LIFESTYLE

เจาะลึกวัฒนธรรมการดื่มของเกาหลี กับความปกติในสังคมที่สามารถนำเสนอได้อย่างมีมิติในระดับโลก

จากเพลง APT. ที่นำเสนอเกมวงสังสรรค์ที่สนุกติดหู ย้อนกลับสู่รากฐานความปกติธรรมดาที่การดื่มไม่ใช่มลทินที่มัวหมองในสังคม

     รากฐานของวัฒนธรรมทั่วโลกต่างล้วนผสมผสานระหว่างช่วงเวลาแห่งความตึงเครียดและผ่อนคลาย พิธีอันจริงจังและการสังสรรค์ ย้อนกลับไปนับศตวรรษเครื่องดื่มหมักหรือเครื่องแอลกอฮอล์อย่างที่เราเรียกขานกันทุกวันนี้มีปรากฏขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์อย่างต่อเนื่องทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสจีน อียิปต์ เปอร์เซีย อินเดีย และอื่นๆ อีกมากมายล้วนปรากฏหลักฐานว่ามีการผลิตเครื่องดื่มเหล่านี้ทั้งสำหรับบูชา ประกอบพิธีการ และสังสรรค์ในหลากหลายชนชั้น จนถึงปัจจุบันเครื่องดื่มเหล่านี้ก็ยังมีบทบาทสำคัญในสังคมมนุษย์ เฉกเช่นเดียวกับสังคมเกาหลียุคใหม่ที่ยังคงปรากฏอย่างเด่นชัดและมีการผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่อง

     ไวน์ข้าว เบียร์ โซจู และเครื่องดื่มหลากหลายประเภทได้รับความนิยมอย่างมากในสังคมเกาหลี ประเด็นหลักสำคัญในบทความนี้มิอาจเจาะลึกไปถึงประวัติศาสตร์รากฐานของเครื่องดื่มแต่ละชนิด ทว่ามุ่งเน้นสู่วัฒนธรรมการดื่มอันแข็งแกร่งและเด่นชัดในสังคมเกาหลี ความปกติธรรมดาที่สามารถเผยแพร่ไปอย่างอิสระ หากเปรียบเทียบกับประเทศไทยมุมมองเรื่องการดื่มเป็นเหมือนขั้วตรงข้าม นอกเสียจากความธรรมดาที่เกิดขึ้นในสังคม มันยังถูกผลิตซ้ำผ่านสื่อและแผ่ขยายวัฒนธรรมไปทั่วทุกมุมโลกอย่างอิสระ

     “ส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่ไม่ได้น่ารังเกียจ” วลีนี้คงนิยามวิถีการดื่มของคนเกาหลีได้อย่างเป็นรูปธรรม สิ่งที่ทำให้การดื่มสังสรรค์หรือแม้แต่การดื่มรูปแบบต่างๆ เกิดเป็นความมัวหมองในสังคมคือ “การป้ายมลทิน” หรือ “Stigmatization” เข้าใจว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถส่งผลในทางลบได้อย่างจริงจังหากดื่มในปริมาณมากเกินไปและไม่สามารถควบคุมตนเองได้ดีพอ ทว่านับแค่ “การดื่ม” มันเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์มานานหลายพันปี มลทินของผู้ดื่มไม่ถูกสร้าง ในขณะเดียวกันวิธีการควบคุมการดื่มหรือพฤติกรรมหลังการดื่มก็เป็นเรื่องสำคัญ

IU กับการโฆษณาแบรนด์โซจูในฐานะพรีเซนเตอร์ / ภาพ: Courtesy of Chamiul

     ในสังคมอย่างเกาหลีและญี่ปุ่นขึ้นชื่อว่าเป็นสังคมดื่มหนักระดับแถวหน้าของโลก แต่ด้วยกฏระเบียบบ้านเมืองและจิตสำนึกบุคคลที่ผสมผสานรวมกันจนสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัย ผลพวงของการดื่มเองก็เป็นเรื่องที่อยู่ในระบบสังคมโดยไม่ถูกละเลยเช่นกัน ไม่ว่าคุณจะเละเทะหัวราน้ำแต่ก็ยังมีด้านปลอดภัยให้วางใจ ในขณะเดียวกันกรอบสังคมที่ผลิตซ้ำอย่างเข็มงวดว่าต้องรักษาระเบียบทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นการเมาแล้วขับและอื่นๆ ที่มีโทษหนักหนา ทำให้ “Drink Responsibly” ได้ผลอย่างเป็นประจักษ์ บทพิสูจน์นี้จึงชี้ชัดว่าวัฒนธรรมการดื่มไม่ใช่เรื่องผิด แต่เป็นเรื่องที่สามารถควบคุมและสอดประสานไปกับสภาพสังคมได้อย่างมีนัยสำคัญ

     มาดูในเชิงที่สอดคล้องกับวงการบันเทิงกันบ้าง เมื่อไลฟ์สไตล์การดื่มผ่านกระบวนการ “Normalization” มาแล้ว ความปกติธรรมดาไม่ได้ถูกห้ามเผยแพร่ ดังนั้นเราจะเห็นฉากละคร ซีรี่ส์ และภาพยนตร์ มีการนั่งดื่มสังสรรค์หรือแม้แต่ปาร์ตี้กันแบบเป็นธรรมชาติและแน่นอนว่าไม่ใช่มุมของมลทินหรือความผิดเชิงสังคม สะท้อนภาพกับกฎระเบียบและรูปแบบมุมมองของสังคมหลายคนสังคมที่อาจมองว่าการดื่มเป็นเรื่องไม่เหมาะไม่ควร พยายามปิดกั้น ฉากในผลผลิตวัฒนธรรมที่มีการดื่มจึงสื่อไปในเชิงของตัวร้าย ความหม่นหมอง และด้านมืด ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งความไม่ปกติเหล่านี้เองที่ทำให้เกิดกรอบมุมมองเหล่านี้เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่การดื่มปกติทั่วไปในสังคมก็ไม่ได้สื่อถึงเรื่องเลวร้ายเสมอไป มิหนำซ้ำยังผูกโยงกับชุดความคิดเรื่องปัญหาทางจิตใจ สถานะสังคม และฐานะด้านการเงิน ปฏิเสธไม่ได้ว่าบริบทเหล่านี้ก็มีในสังคมเกาหลี แต่มันไม่ได้ถูกถ่ายทอดผูกติดกับพฤติกรรมการดื่มจนหล่อหลอมความคิดคนในสังคม

     การนำเสนออย่างอิสระและทำให้ทุกคนรับรู้ถึงการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม หากย้อนกลับไปหลักทศวรรษ เกาหลีก็เป็นสังคมที่เข้มงวด (ปัจจุบันก็ยังเข้มงวดหลายเรื่อง) กับไอดอลเป็นอย่างมาก ศิลปิน ดารา นักแสดง และเซเลบริตี้ระดับแถวหน้าโดนตีกรอบถึงความสะอาดทางสังคม การดื่มเองก็เป็นส่วนที่ถูกจำกัดไว้ไม่น้อย ทว่าในช่วงหลังเมื่อโลกเปิดอิสระมากขึ้น เหล่าคนดังจำนวนมากก็สามารถถ่ายทอดวัฒนธรรมการดื่มทั้งในบทแสดงหรือจะเป็นการนำเสนอสินค้าอย่างตรงไปตรงมา ยกตัวอย่างเช่น ฉากดื่มสังสรรค์ในร้านปิ้งย่าง เรื่อยไปจนถึงการเป็นพรีเซนเตอร์แบรนด์โซจูของศิลปินดาราชั้นนำ ลิซ่าเองก็ร่วมงานกับ Chivas Regal มาแล้ว




WATCH




     “จะมองว่านำเสนอแต่ด้านดีก็ไม่ผิดนัก” ผู้เขียนคงจะบรรยายสรรพคุณเกินจริงหากกล่าวว่าการดื่มไม่ได้มีมุมมืดหรือด้านลบ แต่วิธีการนำเสนอภาพเหล่านี้ในสื่อนั้นเต็มไปด้วยวิถีของการสังสรรค์ที่แม้แต่คนดูยังชื่นชอบ มันรู้สึกเข้าถึง เป็นส่วนหนึ่งของคนในจอมากยิ่งขึ้น ความสนุกสนาน ตลก และอีกครั้งกับการกล่าวว่าเป็นธรรมชาติคือเสน่ห์ที่แฟนคลับหลายคนก็มองหาอยู่เช่นกัน เกมกะเล่นในวงเหล้าเคล้าความสนุกในรูปแบบที่ต่างออกไป ในอีกมุมหนึ่งการดื่มสร้างบรรยากาศความโรแมนติกก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เห็นว่ามันเป็นปกติธรรมดาเช่นเดียวกับสังคมจริงทั่วโลก

     วัฒนธรรมการดื่มสังสรรค์ของเกาหลีนำมาสู่การถ่ายทอดวัฒนธรรมที่เชื่อมประสานไปกับเคป๊อปและเคดราม่าอย่างแข็งแกร่งไม่น้อย ล่าสุดกับเพลง APT. ของ Rosé ที่ร่วมสร้างสรรค์กับ Bruno Mars ก็เป็นการนำเสนอ “เกมวงเหล้า” อย่าง Apartment ที่ได้รับความนิยม แน่นอนว่าภาพความสนุกพร้อมจังหวะดนตรีชวนให้สะท้อนภาพความคึกคักของการสังสรรค์ และนั่นก็เกิดขึ้นจริง พร้อมกับนำเสนอแง่มุมการดื่มอันเป็นปกติ หากกฎระเบียบเคร่งครัดและมุมมองทางสังคมไม่ได้มองเรื่องนี้เป็นปกติธรรมดา การสื่อสารด้วยเพลงใหม่ของโรเซ่ก็อาจไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นแล้วรากฐานการสร้างเพลงนี้อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่ไม่น้อยเหมือนกัน ประมาณว่า “ถ้าโรเซ่ไม่ใช่คนดื่มแล้วจะนำประสบการณ์มาเล่าอย่างสนุกได้อย่างไร” แต่กลับกันเมื่อมันเป็นอิสระและธรรมดา ก็จะประมาณว่า “โรเซ่สาวนักสังสรรค์ที่นำเสนอเพลงและวัฒนธรรมการดื่มได้อย่างสนุกสนาน”

ซีรี่ส์ Work Later, Drink Now กับวิธีการนำเสนอเรื่องราวผ่านวงการดื่ม / ภาพ: Prime Video

     ถ้าถามว่าความเป็นปกติของการดื่มผ่านผลผลิตบนหน้าจอจริงจังเพียงใด ก็คงตอบได้ว่าปัจจุบันเปิดกว้างและจริงจังอย่างมาก ถึงขนาดมีซีรี่ส์ “Work Later, Drink Now” ที่นำเสนอเนื้อเรื่องของ 3 สาวที่หยิบยกช่วงเวลาการดื่มเป็นการบอกเล่าเรื่องราวและปรึกษาชีวิต ซึ่งเป็นอีกมุมของวัฒนธรรมการดื่มที่ดึงดูดคนมารวมกลุ่มในการคุยหรือนำเสนอเรื่องราวอะไรสักอย่างหนึ่ง โดยซีรี่ส์ใช้แกนหลักไอเดียมาจากวัฒนธรรมการนั่งดื่มอย่างชัดเจน อย่างที่กล่าวไปว่าการดื่มมันไม่ได้มีแต่ด้านดีหรือควรจะเป็นปกติในทุกมิติเสมอไป เพราะในบางมุมก็เต็มไปด้วยปัญหาที่ทุกคนทราบกันดี แต่กระจกที่สะท้อนภาพวัฒนธรรมของเกาหลีอันนำมาสู่ฉากหน้าที่สวยงามในด้านต่างๆ ก็ต้องยอมรับว่าเกิดจากกระบวนการ “Normalization” และแทบไม่มีการ “Stigmatization” หากไม่ใช่การกระทำผิดกฎหมาย ในเมื่อชุดความคิดไม่ได้ออกมาในรูปแบบ “คนดื่ม = คนไม่ดี” มันก็พลิกภาพความเสื่อมโทรมให้อยู่ในรูปแบบรากฐานความจริงในการใช้ชีวิตของคนทั่วไป และตราบใดที่มีกรอบระเบียบที่แข็งแกร่งทั้งในเชิงกฎหมายและเชิงกฎสังคมมันก็จะเป็นเช่นนี้ต่อไป ทั้งยังพร้อมสอดแทรกไปในทุกสังคมทั่วโลกอย่างไม่มีข้อกังขา

WATCH