LIFESTYLE

Adele กับอัลบั้ม 30 สะท้อนชีวิตขรุขระดั่งลูกระนาด และการยอมรับความเจ็บปวดอย่างผู้แพ้

ตีความชีวิตของศิลปิน Adele จากอัลบั้มล่าสุด 30 ที่เธอออกตัวว่าเพลงของเธอไม่ได้ทำเพื่อให้เด็กๆ ฟัง

6 ปีคือช่วงเวลาที่ศิลปินชาวอังกฤษอย่าง Adele พักเรื่องงานเพลงเพื่อไปโฟกัสกับชีวิตส่วนตัวและชีวิตครอบครัว เธอห่างหายจากวงการและสื่อไปนานพอควร จนกระทั่งกระแสแรกที่แฟนเพลงได้ยินเรื่องราวของเธอกลับกลายเป็นข่าวไม่ค่อยน่ายินดีนักอย่างการฟ้องหย่าของเธอและคู่ชีวิต Simon Konecki ในปี 2019 ด้วยเหตุผลเรียบง่ายแต่หน่วงใจสุดลึกว่าไม่มีความสุขในชีวิตแต่งงานแล้ว และนั่นจึงส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงระลอกต่อมา คือรูปร่างที่เปลี่ยนไปอย่างผิดหูผิดตากับน้ำหนักที่ลดลงจากเดิมค่อนข้างมาก

 

แต่แล้วอเดลก็ก้าวผ่านมันด้วยวิธีที่เธอถนัดที่สุด นั่นคือรวบจัดการความรู้สึกทั้งหมดและระบายออกด้วยการเรียบเรียงบอกเล่าชีวิตในช่วงวัยของเธอผ่านอัลบั้ม 30 อัลบั้มลำดับที่ 4 ที่สะท้อนชีวิตขรุขระดั่งลูกระนาด การแยกทางหย่าร้างที่ต้องเยียวยาตัวเองผ่านการเข้าพบนักบำบัด เพื่อจัดการกับความคิดที่ประดังประเดถาโถมเข้ามานับไม่ถ้วน การสำรวจก้นบึ้งหัวใจกับความเป็นแม่ให้กับลูกน้อยของเธอ และการอธิบายว่าเพราะอะไรเธอถึงตัดสินใจที่จะแยกทางกับเขา ไปจนถึงชื่อเสียงที่เธอมีเพื่อมุ่งสู่การยอมรับตัวเอง และความคาดหวังในอนาคต

 

อเดลยังคงซื่อตรงต่อความรู้สึกและไม่ลื่นไหลไปตามกระแสเสมอ เพลงที่เธอทำออกมายังคงยืนหยัดในสิ่งที่เธอเป็น ที่เธอมี และที่เธอเชื่อมั่น แม้ส่วนใหญ่อุตสาหกรรมเพลงในปัจจุบันจะหันเหความสนใจและเน้นไปว่าเพลงต้องแมสและกระแสต้องฮิตมากกว่า เหตุนี้อเดลที่ได้โอกาสนั่งคุยกับ Zane Lowe จาก Apple Music จึงได้พูดเรื่องของแพลตฟอร์ม Tiktok ขึ้นมาว่า “ถ้าทุกคนมุ่งจะทำเพลงเพื่อติ๊กต๊อก แล้วใครจะทำเพลงเพื่อคนรุ่นฉันล่ะ ฉันจะทำหน้าที่นั้นด้วยความเต็มใจเลย ฉันเลือกที่จะทำเพลงเพื่อคนที่อยู่ระดับเดียวกับฉัน คนที่ใช้เวลาอยู่บนโลกนี้และผ่านอะไรหลายๆ อย่างพอๆ กับฉัน ฉันไม่ได้อยากให้เด็กอายุ 12 มาฟังเพลงของฉันสักหน่อย มันค่อนข้างลึกซึ้งเกินไป”

ภาพ: Rolling Stone

“อัลบั้มนี้มันเหมาะกับพวกวัย 30 หรือ 40 ปีที่มุ่งหวังเพื่อตัวเองหรือพวกที่เข้ารับการบำบัด นั่นแหละสไตล์ฉันเลย เพราะมันเป็นสิ่งที่ฉันเป็นมาก่อน ฉันเลยกังวลมากกว่าว่าอัลบั้มนี้จะช่วยพวกเขาเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง” อัลบั้มนี้จึงเป็นผลสำเร็จหลังจากการกวนตะกอนจนน้ำขุ่นให้กลับมาใสแจ๋วอีกครั้ง ครั้งนี้เธอกลับมาทำงานร่วมกับ Greg Kurstin ผู้เป็นทั้งเพื่อนและโปรดิวเซอร์ คนที่ยอมรับในตัวตนและยอมปล่อยให้เธอได้ร้อง ตะโกน และทำอะไรก็ได้ที่อยากทำในสตูฯ โดยไม่ต้องสนใจอะไร อัลบั้ม 30 มีความหลากหลายของการใช้เสียงทั้งกลิ่นอายความเป็นป๊อป โซล และแจ๊สที่เธอชื่นชอบ องค์ประกอบของ Gospel ที่เธอใช้เป็นประจำ ช่วยสร้างความแปลกใหม่ของเพลงแต่ละเพลง ที่ร้อยเรียงขึ้นเป็นเรื่องราวชีวิตในวัย 30 ปีนิดๆ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ 

 

เปิดเพลงแรกของม่านการแสดงด้วย “Strangers by Nature” อเดลคร่ำครวญความโศกเศร้าผ่านสไตล์ Cinematic Tune ที่ผสมผสานเสียงออร์แกน เน้นเปียโน และเครื่องสาย ความกระหึ่มของเพลงที่เธอหยิบเอาองค์ประกอบของนักร้อง Judy Garland ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการดูภาพยนตร์ Judy มาใช้ร่วมในเพลง ความคลาสสิกวินเทจรุ่นราวคราวเดียวกับนักร้อง Ilene Woods ที่เราเคยได้ยินในเพลงประกอบการ์ตูน Cinderella สังเกตได้จากเทคนิคการร้อง การร้องประสาน และดนตรีที่ใช้ เคล้าไปกับเนื้อเพลงที่แสดงถึงหัวใจอันแตกสลายของเธอ “I'll be taking flowers to the cemetery of my heart, For all of my lovers in the present and in the dark” (ฉันจะเอาดอกไม้ไปวางที่สุสานหัวใจของฉัน แด่คนรักของฉันทุกคน ทั้งในปัจจุบัน และในความมืดมิด)

ภาพ: Globaltimes

ในเพลงที่ 3 “My Little Love” เป็นเพลงที่เธอแต่งให้กับลูกชายสุดที่รัก Angelo โดยเฉพาะ ตัวเพลงถ่ายทอดอารมณ์ของการก้าวผ่านอย่างยากลำบากโดยที่ตัวเธอเองไม่อยากให้ลูกต้องรับรู้ความเจ็บปวดอันร้าวรานของเธอ ความดาร์ก สด ไร้การปรุงแต่งของเพลงฉุดให้คนฟังน้ำตาไหลตามไปด้วยความขมขื่น อเดลบอกเล่าความรักมากมายที่มีต่อลูกและอ้อนวอนขอโทษลูกชายของเธอ ที่ไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์ครอบครัวให้สมบูรณ์แบบได้ในแบบที่แม่ควรจะทำ ทั้งคลิปเสียงที่เธอใส่แทรกเข้ามาในแต่ละช่วง แบไต๋ให้เราได้เห็นความรู้สึกทั้งหมดเปลือกของอเดล มุมส่วนตัวสุดลึกแบบที่น้อยคนนักจะเคยได้เห็น

 

My Little Love เต็มไปด้วยความรู้สึกมากมาย สับสน กังวล และเจ็บปวด อเดลเคยพูดไว้ว่าเธอเจ็บปวดเมื่อคิดว่า ตัวเธอคือใครถึงไปรื้อเอาชีวิตของลูกทิ้งเพื่อความสุขของตัวเอง มันทำให้เขาไม่มีความสุข และมันเป็นแผลที่เธอไม่คิดว่าจะเยียวยาได้ “I’m findin’ it hard to be here sincerely, I know you feel lost, it’s my fault completely” (แม่รู้ว่ามันยากที่จะมาอยู่ตรงนี้ได้ แม่รู้ว่าลูกรู้สึกหลงทาง และนั่นเป็นความผิดแม่ล้วนๆ เลย)

 

สำหรับเพลง “Oh my God” ในลำดับที่ 5 เป็นอิเล็กทรอนิกส์แดนซ์ป๊อปที่เล่าถึงการจีบครั้งแรกหลังการหย่าร้าง การหยอดกับหนุ่มคนหนึ่งที่เธอได้โอกาสพบในช่วงนั้น แล้วคิดไปว่าจะไม่ยอมกระโดดลงไปในหลุมอันหอมหวานนี้เด็ดขาด เธอรู้นะว่ามันไม่ดีแต่ก็อยากจะสนุกเหมือนกัน อเดลจำได้ว่าตอนออกเดทครั้งแรกหลังหย่าเธอลืมตัวพูดไปว่า “Do you mind? I'm married” จนเพื่อนต้องออกโรงเตือนเธอว่า เธอไม่ได้แต่งงานแล้วนะ “you're not” ซึ่งเธอก็อุทานตามมาว่า “oh shit. OK, oh my God” นั่นเอง เพลงนี้ยังเชื่อมโยงต่อเนื่องไปยังเพลงที่ 6 “Can I Get It” ที่มาพร้อมจังหวะอัพบีตและเนื้อเพลงในอารมณ์ที่ว่า “ขอได้ไหมล่ะ” ซึ่งนับว่าเป็นสองเพลงที่เข้ามาช่วยเบรกอารมณ์เค้นสุดๆ ในช่วงแรกได้เป็นอย่างดี 



WATCH




ภาพ: Vogue US

ต่อด้วยเพลงที่ 7 “I Drink Wine” เป็นช่วงเพลงสไตล์ที่อเดลถนัดสุดๆ ความเป็นบัลลาดผสมด้วย Gospel การนั่งลงถ่ายทอดเรื่องราวผ่านพลังเสียงเพื่อบอกว่าเธอโอเคแล้ว และไม่ต้องการที่จะเป็นคนอื่น ผสานเข้ากับเสียงแบ็กกิ้งแทร็กจำนวนมากสร้างคลื่นคนในการฉุดอารมณ์คนฟังให้คล้อยตาม เชื่อเถอะว่าเธอพยายามแล้วที่จะยึดไว้ให้แน่นและแบ่งช่วงชีวิตให้ได้ดีที่สุด แต่ตอนนี้เธอเรียนรู้ที่จะปล่อยมันไป เรียนรู้ที่จะเป็นอิสระ และหยุดที่จะเป็นแบบที่คนอื่นอยากให้เป็นเสียที “Why am I obsessin’ about the things I can’t control?, Why am I seekin’ approval from people I don’t even know?” (ทำไมฉันถึงหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่ฉันควบคุมไม่ได้ ทำไมฉันต้องโหยหาการยอมรับจากคนที่ฉันไม่ได้รู้จักด้วยล่ะ)

 

ในขณะที่ “To be loved” เพลงลำดับที่ 11 เป็นเปียโนบัลลาดอีกเช่นกัน เครื่องดนตรีเพียงชิ้นเดียวที่เคล้าไปกับเสียงร้องแตกระแหงผสานกับความเจ็บปวดของอเดล สะท้อนการหาหนทางสู่ความสุขอีกครั้ง การรำพึงรำพันว่าเพียงอยากได้ความรักและรักใครสักคน มันกลับทำให้ทุกอย่างพังครื่นไม่เป็นท่า เธอเปรยไว้ว่าเธอพยายามแล้ว แต่สุดท้ายแล้วก็แพ้ และเธอยอมแพ้ “Let it be known, known, known that I will choose, I will lose, It’s a sacrifice but I can’t live a lie”  (ให้ทุกคนได้รู้ไปเลย ว่าฉันเลือกที่จะพ่ายแพ้ มันคือการเสียสละ แต่ฉันทนอยู่กับคำโกหกไม่ได้จริงๆ) ซึ่งเพลงนี้แฟนเพลงและเหล่าปากกาเซียนยังยกให้เป็นหนึ่งในเพลงที่ดีที่สุดของอเดลอีกด้วย

ภาพ: ET Online

จบท้ายด้วย “Love is a Game” เสียงเพลง Cinematic Tune เพื่อจบฉากความรักอันยิ่งใหญ่ที่เป็นเหมือนการเล่นเกม เกมที่มีทั้งผู้แพ้ผู้ชนะ และในตานี้อเดลคือผู้แพ้ที่ยืดอกยอมรับมันอย่างผู้ชนะ แม้เพลงจะดูตัดพ้อต่อว่าพอสมควร แต่เมื่อเข้ามาช่วงค่อนเพลงแล้วทำนองกลับถูกปรับให้อัพบีตขึ้นหน่อยๆ ให้ภาพเหมือนกราฟชีวิตที่จะกลับมาพุ่งสูงอีกครั้งหลังจากที่ร่วงสู่การติดลบมาอย่างยาวนาน สื่อถึงชีวิตที่ต้องไปต่อ เพราะนี่คือก้าวของการเติบโตและการเป็นมนุษย์ เพื่อเริ่มต้นที่จะค้นหารักอีกครั้งและเรียนรู้ที่จะรักให้ถูกทาง “I can love, I can love again, I love me now, like I love him” (ฉันมีความรักได้อีกครั้ง ฉันรักตัวเองในตอนนี้ เหมือนที่ฉันรักเขา)

 

จากการวิเคราะห์ทั้งหมดแล้ว อัลบั้ม 30 ถือเป็นงานคราฟต์สมบูรณ์ที่อเดลเก็บเกี่ยวส่วนเสี้ยวที่แตกสลายในใจของเธอเอง มาต่อเข้ากันเป็นภาพใหญ่ได้อย่างสวยงาม น้ำเสียงทรงพลังที่ไม่ได้ถูกปรับให้คมกริบอย่างทุกครั้ง แต่ทุกเส้นเสียงแสดงถึงความดิบของบาดแผลในใจได้ดี เป็นอัลบั้มที่เธอยอมรับถึงความเจ็บปวดอย่างผู้แพ้ อเดลเผชิญหน้าความเจ็บปวดด้วยความเข้าใจแม้จะอ่อนแอเหลือเกิน แต่เธอเลือกที่จะไม่เดินหนีหรือสู้กับมัน กลับกันเธอปล่อยให้มันไหลผ่านตัวเธอไป รับรู้ถึงทุกความรู้สึกเสียใจและความเศร้าโศก ให้มันชำระล้างทุกอย่างในใจให้หมด และเมื่อทุกอย่างผ่านไปแล้วเธอจึงลุกขึ้นเดินต่อในฐานะของมนุษย์คนหนึ่งที่แม้จะไม่ได้เป็นผู้ชนะในครั้งนี้ แต่เธอเรียนรู้ เข้าใจ และจะเดินหน้าต่อไปในแบบที่ควรจะเป็น

WATCH