โฆษณา Dove #LetHerGrow
LIFESTYLE

กะเทาะแก่นโฆษณา Dove เมื่อ ‘ศักดิ์ศรีความเป็นคน’ ถูกสะท้อนผ่านประเด็นเส้นผมของเหล่าเด็กวัยเรียน

นี่คือหมุดหมายสำคัญของการพัฒนาโฆษณาแชมพู ที่ไปไกลกว่าแค่เอาดาราหน้าสวยมายืนสะบัดผม (แต่งเอฟเฟกต์) ไปมาเท่านั้น!

     ถึงวันนี้คงมีหลายคนได้คลิกเข้าไปดูโฆษณาตัวใหม่ล่าสุดของผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม DOVE แล้วเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งกำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูในโลกโซเชียลมีเดียตอนนี้ ความน่าสนใจของโฆษณาดังกล่าวไม่ได้อยู่ที่เอฟเฟกต์ทำผมสวยหวือหวา หรือการจ้างดาราสาวหน้าสวยด้วยจำนวนหลักร้อยล้านมายืนสะบัดผมให้ผู้ชมได้ดูกันเหมือนที่ผ่านมา ทว่าโฆษณาตัวนี้ก้าวผ่านเรื่องเหล่านั้นมาไกลโข ด้วยการหยิบยกเอาประเด็นคำถามที่ถูกถกเถียงอย่างกว้างขวางในสังคมไทยมานานร่วมปีจากปากของเด็กวัยเรียนอย่าง ‘การบังคับตัดผม’ ในโรงเรียน มาสร้างประเด็นเพื่อค้นหาคำตอบอีกครั้ง ผ่านคำบอกเล่าของเด็กนักเรียน, ครูอาจารย์ ไปจนถึงนักเขียนรางวัลซีไรต์ ที่เคยได้สัมผัสหรือมีประสบการณ์ร่วมกับปัญหาดังกล่าวมาแล้วทั้งสิ้น

 

     #LetHerGrow คือชื่อของโฆษณาแคมเปญชิ้นนี้ที่ถูกปล่อยออกมาครั้งแรกในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2022 ที่ผ่านมา เล่าเรื่องราวทั้งหมดผ่านคำบอกเล่าของทั้งเด็กนักเรียน, วัยรุ่นมหาวิทยาลัย กระทั่งผู้ที่เคยอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ ‘บังคับตัดผมเพื่อความเรียบร้อย’ สุดคร่ำครึนี้เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ซึ่งคำบอกเล่าของบุคคลเหล่านี้ต่างลงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า กฎการบังคับให้ตัดผม(ตลอดจนการเข้ามายุ่มย่ามบนเนื้อตัวร่างกายของเด็กนักเรียนนั้น)เป็นเรื่องที่ควรต้องตั้งคำถาม และไม่ควรถูกทำให้กลายเป็นเรื่องเคยชินอีกต่อไป

     แท้จริงแล้วประเด็นเรื่องของการบังคับตัดผมทรงนักเรียนเกรียนสามด้าน หรือการบังคับตัดผมสั้นให้เท่ากับติ่งหูในโรงเรียนรัฐบาลไทยนั้น กลายเป็นประเด็นที่ได้รับการพูดถึงอย่างน่าสนใจในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กระทั่งเกิดการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียนจากโรงเรียนรัฐบาลทั่วประเทศหลายแห่ง ที่สะท้อนให้เห็นถึงเงื้อมเงาของ ‘อำนาจนิยมในโรงเรียน’ ที่กระจายตัวฝังรากอยู่ทั่วทุกแห่งหนในประเทศน่าเศร้าแห่งนี้ อำนาจนิยมที่ต้องการจะสร้างให้นักเรียนทุกคนกลายเป็นเพียงแค่สิ่งมีชีวิตใต้บังคับบัญชา มิใช่ ‘มนุษย์’ ผ่านการกะเกณฑ์ร่างกายของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ ทั้งการวางตัว, เครื่องแบบ ไปจนถึงเส้นผมที่ต้องเป็นไปตามที่ ‘ผู้มีอำนาจ’ กำหนด โดยที่นักเรียนซึ่งเป็นเจ้าของร่างกายแท้ๆ ไม่อาจจะเลือกในสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ ถึงแม้พวกเขาเหล่านั้นจะลองเลือกในสิ่งที่ตนเองปรารถนาแม้เพียงสักครั้งเดียว เขาเหล่านั้นก็จะถูกกันออกไปให้อยู่นอกวงโคจรของการเป็น ‘เด็กเรียบร้อย’ ‘เด็กว่านอนสอนง่าย’ หรือ ‘เด็กน่ารัก’ ให้กลายเป็นพวก ‘เด็กมีปัญหา’ ‘เด็กไม่เรียบร้อย’ หรือเป็นกระทั่ง ‘เด็กที่มาโรงเรียนแต่ไม่ใฝ่เรียน’ ทั้งที่พวกเขาเหล่านั้นลุกขึ้นมาเลือกในสิ่งที่ตัวเองต้องการให้กับร่างกายของตัวเองเท่านั้น ซึ่งนั่นควรจะถือเป็น ‘การตัดสินใจขั้นพื้นฐาน’ ที่มนุษย์ทุกคนพึงมีมิใช่หรือ...

โฆษณา Dove #LetHerGrow

     ดังนั้นแล้ว เรื่องของการกล้อนผมในเขตโรงเรียนของประเทศแห่งนี้จึงไม่ได้ยึดโยงอยู่กับแค่การตัดผมปกติทั่วไป หากคือการพราก ‘ศักดิ์ศรีความเป็นคน’ ในตัวของเด็กไปพร้อมกับความยาวของเส้นผม ที่ครูฝ่ายปกครองกระหายอำนาจสักคนหนึ่งได้ตัดมันไปด้วยกรรไกรสักเล่ม ที่หวังเพียงต้องการแสดงอำนาจเผด็จการที่ตนเองได้รับไม้ต่อมาจากเบื้องบน และเก็บเอาไว้เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงเพื่อบอกเล่าให้กับผู้อำนวยการโรงเรียนฟัง เพื่อเป็นข้อต่อรองในการเลื่อนตำแหน่ง หรือการได้รับผลประโยชน์อื่นๆ ในคราวต่อไป จนลืมนึกถึงการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ไปเสียหมดสิ้น

     แม้ว่าในโฆษณาตัวนี้ของ DOVE จะกล่าวถึงแค่สถิติผู้หญิง 7 ใน 10 คน ต้องเคยเสียความมั่นใจเพราะตัดผม ทว่าในความเป็นจริงการกล้อนผมในโรงเรียนส่งผลกระทบต่อทุกเพศ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย หรือกลุ่มนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ หากมองในมุมมองของการเคลื่อนไหวของกลุ่ม LGBTQ+ แล้วนั้น กฎเกณฑ์ดังกล่าวคือการกดทับการแสดงออกตามเพศสภาพของนักเรียน และเป็นการผลิตซ้ำเพศสภาพแบบทวิภาค (Binary) ที่มีแค่เพศชาย(ผมทรงนักเรียน) และเพศหญิง(ผมทรงบ๊อบติ่งหู) เท่านั้นอีกด้วย นักเรียนชายที่ไม่ได้ต้องการมีเพศสภาพชายตามเพศกำเนิดนั้นต้องสูญเสียความมั่นใจในการถูกกล้อนผม ในทางเดียวกันนักเรียนหญิงที่ไม่ได้มีเพศสภาพตามเพศกำเนิดก็ต้องทนทุกข์กับกฎเกณฑ์ที่ไม่สามารถทำให้เธอซอยผมได้เช่นกัน และยังมีอีกมากมายที่ยังไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาพูดในสังคมไทยแบบโจ่งแจ้งเสียที



WATCH




โฆษณา Dove #LetHerGrow

     อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วผู้เขียนก็คงจะต้องขอชื่นชมและยืนปรบมือให้กับความกล้าหาญของทีมผู้อยู่เบื้องหลังโฆษณาตัวนี้ ที่ได้นึกถึงและหยิบยกเรื่องราวสำคัญของสังคมขึ้นมาพูดถึงอย่างจริงจังเป็นครั้งแรกๆ ในเมืองไทย ซึ่งผู้เขียนเองมองว่านี่อาจเป็นหมุดหมายสำคัญในการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดอีกครั้งของวงการโฆษณาไทย และโฆษณาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมที่มีความหมายมากกว่าแค่ ‘ความสวยงาม’ ภายนอกเท่านั้น อีกทั้งยังเป็นการสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้คนในสังคมเกี่ยวกับประเด็น ‘My Body, My Choice’ ซึ่งขาดแคลนเหลือเกินในสังคมนี้

ข้อมูล : Youtube: Dovethailand

WATCH