Elizabeth Taylor as Cleopatra 1963
LIFESTYLE

'Cleopatra 1963' หนังสไตล์จัดจ้านในตำนาน ที่เปลี่ยนภาพจำของคลีโอพัตราบนหน้าประวัติศาสตร์ไปตลอดกาล

อาจกล่าวได้ว่า ภาพยนตร์เรื่อง 'Cleopatra' ในปี 1963 นั้นคือชนวนที่ทำให้นักประวัติศาสตร์หลายคนลุกขึ้นมาท้าทายและค้นหาความจริงว่า 'คลีโอพัตราเป็นคนสวยจริงหรือไม่' ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

     ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าภาพยนตร์ขึ้นหิ้งในช่วงทศวรรษ 1960s นอกจาก Breakfast at Tiffany’s ที่โด่งดังเป็นพลุแตกทั้งการแสดงของ Audrey Hepburn และแฟชั่นที่โลดแล่นอยู่ในตัวภาพยนตร์แล้วนั้น ยังมีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์อีกหนึ่งเรื่อง Cleopatra ในปี 1963 ซึ่งนำแสดงโดยนักแสดงแห่งยุคอย่าง Elizabeth Taylor ที่ถูกพูดถึงอย่างอื้ออึงทั้งในอุตสาหกรรมบันเทิงภาพยนตร์และอุตสาหกรรมแฟชั่นระดับโลก อีกทั้งโปรดักชั่นที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ยิ่งส่งเสริมให้ภาพยนตร์ดราม่าอิงประวัติศาสตร์อย่าง Cleopatra กลายเป็นภาพยนตร์ขึ้นหิ้งมาจนถึงปัจจุบัน

     หนึ่งในความโดดเด่นที่สุดที่ผู้ชมทุกคนที่มีโอกาสได้สัมผัสกับภาพยนตร์เรื่องนี้ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันก็คือ 'คอสตูม' ที่จัดเต็มไม่แพ้ภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ในยุคนั้น (อาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ) โดยความอลังการทั้งหมดที่ทุกคนได้เห็นในภาพยนตร์เรื่องนี้ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือการสร้างสรรค์ของ Renie Conley, Vittorio Nino Novarese และ Irene Sharaff ทั้งสิ้น ซึ่งหนึ่งในชุดที่สำคัญที่สุดในเรื่องนี้ที่ยังคงถูกกล่าวขานในวงการฮอลลีวู้ดมาจนถึงปัจจุบันก็เห็นจะหนีไม่พ้น ชุดคลุมทองคำ ของตัวละครคลีโอพัตราที่ 7 ฟิโลพาเธอร์ ที่ถูกสวมใส่โดยนักแสดงดาวค้างฟ้า เอลิซาเบธ เทย์เลอร์ ในวัย 31 ปี สะท้อนถึงความเรืองอำนาจของราชินีชื่อดังที่สุดอีกคนหนึ่งบนหน้าประวัติศาสตร์อียิปต์และประวัติศาสตร์โลกได้อย่างไร้ที่ติ



WATCH




Elizabeth Taylor as Cleopatra 1963

     ชุดดังกล่าวได้กลายเป็นชุดไอคอนิกบนโลกภาพยนตร์ ไม่ใช่เพียงเพราะรายละเอียดสุดอลังการเท่านั้น หากชุดดังกล่าวยังถูกสวมใส่ในฉากยิ่งใหญ่สุดสำคัญของเรื่อง เมื่อตัวละครคลีโอพัตราต้องการสร้างความประทับใจตั้งแต่แรกเห็นให้กับชาวกรุงโรม ครั้งเมื่อพระนางเดินทางไปถึง เธอจึงตัดสินใจสวมชุดที่แสดงถึงพลังและอำนาจอันเรืองรองของเธอ ประทับบนขบวนรถม้าขนาดขนาดมหึมาที่ประดับประดาด้วยรูปปั้นสฟิงซ์ เพื่อสะท้อนความยิ่งใหญ่ของอียิปต์ และสร้างความตกตะลึงให้กับทุกคนเมื่อแรกพบ ไม่เว้นแม้แต่ตัวละคร มาร์ก แอนโทนี ที่ก็หลงใหลในชุดนั้นของเธอด้วยเช่นกัน

     คอสตูมเสื้อคลุมตัวนั้นนอกจากจะดึงดูดตัวละครแล้ว ยังทำให้ผู้ชมตกอยู่ในภวังค์ได้ไม่ยาก กับผ้าคลุมศีรษะประติมากรรมประดับด้วยงูที่ล้อมรอบดวงอาทิตย์ ส่วนชุดคลุมสีทองอร่ามสวยสะกดก็ชวนให้นึกถึงนกฟีนิกซ์ นกในตำนานที่มีพลังในการฟื้นคืนชีพ และเป็นสัญลักษณ์ของความทะเยอทะยานของตัวละครคลีโอพัตรา โดยเสื้อคลุมดังกล่าวสร้างสรรค์ขึ้นจากทองคำรวมกว่า 24 กะรัต ตัดแต่งเป็นแถบหนังสีทองบางๆ ตกแต่งด้วยลูกปัดหลายพันเม็ดตามแนวเส้นวาดเป็นปีกนก ชุดกระโปรงด้านในประดับด้วยขนนก ขับเน้นให้เห็นถึงความเรืองรองของราชินีองค์สุดท้ายของอียิปต์อย่างชัดเจน

Cleopatra 1963

     นอกจากคอสตูมที่จัดเต็มแล้วก็เห็นจะมีการแต่งหน้าของตัวละครคลีโอพัตราในภาพยนตร์เรื่องนี้ที่จัดเต็มและถูกพูดถึงไม่แพ้กัน กระทั่งที่ ‘ความงาม’ ของคลีโอพัตราที่ถูกสร้างขึ้นมาในภาพยนตร์เรื่องนี้ ยังกลายเป็นเหมือนชนวนสำคัญในการถกเถียงของเหล่านักประวัตศาสตร์ระดับโลกถึงตัวตน รูปลักษณ์ และความงามที่แท้จริง ของคลีโอพัตราที่อยู่บนหน้าประวัติศาสตร์ว่าสวยแค่ไหนและสวยทัดเทียมกับที่ภาพยนตร์สัญชาติอเมริกันเรื่องนี้ได้สร้างขึ้นหรือไม่

Cleopatra in History

     อ้างอิงจากงานเขียนของนักประวัติศาสตร์ชาวโรมัน Cassius Dio ที่ได้รับการเขียนขึ้นหลังการตายของคลีโอพัตรากว่า 200 ปี ได้กล่าวเอาไว้ความว่า "พระนางคลีโอพัตราเป็นหญิงที่งามเกินกว่าความงามใดๆ แค่ได้มองเห็นก็ถือเป็นบุญตาแล้ว” ในขณะที่ Plutarch นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกที่ได้เขียนเล่าถึงรูปลักษณ์ของพระนางคลีโอพัตราก่อนคาสซิอุสเป็นร้อยๆ ปี กลับเขียนถึงพระนางคลีโอพัตราแตกต่างกันออกไปว่า “ความงามของคลีโอพัตรา ใช่ว่าจะหาผู้ใดเปรียบมิได้ หรือทำให้ผู้ใดตื่นตะลึงได้เพียงแค่เห็นหน้าเธอ” ซึ่งนับว่าเป็นหลักฐานที่มีความขัดแย้งกันอยู่พอสมควร หรือแม้แต่ภาพสลักของคลีโอพัตราที่ปรากฏอยู่บนเหรียญกษาปณ์ต่างๆ ก็ล้วนแล้วแต่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นตามอคติในช่วงเวลา บ้างก็ดูเป็นเช่นผู้หญิงสามัญทั่วไป บ้างก็ดูสวยงามตามบรรทัดฐานความงามของยุคสมัยนั้น หรือกระทั่งที่ภาพสลักของพระนางคลีโอพัตราที่ถูกสร้างสรรค์ให้มีลักษณะคล้ายผู้ชาย เพื่อสื่อถึงอำนาจของพระนางในเวลานั้น จึงไม่อาจตัดสินได้อย่างชัดเจนว่า คลีโอพัตรามีหน้าตาจริงๆ เป็นเช่นไร

     แม้ว่าในเวลานี้ในแวดวงประวัติศาสตร์จะยังไม่สามารถตัดสินได้ว่า คลีโอพัตราที่ 7 ฟิโลพาเธอร์ ตัวจริงที่ปรากฏอยู่บนหน้าประวัติศาสตร์อียิปต์นั้นมีรูปลักษณ์เป็นเช่นดั่งที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้เขียนเอาไว้หรือไม่ ทว่าสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ภาพยนตร์เรื่อง Cleopatra โดยฝีมือของ Joseph L. Mankiewicz ในปี 1963 นั้นได้สร้างความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ให้แก่มวลมนุษยชาติ นั่นคือการสร้างภาพจำของบุคคลทางประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ และเป็นหนึ่งในชนวนสำคัญที่ทำให้นักประวัติศาสตร์ทั่วโลกย้อนกลับไปมองและพิจารณาตำราประวัติศาสตร์กันอีกครั้ง จึงนับได้ว่าเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จมากทีเดียวในทุกมิติ

ข้อมูล : Vogue France, SILPA-MAG.com และ WIKIPEDIA-Cleopatra

WATCH