LIFESTYLE

เรื่องราวเบื้องหลัง Once Upon a Time in Shaolin อัลบั้มลึกลับของ Wu-Tang Clan ที่แพงที่สุดในโลก

นี่คืออัลบั้มสุดลึกลับที่ผู้ชนะการประมูลถึงแม้จะมีสิทธิ์ได้ครอบครอง แต่เขาก็ไม่สามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ รวมถึงการเผยแพร่สู่สาธารณะจนกว่าจะถึงปี 2103

     ยิ่งเทคโนโลยีพัฒนาก้าวหน้า ทำให้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้นเท่าไร กระแสการหวนคืนสู่อดีต ย้อนความทรงจำครั้งวันวานกลับยิ่งมาแรงขึ้นเท่านั้นราวกับเป็นเส้นขนาน โดยเฉพาะในเรื่องของเสียงเพลง

     ตั้งแต่ยุคแผ่นเสียง ซีดี คาสเซ็ตเทป ใครที่เคยผ่านประสบการณ์มาน่าจะจดจำความรู้สึกของการเดินเข้าร้านเพลงกลับบ้านเอาแผ่นไปเปิดกับเครื่องและนั่งตั้งใจฟังทีละเพลง พลิกหน้าปกอ่านเนื้อเพลง เครดิตผู้แต่ง ไปจนจบครบอัลบั้ม หากเปรียบกับการรับประทานอาหารก็คงเป็นการชิมทีละคำอย่างละเมียด ค่อยๆ ลิ้มรสชาติอย่างพิถีพิถัน เป็นบรรยากาศที่เรียบง่ายแต่เปี่ยมสุนทรีย์ 

     เสน่ห์เหล่านี้ทำให้แผ่นเสียงคืนชีพอีกครั้ง ก่อนจะขยายตัวสู่วงกว้างอย่างรวดเร็ว สินค้าที่เคยถูกมองว่าตกยุคไปแล้วกลับมีราคาพุ่งขึ้นสูง บางแผ่นก็เป็นของหายากที่เหล่านักสะสมต้องออกตามหา และไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าแผ่นเสียงที่ราคาแพงที่สุดในโลกมีมูลค่าสูงถึงด้วยราคา 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 60 ล้านบาท  มันคือ Once Upon a Time in Shaolin สตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 7 ของ Wu-Tang Clan

     Wu-Tang Clan คือกลุ่มศิลปินฮิปฮอประดับตำนานจาก Staten Island, New York ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1992 สมาชิกประกอบด้วย Masta Killa, U-God, Raekwon, Ghostface Killah, GZA, Method Man, Inspectah Deck และ Ol 'Dirty Bastard พวกเขาคือศิลปินที่ได้รับคำชื่นชมว่าเป็นหนึ่งในนักประดิษฐ์คำศัพท์ที่สร้างสรรค์ที่สุด ผสมผสานศัพท์แสงบนท้องถนนเข้ากับศิลปะได้อย่างงดงาม แม้กระทั่ง Drake และ Kanye West 2 ศิลปินฮิปฮอปแห่งยุคนี้ก็ยังชื่นชม Wu-Tang Clan อย่างมาก

     Wu-Tang Clan สร้างสรรค์ผลงานเพลงออกมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงปลายทศวรรษ 2000 หลังจากที่พวกเขาปล่อยสตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 6 ออกไปแล้ว RZA หัวหอกคนสำคัญแห่ง Wu-Tang Clan ก็มีความคิดที่ว่าคุณค่าของดนตรีถูกลดคุณค่าลงจากการสตรีมมิงและการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ เขาจึงหวังที่จะคืนคุณค่าของดนตรีให้กลายเป็นศิลปะอีกครั้ง

     ด้วยเหตุนี้ Once Upon a Time in Shaolin อัลบั้มที่ 7 ของ Wu-Tang Clan จึงมาในคอนเซปต์ที่แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง นั่นคือการทำก๊อปปี้ออกมาเพียงแค่ชุดเดียวเท่านั้น และจะเปิดประมูลให้ผู้ชนะได้ไปครอบครอง

     “เรากำลังจะนำเสนอผลงานศิลปะที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อนในประวัติศาสตร์ดนตรี เรากำลังสร้างไอเท็มสำหรับนักสะสมแบบขายครั้งเดียว เปรียบเหมือนคนถือคทาของกษัตริย์อียิปต์” RZA บอกกับ Forbes

     นอกจากนั้นผู้ชนะการประมูลถึงแม้จะมีสิทธิ์ได้ครอบครอง แต่เขาก็ไม่สามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ รวมถึงการเผยแพร่สู่สาธารณะจนกว่าจะถึงปี 2103 ซึ่งถึงแม้แฟนๆ ของ Wu-Tang Clan จะไม่พอใจอย่างมากเมื่อได้ยินเช่นนี้ เพราะนอกจากพวกเขาจะไม่สามารถฟังอัลบั้มใหม่ของศิลปินคนโปรดได้แล้ว ยังมีโอกาสสูงที่มันจะตกไปอยู่ในมือคนรวยที่เห็นเป็นแค่ของเล่น อย่างไรก็ตาม Wu-Tang Clan ก็ยังคงยืนยันแนวทางนี้และเดินหน้าต่อไป

     ใช้เวลานานกว่า 6 ปีกว่า Once Upon a Time in Shaolin จะเสร็จสมบูรณ์ เนื่องจากมีแทร็กกว่า 31 แทร็ก การบันทึกเสียงส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเมืองมาร์ราคิช ประเทศโมร็อกโก 



WATCH




     ครั้งเดียวที่ Wu-Tang Clan นำอัลบั้มนี้มาแสดงเกิดขึ้นในปี 2015 เป็นงานชุมนุมเล็กๆ ของกลุ่มนักสะสมงานศิลปะ ผู้ค้า และนักวิจารณ์ประมาณ 150 คนในควีนส์ นิวยอร์ก แน่นอนว่าไม่มีการบันทึกภาพและเสียงเผยแพร่สู่ภายนอกอย่างเด็ดขาด

     “มีชั้นเชิง และเต็มไปด้วยเสียงที่ไพเราะ เสียงที่หนักแน่นและหนักแน่นชวนให้นึกถึงอัลบั้ม Wu-Tang Clan ยุคแรกๆ” หนึ่งในผู้ร่วมงานวันนั้นเผยกับ Complex

     นับตั้งแต่วันที่บันทึกเสียงเสร็จสิ้น แผ่นเสียงที่บันทึกอัลบั้ม Once Upon a Time in Shaolin ก็ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีในห้องนิรภัยโรงแรม Royal Mansour ประเทศโมร็อกโก จนกระทั่งถึงวันประมูล

     Wu-Tang Clan ได้ว่าจ้าง Paddle8 บริษัทสตาร์ทอัพด้านการประมูลออนไลน์ซึ่งก่อนหน้านี้เคยขายผลงานของศิลปินอย่าง Jeff Koons, Julian Schnabel, Damien Hirst มาแล้ว 

Martin Shkreli ผู้ประมูลไปในราคา 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อนที่จะถูกจับกุมตัวในภายหลัง

 

     ในตอนแรกมีการคาดการณ์ว่า Quentin Tarantino ผู้กำกับชื่อดังแห่งฮอลลีวูดซึ่งมีความสัมพันธ์เหนียวแน่นกับกลุ่ม Wu-Tang Clan อาจจะเป็นผู้ชนะในงานประมูล อย่างไรก็ตามเมื่อการประมูลสิ้นสุดลงในวันที่ 3 พฤษภาคม 2015 ปรากฏว่า Martin Shkreli ชื่อที่ไม่คุ้นหูเท่าไรนักสำหรับอุตสาหกรรมดนตรีคือผู้ชนะ โดยเขาได้ทุ่มเงินกว่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเป็นเจ้าของอัลบั้ม Once Upon a Time in Shaolin

     Martin Shkreli คือจัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ของอเมริกา และผู้จัดการบริษัทยา Turing Pharmaceuticals โดยชีวิตในวัยเด็กเขาเติบโตมาในครอบครัวผู้อพยพชาวแอลเบเนีย ย่าน Sheepshead Bay, New York แต่ด้วยความเฉลียวฉลาดที่โดดเด่นกว่าเพื่อนร่วมชั้นเรียนทุกคน ทำให้ Shkreli สามารถดิ้นรนหนีจากความยากจนได้สำเร็จ

     นอกจากนั้น Shkreli ยังคลั่งไคล้ดนตรีร็อกมาตั้งแต่เด็ก ก่อนที่จะเริ่มหลงใหลฮิปฮอปเมื่อเขาอ่านกวี William Shakespeare ในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย

     “William Shakespeare ตั้งใจจะปลุกเร้าจิตวิญญาณของคุณ และในหลาย ๆ ด้านดนตรีก็ทำเช่นนั้น” Shkreli กล่าว

     หลังจากเซ็นเช็คมูลค่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ Shkreli ก็ได้อัลบั้ม Once Upon a Time in Shaolin มาครอบครองในรูปแบบแผ่นเสียงที่เก็บไว้เป็นอย่างดีในกล่องกล่องที่หุ้มด้วยอัญมณีสีเงินพร้อมตราประทับของ Wu-Tang Clan ส่วน Guinness Book of Records ก็ออกมารับรองว่า Once Upon a Time in Shaolin เป็นอัลบั้มที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกอย่างเป็นทางการ

     “จากสิ่งที่ผมได้ฟัง มันดีกว่าอัลบั้มที่แล้วของพวกเขาแน่นอน แม้ว่าผมจะไม่บอกว่ามันคุ้มค่าถึง 2 ล้านเหรียญ แต่มันก็ยอดเยี่ยม” คำวิจารณ์ของ Shkreli หลังจากได้ฟัง Once Upon a Time in Shaolin

     หลังจากนั้นในปี 2016 Martin Shkreli ก็ประกาศว่าจะปล่อยอัลบั้ม Once Upon a Time in Shaolin ให้ทุกคนได้ฟังอย่างสาธารณะ หาก Donald Trump เป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

     และก็อย่างที่ทุกคนทราบว่า Donald Trump ชนะการเลือกตั้งจริงๆ แต่การจะปล่อยอัลบั้มสู่สาธารณะนั้นผิดข้อกำหนดในการประมูลอย่างร้ายแรง สุดท้ายเมื่อ Shkreli และ Wu-Tang Clan ได้พูดคุยกันก็ได้ข้อตกลงว่า Shkreli จะสตรีมออนไลน์และเปิดบางแทร็กของ Once Upon a Time in Shaolin คลอเบาๆ ไปด้วย

     ความวายป่วงของอัลบั้ม Once Upon a Time in Shaolin ยังไม่จบเพียงเท่านี้เพราะในปี 2017 Martin Shkreli นำอัลบั้มมาเปิดประมูลใน eBay แน่นอนว่าสร้างความไม่พอใจแก่กลุ่ม Wu-Tang Clan เป็นอย่างมาก 

     “ผมไม่ชอบความคิดที่เขาจะนำไปประมูลบน eBay ผมคิดว่าเขาน่าจะได้มากกว่าที่จ่ายไปแน่นอน เพราะภายใน 8 วันยอดประมูลสูงถึง 1 ล้านแล้ว และมันจะสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างแน่นอน” RZA กล่าว

     อย่างไรก็ตามการประมูลบน eBay ยังไม่ทันเสร็จสิ้น ปรากฏว่า Martin Shkreli กลับถูกจับกุมตัวเสียก่อนในข้อหาฉ้อโกง ด้วยเหตุนี้การประมูลครั้งนี้จึงกลายเป็นโมฆะ และในเดือนมีนาคม 2018 Shkreli ก็ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดจริง ต้องโทษจำคุก 7 ปี รวมถึงยึดทรัพย์สินของเขามูลค่า 7.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อนำมาใช้หนี้ แน่นอนว่าอัลบั้ม Once Upon a Time in Shaolin ก็รวมอยู่ในบัญชีทรัพย์สินดังกล่าวด้วย

     สำนักงานอัยการสหรัฐฯ ประจำเขตตะวันออกของนิวยอร์กได้นำอัลบั้ม Once Upon a Time in Shaolin เข้าสู่การขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ค่าเสียหายที่ Martin Shkreli ได้ก่อเอาไว้ อัลบั้มดังกล่าวได้ถูกขายให้กับผู้ซื้อที่ไม่เปิดเผยข้อมูลในราคาที่ไม่เปิดเผย

     “มีข้อกำหนดการรักษาความลับที่ปกป้องข้อมูลเกี่ยวกับผู้ซื้อและราคา การขายทอดตลาดของอัลบั้ม Once Upon a Time in Shaolin สิ้นสุดลงแล้วอย่างเป็นทางการ รวมถึงการจ่ายค่าเสียหายของ Martin Shkreli ด้วย” Jacquelyn M. Kasulis รักษาการอัยการสหรัฐฯ ประจำเขตตะวันออก นิวยอร์กกล่าวในแถลงการณ์

     จากแถลงการณ์นี้ทำให้คาดการณ์ได้ว่า Once Upon a Time in Shaolin น่าจะถูกขายออกไปในราคาที่สูงพอสมควร และไม่ว่าเจ้าของใหม่จะเป็นใคร หลังจากความวายป่วงอันยาวนานในที่สุดอัลบั้มนี้ก็ได้พักผ่อนอย่างที่มันควรจะเป็นเสียที

ข้อมูล : New York Daily News

WATCH