LIFESTYLE

'บอคเซีย' กีฬาไฮไลต์ประจำพาราลิมปิกที่สะท้อนความสุดยอดของเหล่านักสู้จากทั่วทุกมุมโลก

แม้พวกเขาจะต้องเผชิญกับความบกพร่องด้านร่างกายขั้นรุนแรง แต่กีฬาบอคเซียคือช่องทางในการแสดงความอัจฉริยะด้านเกมกีฬาอย่างแท้จริง

     ในมหกรรมกีฬาพาราลิมปิกทุกครั้งจะมีกีฬาหลากหลายชนิดที่คนทั่วไปอาจไม่คุ้นเคยนัก เพราะแต่ละกีฬาต้องออกแบบมาเพื่อสอดรับกับข้อจำกัดด้านร่างกายของผู้เข้าแข่งขัน หลายกีฬาใช้การแบ่งประเภทตามร่างกาย หลายกีฬาใช้กติกาเดียวกันแตกต่างกันตรงอุปกรณ์เสริมของนักกีฬาเอง แต่ก็มีกีฬาบางประเภทที่ไม่มีบรรจุในโอลิมปิกแต่ถือเป็นไฮไลต์ของกีฬาพาราลิมปิกเลยก็ว่าได้ หนึ่งในนั้นคือ “บอคเซีย” กีฬาวัดความแม่นยำที่เปิดโอกาสให้เหล่านักกีฬาได้ประชันฝีมือกันโดยมีข้อจำกัดด้านร่างกายที่น้อยที่สุด

การแข่งขันกีฬาบอคเซียในพาราลิมปิก 2008 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน / ภาพ: Educalingo

     กีฬาชนิดนี้ถูกคิดค้นเพื่อเป็นกีฬาสำหรับผู้พิการทางสมอง มีระบบและอุปกรณ์การเล่นที่เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อนจนเกินไป อีกทั้งยังสามารถตอบโจทย์ด้านการแข่งขันได้อย่างยุติกรรมคล้ายกีฬาเปตอง ซึ่งเป็นกีฬายุคโบราณที่ต้องใช้อุปกรณ์น้ำหนักมากเช่นหิน ลูกเหล็ก และสิ่งต่างๆ มากมายที่สามารถหาเล่นได้ แต่บอคเซียนั้นถูกพัฒนาให้อุปกรณ์มีน้ำหนักเบาและเสถียรมากขึ้นเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เล่น โดยจุดประสงค์หลักของการพัฒนาก็เพื่อสร้างสรรค์กีฬาให้กับผู้มีความบกพร่องด้านสมองรวมถึงผู้มีทักษะการเคลื่อนไหวร่างกายผิดปกติ จากความตั้งใจและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทำให้บอคเซียกลายเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว

การแข่งขันกีฬาบอคเซียประเภทบุคคลครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์พาราลิมปิกเมื่อปี 1988 ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ / ภาพ: Paralympics

     ในปี 1984 กีฬาบอคเซียได้กับการบรรจุเข้าสู่การแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกเป็นครั้งแรก กติกาคล้ายกีฬาเปตองคือจะมีลูกหนังสีขาวเป็นเหมือนเป้าหมาย ฝ่ายไหนสามารถทอยลูกให้ใกล้จุดขาวมากที่สุดจะได้แต้มไป โดยการแข่งขันจะรวมคะแนนทั้งหมด 4 รอบสำหรับประเภทคู่และประเภทเดี่ยว ส่วนประเภททีมจะแข่งขันทั้งหมด 6 รอบ (นักกีฬามีบอลรอบละ 6 ลูก) ด้วยรูปแบบการแข่งขันที่กำหนดอย่างชัดเจน ตัดสินทั้งหมดจากสิ่งที่เป็นรูปธรรมมากๆ ทำให้กีฬาที่พัฒนามาจากการละเล่นโบราณชนิดนี้ถือเป็นกีฬาที่มีมาตรฐานสูงที่สุดกีฬาหนึ่งของพาราลิมปิก



WATCH




การแข่งขันกีฬาบอคเซียประเภท BC3 ในโอลิมปิก 2020 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่แสดงถึงข้อจำกัดด้านร่างกาย โดยนักกีฬาจะใช้รางปล่อยลูกหนังแทนการทอยจากมือหรือเท้า / ภาพ: ABC

     ความยอดเยี่ยมของกีฬาบอคเซียคือการเป็นกีฬาที่เปิดโอกาสให้ผู้มีความบกพร่องทางร่างกายขั้นรุนแรงได้สัมผัสกับบรรยากาศเกมกีฬาอย่างแท้จริง คำว่า “กีฬา” หลายคนมักนึกถึงการใช้ร่างกายเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายของการแข่งขันแต่ละประเภท ดังนั้นถ้าตัดสินคำว่ากีฬาจากการใช้ร่างกายผู้มีความบกพร่องหลายประเภทเหมือนถูกกีดกันออกจากการเล่นกีฬาไปโดยปริยาย ดังนั้นกีฬาบอคเซียจึงถือว่าเปิดโอกาสให้กับคนกลุ่มนี้ได้พัฒนาทักษะและลงแข่งขันในรูปแบบเกมกีฬาไม่ต่างจากนักกีฬาทั่วไปเลยแม้แต่น้อย ความเข้มข้นของเกมการแข่งขันรวมถึงบรรยากาศของเกมกีฬายังคงปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน

นักกีฬาบอคเซียประเภท BC1 ทีมชาติมาเลเซียผู้คว้าเหรียญทองในโอลิมปิก 2020 ไปครอง / ภาพ: MalaysiaNow

     การแบ่งคลาสหรือประเภทการแข่งขันของกีฬาบอคเซียก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนี่คือหัวใจหลักในการสร้างระบบที่ยุติธรรมที่สุดสำหรับทุกคน โดยกีฬานี้จะออกได้ทั้งหมด 4 คลาสคือ BC1-BC4 ไล่เรียงตั้งแต่ BC1 คือผู้ที่สามารถใช้แขนขาทอยลูกหนังได้เองแต่ต้องอาศัยผู้ช่วยเพื่อปรับเก้าอี้และตำแหน่งในการทอย BC2 คือผู้ที่สามารถโยนลูกบอลด้วยมือโดยไม่ต้องมีผู้ช่วย BC3 คือผู้เล่นที่ไม่สามารถทอยลูกหนังเองได้ ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือสำคัญอย่างรางปล่อยลูกเป็นต้น และ BC4 คือผู้เล่นที่มีข้อจำกัดด้านร่างกายค่อนข้างมากทั้งเรื่องการขยับร่างกายรวมถึงการปล่อยบอลแต่ยังสามารถทำการแข่งขันได้โดยไม่ต้องใช้ผู้ช่วย ซึ่งแต่ละประเภทจะมีเทคนิคการเล่นที่ค่อนข้างแตกต่างกัน เนื่องจากข้อจำกัดด้านร่างกาย

พรโชค ลาภเย็น นักกีฬาบอคเซียประเภท BC4 ผู้คว้าเหรียญเงินให้ทัพนักกีฬาไทย / ภาพ: SMMSPORT

     กีฬานี้เปิดกว้างให้ทุกคนอย่างแท้จริง เพราะไม่ว่าเพศไหนหรือมีข้อจำกัดมากเพียงใดก็สามารถทำการแข่งขันได้ทั้งหมด ร่างกายไม่ใช่อุปสรรคของการเล่นกีฬาอีกต่อไป ทัพนักกีฬาไทยเองก็ถือว่าเป็นชาติที่โดดเด่นเรื่องกีฬาบอคเซียในระดับโลกไม่น้อย เพราะการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกแต่ละครั้งนักกีฬาไทยก็สามารถคว้าเหรียญรางวัลติดมือมาได้เสมอ ในพาราลิมปิก 2020 นักกีฬาหลายคนก็ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม สามารถทะลุเข้ารอบก่อนรองชนะเลิศกันแบบยกชุด อีกทั้ง พรโชค ลาภเย็น และวัชรพล วงษา ยังคว้าเหรียญเงินให้กับทีมชาติไทยมาแล้วในประเภทบุคคลคลาส BC4 และ BC2 ตามลำดับ

วัชรพล วงษา อีกหนึ่งนักกีฬาบอคเซียทีมชาติไทยที่คว้าเหรียญเงินในพาราลิมปิก 2020 ได้สำเร็จ / ภาพ: Siamsport

     “ทำไมร่างกายถึงต้องเป็นอุปสรรคในเกมกีฬาเมื่อไม่จำเป็นต้องนิยามแบบนั้น” บอคเซียเป็นตัวอย่างที่ดีมากในการสร้างแรงผลักดันให้คนตั้งคำถามกับเรื่องนี้มากขึ้น เพราะกีฬาปาลูกดอก หมากรุก และอีกหลายต่อประเภทกีฬา รวมถึงอีสปอร์ตมักถูกมองว่าไม่ใช่กีฬาโดยสมบูรณ์เพราะไม่ได้ใช้ร่างกายประกอบการแข่งขันมากเท่าไรนัก ทว่าเมื่อมองอย่างละเอียดจะเห็นว่ากีฬาแต่ละประเภทล้วนต้องใช้ทักษะเฉพาะเพื่อพัฒนาให้เป็นเลิศในด้านต่างๆ บอคเซียเองก็มีโจทย์หลักคือความแม่นยำและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเมื่อทำการแข่งขัน ไหวพริบถือเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้เรื่องกายภาพ ดังนั้นเหล่านักกีฬาบอคเซียจึงพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่ว่ากีฬาใดๆ ก็ไม่ควรถูกด้อยค่า และร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกีฬาบางประเภทเท่านั้น พวกเขาไม่ได้ต่อสู้เพื่อความยิ่งใหญ่ เหรียญรางวัล หรือแม้แต่เอาชนะขีดจำกัดตัวเองเพียงอย่างเดียว เหล่านักทอยลูกหนังยังกำลังสร้างความตระหนักรู้ให้คนทั่วได้เข้าใจแก่นแท้ของเกมกีฬาอย่างแท้จริง

WATCH

คีย์เวิร์ด: #Olympic #Tokyo2020 #Paralympic