LIFESTYLE

ผ่าโรค Anorexia ความเจ็บป่วยที่ไม่ได้กัดกินแค่เนื้อหนัง แต่หยั่งรากลึกลงถึงจิตใจ

คุยเรื่อง Anorexia โรคที่เกิดขึ้นบนอุตสาหกรรมบันเทิงผ่านภาพยนตร์ To the Bone และเหล่านางแบบบนรันเวย์ โรคนี้ทิ้งร่อยรอยอะไรให้เราได้เรียนรู้บ้าง

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราคงได้ยินโลกพูดถึงเรื่องของ Eating Disorder กันบ่อยขึ้นราวกับกำลังสร้างแรงกระเพื่อมให้คนหันมาสนใจความอันตรายของโรคนี้ พฤติกรรมการกินในแบบที่ผิดปกติ เป็นมากกว่าแค่การไม่อยากกินอย่างที่เรียกว่า Anorexia เท่านั้น แต่ยังมี Bulimia Nervosa ที่ชอบการกินแต่ต้องล้วงคอออก หรือจะเป็น Binge Eating Disorder ที่เรียกว่าการกินไม่หยุดก็ตาม ในบทความนี้เราอยากชวนผ่าโรคร้ายที่สะท้อนมาตรฐานความงามของสังคมผ่านภาพยนตร์เรื่อง To the Bone ที่นำแสดงโดย Lily Collins กัน

 

ลิลี่รับบทเป็น Ellen สาวน้อยวัย 20 ปีที่ดูเด็กมากกว่าอายุจริง เพราะเธอป่วยด้วยโรคอะนอเร็กเซียทำให้มีน้ำหนักที่น้อยกว่าเกณฑ์ค่อนข้างมาก อะนอเร็กเซียไม่ใช่แค่การไดเอทแบบสุดๆ หรือการเลือกกินอย่างใดอย่างหนึ่งให้ไม่เกินจำนวนแคลอรี่ที่คาดไว้ต่อวัน แต่โรคนี้คือแทบจะไม่กินด้วยซ้ำ ทำได้มากสุดคือเคี้ยวให้ได้รับรู้รสชาติแล้วคายทิ้งเหมือนที่เอลเลนทำในฉากหนึ่งของเรื่อง

ภาพ: Netflix

เอลเลนที่ได้เข้ารับการรักษาในสถาบันแห่งหนึ่งพบกับกลุ่มคนมากมายที่คล้ายกับตัวเธอ จุดนี้ชักชวนคนดูให้หลงคิดไปว่าเอลเลนต้องต่อสู้กับมันได้อย่างแน่นอน เพราะมีเพื่อนร่วมชะตากรรมเดียวกัน ยิ่งเมื่อค่อนเรื่องไปแล้วตัวเอกของเรื่องก็ดูท่าจะดีขึ้นมาหน่อย หลังจากที่เธอเริ่มตกหลุมรักกับผู้ชายในแคมป์เดียวกัน แต่เมื่ออ้างอิงจากโลกในความเป็นจริงแล้ว คุณจะไม่มีเวลามานั่งสนใจเรื่องความรัก การเดท และเซ็กส์เลย เพราะวันๆ หนึ่งคุณจะคิดแค่เรื่องน้ำหนัก ระบบร่างกาย น้ำหนัก การทำงานของหัวใจ ครอบครัว น้ำหนัก การกิน ทั้งหมดนี้วนครบเป็นลูปไม่จบสิ้น นี่คือคำบอกเล่าของ Lucy Kelly นักเขียนหญิงที่เผชิญหน้ากับโรคอะนอเร็กเซียมาอย่างยาวนาน ดังนั้นฉากที่เธอเห็นในเรื่องเธอจึงพูดได้อย่างเต็มปากว่ามันไร้สาระสิ้นดี

ภาพ: Netflix

ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงไม่ได้รับเสียงวิพากย์ในทางที่ดีสักเท่าไหร่ เพราะเนื้อหนังดูสวยงามเกินโลกความเป็นจริง ไม่มีคุณหมอสุดหล่อที่คอยช่วยเหลือให้คำปรึกษาเหมือนบทที่ Keanu Reeves เล่น ไม่มีสถาบันการแพทย์ที่ช่วยคุณได้ถ้าคุณไม่มีเงิน และไม่มีสวัสดิการที่ดีมากพอขนาดที่จะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ แต่การที่ผู้กำกับดึงเอาเรื่องอะนอเร็กเซียมาผูกคล้องทำเป็นเนื้อเรื่องในสถานการณ์ปัจจุบันคือสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราได้เห็นและรับรู้ว่าโรคนี้ไม่เคยหายไปไหน ยังคงติดหนึบราวกับหมากฝรั่งติดรองเท้า หากสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงไปคือสังคมที่เริ่มหันมาให้ความสนใจกับเรื่องนี้มากขึ้น

 

ในทางกลับกันสิ่งหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดอะนอเร็กเซียก็อาจพูดได้ว่ามาจาก “สื่อ” สื่อที่นำเสนอภาพลักษณ์ของสาวในอุดมคติ แน่นอนว่าปากไม่ได้พูด คำบอกเล่าไม่ได้เขียน บนป้ายบิลบอร์ดไม่ได้พาดพิงถึงเลยสักนิดว่านี่คือสาวสวยในอุดมคติ แต่! ภาพเล่าเรื่องไปหมดแล้ว เมื่อทุกวงการสื่อพร้อมใจกันขึ้นป้ายโฆษณาที่ใช้หญิงสาวร่างผอมบางเอวจิ๋วเด่นหราอยู่บนนั้น มันคือคำพูดที่ไม่ได้พูด แต่รู้กันว่ากำลังสื่ออะไร พลังของโฆษณาชวนเชื่อมักน่ากลัวเสมอ 



WATCH




ภาพ: People

การถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์ผสมความหม่นหมองที่ยังคงมีสีพาสเทลจางๆ ให้คนชมไม่รู้สึกหนักใจเกินไปนักที่จะพยายามดูต่อจนจบ หากในโลกความเป็นจริงคนที่ต่อสู้กับโรคนี้มาแล้วอย่าง Lily Rose Depp เองก็รำพึงว่ามันไม่ง่ายเลยสักนิด ลิลี่ต่อสู้กับโรคร้ายนี้มาตั้งแต่ยังเป็นวัยแรกรุ่นเธอเล่าว่า “มันเจ็บปวดมาก และหดหู่มาก เพราะฉันใช้พลังทั้งหมดที่มีในการต่อสู้กับมัน ตอนนั้นฉันยังเด็กกว่านี้ด้วยซ้ำ คนที่เป็นโรคนี้หรือเคยประสบกับมันมาก่อนรู้ดีว่ามันยากแค่ไหนที่จะกลับไปใช้ชีิวิตเหมือนเดิมได้ การที่ผู้คนเห็นภาพฉันบนอินสตาแกรมแล้วคิดไปเองว่าพวกเขารู้จักฉันดีมันน่าขำ มันไม่ใช่เลย เพราะรูปพวกนั้นมันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับตัวจริงสักหน่อย”

 

แม้ปัจจุบันวงการนางแบบยังพอมีสาวหลากหลายไซซ์เกิดขึ้น แต่ก็พูดไม่ได้เต็มปากว่าหลายภาคส่วนยังคงยึดติดอยู่กับสื่อที่ฉายภาพลักษณ์ของหญิงสาวผอมกะหร่องไซซ์ 00 ที่เชื่อว่านี่คือนิยามความเซ็กซี่บนหน้านิตยสาร บนแผงหนังสือ บนสื่อสิ่งพิมพ์และโฆษณาวิดีโอทั้งหลาย นั่นคือตัวชักนำชั้นยอดที่พูดไปในทางเดียวกันว่า “นี่คือสวย” “นี่คือเซ็กซี่” การนำเสนอภาพลักษณ์ที่แฝงอยู่ตามป้ายบิลบอร์ดกลับกลายเป็นโรคติดต่อที่ตอกย้ำคนอีกนับไม่ถ้วน

ภาพ: Pinterest

แบรนด์ Victoria Secret เองที่ปิดรันเวย์ไปแล้วก็เป็นผลพวงมาจากที่คนจำนวนมากเริ่มคิดได้ว่าการสนับสนุนให้ผู้หญิงมีหุ่นผอมบางด้วยการอดอยาก และไดเอทเต็มครบสูตร มันไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ดีต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจอีกต่อไปแล้ว Romee Strijd นางฟ้าวิกตอเรียคนนี้มีการขาดประจำเดือนมานานถึง 6 ปี เพราะการไดเอทที่หนักหน่วงส่งผลให้ฮอร์โมนในร่างกายของเธอทำงานไม่เป็นปกติ จนร่างกายจดจำการกินและการใช้ชีวิตในรูปแบบนั้น ทำให้มันหยุดผลิตฮอร์โมนที่จะไปทำให้เกิดประจำเดือนได้ ผลพวงที่ตามมาคือมันยากต่อการตั้งท้อง 

 

“ฉันซาบซึ้งและดีใจมากที่จะประกาศให้ทุกคนรู้ว่าฉันตั้งท้องแล้ว ฉันไม่อยากเชื่อเลยว่ามันจะเกิดขึ้นกับฉันได้ เพราะฉันออกกำลังกายบ่อยและหนักมากๆ มันทำให้ฉันกลายเป็น PCOS เพราะประจำเดือนฉันไม่มานานถึง 6 ปี ฉันคิดได้ว่าฉันกดดันร่างกายตัวเองเกินไป หลายครั้งที่ร่างกายฉันทำงานไม่ปกติ จนฉันมาเรียนรู้ได้ว่าฉันควรลดการออกกำลังกายที่หนักเกินไป อย่าเข้มงวดในการรับประทานอาหาร ทำตัวดีๆ ให้กับร่างกายฉันบ้าง” และนั่นทำให้เธอได้โอกาสในการตั้งท้องกับแฟนหนุ่มของเธอ

ภาพ; Netflix

แม้ผู้คนจะรณรงค์เรื่องของหุ่นแตกต่างที่สวยงาม แต่น่าเศร้าเมื่อ Body Shaming ยังคงเกิดขึ้นและมีให้เราเห็นจนถึงทุกวันนี้ โลกหมุนไปค่านิยมย่อมเปลี่ยนแปลง หากบรรทัดฐานด้านความงามที่แปรเปลี่ยนย่อมเกิดค่านิยมผิดๆ ที่กลับกันตาลปัตร เมื่อยุคหนึ่งคนนิยมสาวเจ้าเนื้ออวบอิ่มอันหมายถึงผู้หญิงที่มีลักษณะของเพศแม่อัดแน่นอยู่ หากกาลเวลาผันเปลี่ยนหญิงสาวสูงชะลูดหุ่นบางจิ๋วกลับเป็นที่ยอมรับว่าฮอตและเซ็กซี่กว่า ความจริงแล้วโลกไม่ได้เปลี่ยน “เรา” ต่างหากที่เปลี่ยน การพัฒนาเปลี่ยนแปลงย่อมเป็นสิ่งที่ดีถ้ามันนำมาซึ่งผลประโยชน์และคุณค่าที่เพิ่มมากขึ้น

 

เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดการเปรียบเทียบคุณจะไม่มีวันชนะ ถ้าคุณวิ่งตามบรรทัดฐานโลกความสวยคุณจะไม่มีวันเจอเส้นชัย ถ้าคุณวิ่งตามความพึงพอใจของคนอื่นคุณจะไม่มีวันเป็นได้แบบที่เขาต้องการ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณพบมาตรฐานของตัวเองคุณจะรู้ว่าความสวยงามคือสิ่งที่อยู่ใกล้เพียงเอื้อมถึง 

ภาพ: ET

นักร้องสาว Taylor Swift เคยพูดไว้ในสารคดีของตัวเองเธอเองอย่าง Miss Americana ว่า “เมื่อคุณมีน้ำหนักมากพอที่จะมีบั้นท้ายงอนๆ แต่ท้องคุณก็จะไม่แบนพอ กลับกันถ้าหน้าท้องคุณแบนราบพอ คุณก็จะไม่มีวันมีบั้นท้ายในแบบที่คนอื่นอยากให้เป็น ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ มันจะมีมาตรฐานความสวยที่คุณไม่มีวันไปถึงเด็ดขาด” เธอมักจะถูกกระตุ้นจากภาพและคอมเมนต์ต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย “เธอดูเหมือนคนท้องเลย” “ดูท้องของเธอสิ” และนั่นทำให้เธออดอาหารจนกระทั่งไปถึงการหยุดกิน

 

ช่างน่าเศร้า เพราะในขณะที่แฟนคลับของเธออดอาหารแทบตายเพื่อให้มีหุ่นแบบเทย์เลอร์ ตัวนักร้องสาวเองกลับอดอาหารเพื่อที่จะได้มีหุ่นเหมือนนางแบบคนอื่นอีกที วัฏสงสารนี้ช่างน่าสมเพชเสียจริง โลกนี้ช่างโหดร้าย ผู้ที่แข็งแกร่งมากพอเท่านั้นถึงจะอยู่รอด การกินของเทย์เลอร์จึงถือเป็นพฤติกรรมแบบ Eating Disorder ที่แม้จะไม่ได้รุนแรงขนาดก้าวไปถึงอะนอเร็กเซีย แต่นี่แหละคือสัญญาณแรกเริ่มของโรคที่ไม่คุ้มค่าต่อการเป็นเลยสักนิด

ภาพ: USA Today

โรคที่ไม่ใช่แค่ร่างกายแข็งแรงเท่านั้นถึงจะต่อกรด้วยได้ ตัวร้ายของโรคนี้ไม่ได้อยู่ที่อาหารแต่อยู่ที่จิตใจ อะนอเร็กเซียไม่ใช่โรคที่ถูกวินิจฉัยว่ามีปัญหาด้านการกิน เพราะเขาจัดว่าโรคนี้อยู่ในหมวดหมู่ของอาการทางจิต กลับมาที่ภาพยนตร์เราจะเห็นได้จากฉากสำคัญในภาพยนตร์ที่เอลเลนมีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐานมาก พยายามที่จะวัดรอบต้นแขนของเธอให้ได้เพียงรอบนิ้วเท่านั้น คำพูดแสนเศร้าของเธอบอกกล่าวถึงการต่อสู้ที่ไม่ใช่แค่ร่างกาย หากหมายถึงจิตใจที่เป็นส่วนสำคัญ การรักษาจะบรรลุผลก็ต่อเมื่อผู้ป่วยเต็มใจที่ต้องการจะหาย

 

แม้ตัวภาพยนตร์จะสะท้อนความจริงได้ไม่เต็มร้อย (เพราะชีวิตจริงมันน่าจะดาร์กเกินไป) หากอย่างน้อยภาพยนตร์เรื่องนี้ยังเป็นกระบอกเสียงที่ทิ้งร่องรอยให้ทุกคนได้เรียนรู้ ไม่เช่นนั้นเราจะกลับเข้าสู่วังวนเดิม ไม่จบสิ้น โรคที่ไม่ได้รักษาได้ด้วยอาหารหรือยา แต่ต้องจิตใจเท่านั้น อย่าให้มันไปถึงจุดที่คนเป็นแม่อับจนหนทางถึงกับต้องกลั้นใจพูดว่า “ถ้าลูกจะตายก็ย่อมได้นะ เพราะแม่ทำใจไว้แล้ว” เหมือนในภาพยนตร์นั้นเลย 

ข้อมูล : Netflix, Lucy Kelly, Metro UK

WATCH