Pederasty in Call Me By Your Name movie
LIFESTYLE

ชวนดู ‘Call Me By Your Name’ อีกครั้ง! ผ่านเลนส์จารีตกรีกโบราณของความสัมพันธ์แบบชายรักชาย

เดินทางกลับไปถอดรหัสเรื่องราวความรักของ เอลิโอ และโอลิเวอร์ อีกครั้ง กับนัยยะที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังเส้นเรื่องและตอนจบที่ไม่สมหวังเช่นนั้น

     คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่า ภาพยนตร์เรื่อง Call Me By Your Name คือหนึ่งในภาพยนตร์ขึ้นหิ้งแนว Coming of Age ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของ LGBTQ+ได้อย่างละเมียดละไมและน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นองค์ประกอบการสร้างสรรค์อย่าง คอสตูมดีไซน์ ที่ได้รับการยกย่องว่าสวยงามพอดีและยังคงรักษากลิ่นอายความเป็นอิตาเลียนเอาไว้ได้อย่างสมบูรณ์พร้อม โดยเฉพาะเรื่องของการแมตช์เฉดสีที่คนแฟชั่นต่างพูดถึงกัน หรือจะเป็นเรื่องขององค์ประกอบมุมกล้อง เซ็ตติ้ง และไอเท็มเล็กๆ น้อยๆ ที่ปรากฏอยู่ตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งถูกคัดสรรมาไว้โดยการไตร่ตรองแล้วล่วงหน้าอย่างดี แม้แต่บทภาพยนตร์ที่ถอดมาจากบทประพันธ์ของ André Aciman ก็นับว่าให้เกียรติ และคงเส้นเรื่องหลักเอาไว้ได้อย่างครบถ้วน

     ทั้งหมดที่กล่าวไปนั้นคือเสียงชื่นชมและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่หลายคนคงเคยได้อ่านกันมาก่อนหน้านี้แล้วเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งวันนี้โว้กอยากจะพาทุกคนย้อนกลับไปทำความรู้จักกับภาพยนตร์น้ำดีเรื่องนี้อีกครั้งในมุมมองที่หลายคนอาจมองข้ามไป ให้ทุกคนได้ย้อนกลับไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้กันอีกครั้ง

Pederasty History

     ย้อนกลับไปกว่า 600 ปีก่อนคริสต์ศักราช ในสังคมกรีกโบราณมีความสัมพันธ์แบบหนึ่งที่เหล่านักประวัติศาสตร์ต่างรู้จักกันเป็นอย่างดีนั่นคือ ‘Pederasty’ ซึ่งมีความหมายถึง วัฒนธรรมการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายอาวุโสกับเด็กหนุ่มนอกครอบครัว ที่ในเวลานั้นมีแนวคิดที่ว่าเพศชายนั้นเป็นเพศที่สวยงาม การมีเพศสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศจึงไม่ถือเป็นเรื่องผิดหรือเป็นเรื่องนอกรีตแต่อย่างใด เพราะในฝั่งของกรีกมีความเชื่อว่าความเป็นชายนั้นต้องส่งผ่านสัญลักษณ์ของเพศชายนั่นคืออวัยวะเพศและน้ำกามของเพศชาย (ในลักษณะความสัมพันธ์แบบครูกับลูกศิษย์) โดยมีเด็กหนุ่มอยู่ในสถานะของผู้รองรับ และเมื่อก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ หรือแต่งงานสร้างครอบครัวก็จะเลิกบทบาทเช่นนั้น

Call Me By Your Name

     เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนที่เคยดูภาพยนตร์เรื่อง Call Me By Your Name ก็คงจะเห็นแล้วว่าเส้นเรื่องของภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวนั้นมีบางอย่างที่ทาบทับอยู่กับจารีตส่งต่อความเป็นชายในวัฒนธรรมกรีกโบราณ เมื่อตัวละคร เอลิโอ (ซึ่งสวมบทบาทโดย Timothee Chalamet) เด็กหนุ่มวัย 17 ปี ได้พบกับตัวละครชายหนุ่ม โอลิเวอร์ (ซึ่รับบทโดย Armie Hammer) จนกระทั่งทั้งคู่ได้ตกหลุมรักกันในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น และต้องจากกันในตอนสุดท้าย ซึ่งหากใครได้อ่านตอนต่อไปในนิยายเรื่อง Find Me ก็จะพบว่าตัวละครลิเวอร์นั้นเดินทางกลับไปเพื่อสร้างครอบครัวของตัวเอง นั่นเองจึงอาจอนุมานได้ว่าความสัมพันธ์ของตัวละครคู่นี้ในภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องราวที่อาจได้แรงบันดาลใจมาจากความสัมพันธ์แบบ Pederasty ก็เป็นได้ ไม่เพียงแค่เส้นเรื่องเท่านั้น หากเมื่อสังเกตให้ดี จะพบว่าในตอนเปิดเรื่อง หรือช่วงตลอดทั้งเรื่อง ผู้ชมจะได้เห็นประติมากรรมกรีกโบราณแบบเฮเลนนิสติกมาสอดแทรกเอาไว้ คล้ายกับว่าเป็นการแฝงนัยยะสำคัญว่าเรื่องราวระหว่างสองตัวละครนี้อ้างอิงมาจากจารีตกรีกโบราณโดยแท้

     ทั้งหมดนั้นคืออีกมุมหนึ่งของนัยยะที่แฝงอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ และโว้กประเทศไทยอยากจะชวนให้คุณกลับไปดูภาพยนตร์น้ำดีเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง

     (สามารถตามไปอ่านเรื่องราวอื่นๆ ของภาพยนตร์ขึ้นหิ้งเรื่อง Call Me By Your Name ได้ที่ https://www.vogue.co.th/lifestyle/article/peach-scene-cmbyn)



WATCH




ข้อมูล : Wikipedia-Pederasty, Wikipedia-Call Me By Your Name และ Monsterarcheologist

WATCH

คีย์เวิร์ด: #CallMeByYourName #Greek #LGBTQ #PrideMonth