LIFESTYLE

'ASIAN IS COMING' พลังแห่งชาวเอเชียที่เปล่งประกายในวงการบันเทิงระดับโลก

ในอดีตเราอาจหลีกหนีไม่ได้ที่จะถูกตัดสินหรือเปรียบเทียบจาก 'ความต่าง' แต่ตอนนี้อคติต่อความต่างเหล่านั้นกำลังจะหมดไป และกลายเป็นพื้นที่ของการเปิดกว้างอย่างไร้อคติของทุกคน...

     นับเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ของผู้กำกับชาวไทยอีกครั้งในเวทีภาพยนตร์ระดับโลกสำหรับ “เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” ที่สามารถคว้ารางวัล The Jury Prize จากผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่อง ‘Memoria’ ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ปี 2021 ซึ่งก่อนหน้านี้เขาเคยได้รับรางวัลเกียรติยศสูงสุดจากเทศกาลภาพยนตร์ในรางวัล “ปาล์มทองคำ” กับผลงานเรื่อง “ลุงบุญมีระลึกชาติ” มาแล้ว

     เจ้ย - อภิชาติพงศ์ คือหนึ่งในบุคลากรน้ำดีจากฝั่งเอเชียที่มีผลงานโดดเด่นและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เมื่ออุตสาหกรรมบันเทิงระดับโลกเริ่มเปิดพื้นที่ให้กับชาวเอเชียได้แสดงความสามารถอย่างเช่นทุกวันนี้ แต่ก็มีชาวเอเชียไม่น้อยที่ต้องฝ่าฟัน และผ่านด่านหินมากมายก่อนจะได้รับการยอมรับในฮอลลีวู้ด ซึ่งแม้ในยุคก่อนจะไม่ได้เปิดกว้างเท่าไรนัก แต่พวกเขาก็สามารถจารึกชื่อไว้ได้สำเร็จ

Sessue Hayakawa นักแสดงชายชาวญี่ปุ่นคนแรกในวงการฮอลลีวู้ด

 

     จุดเริ่มต้นของชาวเอเชียในแวดวงบันเทิงโลกน่าจะย้อนไปถึงในยุคหนังเงียบ ที่เปิดประตูต้อนรับ “เซสสุ ฮายากาวะ” (Sessue Hayakawa) หนุ่มรูปงามชาวญี่ปุ่นเข้ามาเป็นนักแสดงหลักในภาพยนตร์เรื่อง The Cheat ในปี 1915 และได้รับความนิยมอย่างสูง แต่มันก็ไม่ใช่สิ่งที่เขาภูมิใจนักเพราะบทบาทที่เขาได้รับคือบทชายหนุ่มญี่ปุ่นที่มีท่าทีเงียบขรึม แต่แฝงด้วยรสนิยมทางเพศที่ออกจะวิตถาร ซึ่งนั่นกลายเป็นหนึ่งในการตอกย้ำภาพเหมารวมของชาวเอเชียกับคนในอเมริกาหรือยุโรปไปโดยทันที ผ่านวาทกรรม Yellow Peril ที่คนอเมริกันมองชาวเอเชียว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัย และตลอดชีวิตการแสดงของเขาก็ไม่พ้นที่เขาจะได้รับบทบาทชาวเอเชียที่มักจะเป็นผู้ร้ายอยู่เสมอ

Anna May Wong นักแสดงและแฟชั่นไอคอนสไตล์ ‘flapper’

 

     ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนักแสดงสาวลูกครึ่งจีน-อเมริกันก็ได้ฉายแววความสามารถทั้งในฐานะนักแสดง และแฟชั่นไอคอนสไตล์แฟลปเปอร์ เธอคือ แอนนา เมย์ หว่อง (Anna May Wong) ที่โด่งดังจากภาพยนตร์เรื่อง The Toll of the Sea, Daughter of Shanghai และ Shanghai Express จนกระทั่งเกิดกระแสต่อต้านนักแสดงเอเชียในช่วงปี 1930 และเลือกที่จะใช้นักแสดงตะวันตกมารับบทคนเอเชียแทน ทำให้โอกาสในการแสดงความสามารถของชาวเอเชียในอุตสาหกรรมบันเทิงสากลต้องสะดุดไปชั่วคราว



WATCH




(ซ้าย) ภาพยนตร์เรื่อง Rashomon ผลงานกำกับของ Akira Kuroawa ผลงานภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมเรื่องแรกจากเอเชีย / (ขวา) Miyoshi Umeki รับรางวัลออสการ์ในสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจากเรื่อง Sayonara

 

     จนกระทั่งในปี 1951 ประตูสำหรับชาวเอเชียในวงการบันเทิงสากลก็ได้เปิดขึ้นอีกครั้งเมื่อภาพยนตร์จากญี่ปุ่นเรื่อง Rashomon ผลงานกำกับของอากิระ คุโรซาว่า (Akira Kurosawa) ได้รับรางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมในปีนั้น ส่งผลให้ผลงานของชาวเอเชียก็เริ่มได้รับการพูดถึงอีกครั้ง โดยนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นักแสดงเอเชียก็เริ่มได้กลับมีผลงานในวงการบันเทิงสากลเป็นครั้งคราว โดยในปี 1957 นักแสดงสาวและนักร้องเชื้อสายญี่ปุ่น-อเมริกัน “มิโยชิ อูเมกิ” ก็สามารถจารึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในอุตสาหกรรมบันเทิงสากลด้วยการคว้ารางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจากบทบาท Katsumi Kelly นักเต้นสาวชาวญี่ปุ่นที่ตกหลุมรักกับทหารอากาศสหรัฐอเมริกาภายใต้สถานการณ์สงครามเกาหลีในเรื่อง Sayonara ได้สำเร็จ

(ซ้าย) Pat Morita นักแสดงเอเชียที่มีผลงานโลดแล่นในวงการฮอลลีวู้ด / (ขวา) Haing S. Ngor และรางวัลออสการ์ของเขา

 

     ต่อมาในปี 1984 ก็เกิดความฮือฮาขึ้นในเวทีการประกาศผลรางวัลออสการ์อีกครั้ง เมื่อมีนักแสดงเชื้อสายเอเชียถึง 2 คนได้เข้าชิงรางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมในปีเดียวกัน ทั้งนักแสดงตลกเชื้อสายญี่ปุ่น-อเมริกันอย่าง แพท โมริตะ (Pat Morita) จากบท Mr.Mayagi ในเรื่อง The Karate Kid และ ฮัง โงร์ (Haing S. Ngor) นักแสดงชาวกัมพูชาที่อพยพจากการยึดอำนาจของกลุ่มเขมรแดงและลี้ภัยไปอาศัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ในบทดิธ ปราน นักข่าวชาวกัมพูชาที่ต้องไปทำข่าวในภาวะสงครามในภาพยนตร์เรื่อง The Killing Field ซึ่งฮัง โงร์ ก็ได้รับรางวัลเกียรติยศนี้ไปครองในค่ำคืนนั้น

ทีมนักแสดงจากภาพยนตร์ Crazy Rich Asian

 

     ชาวเอเชียได้เข้ามามีบทบาทและสร้างสีสันทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังอุตสาหกรรมบันเทิงสากลอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี 2018 ชาวเอเชียก็ได้สร้างหมุดหมายสำคัญอีกครั้งในประวัติศาสตร์บันเทิงสากลด้วยก็ส่งภาพยนตร์เรื่อง Crazy Rich Asian ภาพยนตร์ที่สะท้อนภาพวัฒนธรรมเอเชีย ผ่านการแสดง กำกับ และทีมงานที่เป็นชาวเอเชียเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ จนกลายเป็นกระแสครึกโครมในวงการฮอลลีวู้ด

Boong Jun-Ho ผู้กำกับ Parasite ที่สามารถนำภาพยนตร์เรื่องนี้ไปคว้ารางวัลออสการ์ได้สำเร็จ

 

     และในปีถัดมาศักยภาพของชาวเอเชียก็ได้ปรากฏสู่สายตาชาวโลกอีกครั้งเมื่อ Parasite ผลงานของผู้กำกับชาวเกาหลีใต้ บอง จุน โฮ (Boong Joon-Ho) สามารถคว้ารางวัลใหญ่ที่สุดอย่างรางวัล “ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม” จากเวทีออสการ์ไปได้สำเร็จ ควบรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม ภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม ตัดต่อภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และการออกแบบการสร้างยอดเยี่ยม ซึ่งถือเป็นการกวาดรางวัลมากที่สุดในปีนั้น 

Drew Barrymore , Bill Murray, Lucy Liu และ Cameron Diaz ในฉากจากภาพยนตร์เรื่อง Charlie’s Angels

 

     ถึงแม้พลังแห่งชาวเอเชียจะกลายเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญในการช่วยเติมเต็มให้อุตสาหกรรมบันเทิงระดับสากลเปี่ยมไปด้วยคุณภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเบื้องหน้าหรือเบื้องหลังก็ตามแต่นั่นไม่ได้แปลว่าพวกเขาและเธอจะเดินบนทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ หากแต่ยังต้องฝ่าฝันกับปัญหาทั้งเรื่องการเหยียดชาติพันธุ์ และการไม่ยอมรับในความสามารถในฐานะคนเอเชียมากเท่าที่ควร ยกตัวอย่างเช่นที่ ลูซี่ ลุย (Lucy Liu) ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการพ็อดคาสท์ Asian Enough โดย Los Angeles Times ที่ระบุว่าเธอโดนนักแสดงร่วมอย่างบิล เมอร์เรย์ (Bill Murray) ต่อว่าเธอด้วยถ้อยคำที่ “ไม่สามารถให้อภัย และไม่สามารถยอมรับได้” เมื่อครั้งที่ร่วมแสดงภาพยนตร์เรื่อง Charlie’s Angels

     ไม่ว่าในจะวงการใดก็แล้วแต่ ในอดีตเราคงหลีกหนีไม่ได้ที่จะถูกตัดสินหรือเปรียบเทียบจาก “ความต่าง” แต่ผู้เขียนเชื่อเหลือเกินว่าการตัดสินจากความแตกต่างนั้นจะค่อยๆ หมดไป และกลายเป็นพื้นที่ของการเปิดกว้างอย่างไร้อคติ โดยเฉพาะอคติจากรูปร่างหน้าตา เพศ เชื้อชาติ และสีผิว ซึ่งไม่ถือเป็นปัจจัยที่จะสามารถบ่งบอกศักยภาพของมนุษย์เลยแม้แต่น้อย ดังที่ชาวเอเชียผู้เบิกทางถางหญ้าที่เรากล่าวถึงในวันนี้ได้แสดงให้ประจักษ์แล้วว่า “พวกเขาเปล่งประกาย” เพียงใด 

 

     เรื่อง: Kanthoop Hengmak

     Edited by ปภัสรา นัฏสถาพร

ข้อมูล : Momentum, The Standard, Wikipedia-Asian Academy Awards, Wikipedia-Sessue Hayakawa, Wikipedia-Anna May Wong, Wikipedia-Akira Kurosawa, Wikipedia-Miyoshi Umeki, Wikipedia-Pat Morita, Wikipeadia-Haing S. Ngor และ USA Today

WATCH