LIFESTYLE
'อ้วนก็ว่า ผอมก็ว่า'...ทำไมคนไทยยังคอยยุ่งเรื่องรูปร่างคนอื่น ทั้งที่เจ้าของร่างกายก็มีความสุขดี!ตั้งแต่นางงามพลัสไซซ์ขึ้นประกวดบนเวที แล้วโดนโจมตีให้ไปลดความอ้วน จนถึงดาราที่ฟิตหุ่นจนผอมเฟิร์ม ก็ยังโดนไล่ให้ไปหาข้าวกิน ทำไมเรายังต้องไปยุ่งกับชีวิตและร่างกายของคนอื่นอยู่ร่ำไปด้วย! |
ใครก็ตามที่กดเข้ามาอ่านคอนเทนต์นี้ก็คงจะรู้จากหัวข้อที่ชัดเจนแล้วว่า ผู้เขียนกำลังจะชวนผู้อ่านโว้กประเทศไทยทุกคนคุยกันเรื่องอะไร...
ในช่วงปีที่ผ่านมานี้ กระแสตื่นรู้เกี่ยวกับประเด็น Body Shaming ในประเทศไทยนั้นถูกพูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์อย่างเข้มข้น และเป็นวงกว้างมากขึ้น หนึ่งในผลพวงสำคัญที่ต้องยกเครดิตให้เห็นจะหนีไม่พ้นการจุดประเด็นโดยเวทีการประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ประจำปี 2021 กับแคมเปญดังอย่าง #RealSizeBeauty ของ แอน-แอนชิลี สก๊อตต์ เคมมิส แคมเปญดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูตลอดการประกวดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่บ้างก็ว่าไม่เหมาะสมที่จะนำแนวความคิดดังกล่าวขึ้นมารณรงค์บนเวทีประกวดนางงามเวทีที่ขึ้นชื่อว่า ‘ต้องแข่งขันกันที่ความงาม’ บ้างก็ว่าความคิดเรื่องความไม่เหมาะสมของแคมเปญกับเวทีประกวดน่ะ ‘เชยบรม’ เพราะยุคนี้การประกวดนางงามไปไกลกว่าแค่รูปลักษณ์ภายนอก หากคือการค้นหาตัวตนและแง่งามของผู้เข้าประกวด ในฐานะของมนุษย์คนหนึ่งที่จะสามารถเป็นแรงบันดาลใจต่อไปให้กับใครอีกหลายคนได้
แม้ว่าการรณรงค์แคมเปญดังกล่าวจะประสบความสำเร็จในแง่ของการประชาสัมพันธ์และการรับรู้ของผู้คน หากเมื่อมองย้อนกลับมาบนโลกโซเชียลมีเดียของประเทศนี้ เรากลับพบว่าหลายโพสต์ของเจ้าของแคมเปญหรือแม้แต่โพสต์ของเวทีการประกวดเอง ก็ยังคงมีคอมเมนต์เชิงเหยียดรูปร่างและด่าทอสารพัดให้เราเห็นอยู่เสมอๆ ไม่ว่าจะด้วยความผิดหวังที่โอเวอร์เกินไปจากการชวดมงที่สาม หรืออะไรก็ตาม หลายร้อยคอมเมนต์เหล่านั้นคือหลักฐานชั้นดีที่ยืนยันว่า สุดท้ายสังคมไทยก็ยังจมปลักอยู่กับอะไรเดิมๆ วันยันค่ำ
ในกรณีของประเด็น Body Shaming นั้น ในสังคมไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจอย่างมาก เพราะหลายคนยังคงเข้าใจว่า การเหยียดรูปร่างคือการด่าทอเหยียดหยามเพียงแค่คนอ้วน หรือคนตัวใหญ่เท่านั้น ทว่าในความเป็นจริง...นั่นถูกเพียงแค่ครึ่งเดียว
เมื่อไม่นานมานี้เราได้เห็นประเด็นของนักแสดงสาว ‘ใหม่-ดาวิกา โฮร์เน่’ ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้งบนโลกออนไลน์ หลังจากที่มีแฟนคลับหลายคนที่ติดตามดาราสาวผ่านทางโซเชียลมีเดีย ได้แสดงความเป็นห่วงอย่างรุนแรงให้กับเธอ เกี่ยวกับรูปร่างที่หลายคนมองว่าผอมเกินไป กระทั่งเลยเถิดไปเกินกว่าที่บุคคลสาธารณะที่จะต้องใช้หน้าตาทำมาหากินควรโดนโจมตี ถึงขั้นที่บางคอมเมนต์โพสต์ความคิดเห็นหยาบคายเกี่ยวกับอวัยวะส่วนอื่นๆ หรือไล่เธอให้ไปกินข้าว ซึ่งเมื่อพิจารณาให้ดีแล้วจะรู้ว่า ทั้งหมดนี้เองคือการเหยียดรูปร่าง และสร้างประเด็น Body Shaming ไม่ต่างจากที่หลายคนวิจารณ์รูปร่างคนพลัสไซส์แม้แต่นิดเดียว หรือแม้แต่ล่าสุดที่ใหม่ได้เดินทางไปเข้าร่วมชมโชว์แบรนด์ MONOT ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และสวมใส่ชุดกระโปรงสีขาว ตัดเย็บในดีไซน์สุดเซ็กซี่ ก็กลายเป็นที่พูดถึงและมีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับรูปร่างผอมของเธอขึ้นมาอีกครั้ง
(ตามไปอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘Skinny Shaming’ จากกรณีของ ‘ใหม่-ดาวิกา’ ต่อได้ที่ https://www.vogue.co.th/lifestyle/article/body-shaming-issue-davikah-horne)
WATCH
แล้วเมื่อไหร่กันเล่าที่คนไทยจะหยุดยุ่งเกี่ยวกับรูปลักษณ์และรูปร่างของผู้อื่นเสียที ทั้งที่เจ้าของร่างกายก็ดูมีความสุขดีกับชีวิตของเขา...
หนึ่งในข้อสังเกตน่าสนใจที่ฝังรากลึกมานานในจารีตไทยคือ การทักทาย ที่ไม่ใช่เพียงการสวัสดี และยกมือไหว้เท่านั้น หากชุดคำถามเทือกๆ ว่า ‘อ้วนขึ้นหรือเปล่า’ , ‘ดูซูบไปนะ’, ‘ไปทำอะไรมา ทำไมถึงดำขึ้นแบบนี้’ และอีกมากมาย จะตามออกมาเป็นกระพรวนโดยอัตโนมัติ ราวกับถูกตั้งค่าเอาไว้เมื่อเกิดในสังคมนี้ นั่นแหละ...คือหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้สังคมนี้ ประเทศนี้ ไม่สามารถหยุดยุ่งกับเรื่องราวและรูปร่างของคนอื่นๆได้ง่ายๆ จริงอยู่ที่ชุดคำถามทั้งหมดนั้นเป็นไปด้วยความห่วงใย แต่ในความห่วงใยที่อ้างนั้น ก็นำมาซึ่งการรุกรานพื้นที่ส่วนตัวและร่างกายของผู้อื่นเช่นกัน และถ้าผู้เขียนเข้าใจไม่ผิด เราก็ดูเหมือนจะเป็นประเทศส่วนน้อยบนโลกใบนี้ ที่ทักทายกันด้วยประโยคที่ยุ่มย่ามร่างกายคนอื่น ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าขันและน่าขบคิดเหมือนกัน
ไม่เพียงแค่ข้อสังเกตนั้น แต่ประเด็นการยอมรับความหลากหลายในสังคมก็ดูเชื่อมโยงโดยตรงด้วยเช่นเดียวกัน ในสังคมที่ยังพยายามหวงแหน สถาปนา และเว้นพื้นที่เอาไว้ให้กับ ‘บรรทัดฐานความงามเก่า’ ที่ต้องมีเพียงหนึ่งเดียวเอาไว้อย่างเหนียวแน่นเช่นนี้ ก็นับเป็นเรื่องที่แสนยากเย็นที่จะทำความเข้าใจความหลากหลาย ซึ่งนับเป็นเรื่องน่าเศร้าเหลือเกิน
อย่างไรก็ตาม ความน่าชื่นใจ (แม้เพียงสักนิด) อย่างหนึ่งที่ผู้เขียนสังเกตเห็นในสังคมไทยก็คือ การตระหนักรู้ถึงประเด็นการเหยียดรูปร่างที่กว้างขวาง ละเอียดอ่อน และรอบด้านมากยิ่งขึ้น ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในไม่ช้านี้ เราคงจะไม่ได้เห็นคอมเมนต์ประเภทที่ว่า ‘ยัยช้างน้ำ’,‘นังโอ่งมังกร’, ‘ไม้เสียบผี’ หรือกระทั่ง ‘ไม่มีเงินกินข้าวหรอ’ อีกต่อไป
WATCH