เมื่อนางงามจับไมค์...'ทักษะการพูด' ที่เปลี่ยนนางงามม้ามืด ให้กลายเป็นนางงามตัวเต็งช่วงข้ามคืน!
หลายคน 'เกิด' และ 'ดับ' เพราะไมค์ในการประกวดรอบนี้
เป็นที่ทราบกันดีว่าการประกวดนางงามในปัจจุบัน ไม่เพียงวัดกันที่ความงามจากภาพยนอกเท่านั้น หากทักษะการพูดต่อหน้าสาธรณชนในฐานะของ “Spokeperson” ก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นเทียบเคียงมากับความงามก็ไม่ปาน และครั้งนี้ผู้เขียนก็มีโอกาสได้นั่งดูไลฟ์การประกวดจากเวทีมิสยูนิเวิร์สในรอบออดิชั่น 100 คน ซึ่งแตกต่าง และน่าตื่นเต้นกว่าปีก่อนๆ ด้วยรอบการกล่าวสุนทรพจน์ ที่เหล่าสาวงามจะต้องถูกคัดเลือกด้วยการที่กองประกวดสุ่มให้คีย์เวิร์ดมาหนึ่งคำ แล้วผู้เข้าประกวดจะร่ายบทพูดอะไรเกี่ยวกับคำๆ นั้นก็ได้ ที่เมื่อคิดดูให้ดีแล้วด่านนี้มีความยากหินอยู่ไม่น้อย เพราะการแข่งขันเช่นนี้ไม่ได้วัดแค่ไหวพริบ และความเร็วเท่านั้น หากยังเป็นการวัดองค์ความรู้ของนางงามว่า “มีความรู้รอบตัว” มากหรือน้อยแค่ไหนอีกด้วย และแน่นอนว่าในครั้งนี้มีทั้งคนที่ “แจ้งเกิด” และ “ตายไมค์” (อย่างที่แฟนนางงามเขาเรียกกัน) ให้เราได้เห็นอย่างชัดเจน...
Zozibini Tunzi นางงามจักรวาลปี 2019 ผู้พิสูจน์ตัวเองด้วยทักษะการพูดบนเวทีมิสยูนิเวิร์ส
ผู้เขียนเชื่อว่า หากใครลองนึกสนุกเทียมเอาตัวเองเป็นผู้เข้าแข่งขันแล้วสนุกตามกับเกมดังกล่าว หลายคนก็คงจะได้ทบทวนทักษะของตัวเองอยู่ไม่น้อย ซึ่งสำหรับผู้เขียนแล้วพบว่า "เราไม่ใช่คนที่รู้ไปเสียทุกเรื่อง" บางคีย์เวิร์ดก็ไม่สามารถปั้นแต่งเรื่องราวได้เลยแม้แต่น้อย กระทั่งสะท้อนใจว่ายังต้องศึกษาหาความรู้อีกเยอะ หรือกระทั่งบางคีย์เวิร์ดเราก็คิดไม่เหมือนกับนางงาม จนเราหงุดหงิด และกะเกณฑ์ไปเองว่า "ทำไมไม่ตอบแบบนี้ แบบนั้น" ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นชัดเจนอีกว่า "คำๆ เดียวกัน" แต่เราต่างมีความคิด และเรื่องราวเบื้องหลังของคำๆ นั้นที่ต่างกันออกไป ด้วยประสบการณ์ชีวิตที่ถูกเลี้ยงดู บ่มเพาะ และแวดล้อมมาแตกต่างกัน ซึ่งคำตอบของเหล่านางงามก็ไม่ผิด หรือแม้แต่ตัวเราเองที่เป็นผู้ชมทางบ้านก็คงไม่ผิด เพียงแต่เป็นมุมมองที่หลากหลายที่เกิดขึ้นเป็นนิจอยู่แล้วในสังคมก็เท่านั้น
มากไปกว่านั้น บทเรียนอีกประการที่ผู้เขียนสัมผัสได้หลังจากที่รับชมไลฟ์ดังกล่าวแล้วก็คือ ผู้เขียนตระหนักได้ในทันทีว่า ยุคสมัยนี้ “ทักษะการพูด” นับเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งไม่แพ้ทักษะด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะในวงการใดก็ตาม เพราะอย่างที่เห็นกันในการประกวดนางงามครั้งนี้แล้วว่า "นางงามม้ามืด" หลายคน กลายเป็น "ตัวเต็ง" ขึ้นมาทันที...
ทักษะการพูด มิได้สำคัญแค่ในมิติของการนำไปสู่ภาวะการเป็นผู้นำในสังคมเท่านั้น เพราะหากพิจารณาให้ลึกลงไปแล้วนั้นจะพบว่า การพูดตอบคำถามในครั้งนี้ของนางงามทั้ง 100 คน มิใช่การพูด ออกเสียง หรือเปล่งเสียง ตามความหมายพื้นฐานแบบ “การพูด” ทั่วไป หากการพูดของพวกเธอคือการแสดงจุดยืนในตัวตน คือการเอาจุดยืนของตัวเองออกมาแบให้คนทั้งประเทศเห็น และชื่นชม คือการแสดงความชัดเจนในความคิด และจุดยืนของมนุษย์คนหนึ่งในสังคมที่ควรจะเป็น ดังที่บอกไว้แล้วว่า คำตอบของพวกเธอต้องอาศัยประสบการณ์ชีวิต และองค์ความรู้ที่หลอมรวมกันจนกลายเป็นทัศนคติ และจุดยืน ที่ท้ายที่สุดแล้วมันจึงจะรวมเป็นมวลสารหนักแน่น และถูกถ่ายทอดออกมาเป็นคำตอบผ่านการพูดในที่สุด กระนั้นคนที่ไร้จุดยืน และความคิดที่มั่นคง ก็จะไม่สามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างหนักแน่น และต้องยอมจำนนต่อความพ่ายแพ้ในที่สุด นั่นคือมาตรวัด “จุดยืน” นางงามในปีนี้ที่ยากหินไม่น้อย และนี่เองที่กลายเป็นแก่นสำคัญในการใช้ตัดสินนางงามยุคใหม่
WATCH
โฉมหน้าผู้ประกวดทั้ง 5 คนที่ได้รางวัลพิเศษ Golden Tiara ในปีนี้ พร้อมผ่านเข้ารอบ 30 คนทันที
ดังนั้นคนที่มีจุดยืนชัดเจน มีทัศนคติเข้มข้น และมั่นคงจึงแจ้งเกิดไปตามๆ กันในรอบนี้... ไม่เพียงเท่านั้นเพราะการตอบคำถามของเหล่าผู้เข้าประกวดในรอบนี้ยังกลายเป็นกระบอกเสียงให้กับหลากหลายประเด็นในสังคมที่กำลังถูกเพิกเฉย หรือมองข้าม ดังนั้นการออกเสียงในครั้งนี้จึงเป็นมากกว่าการแสดงออกถึง “ภาวะการเป็นผู้นำ", “การแสดงจุดยืน” หรือ “การตีแผ่ตัวตน” หากยังเป็น “การออกเสียงเพื่อผู้อื่น” ที่มิใช่การพูดเพื่อตัวเอง หรือตอบคำถามเท่านั้น ซึ่งยังนับเป็นบทเรียนสำคัญอย่างมากในสังคมไทยตอนนี้
สุดท้ายนี้ถ้าผู้เขียนจะสามารถบอกอะไรกับผู้อ่านที่ตามอ่านมาจนถึงตรงนี้ได้สักอย่างสองอย่างเกี่ยวกับการพูด ผู้เขียนก็คงจะต้องขอทิ้งท้ายเอาไว้ตรงนี้ว่า “จงอย่ากลัว และกล้าที่จะพูดถึงจุดยืนที่ถูกต้อง อย่างที่พวกเธอทำ เพราะเสียงของจุดยืนที่ถูกต้องจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ในที่สุด”
Be a voice, not an echo...
ตามไปชมบรรยากาศการออดิชั่นของเหล่าสาวงามในรอบ 100 คนได้แล้วที่นี่...
ข้อมูล : Miss Universe Thailand
WATCH