LIFESTYLE

Alfred Hitchcock ราชาผู้กำกับหนังระทึกขวัญ ผู้สร้างพิมพ์เขียวให้กับหนังระทึกขวัญยุคใหม่

เขาคือผู้กำกับในตำนาน ผู้สร้างความระทึกขวัญให้ใครหลายคนนอนไม่หลับกันมาแล้ว

     ทุกวงสนทนาที่ว่าด้วยเรื่องราวของภาพยนตร์ระทึกขวัญ ชื่อของ Alfred Hitchcock มักจะถูกเอ่ยขึ้นมาอยู่เสมอ ถึงแม้ว่าเจ้าของนามนี้จะเสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่ปี 1980 หรือกว่า 40 ปีที่แล้ว ยิ่งไปกว่านั้นช่วงเวลาที่เขาโลดแล่นสร้างสรรค์ผลงานอยู่ในวงการจริงๆ ต้องย้อนกลับไปถึงช่วงทศวรรษ 30-60 ด้วยซ้ำ

     ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น...

     คำตอบก็ไม่มีอะไรซับซ้อนนอกจากผลงานภาพยนตร์ที่สร้างสรรค์โดย Alfred Hitchcock ถูกจัดให้อยู่ในระดับตำนานขึ้นหิ้ง เต็มเปี่ยมด้วยคุณภาพ ครบเครื่องทั้งความสมบูรณ์แบบในศาสตร์ภาพยนตร์ แต่ก็ยังสนุกน่าติดตามจนละสายตาไม่ได้ ทำหัวใจผู้ชมเต้นระรัวตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ในยุคดังกล่าวเทคโนโลยีต่างๆ ยังไม่ก้าวหน้า ส่วนใหญ่จะถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของหนังขาวดำเสียด้วยซ้ำ

     ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ภาพยนตร์ของ Hitchcock จะกลายเป็นเหมือน “พิมพ์เขียว” ต้นแบบสำคัญให้เหล่าผู้กำกับรุ่นหลังนำแนวทางดังกล่าวไปปรับใช้กับภาพยนตร์ระทึกขวัญรุ่นใหม่ เรียกได้ว่าภาพยนตร์ระทึกขวัญสั่นประสาทที่เราเห็นกันเกลื่อนในปัจจุบันล้วนแล้วแต่ได้รับอิทธิพลมาจากผลงานของ Hitchcock แทบทั้งสิ้น ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

     ใครว่าผมไม่กลัว

     ก่อนที่จะไปถึงในส่วนของภาพยนตร์ เรามาทำความรู้จัก Alfred Hitchcock เพิ่มเติมขึ้นอีกสักนิดกันดีกว่า ว่าแท้จริงแล้วชายผู้อยู่เบื้องหลังการสั่นประสาทผู้คนทั่วโลกผ่านเรื่องราวบนแผ่นฟิล์มคนนี้ตัวตนที่แท้จริงของเขาเป็นอย่างไร

     หลายคนอาจจะคิดว่า Hitchcock เป็นผู้ชายเลือดเย็น มีรสนิยมชื่นชอบความสยองขวัญ จนหยิบสิ่งเหล่านั้นมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน…แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย

     Hitchcock ไม่ได้หลงใหลในความน่ากลัว ตรงกันข้ามเขาถือเป็นผู้ชายขี้กลัวคนหนึ่ง เพียงแต่เขาเลือกที่จะเก็บซ่อนความรู้สึกไว้ภายใต้ใบหน้าแสนเย็นชา และด้วยนิสัยขี้กลัวทำให้เขารู้ซึ้งถึงความกลัวของมนุษย์เป็นอย่างดี ดังนั้นเมื่อมาทำภาพยนตร์เขาจึงรู้วิธีว่าต้องทำอย่างไรผู้ชมถึงจะรู้สึกหายใจไม่ทั่วท้อง หวาดระแวง สั่นประสาทไปกับเรื่องราวบนจอ

     Alfred Hitchcock หรือชื่อเต็มว่า Alfred Joseph Hitchcock เกิดมาในครอบครัวชาวคาทอลิกเคร่งศาสนา ที่อาศัยอยู่ในกรุงลอนดอน และด้วยความเคร่งนี้เองทำให้ในสมัยเด็กๆ เมื่อ Hitchcock ทำอะไรผิดเพียงแค่นิดเดียว เขามักจะโดนพ่อของเขานำไปขังคุกในสถานีตำรวจใกล้บ้าน เป็นระยะเวลาครั้งละ 10-20 นาที เพื่อหวังจะดัดนิสัย

     “นี่คือสิ่งที่เด็กดื้อสมควรจะได้รับ” นี่คือสิ่งที่พ่อบอกกับเขา

     10 นาทีอาจจะดูเหมือนเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่สำหรับเด็กตัวน้อยๆ มันช่างแสนยาวนาน และขณะที่อยู่หลังลูกกรงนั้นเองความกลัวก็ค่อยๆ ถูกปลูกฝังลงในใจของ Hitchcock โดยที่ครอบครัวเขาไม่รู้ตัวเลยแม้แต่น้อย

     หลังจากผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายมา Hitchcock ก็กลายเป็นคนหวาดระแวง ไม่ไว้ใจใคร เนื่องจากเขาคิดว่าแม้แต่ตำรวจที่ควรจะเป็นที่พึ่งของประชาชนยังไม่ช่วยอะไรเขาเลย ยิ่งไปกว่านั้นยังช่วยสนับสนุนการกักขังเขาด้วยซ้ำ

     ความหวาดระแวงของ ฮิตช์ค็อก ถูกถ่ายทอดลงบนผลงานภาพยนตร์ของเขาแทบทุกเรื่อง โดยเขาจะทำให้ผู้ชมรู้สึกไม่น่าไว้วางใจกับตัวละครแทบทุกตัว ราวกับกำลังเก็บซ่อนความความลับดำมืดไว้ภายใต้รอยยิ้มปลอมเปลือก

     ยกตัวอย่างเช่นในฉากที่ตัวละคร Marion Crane จากภาพยนตร์เรื่อง Psycho (1960) กำลังขับรถอยู่บนทางหลวงและโดนตำรวจเปิดไซเรนบอกให้จอด หน้าตาท่าทางของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ยื่นหน้ามาคุยกับหญิงสาวบริเวณกระจกข้างนั้นช่างดูมีเลศนัยน์ ไม่น่าไว้วางใจเป็นอย่างยิ่ง เป็นรอยยิ้มที่เห็นแล้วรู้สึกเสียวสันหลัง ทั้งๆ ที่สุดท้ายแล้วฉากนี้ก็ไม่มีอะไรเลย หลังจากพูดคุยเพียงเล็กน้อยเจ้าหน้าที่ตำรวจนายดังกล่าวก็ปล่อย ไลลา ไปแบบสบายๆ อย่างไรก็ตามฉากนี้เพียงฉากเดียวก็สะท้อนถึงทัศนคติที่ Hitchcock มีต่อตำรวจเป็นอย่างดี



WATCH




     หรืออีกหนึ่งตัวอย่างจากภาพยนตร์เรื่อง Stranger on the Train กับตัวละคร Bruno Anthony ชายโรคจิตที่พยายามสะกดรอยและเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของนักเทนนิสชื่อดัง หลังจากที่พวกเขาพบกันบนขบวนรถไฟ

     ทั้งๆ ที่ตัวละคร Bruno เปิดตัวมาในภาพลักษณ์ชายหนุ่มสุภาพเรียบร้อย อัธยาศัยดี มากด้วยอารมณ์ขัน อีกทั้งยังแต่งตัวด้วยชุดสูทราคาแพง แต่ไม่รู้ด้วยเหตุผลกลใด ผู้ชมกลับรู้สึกตั้งแต่แวบแรกที่เห็นว่าผู้ชายคนนี้ไม่น่าไว้วางใจเลยแม้แต่น้อย ทุกอย่างมันช่างดูปลอมเปลือกไปหมด เขาไม่ได้เข้ามาหาด้วยความหวังดีแน่ๆ….นี่แหละคือมนต์เสน่ห์ในภาพยนตร์ของ  Hitchcock

     จุดเด่นของภาพยนตร์ฉบับ Hitchcock ไม่ใช่การเปิดประตูส่งมอบความกลัวให้ผู้ชมแบบซึ่งหน้า แต่เขาจะค่อยๆ ตะล่อมสร้างความอึดอัดอยู่ไม่สุขให้กับผู้ชมผ่านบรรยากาศที่ไม่น่าไว้วางใจ และพฤติกรรมแปลกประหลาดของเหล่าตัวละคร ที่ถ้าทะลุหน้าจอเข้าไปได้ผู้ชมทุกคนคงอยากจะกระโจนเข้าไปกระชากคอเสื้อแล้วถามว่า

     “คุณต้องการอะไรกันแน่ บอกมาตรงๆ เรารู้นะว่าคุณไม่ได้มาดี”...

 

Rope (1948)

      พิมพ์เขียวสำคัญของหนังระทึกขวัญโลเคชั่นเดียว

     หนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทุกวันนี้มีภาพยนตร์ระทึกขวัญออกมาสู่ตลาดจำนวนมากคือการที่เหล่าผู้สร้างสรรค์ผลงานรู้ว่าไม่จำเป็นต้องใช้ทุนสร้างมหาศาล หรือโลเคชั่นยิ่งใหญ่อลังการ ก็สามารถสร้างภาพยนตร์ระทึกขวัญชั้นดีออกมาได้ โดยหนึ่งในอิทธิพลสำคัญที่วางแม่บทในเรื่องนี้เอาไว้ยังไงก็ต้องมี Rope ผลงานของ Hitchcock จากปี 1948 รวมอยู่ในนั้น

     Rope เล่าเรื่องราวของนักศึกษาหนุ่มสองคนจากตระกูลชนชั้นสูงที่หลงใหลในเรื่องการฆาตกรรมเป็นชีวิตจิตใจ พวกเขาได้ทำการตอบสนองสัญชาตญาณมืดในใจของตัวเองด้วยการลงมือสังหารชายคนหนึ่ง ก่อนที่จะนำร่างไร้วิญญาณดังกล่าวมายัดลงไปในหีบเพื่อรอเวลาที่จะนำไปถ่วงน้ำอำพรางคดี

     อย่างไรก็ตามเพียงเท่านี้ดูเหมือนจะยังกระตุ้นต่อมความตื่นเต้นของพวกเขาไม่พอ พวกเขาจึงได้ทำการจัดงานปาร์ตี้ในบ้านพักของตัวเอง เชิญผู้คนเข้าร่วมมากมาย โดยที่วางหีบบรรจุศพไว้กลางห้อง ท้าทายให้ใครสักคนจับพิรุธและไขความจริงให้ได้

     ด้วยพล็อตเรื่องที่เป็นแบบนี้ทำให้ตลอดการดำเนินเรื่อง Rope จึงเป็นภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยความกระอักกระอ่วนชวนอึดอัด เพราะผู้ชมทุกคนทราบดีว่าศพแทบจะวางอยู่ในเฟรมภาพตลอดเวลา เพียงแต่ว่าตัวละครทั้งหลายในเรื่องนั้นยังไม่รู้

     Hitchcock ไม่จำเป็นต้องเล่นใหญ่ ใช้ทนุสร้างมหาศาลหรือโลเคชั่นตระการตาก็สามารถร่ายมนต์สะกดผู้ชมได้อยู่หมัดตลอดทั้งเรื่อง เนื่องจาก Rope แทบจะเป็นภาพยนตร์โลเคชั่นเดียว ทุกอย่างเกิดขึ้นภายในห้องจัดปาร์ตี้

     ตลอดทั้งเรื่องเต็มไปด้วยบทสนทนา ทั้งเรื่องสัพเพเหระทั่วไปสลับกับไหวพริบในการเอาตัวรอดของฆาตกรทั้งสองที่พยายามจะเบี่ยงเบนความสงสัยของทุกคนออกไปให้ไกลจากหีบ เชือดเฉือดกับไหวพริบกับอีกตัวละครสำคัญอย่าง Rupert Cadell (นำแสดงโดย James Stewart) อาจารย์มหาวิทยาลัยผู้มีนิสัยช่างสังเกต ช่างสงสัย และรู้สึกว่างานปาร์ตี้นี้มีอะไรบางอย่างผิดปกติ

     นอกจากความระทึกขวัญปนอึดอัดที่ Hitchcock จัดใส่จานมาเสิร์ฟตลอดทั้งเรื่องแล้ว Rope ยังเป็นภาพยนตร์ที่ตีแผ่สันดานมนุษย์ออกมาได้อย่างถึงแก่น เนื่องจากเหล่าตัวละครฆาตกรสองคนล้วนแล้วแต่มีหน้าที่การงานดี การเงินมั่นคง ชอบเสพศิลปะ หลงใหลในไวน์เลิศรส…ยิ่งพวกเขาพล่ามเรื่องที่เหมือนจะ “สูงส่ง” ออกเท่าไร ผู้ชมที่รู้ดีว่าสองคนนี้คือฆาตกรยิ่งตระหนักได้ว่าสังคมของเราช่างอันตราย เต็มไปด้วยคนรู้หน้าไม่รู้ใจมากเท่านั้น

     Rope ถือเป็นพิมพ์เขียวสำคัญต่อภาพยนตร์ระทึกขวัญยุคหลังที่มีหลายต่อหลายเรื่องที่เลือกเดินในเส้นทางเดียวกันคือใช้โลเคชั่นเดียว แต่ขับเน้นความเข้มข้นของเรื่องออกมาผ่านบทสนทนาและสถานการณ์ต่างๆ พร้อมสร้างความอึดอัดกระอักกระอ่วนไปในตัว ตัวอย่างที่ชัดเจนคือภาพยนตร์เรื่อง Phone Booth (2002), Devil (2010), Locke (2013), และอีกมากมายหลาย

     นอกจากนั้น Rope ยังขึ้นชื่อในเรื่องของการถ่ายทำแบบ “ลองเทค” เนื่องจากทั้งเรื่องมีการตัดต่อเพียงแค่ 11 ครั้งเท่านั้น ซึ่งถือเป็นอะไรที่แปลกใหม่มากๆ ในยุคสมัยดังกล่าว จนกระทั่งในปัจจุบันการถ่ายทำรูปแบบนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในรูปแบบยอดนิยมที่ผู้กำกับหลายคนเลือกที่จะมาใช้เพื่อความลื่นไหลของอารมณ์ผู้ชม

 

Rear Window (1954)

    จมดิ่งสู่ชีวิตคนอื่น 

     ภาพยนตร์อีกหนึ่งเรื่องของ Hitchcock ที่ขึ้นชื่อเรื่องการถ่ายทำในโลเคชั่นแคบๆ แต่กลับสร้างความกดดันมหาศาลให้กับผู้ชมได้คือภาพยนตร์เรื่อง Rear Window (1954)

     Rear Window ว่าด้วยเรื่องราวของ Jeff ช่างภาพข่าวที่บังเอิญบาดเจ็บจากการทำงาน ทำให้ขาหักต้องเข้าเฝือก จำเป็นต้องใช้ชีวิตในห้องอพาร์ทเมนต์หลายวันโดยไม่สามารถออกไปไหนได้ เมื่อรู้สึกเบื่อก็เลยหยิบกล้องส่องทางไกลมาส่องดูพฤติกรรมเพื่อนบ้านในตึกฝั่งตรงข้ามเป็นการฆ่าเวลา จนกระทั่งเขาไปสงสัยในพฤติกรรมของเพื่อนบ้านคนหนึ่งว่าอาจจะกำลังวางแผนฆ่าภรรยาที่นอนป่วยอยู่บนเตียง เขาจึงต้องพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อหยุดเรื่องเลวร้ายที่กำลังจะเกิดขึ้น

     “เรื่องของชาวบ้าน” มีเสน่ห์ให้กระหายใคร่รู้เสมอ อย่าว่าแต่ Jeff เลย เราเชื่อว่าแทบทุกคนเวลามีใครเปิดบทสนทนานินทาบุคคลที่ 3 ออกมา หูก็จะผึ่งกางออกมาโดยอัตโนมัติ Hitchcock เข้าใจถึงธรรมชาตินี้ของมนุษย์เป็นอย่างดี ดังนั้นเขาจึงจัดการร่ายมนต์ พาผู้ชมทุกคนเข้าไปอยู่ในหน้าจอ โดยสวมบทบาทเป็น Jeff  

     เมื่อผู้ชมกับ Jeff  คือคนเดียวกัน ดังนั้นยิ่ง Jeff  รู้สึกสงสัยเกี่ยวกับพฤติกรรมเพื่อนบ้านมากเท่าไร ผู้ชมเองก็จะรู้สึกไม่ต่างกัน รู้ตัวอีกทีเราก็ดำดิ่งลงไปในวิถีชีวิตของเพื่อนบ้านคนดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

     อีกหนึ่งเทคนิคที่ Hitchcock ใช้ในการเล่าเรื่อง Rear Window คือความทีเล่นทีจริง บางครั้งเราก็รู้สึกเหมือน Jeff ว่าเพื่อนบ้านคนดังกล่าวมันน่าสงสัยสุดๆ ไปเลย แต่ในบางช่วงเวลากลับรู้สึกว่า “หรือ Jeff จะหลอนคิดไปเอง” ความทีเล่นทีจริงแบบนี้นี่แหละคือสิ่งดึงดูดชั้นดีในการนำพาผู้ชมทุกคนเดินทางไปยังตอนจบด้วยกันเพื่อพิสูจน์ให้เห็นกับตาว่าสุดท้ายแล้วเรื่องราวทั้งหมดมันเป็นยังไงกันแน่

     เรียกได้ว่า Rear Window คือภาพยนตร์เรื่องแรกๆ ในประวัติศาสตร์ที่นำเสนอเรื่องราวของบุคลลที่ 3 ที่ผู้ชมแทบจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเขาเลย แต่เขากลับอยู่ในหน้าจอแทบจะตลอดเวลาผ่านเลนส์กล้องของ Jeff โดยอิทธิพล “การดำดิ่งสู่ชีวิตคนอื่นโดยไม่รู้ตัว” นี้ต่อมามันได้กลายเป็นตะกอนสำคัญในการสร้างภาพยนตร์เรื่อง The Conversation (1974), และ The Lives of Others (2006) ที่ว่าด้วยการดักฟังชีวิตคนอื่น ก่อนที่การดักฟังดังกล่าวจะค่อยๆ ส่งผลต่อชีวิตของตัวละครหลักไปเรื่อยๆ

 

Vertigo (1958)

     พิศวง วกวน วนเวียน

     Vertigo ว่าด้วยเรื่องราวของ John 'Scottie' Ferguson อดีตนายตำรวจที่ตัดสินใจลาออกมาเนื่องจากป่วยเป็นโรคกลัวความสูงจากประสบการณ์เลวร้ายที่เขาต้องเผชิญในอดีต ทุกครั้งที่ขึ้นที่สูงเขาจะรู้สึกหน้ามืด วิงเวียนศรีษะ และตาลาย โดยอาการเหล่านี้ทางการแพทย์เรียกว่า Vertigo

     Scottie ออกมาทำงานเป็นนักสืบเอกชน จนกระทั่งวันหนึ่งเขาได้รับการว่าจ้างจาก Gavin Elster เจ้าของธุรกิจอู่ต่อเรือให้ช่วยติดตาม Madeleine Elster ภรรยาตัวเอง ที่ระยะหลังมักมีท่าทีแปลก ๆ ชอบหายตัวไปทั้งวัน โดยไม่รู้ว่าเธอไปไหน เมื่อสอบถามหรือพูดคุยเธอก็จำเหตุการณ์ไม่ได้

     ถึงแม้จะไม่เต็มใจ แต่สุดท้าย Scottie ก็ตัดสินใจรับงานนี้ ก่อนที่สุดท้ายมันจะนำพาเขาไปเจอกับเรื่องราวสุดพิศวง

     Hitchcock เฉลียวฉลาดอย่างมากในการเล่าภาพยนตร์เรื่อง Vertigo ราวกับเขาเป็นนักตกปลาชั้นยอดที่โยนเหยื่อลงไปให้เหล่าผู้ชมตามงับไปเรื่อยๆ พร้อมคำถามในหัวว่า ทำไม เกิดอะไรขึ้น เรื่องราวทั้งหมดมันคืออะไร และจะลงเอยแบบไหนกันแน่

     อีกหนึ่งสิ่งที่โดดเด่นของ Vertigo คือเรื่องงานภาพ ที่ Hitchcock มักจะเล่นกับวิชวลประหลาดๆ สอดคล้องกับอาการป่วยของตัวละครเอก เช่น บันไดวน, ผมลอนม้วนของผู้หญิง, ถนนอันคดเคี้ยวของเมืองซานฟรานซิสโก โดยทั้งหมดถูกนำเสนอออกมาในรูปแบบเซอร์เรียล หรือเหนือจริง และเทคนิคนี้ต่อมาก็ส่งอิทธิพลต่อภาพยนตร์ยุคหลังหลายเรื่อง ที่ชัดเจนที่สุดคือ American Beauty ภาพยนตร์รางวัลออสการ์จากปี 1999

     ถ้า Vertigo นำมาฉายในยุคปัจจุบันก็คงไม่ถือว่าหวือหวาอะไรมากมาย แต่อย่าลืมว่านี่คือภาพยนตร์จากเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ทุกอย่างในเรื่องจึงดูแปลกใหม่ โดยวิธีการเล่าเรื่องแบบค่อยๆ ทิ้งปริศนาไปตามทางเรื่อยๆ ล่อผู้ชมให้กระหายใคร่รู้เต็มที่ ก่อนจะปล่อยหมัดฮุคด้วยตอนจบแบบหักมุมตกเก้าอี้ ถือเป็นการวางแนวทางให้นักเล่าเรื่องยุคใหม่จำนวนมากหยิบไปทำตาม

     จนกระทั่งปัจจุบันเรียกได้ว่าการเล่าเรื่องแบบนี้แทบจะเป็นหนึ่งในสูตรสำเร็จของภาพยนตร์ระทึกขวัญไปแล้ว

 

North by Northwest (1959)

     หนังสายลับฉบับ Hitchcock

     หลายคนอาจจะชอบสายลับสไตล์ James Bond ที่มาพร้อมความเฉลียวฉลาดเก่งกาจรอบด้าน อีกทั้งยังมีเสน่ห์เหลือร้าย หรือ Jason Bourne ผู้มาพร้อมความกล้าบ้าบิ่นไม่เกรงกลัวใคร แต่รู้หรือไม่ว่าต้นแบบในการสร้างสรรค์เฟรนไชส์หนังสายลับเหล่านี้มีพิมพ์เขียวสำคัญมาจากภาพยนตร์ของ Hitchcock ที่มีชื่อว่า North by Northwest

     อย่างไรก็ตามความแตกต่างสำคัญระหว่าง North by Northwest กับหนังเฟรนไชส์สายลับอื่นๆ คือการที่ตัวเอกของเรื่องไม่ใช่คนที่เก่งกล้า แต่เป็นเพียงคนธรรมดาเหมือนผู้ชมทุกคนที่กำลังนั่งดูเรื่องราวของเขาผ่านทางหน้าจอนั่นแหละ

     North by Northwest ว่าด้วยเรื่องราวของ Roger ชายหนุ่มธรรดาคนที่ทำอาชีพขายโฆษณา แต่อยู่มาวันหนึ่งเขากลับถูกลักพาตัวไป พร้อมถูกกล่าวหาว่าเป็น “Josh Caplan” ซึ่งแน่นอนว่า Roger ปฏิเสธแบบหัวชนฝา แต่กลับไม่มีใครเชื่อ

     โรเจอร์เกือบถูกฆาตกรรมแต่ก็สามารถหนีเอาตัวรอดมาได้ และเมื่อเขาได้แจ้งตำรวจ  ทุกอย่างกลับไม่เป็นไปตามที่คิด หนำซ้ำเขายังตกอยู่ในสถานะแพะรับบาป, ฆาตกรเลือดเย็น, และ Josh Caplan พร้อมๆ กัน นั่นทำให้เขาต้องตามหาความจริงว่าแท้จริงแล้วใครกันคือ Josh Caplan กันแน่

     North by Northwest สร้างความสงสัยกระหายใคร่รู้ให้กับผู้ชมตลอดทั้งเรื่อง และดึงผู้ชมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการติดตามหาความจริงร่วมกับ Roger ไปโดยไม่รู้ตัว นอกจากนั้นยังมีการหักเหลี่ยมเฉือนคม หลอกคนดูให้หัวทิ่มหัวตำหลายต่อหลายครั้ง ก่อนจะตบท้ายด้วยฉากไล่ล่าสุดเร้าใจ ที่ต่อมาวิธีการเล่าเรื่องแบบนี้แทบจะกลายเป็นแม่บทสำคัญในการเล่าเรื่องของภาพยนตร์สายลับแทบทุกเรื่อง หรือแม้กระทั่งภาพยนตร์เรื่อง The Fugitive จากปี 1993 ก็มีกลิ่นอายของ North by Northwest ปรากฎอยู่อย่างชัดเจน

 

Psycho (1960)

     เรื่องเล็กน้อยที่บานปลายไปไม่รู้จบ

     ปิดท้ายด้วยภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของ Hitchcock ซึ่งจะเป็นเรื่องไหนไปไม่ได้นอกจาก Psycho จากปี 1960 นั่นเอง

     Psycho ว่าด้วยเรื่องราวของ Marion Crane เลขานุการสาวในสำนักงานธรรมดาที่ตัดสินใจขโมยเงินบริษัท ก่อนจะขับรถหนีออกไปนอกเมือง และได้เข้าพักในโรงแรมเล็กๆ ที่ชื่อ Bates Motel ซึ่ง ณ สถานที่แห่งนี้เองเธอต้องเผชิญกับชะตากรรมสุดระทึก

     พล็อตเรื่องดูธรรมดามากๆ แต่ที่ไม่ธรรมดาคือวิธีการเล่าเรื่องที่ Hitchcock ใช้ เขาตั้งใจให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เริ่มต้นจากอะไรที่เล็กน้อยมากๆ ก่อนที่เหตุการณ์ทุกอย่างจะบานปลายใหญ่โตไปแบบที่ไม่มีใครคาดคิด

     เสน่ห์แบบ Hitchcock ยังคงอัดแน่นอยู่ในภาพยนตร์เรื่อง Psycho อย่างเต็มเปี่ยม ที่ชัดเจนที่สุดคือการสร้างความอึดอัดให้กับผู้ชม ทั้งๆ ที่ Marion Crane เป็นโจร แต่ผู้ชมกลับรู้สึกเอาใจช่วยเธออย่างน่าประหลาด เนื่องจากสภาวะรอบๆ ตัวที่เธอต้องเผชิญนั้นประหลาดกว่าการเป็นโจรหลายเท่าตัว

     ถ้านำภาพยนตร์เรื่อง Psycho มานั่งตั้งใจวิเคราะห์อย่างจริงจัง จะพบว่าแทบทุกองค์ประกอบของเรื่องได้กลายเป็นอิทธิพลสำคัญของหนังระทึกขวัญแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นด้วยเรื่องราวเล็กๆ ธรรมดาๆ ก่อนจะบานปลายไปใหญ่โตแบบที่เราเห็นได้จากภาพยนตร์เรื่อง Fargo (1996)

     หรือแม้แต่การให้ตัวละครที่ปูมาเหมือนจะเป็นตัวละครเอกตายตั้งแต่ยังไม่ทันถึงครึ่งเรื่อง ที่เมื่อ 60 ปีที่แล้ววิธีนี้แทบไม่มีใครใจกล้าพอที่จะทำ เล่นเอาผู้ชมทั้งอึ้งทั้งงงกันไปเป็นแถว พร้อมคำถามในหัวว่า…แล้วเรื่องมันจะไปทิศทางไหนต่อละ

     อีกหนึ่งพิมพ์เขียวสำคัญคือการสร้างฉากระทึกขวัญขึ้นในห้องอาบน้ำ ท่ามกลางหยาดน้ำที่ไหลออกมาจากฝักบัว เนื่องจากก่อนหน้านี้แทบจะไม่มีใครเคยเล่นกับสถานที่นี้ ห้องน้ำเปรียบเสมือน “เซฟโซน” ของโลกภาพยนตร์มาโดยตลอด แต่ Hitchcock นี่แหละคือผู้ปฏิวัติแนวคิดเหล่านั้น ซึ่งต่อมาในภาพยนตร์ระทึกขวัญยุคหลัง ฉากอาบน้ำไม่ใช่ฉากที่รู้สึกปลอดภัยอีกต่อไป ตรงกันข้ามมันคือฉากที่ผู้ชมรู้สึกหวาดระแวงมากที่สุดฉากหนึ่ง

     ปิดท้ายด้วยวิธีการสร้างตัวละครอย่าง Norman Bates ขึ้นมาในมาดชายหนุ่มสุภาพเรียบร้อย ก่อนที่เขาจะเผยความแปลกประหลาดในตัวออกมาเรื่อยๆ ซึ่งต่อมาตัวละครนี้ก็ได้กลายเป็นต้นแบบของเหล่าตัวร้ายในภาพยนตร์ระทึกขวัญมากมาย

WATCH