คุยกับ 'เอกรัชต์ อุบลศรี' เจ้าของผลงาน HOPE คนไทยเพียงหนึ่งเดียวที่ถูกเลือกจากโว้กอเมริกา
ภาพถ่ายพระพุทธรูปดังกล่าวต้องใช้ความพยายามถึง 4 ครั้งกว่าจะสำเร็จ...
นับเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์สำคัญของอุตสาหกรรมนิตยสารแฟชั่นระดับโลกก็ว่าได้ เมื่อล่าสุด Vogue ทั้ง 26 เอดิชั่นทั่วโลกได้เผยแพร่ Hope Issue ที่เป็นธีมหลักสำคัญในฉบับเดือนกันยายนนี้ ให้กับทุกคนได้เห็นกันแล้วอย่างเป็นทางการ โดยสำหรับโว้กประเทศไทย ฉบับ “ความหวัง” นี้ ยังได้รวบรวมผลงานของเหล่าศิลปินไทยทั้งสิ้น 17 ชิวิต ไม่ว่าจะเป็นนักวาดภาพประกอบ ไปจนถึงช่างภาพ ทว่ายังมีอีกหนึ่งคนที่ในเวลานี้ผลงานการถ่ายภาพของเขาได้ข้ามน้ำข้ามทะเลไปไกลถึงประเทศอเมริกาแล้วเป็นที่เรียบร้อย อีกทั้งยังเป็นผลงานของคนไทยเพียงคนเดียวในโปรเจกต์สำคัญนี้ ที่ได้รับเลือกให้ตีพิมพ์ลงนิตยสาร Vogue US เพื่อออกสู่สายตาคนทั่วโลกอีกด้วย เขาคนนั้นคือ “เอกรัชต์ อุบลศรี”
แท้จริงแล้วเอก และโว้กประเทศไทย ไม่ใช่คนอื่นไกลกันมากนัก เพราะหลายคนที่ติดตามโว้กประเทศไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ก็คงจะคุ้นหู คุ้นตากับชื่อของช่างภาพหนุ่มคนนี้ไม่น้อยในหลากหลายช่องทางของโว้กประเทศไทย แต่หากจะถามย้อนกลับไปถึงที่มาของการเป็นช่างภาพอาชีพแล้วนั้น เอกเล่าให้เราฟังอย่างกระชับว่า “แท้จริงแล้วเขาไม่ได้เริ่มต้นชีวิตนักศึกษาจากการเป็นช่างภาพแต่อย่างใด หากเขาเริ่มต้นสายทางเส้นนี้ด้วยการเป็นนักเรียนกราฟฟิก ที่ชื่นชอบในการพลิกหน้านิตยสารแฟชั่นดูอยู่เป็นนิจ ก่อนที่ต่อมาไม่นาน เขาจะได้ตัดสินใจไปลงเรียนการถ่ายภาพเพิ่มเติม และจับทักษะเสริมพิเศษนี้เองมาประกอบเป็นอาชีพหลัก ซึ่งก็เริ่มต้นเหมือนกับคนอื่นๆ คือการเป็นผู้ช่วยช่างภาพ”
ถึงแม้ว่าจะเป็นช่างภาพหนุ่ม (ค่อนไปทาง “เลือดใหม่” ด้วยซ้ำ) แต่ฝีมือการถ่ายภาพของเอกก็ฉกาจไม่แพ้ใคร เอกผ่านงานมาหลากหลายรูปแบบ แต่สไตล์การถ่ายภาพที่เอกบอกว่าตกหลุมรัก และทำได้ดีมากที่สุดก็เห็นจะหนีไม่พ้น สไตล์การถ่ายภาพที่มีความนิ่ง เรียบ ซ่อนกลิ่นอาย “กราฟฟิก” เอาไว้ในภาพ ซึ่งเมื่อโว้กประเทศไทยเค้นถามว่าเพราะอะไรภาพถ่ายของเอกจึงต้องมีกลิ่นอายความเป็นกราฟฟิกอยู่ในนั้น เอกก็ชิงตอบขึ้นมาพื่อคลายข้อสงสัยของเราทันทีว่า “อาจจะเป็นเพราะผมเรียนด้านกราฟฟิกมาด้วยครับ” กระนั้นเอกก็ยังไม่หยุดนิ่ง พร้อมที่จะทดลองงานใหม่ๆ อยู่เสมอ หลายงานกลายเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงที่เอกประทับใจไม่รู้ลืม เฉกเช่นครั้งหนึ่งกับการถ่ายภาพเซ็ตบิวตี้ให้กับโว้กประเทศไทย เมื่อฉบับเดือนมีนาคม ปี 2018 ที่เอกขอหยิบยกขึ้นมาอวดเราสั้นๆ ว่า โว้กประเทศสเปนถูกใจหนัก จนต้องขอซื้อไปลงเป็นของตัวเอง
เอกก็นับเป็นช่างภาพอีกหนึ่งคนที่โว้กประเทศไทยโยนโจทย์แห่งความหวังลงไปให้ ไม่ต่างจากศิลปินอีก 16 ท่านที่เหลือ และต่อจากนี้คือ 'เรื่องเล่าข้างหลังภาพ' พระพุทธรูปองค์ใหญ่ ที่ประดิษฐานตระหง่านอยู่ในรูปภาพครั้งนี้ สะดุดตากระทั่งที่โว้กอเมริกาต้องเลือกไปลงในฉบับเดือนกันยายนที่จะถึงนี้...
“จริงๆ แล้ว ตอนที่เราเริ่มทำโปรเจกต์ Hope ใหม่ๆ เราก็พยายามที่จะเริ่มนำโจทย์ที่ได้มาตีความว่า Hope ในความหมายของคนไปสามารถเป็นอะไรได้บ้าง และสิ่งแรกที่เรานึกถึงเลยก็คือ พระพุทธรูป ซึ่งในตอนนั้นประเทศเรายังอยู่ในช่วงของมาตรการล็อกดาวน์อยู่ จึงทำให้การไปเดินสำรวจโลเคชั่นเพื่อหาสถานที่ถ่ายภาพกลายเป็นเรื่องยากขึ้นมาทันที เราก็เลยต้องเปลี่ยนแผนการทำงานใหม่ หาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต จนเจอกับสิ่งที่มันใกล้เคียงกับภาพในหัวที่เรานึกไว้ เราเลยคิดว่านี่แหละที่มันน่าจะเป็นไปได้ เราน่าจะเดินทางไปได้ เราก็เลยตัดสินใจลองไปตามถ่ายดูแถวตลาดพลู แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะวันแรกที่เราไปถึงก็ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ด้วยความเพียรพยายามไปตรงนั้นถึง 4 รอบกว่าจะได้ภาพดังกล่าวมาในที่สุด จำได้ว่าเราต้องเดินวนอยู่แถวนั้นเป็นเวลานานมาก เพื่อเล็งให้ได้มุมภาพในแบบที่เราต้องการคือ เห็นองค์พระขนาดใหญ่ เห็นวิถีการก่อสร้างองค์พระ กระทั่งความใหญ่ขององค์พระที่เทียบกับขนาดบ้านที่เล็ก ซึ่งจุดที่เราต้องไปถ่ายเพื่อให้ได้ภาพนี้ออกมา เราก็ต้องตะเกียกตะกายปีนขึ้นไปบนสะพานด้วยตัวเอง ต้องรีบถ่าย แล้วก็รีบลงมา”
WATCH
เอกเล่าประสบการณ์ และเรื่องราวข้างหลังภาพดังกล่าวที่เป็นอีกหนึ่งก้าวความสำเร็จในชีวิตการทำงานของเขา ที่ใครอาจจะไม่เคยรู้มาก่อนให้โว้กประเทศไทยฟัง ด้วยน้ำเสียงสบายๆ กลั้วหัวเราะในลำคอเล็กน้อยเมื่อต้องพูดถึงความทุลักทุเลของการทำงานในครั้งนี้ แต่ท้ายที่สุดแล้วเอกก็ยอมรับว่า รู้สึกดีใจที่ภาพถ่ายที่เขาทุ่มเท ได้ข้ามน้ำทะเล และน่านฟ้าไปไกลถึงอีกฟากโลก ก่อนที่จะปิดประโยคนี้ด้วยเสียงหัวเราะแห่งความสุขอีกครั้ง...
ก่อนจะวางสายกันไป โว้กประเทศไทยแอบถามเอกไปว่านิยามความหวังของเอกคืออะไร ซึ่งเขาได้ตอบกลับมาง่ายๆว่า “ความหวัง ก็คือแรงขับเคลื่อนชีวิตแหละ” ซึ่งทำให้เราฉุกคิดอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนที่จะปิดบทสนทนาเรื่องความหวังในครั้งนี้ด้วยคำถามสำคัญที่ว่า “แล้วทำไมเรายังต้องมีความหวัง”
“ที่คนเราต้องมีความหวัง ก็เพราะคนเราต้องมีชีวิตต่อไปนั่นแหละ” เอกรัชต์ อุบลศรี กล่าวตอบปิดท้าย...
WATCH