่งตะวันตกหรือมหาอำนาจฝั่งเอเชียบางประเทศที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์โลก จะเห็นว่าเรามีช่องทางในการสืบค้นข้อมูลและย้อนสัมผัสเรื่องราวเหล่านั้นค่อนข้างน้อย ตอนนี้ทางหอภาพยนตร์มีช่องยูทูบชื่อ “Film Archive Thailand (หอภาพยนตร์)” พร้อมเปิดประสบการณ์การเดินทางข้ามเวลาสู่ช่วงเวลาในอดีตของประเทศไทยให้เข้าถึงง่ายมากขึ้น โว้กจึงแนะนำวิดีโอเด่นเป็นไอเดียให้แฟนๆ ไปติดตามคลังวิดีโออันน่าสนใจนี้กันต่อไป
1.ชมสยาม 2473
ถ้าพูดถึงวิดีโอยุคเก่า เชื่อว่าหลายคนต้องเคยเห็นวิดีโอแนวชมวิถีชีวิตแบบไร้คนพากย์เวอร์ชั่นขาว-ดำของชาวตะวันตกกันมาบ้าง บรรยากาศที่เต็มไปด้วยความธรรมชาติและถ่ายทอดออกมาแบบไม่มีสี ไม่มีเสียง และไม่มีการประดิษฐ์ภาพมารบกวน ประวัติศาสตร์ที่วิ่งเดินหน้าต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ครั้งหนึ่งเคยถูกบันทึกออกมาในรูปแบบวิดีโอให้ทุกคนได้สัมผัส และมันเคยหายไปจากสารบบและภาพจำของหลายคนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ วันนี้เมื่อหอภาพยนตร์เลือกนำมาเผยแพร่อีกครั้ง นับเป็นสัญญาณอันดีที่แสดงให้เห็นถึงการรำลึกถึงช่วงเวลาที่เราอาจไม่เคยสัมผัสมาก่อน
WATCH
2.ก่อสร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ (2473)
วิดีโอย้อนยุคที่สำคัญต่อประวัติศาสตร์ของคนทั่วโลกคือวิดีโอที่เผยเบื้องหลังการรังสรรค์ผลงานชิ้นสำคัญ ยกตัวอย่างเช่นอุตสาหกรรมแฟชั่นที่มีฟุตเทจเก่าของเหล่าผู้นำหัวก้าวหน้าที่พัฒนาเทคนิคและไอเดียเพื่อสรรสร้างผลงานชิ้นไอคอนิก สำหรับประเทศไทยที่ฟุตเทจเก่ามักเลือกนำเสนอวิถีชีวิตหรือเป็นแนวชมบรรยากาศมากกว่า ทำให้วิดีโอประเภทเบื้องหลังการทำงานไม่ได้มีเยอะ อีกทั้งยังไม่ปรากฏชัดเป็นจุดเด่นอีกด้วย วิดีโอการก่อสร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์หรือสะพานพระพุทธยอดฟ้า ซึ่งเริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2472 และวิดีโอนี้ก็แสดงให้เห็นเทคโนโลยีความก้าวหน้าของประเทศไทยในสมัยอดีตกาลได้เป็นอย่างดี
3.คนงานโรงงานทอผ้าจากสมุทรปราการและสมุทรสาครมารวมตัวกันประท้วงที่บริเวณท้องสนามหลวง 2517
อีกหนึ่งวิดีโอที่แสดงให้เห็นแนวทางความเจริญของประเทศไทยในสมัยก่อนได้เป็นอย่างดีคือวิดีโอการประท้วงของคนงานโรงงานทอผ้า แน่นอนว่าพูดถึงแฟชั่นต้องนึกถึงเหล่าผึ้งงานที่ทำงานหนักเหล่านี้ ในวันที่ 10 มิถุนายน ปี 2517 กลุ่มแรงงานจากหลายจังหวัดมารวมตัวกันประท้วง ณ ท้องสนามหลวงหลังจากไปประท้วงที่กรมแรงงานมาแล้ว พวกเขาต้องการความถูกต้องและเท่าเทียม เนื่องจากเงื่อนไขสัญญาจ้างช่วงนั้นมีการขูดรีดที่เกินพอดีและสร้างความไม่พอใจอย่างยิ่ง สะทัอนให้เห็นว่าแท้จริงแล้วคนไทยสมัยก่อนเองก็มีความตระหนักรู้เรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน อีกทั้งยังรวมพลังต่อต้านความไม่เป็นธรรม มากไปกว่านั้นยังใช้วิธีการเรียกร้องที่ดูไปดูมาช่างคล้ายกับปัญญาชนจากยุคปัจจุบันที่ออกมาเรียกร้องกันในหลายประเด็นอย่างไรอย่างนั้น
4.การถ่ายทอดสดยานอวกาศลงสู่พื้นผิวของดวงจันทร์ทางช่อง 4 ปี 2512 (ไม่มีเสียง)
เมื่อย้อนมองอดีตของประเทศไทยแล้วก็ต้องไม่พลาดศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์โลกเช่นเดียวกัน วิดีโอนี้เป็นการย้อนอดีตให้เห็นมุมมองของประเทศไทยที่คอยจับจ้องเหตุการณ์สำคัญของโลกอยู่เสมอ ในวันที่ 21 กรกฎาคม ปี 2512 คงไม่มีเหตุการณ์ไหนชวนโลกตะลึงไปได้มากกว่าการนำยานอวกาศเหยียบลงสู่พื้นดวงจันทร์ แน่นอนว่าเราอาจจะเห็นวิดีโอรูปแบบต่างๆ มากมาย แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เราจะได้เห็นเบื้องหลังการถ่ายทอดสดเหตุการณ์สำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์โลกผ่านทางช่องโทรทัศน์ของไทย ที่มีนายพิชัย วาสนาเป็นพิธีหลักร่วมกับพิธีกรไทยและต่างชาติอีกมากมาย
5.โรงแรมนรก (2500) Country Hotel (1957)
หากใครรู้สึกว่าการชมวิดีโอจากคลังเก่ามันซ้ำจำเจอยู่กับแนวสารคดี อาจจะต้องเปลี่ยนความคิด เพราะขึ้นชื่อว่า “หอภาพยนตร์” แล้วจะต้องมีสื่อบันเทิงรูปแบบภาพยนตร์มาเสิร์ฟให้ทุกท่านรับชมอย่างแน่นอน วิดีโอเด่นที่เราหยิบยกมาวันนี้คือภาพยนตร์เรื่องโรงแรมนรก ผลงานชิ้นเอกของ รัตน์ เปสตันยี ที่ได้รับคำยกย่องว่าเป็นภาพยนตร์ไทยที่ล้ำสมัยกว่าเรื่องไหนๆ ในยุคเดียวกัน ด้วยความยาวกว่า 2 ชั่วโมง 18 นาทีจะทำให้ทุกท่านได้เพลิดเพลินกับสื่อบันเทิงยุคเก่าที่สะท้อนกลิ่นอายความล้ำค่าทางวัฒนธรรมของคนไทยได้อย่างน่าสนใจ
WATCH