LIFESTYLE
Battle of the Sexes ศึกเทนนิสครั้งประวัติศาสตร์ที่มีการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศเป็นเดิมพันนี่คืออีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมทางเพศในวงการกีฬา ที่โลกต้องจารึก |
ถึงแม้จะผ่านช่วงเวลาที่เธอโลดแล่นในฐานะนักเทนนิสอาชีพมาเกือบครึ่งศตวรรษแล้ว ทว่า Billie Jean King ยังคงเป็นหนึ่งในนักเทนนิสหญิงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อย่างไร้ข้อกังขา ด้วยคว้าการแชมป์รายการระดับแกรนด์สแลมรวมกันได้มากถึง 39 ครั้ง โดยแบ่งเป็นประเภทเดี่ยว 12 ครั้ง ประเภทคู่ 16 ครั้ง และคู่ผสม 11 ครั้ง โดยเฉพาะการแข่งขันบนคอร์ทหญ้าแห่งวิมเบิลดันที่เรียกได้ว่าเธอเป็น King สมชื่อ เพราะคว้าแชมป์ในทุกประเภทการแข่งขันได้มากถึง 20 รายการ
ซึ่งถึงแม้ Billie Jean King จะประสบความสำเร็จแค่ไหน มีเงินทองมากมายเท่าไร สิ่งเหล่านี้ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงปณิธานแรกของเธอในการเริ่มเล่นเทนนิสไปแม้แต่น้อย
“ฉันสัญญากับตัวเองว่า ฉันจะดำรงไว้ซึ่งความเสมอภาคของทุกชีวิตตลอดชีวิตที่เหลือของฉัน ไม่ใช่แค่ผู้หญิง แต่หมายถึงทุกคน ดังนั้นฉันจึงจำเป็นต้องเป็นนักเทนนิสมือ 1 ของโลก อย่างน้อยก็จะได้มีคนยอมฟังสิ่งที่ฉันพูด” ปณิธานอันแรงกล้าของ Billie Jean King ที่ต้องการใช้เทนนิสเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ
การที่ Billie Jean King มีแนวคิดเช่นนี้ก็เพราะนับตั้งแต่วัยเด็ก ที่ถึงแม้เธอจะไม่ได้เกิดมาในครอบครัวที่ยากจน แต่สายตาเธอก็มองเห็นความไม่เท่าเทียมของสังคมมาตั้งแต่จำความได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสีผิว เพศ และฐานะ เรื่องราวเหล่านี้ฝังอยู่ในใจเธอมาตลอด และเธอก็ระลึกอยู่เสมอว่าที่เธอมีโอกาสได้เล่นเทนนิสก็เป็นเพียงเพราะความโชคดีที่เกิดมาในครอบครัวที่มีต้นทุนที่ดี ซึ่งในสังคมยังมีคนอีกมากมายที่ไม่มีโอกาสเช่นเธอ
“ตอนอายุ 13 ฉันไปตีเทนนิสที่ Los Angeles Tennis Club และที่นั่นฉันก็ได้เห็นทุกคนมีผิวสีขาว สวมเสื้อผ้าสีขาว สวมรองเท้าสีขาว สวมถุงเท้าสีขาว”
“ในตอนแรกมันก็ดูสวยงามเป็นระเบียบดี แต่สักพักฉันก็เริ่มตั้งคำถามว่าแล้วคนอื่น ๆ อยู่ที่ไหน หมายถึงคนสีผิวอื่นหรือคนที่ดูแตกต่างออกไป ฉันในฐานะเด็กผู้หญิงซึ่งเป็นพลเมืองชั้นสอง แต่ฉันก็รู้ดีว่าอย่างน้อยฉันก็ผิวขาว ฉันมีอภิสิทธิ์มากมายที่เหนือกว่าคนผิวสีอื่น ๆ” Billie Jean King กล่าวย้อนความหลัง
Bobby Riggs อดีตนักเทนนิสมือหนึ่งของโลก และเคยคว้าแชมป์การแข่งขันระดับแกรนด์สแลมมาแล้วทั้งหมด 4 ครั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ดังนั้นเมื่อเธอประสบความสำเร็จ กลายเป็นนักเทนนิสมือหนึ่งของโลกดังหวัง เธอก็ไม่รอช้าที่จะใช้เสียงของตัวเองที่ดังกว่าคนอื่นๆ เรียกร้องความเท่าเทียมออกมาทันที
“มันไม่มีเหตุผลเลยที่ผู้หญิงจะได้รับเงินรางวัลน้อยกว่า” Billie Jean King กล่าวออกมาหลังจากที่เธอได้รับเงินรางวัลเพียงแค่ 750 ปอนด์สำหรับตำแหน่งแชมป์ประเภทหญิงเดี่ยวศึกวิมเบิลดัน ในขณะที่ Rod Laver แชมป์ประเภทชายเดี่ยวในปีเดียวกันกลับได้รับมากถึง 2,000 ปอนด์
เมื่อได้เริ่มต้นปลุกกระแสขึ้นมาในสังคม คิง ก็ไม่รอช้าที่จะเดินต่อในแนวทางอย่างแน่วแน่ โดยหลังจากนั้นในปี 1970 ณ รายการ Pacific Southwest Tennis ซึ่งมีนโยบายในการมอบเงินรางวัลให้กับผู้หญิงเพียงแค่ 15% ของผู้ชาย ทั้ง ๆ ที่ยอดจำหน่ายตั๋วในการแข่งขันของทั้งสองประเภทนั้นมีจำนวนเท่า ๆ กัน
WATCH
เมื่อ Billie Jean King เห็น ถึงความไม่ยุติธรรมดังกล่าว เธอ ก็บุกเข้าไปถึงห้องทำงานส่วนตัวของ แจ็ค Jack Kramer ผู้จัดการแข่งขันเพื่อเรียกร้องให้เพิ่มเงินรางวัลให้กับผู้หญิง และเมื่อได้รับคำตอบเป็นการปฏิเสธ เธอ ก็ตัดสินใจถอนตัวจากการแข่งขันเพื่อประท้วงในเชิงสัญลักษณ์ทันที
“Billie Jean King เป็นคนมองการณ์ไกลและเห็นถึงภาพรวม เธอรู้ว่าสิ่งที่เธอกำลังทำจะมีความหมายอย่างมากต่อนักกีฬาหญิงในอนาคต"
“เธอได้ต่อสู้เพื่อความเสมอภาค และเพื่อการเปลี่ยนแปลงในวัฒนธรรมเทนนิสที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน” Eric Gent ผู้บรรยายกีฬาชื่อดังในยุค 60-70s แสดงความคิดเห็น
แน่นอนว่าการที่ Billie Jean King ส่งเสียงเรียกร้องเช่นนี้ย่อมทั้งฝ่ายที่ชื่นชม และฝ่ายที่ไม่พอใจ โดยเฉพาะในทศวรรษ 60-70 ที่แนวคิดอนุรักษ์นิยมชายเป็นใหญ่ยังคงฟื่องฟูในสังคม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เธอจะโดนตอบโต้กลับอย่างรุนแรงบ่อยครั้ง ซึ่งคนที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับเธอที่สุดมีชื่อว่า Bobby Riggs
Bobby Riggs คืออดีตนักเทนนิสมือหนึ่งของโลก และเคยคว้าแชมป์การแข่งขันระดับแกรนด์สแลมมาแล้วทั้งหมด 4 ครั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังนั้นเมื่อกาลเวลาล่วงเข้าสู่ยุค 70s Riggs ก็อายุขึ้นเลข 5 แล้ว เรียกได้ว่าเป็นวัยกลางคนตอนปลายที่กำลังกลายเป็นวัยชรา
Riggs มาพร้อมกับความคิดแบบอนุรักษ์นิยมที่ค่อนข้างสุดโต่ง เขาเชื่ออย่างสุดหัวใจว่าผู้ชายคือเพศที่แข็งแกร่งกว่า และควรจะเป็นผู้นำในสังคม ดังนั้นสิ่งที่ Billie Jean King ทำ จึงค่อนข้างขัดหูขัดตาเขาอย่างมาก
Riggs พยายามหลายครั้งในการเชิญให้ Billie Jean King มาแข่งกับเขาตัวต่อตัวบนคอร์ทเทนนิส เพื่อแสดงให้เห็นว่าต่อให้เขาจะอายุเยอะขนาดนี้ เขาก็ยังสามารถเอาชนะผู้หญิงอันดับหนึ่งของโลกได้อย่างสบาย ๆ แต่ คิง ก็ไม่เคยตอบรับคำท้าดังกล่าว
เมื่อ คิง ไม่สนใจ ริคส์ ก็เปลี่ยนเป้าหมายไปท้า Margaret Court อดีตนักเทนนิสหญิงมือวางอันดับ 1 ของโลก ที่ในตอนนั้นเธออยู่ในวัย 30 ปีแล้ว ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ช่วงที่ดีที่สุดในอาชีพ แต่ต้องไม่ลืมว่า Court คือนักเทนนิสผู้สร้างตำนาน คว้าแชมป์แกรนด์สแลมรวมกันทุกประเภทได้มากถึง 64 ครั้ง มากกว่าทุกคนในประวัติศาสตร์
คอร์ท ตอบรับคำท้าของ Riggs โดยการแข่งขันจะมีขึ้นในวันที่ 13 พฤษภาคม ปี 1973 ทุกฝ่ายต่างจับตามองว่าการแข่งขันจะออกมาเป็นเช่นไร ระหว่างผู้หญิงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เทนนิส กับอดีตแชมป์แกรนด์สแลมชายในวัย 55 ปี
แต่ปรากฏว่าการแข่งขันครั้งนี้กลับช็อคคนทั่วโลก เพราะมันห่างไกลกับคำว่าสูสีอย่างสิ้นเชิง เมื่อ Riggs เป็นฝ่ายเอาชนะไปได้อย่างท่วมท้น 2 เซตรวด (6-1, 6-2) โดยผู้คนต่างเรียกขานการแข่งขันครั้งนี้ว่า "Mother's Day Massacre" หรือ "การสังหารโหดวันแม่" (เนื่องจากวันแข่งขันตรงกับวันอาทิตย์ที่สองของเดือนพฤษภาคม วันแม่ของประเทศสหรัฐอเมริกานั่นเอง)
“ผมจะบอกให้ว่าทำไมผมถึงชนะ ผมชนะเพราะอีกฝ่ายเป็นผู้หญิง ผู้หญิงคือเพศที่ไม่มีความมั่นคงทางอารมณ์ ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ นั่นแหละเหตุผล”
"ตอนนี้ผมต้องการเจอกับ Billie Jean King ที่สุด ผมจะแข่งกับเธอบนคอร์ทไหนก็ได้ที่เธอถนัด จะคอร์ทหญ้า คอร์ทดิน คอร์ทปูน ก็ว่ามาเลย ผมจะแสดงให้เห็นว่าทำไมความต่างระหว่างเพศถึงต้องดำรงอยู่ต่อไป" Riggsให้สัมภาษณ์สื่อหลังการสังหารหมู่วันแม่
ไม่ต้องสงสัยว่า Billie Jean King จะรู้สึกอย่างไรเมื่อได้ฟังบทสัมภาษณ์ดังกล่าว คำพูดของ Riggs ไม่ต่างอะไรจากการราดน้ำมันลงบนกองไฟ ทำให้ท้ายที่สุด คิง ก็ตัดสินใจตอบรับคำท้าทายของ Riggs โดยมีข้อแม้ว่าการแข่งขันครั้งนี้ผู้ชนะจะต้องได้เงินรางวัล 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และต้องมีการถ่ายทอดสดให้ผู้ชมทั่วโลกได้ดู
เมื่อข้อตกลงลงตัว ศึกการแข่งขันครั้งประวัติศาสตร์ที่ผู้คนต่างเรียกขานมันว่า "Battle of the Sexes" ก็ได้เกิดขึ้นในวันที่ 20 กันยายน ปี 1973 ณ Houston Astrodome ท่ามกลางสักขีพยานในสนามกว่า 30,000 คน และผู้ชมหน้าโทรทัศน์ทั่วโลกกว่าอีก 90 ล้านคน
คิง เตรียมตัวสำหรับการแข่งขันครั้งนี้มาเป็นอย่างดี โดยเธอใช้กลยุทธ์ตีโยกไปมาจากตำแหน่งเบสไลน์ เพื่อทำให้ Riggs ในวัย 55 ที่พละกำลังคือจุดอ่อนเคลื่อนที่ให้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งจากผลลัพธ์ที่ออกมาก็ถือว่าได้ผล เพราะยิ่งเล่นไป Riggs ก็ยิ่งดูอ่อนแรง ความเร็วตกลงอย่างเห็นได้ชัด ก่อนที่สุดท้าย Billie Jean King ก็เป็นฝ่ายเอาชนะไปได้ 3 เซตรวด ด้วยสกอร์ 6-4, 6-3, 6-3
"ใจฉันเต้นแรง ตาของฉันชื้น หูของฉันรู้สึกเหมือนกำลังกระดิก แต่มันคือความรู้สึกที่ก็สงบดีเหมือนกัน รวมกับฉันกำลังสำเร็จความใคร่เลยล่ะ" Billie Jean King กล่าวถึงความรู้สึกในตอนแข่งขัน
ถึงแม้สกอร์จะไม่ท่วมท้นเท่าการสังหารโหดวันแม่ แต่ Billie Jean King ก็พิสูจน์ให้โลกได้เห็นแล้วว่า ผู้หญิงก็เป็นเพศที่แข็งแกร่งเช่นกัน
“ผมประเมินคุณต่ำไปจริง ๆ”ประโยคแรกที่ Riggs พูด กับ คิง หลังการแข่งขันสิ้นสุดลง
ถึงแม้ชัยชนะของ Billie Jean King จะไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในทันที ความไม่เท่าเทียมทางเพศยังคงมีอยู่ให้เห็น แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันคือจุดเริ่มต้นของการต่อสู้เรียกร้อง
ในปี 1973 ยูเอส โอเพ่น คือรายการแกรนด์สแลมแรกที่มอบเงินรางวัลผู้ชายกับผู้หญิงในจำนวนเท่ากัน ก่อนที่หลังจากนั้นแกรนด์สแลมอื่น ๆ จะค่อย ๆ เดินรอยตาม และในปีเดียวกันนี้ Billie Jean King ก็ยังคงเดินหน้าต่อไปด้วยการก่อตั้ง Women's Tennis Association หรือ WTA สมาคมเทนนิสสำหรับผู้หญิง
จนกระทั่งปัจจุบัน ถึงแม้ความไม่เท่าเทียมทางเพศในวงการเทนนิสจะดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนอย่างมาก ทว่าก็ยังไม่สามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากว่าทุกคนเท่าเทียมกันแล้วจริงๆ ดั่งเช่นประโยคสั้นๆ ที่ Billie Jean King ให้สัมภาษณ์เอาไว้ในงานเปิดตัวภาพยนตร์เรื่อง Battle of the Sexes ในปี 2017 ว่า
“ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะก้าวขึ้นมาเพื่อสิทธิของตัวเอง การต่อสู้ยังไม่จบลง เรายังคงต้องต่อสู้กันต่อไป”
WATCH