Ai Arts, Ai คืออะไร, AI, midjourney, ai artists
LIFESTYLE

เจาะลึกมุมร้ายศิลปะจาก AI การทำลายล้างศิลปินที่อาจทำให้โลกศิลปะเข้าสู่ยุค 'ดิสโทเปีย'

เมื่อการสร้างสรรค์ไม่ใช่การสร้างขึ้นใหม่ แต่หมายถึงการขยำรวมหรือคัดเลือกชิ้นงานคนอื่นเพื่อนำเสนอ ความโหดร้ายที่ศิลปินต้นแบบต้องเผชิญจึงโหดร้าย

     “ความสวยงามของศิลปะกับความโหดร้ายของสังคมยุคใหม่” นี่คือนิยามที่อาจทำให้ศิลปินตัวจริงเหนื่อยและท้อแท้ เทคโนโลยีสมัยใหม่เอื้อให้สร้างผลงานศิลปะผ่านช่องทางหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์กราฟิก การทำแอนิเมชั่น หรือแม้แต่การสร้างผลงานด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัยมากขึ้น ทว่าในมุมหนึ่งมีสิ่งที่เรียกว่า AI และสิ่งนี้ก็กำลังสร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญที่ทำให้มนุษย์อาจละเลยความสามารถในการสร้างสรรค์ของมนุษย์ด้วยกัน รวมถึงความพยายามฝึกฝนที่อาจใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อสร้างผลงาน ในวันนี้ปัญหาไม่ใช่แค่ผลงานจากเทคโนโลยีที่เรียกเสียงฮือฮา แต่ผลงานของศิลปินทั้งหลายกลายเป็นฐานข้อมูลที่ทำให้สมองกลอัจฉริยะฝึกฝนจนทำได้ดั่งทุกวันนี้

Ai Arts, Ai คืออะไร, AI, midjourney, ai artists

ผลงาน “Théâtre D’opéra Spatial” จากผลงานสร้างสรรค์ AI ที่ชนะรางวัลสาขาดิจิทัล ณ Colorado State Fair ที่ทำให้ศิลปินไม่พอใจเป็นอย่างมาก / ภาพ: Jason Allen

     AI ไม่ได้สร้างศิลปะจากแนวความคิดของตัวเอง อาจจะใช่ที่มันประมวลผลคำสั่งบางอย่างและนำเสนอออกมาให้ตอบโจทย์ตามคำนั้นๆ ให้ได้มากที่สุด ช่วงแรกๆ เราเห็น Midjourney สร้างโคตรงานศิลปะที่มีจุดเริ่มต้นจากคำเพียงไม่กี่คำ แต่นั่นหมายถึงการดึงฐานข้อมูลอันใหญ่มโหฬารมาย่อยจนกลายเป็นทักษะติดตัว สิ่งนี้เองที่ทำให้ศิลปินหลายคนเผชิญกับความยากลำบากในการผลิตผลงาน ความโหดร้ายคือ AI ใช้ผลงานของศิลปินเหล่านี้ในการฝึกฝนและดูดข้อมูลเพื่อนำไปประมวลผลต่อและสร้างงานของมันขึ้นมาโดยที่ศิลปินที่เนรมิตงานต้นฉบับถูกขูดรีดโดยไม่ได้อะไรกลับคืนมาเลย

     Jon Lam คือผู้ใช้บัญชีโซเชียลมีเดียเพื่อยืนหยัดต่อต้านการหาผลประโยชน์จาก AI โดยการขูดรีดศิลปินในชีวิตจริง เขาเขียนเรื่องราวกับศิลปินที่ถูกนำผลงานไปใช้เพื่อสร้างข้อมูลผ่าน AI รวมถึงถูกผลิตผลงานซ้ำแล้วซ้ำเล่า อีกทั้งเมื่อพวกเขาเรียกร้องกลับถูกวิพากษ์วิจารณ์และบูลลี่อย่างไม่เป็นธรรม เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อศิลปินไม่สามารถควบคุมสิทธิ์ในผลงานของตัวเองได้ เหล่าสมองกลและผู้อยู่เบื้องหลังหาผลประโยชน์อย่างเต็มที่โดยไม่คำนึงถึงรากฐานที่มาของงานศิลปะ เพียงแค่หยิบจับงานศิลป์เหล่านี้ไปเป็นทรัพยากรเพื่อต่อยอดสู่ “Fast Art” ซึ่งในมุมมองของผู้ข้องเกี่ยวกับวงการศิลปะมองว่ามันอาจนำไปสู่ “ดิสโทเปีย”

Ai Arts, Ai คืออะไร, AI, midjourney, ai artists

ผลงานที่ AI คัดลอกมาจากผลงานของ Greg Rutkowski / ภาพ: Business Insider

     นอกจากการขโมยผลงานเพื่อสร้าง “AI Generated Arts” แล้ว ความน่ากลัวในปัจจุบันคือศิลปะกำลังถูกลดความน่าเชื่อถือ เรื่องราวนี้จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อหลายคนพยายามใช้ผลงานที่สร้างแบบรวดเร็วและนำไปหาผลประโยชน์ส่วนตัวโดยการหลอกลวง กรณีนี้ก็เป็นหอกข้างแคร่ของวงการศิลปะเช่นเดียวกัน ศิลปินมากมายตั้งใจรังสรรค์ผลงานด้วยความมานะอุตสาหะ ในขณะที่บางคนกอบโกยเงินจากการเล่นแง่ ใช้ AI ผลิตผลงานที่อาจลอกเลียนแบบมาจากต้นฉบับที่ไหนสักแห่งและทำเงินกับมันด้วยการเคลมผลงานอย่างโจ่งแจ้ง

     ไม่ใช่แค่เรื่องเคลมผลงาน แต่บางครั้ง AI จากหลายแพลตฟอร์มไม่ได้ขูดรีดทรัพยากรเพื่อเรียนรู้และสร้างผลงานใหม่อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่กำลังหยิบผลงานของศิลปินมาแบบไม่ขออนุญาตหรือซื้อลิขสิทธิ์ แล้วนำมาสุ่มให้กับผู้ต้องการงานศิลปะแบบรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น การสุ่มตัวละครซูเปอร์ฮีโร่ AI บนเว็บไซต์ ที่ผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นหนึ่งรวบรวมงานศิลปะแบบผิดๆ มา และนำเสนอโดยการใช้ AI สุ่มเลือก เท่ากับว่าศิลปินถูกขูดรีดโดยการนำผลงานไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต มากไปกว่านั้นยังไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย ในขณะที่ผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นสามารถทำเงินได้จากสิ่งนี้มากมายมหาศาล



WATCH




Ai Arts, Ai คืออะไร, AI, midjourney, ai artists

ตัวอย่างผลงานของ Kim Jung Gi ที่ถูกคัดลอกโดยเทคโนโลยี AI / ภาพ: 5You

     บางคนกำลังปกป้องว่า AI อาจกำลังพัฒนาทักษะโดยการใช้ข้อมูลเดิมและสร้างสรรค์ใหม่ คล้ายกับการที่ศิลปินคนหนึ่งหยิบยกผลงานของศิลปินอีกคนมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน ทว่าความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป AI หลายรูปแบบใช้วิธีแปะผลงาน แน่นอนว่าคล้ายศิลปินคอลลาจ แต่ทั้งหมดแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะ AI กำลังตัดแปะมันลงไปแบบไม่มีความหมายหรือการสื่อสาร เพียงแค่สร้างภาพออกมาจากผลงานเดิมโดยการตัดแปะขยำรวมกัน ในขณะที่ผู้คนกำลังตื่นเต้นกับการขยำรวมสิ่งที่รวบรวมมา ศิลปินหลายคนกำลังเผชิญกับอุปสรรคครั้งใหญ่ในการนำเสนอผลงานต้นแบบ

     ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคลเท่านั้น หลายคนออกมาปกป้องเทคโนโลยีว่าทำตามเงื่อนไขของแพลตฟอร์มที่ทำให้ผลงานหลายชิ้นถูกนำไปใช้เป็นแรงบันดาลใจหรือทรัพยากรข้อมูล(ตามที่เขาเรียกกัน) “หากไม่ต้องการก็ไม่ต้องโพสต์” คำนี้เหมือนการมัดมือชกศิลปินแล้วเขวี้ยงชีวิตศิลปินออกจากโลกออนไลน์ในแบบที่ไม่ควรจะเป็นที่สุด ดังนั้นตัวแพลตฟอร์มต้องทันเกมเกี่ยวกับเรื่องนี้ และสร้างเงื่อนไขหรือการตรวจสอบเพื่อช่วยเหลือศิลปินให้สามารถนำเสนอผลงานได้อย่างไม่ต้องกังวล ตอนนี้ยังไม่มีแพลตฟอร์มไหนสามารถรับรองหรือตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีสดใหม่อันนี้ที่อาจทำลายวงการศิลปะได้อย่างเต็มที่ ต่อไปผู้บริโภคก็อาจต้องเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องกลั่นกรองสิ่งที่เสพให้มากขึ้น มิเช่นนั้นเราอาจสูญเสียศิลปินฝีมือดี วงการศิลปะก็จะค่อยๆ ถดถอยลง ถึงเวลานั้น AI ก็ไม่สามารถใช้ฐานข้อมูลใหม่ๆ และโลกแห่งความสวยงามและความสร้างสรรค์จะถูกแช่แข็งไปตลอดกาล หรือนี่จะเป็นจุดจบของศิลปะอย่างที่ใครหลายคนเขาว่ากัน...

WATCH

คีย์เวิร์ด: #VogueArts