LIFESTYLE
ขุดค้น “พรมเปอร์เซีย” มรดกทางอารยธรรมที่ในอนาคตอาจสาบสูญค้นคว้ามรดกทางวัฒนธรรมของชาวเปอร์เซียผ่านผ้าพรมทอมือ เพราะอะไรถึงมีราคาแพงและเป็นที่ต้องการสูงของนักสะสม |
จากจุดประสงค์ของการถักพรมปูพื้นเกิดขึ้นเพื่อป้องกันความหนาวเย็นของชนพื้นเมืองในภูมิภาคตะวันออก ก้าวสู่มรดกทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่าในปัจจุบัน “พรมเปอร์เซีย” ขึ้นชื่อลือชามาหลายชั่วอายุคนว่าเป็นพรมที่มีคุณภาพดีเยี่ยม งดงาม และคงทนต่อการใช้งานหลายปี ในขณะที่พรมสมัยใหม่มีการใช้เครื่องจักรจำนวนมากเข้ามาช่วย เพื่อลดจำนวนแรงงานและต้นทุนของโรงงาน หากก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเสน่ห์และความประณีตของมันก็หายไปด้วยเช่นเดียวกัน เมื่อเทียบกับพรมที่ถักด้วยมืออย่างพรมเปอร์เซียที่ส่งต่อฝีมือและวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น
พรมทอมือเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมเปอร์เซียในอดีต ซึ่งก็คือประเทศอิหร่านในปัจจุบัน ชาวเปอร์เซียรู้จักการทอพรมมามากกว่า 2,500 ปี ซึ่งคาดเดาได้ว่าอาจจะนานก่อนที่จะมีอาณาจักรเปอร์เซียด้วยซ้ำ ยุคทองแห่งพรมเปอร์เซียอุบัติขึ้นในสมัยพระเจ้าชาห์อับบัส (Shah Abbas) กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชวงศ์ซาฟาวิยะห์ (Safavid) ในช่วงปีค.ศ.1501 - 1732 เทคนิคการถักทอพรมในยุคนี้มีหลากหลายรูปแบบและมีการประดิษฐ์ลวดลายใหม่จำนวนมากมาย ผสมกับการใช้ขนแกะและเส้นไหมที่มีคุณภาพดีในการทอ บางผืนมีการใช้ดิ้นเงินและทองมาเข้ามาผสมผสาน ทำให้ลวดลายมีความหรูหราและสวยงามมากขึ้น ยิ่งเป็นพรมงานฝีมือจากเมือง Tabriz, Mashad และ Heriz ด้วยแล้ว ยิ่งมีความโด่งดังและเป็นที่ต้องการสูง
ภาพ: Visit our Iran
ในยุคศตวรรษที่ 17 พรมทอมือก็ได้กลายเป็นของขวัญทางการทูตเพื่อสานสัมพันธไมตรีระหว่างอาณาจักรกับชาติฝั่งยุโรป เป็นการคบค้าสมาคมกับชนอื่นๆ โดยใช้พรมเป็นสื่อกลางในการนำพาอารยธรรมให้ต่างชาติได้ยลโฉม เพราะพรมทอมือถือเป็นศิลปะและของมีค่าระดับสูง อย่างในปัจจุบันการประมูลพรมจากยุคของราชวงศ์ซาฟาวิยะห์บางผืนมีราคาสูงถึง 2,000,000 ปอนด์ หรือราวๆ 100 ล้านบาทเลยทีเดียว นอกจากจะแปลได้ว่าเปอร์เซียต้องการให้เกียรติกับประเทศอื่นๆ แล้ว กลยุทธ์นี้ก็คงไม่ต่างจากประเทศไทยที่ต้องการเผยแพร่วัฒนธรรมพื้นเมืองของเรา ผ่านศิลปหัตถกรรมมากมายทั้งผ้าทอและเครื่องจักสาน
ภาพ: Kaichi Travel
สำหรับต้นตำรับพรมเปอร์เซียผืนเก่าที่สุดในโลกถูกค้นพบที่หุบเขาพาซีริก (Pazyryk) บนเทือกเขาอัลไต จากหลุมฝังศพของขุนนางในช่วงเวลานั้น พรมผืนนี้ที่ถูกถักขึ้นประมาณ 400 ปีก่อนคริสตกาล มีขนาด 72 x 79 นิ้ว ตัวพรมมีการใช้เทคนิคที่ค่อนข้างซับซ้อนในการถักและมีลวดลายละเอียดงดงาม บ่งบอกถึงงานฝีมือและประวัติศาสตร์อันยาวนานของการถักพรมเปอร์เซีย
WATCH
ภาพ: 123RF
ในด้านทักษะการทอพรมเปอร์เซียเรียกว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อย่างความหนานุ่มของเนื้อพรมสามารถดูได้ตาม knot ที่ผูกปมว่ามีจำนวนเท่าไหร่ เรียกว่าทุกหนึ่งตารางนิ้วจะพบกับปมผ้าหลายปม แต่โดยเฉลี่ยแล้วทั่วไปจะเริ่มจาก 160-200 knot แต่ถ้าพรมที่มีมาตรฐานสูงคุณภาพพรีเมียมก็จะมีความละเอียดของ knot อยู่ที่ประมาณ 1,500 knot ต่อตารางนิ้วขึ้นไป เป็นงานทำมือที่ละเอียดส่งต่องานฝีมือรุ่นสู่รุ่น เห็นได้ถึงความอุตสาหะและความมานะใจเย็นของช่างถักได้เป็นอย่างดี บางผืนมีการแซมเงินและดิ้นทองเพื่อสร้างมิติความสวยงามและเพิ่มมูลค่าของพรม ซึ่งพรมประเภทนี้จะพบได้ตามคฤหาสน์ขุนนางหรือพระราชวังขนาดใหญ่ บางผืนใช้เวลายาวนานเป็น 10 ปี เนื่องจาก 1 ผืนมักจะทำเพียงคนเดียวเท่านั้น ไม่ใช่เพราะขาดแคลนแรงงาน แต่เป็นเพราะฝีไม้ลายมือของใครของมัน พรมทุกผืนจึงมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร แม้คนเดียวกันทำแต่พรมแต่ละผืนก็จะไม่เหมือนกัน เรียกว่าทุกผืนมีเพียงหนึ่งเดียวในโลก
ภาพ: Tehran Time
พรมเปอร์เซียมีด้วยกัน 2 แบบหลักๆ แบบแรกคือ Normad Carpet คือพรมที่ถูกถักขึ้นด้วยฝีมือของชนเผ่าเร่ร่อนต่างๆ ในประเทศ จึงไม่มีรูปแบบตายตัว ลวดลายต่างๆ เกิดขึ้นจากจินตนาการของช่างแต่ละคน ในขณะที่พรมอีกหนึ่งแบบคือ City Type เป็นแบบที่มีการวางลวดลาย การวางผังอย่างเป็นระเบียบ ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นลายธรรมชาติ คน สัตว์ ต้นไม้ และมีแพตเทิร์นเป็นรูปวงกลมอยู่ตรงกลาง
ที่สำคัญคือการถักทอด้วยมือแม้จะประณีตขนาดไหน ก็ยังมีจุดผิดพลาดจะไม่ออกมาสมบูรณ์แบบ 100% แตกต่างจากพรมที่ทอด้วยเครื่องจักรในปัจจุบัน แต่ส่วนนี้แหละที่ทำให้พรมเปอร์เซียมีเสน่ห์ไม่เหมือนใคร ลวดลายวิจิตรไม่เพียงสวยงามเท่านั้นแต่ยังเป็นสาสน์ที่เล่าถึงอารยธรรมแห่งผืนดินตะวันออก ส่งมอบเรื่องราวและวิถีชาวบ้านของชาวเปอร์เซียให้ทั่วโลกได้รับรู้ สีที่ใช้ล้วนแต่เป็นสีที่มาจากธรรมชาติทั้งใบไม้ รากไม้ ดอกไม้นานาพันธุ์จึงดูสวยงามสบายตา ไม่ได้ฉูดฉาดเหมือนสีในยุคใหม่แต่ให้ความคลาสสิกอย่างยาวนาน ทำให้ไม่มีสีตก ไม่ซีด และเปื่อยยุ่ยได้ยากไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคสมัย ดังนั้นจึงมีความทนทานกว่าพรมทั่วไปหลายเท่า และยังงดงามมีเสน่ห์เฉพาะตัว
ภาพ: Carpetsth
พรมเปอร์เซียไม่เคยเสื่อมถอยทั้งราคาและอารยัน มีแต่จะพุ่งสูงขึ้นทะลุเพดาน ยิ่งพรมในยุคศตวรรษที่ 17 ยิ่งมีราคาแพงเนื่องจากเป็นของหายาก ส่วนมากแล้วจะอยู่ตามพิพิธภัณฑ์ระดับโลกทั้งนั้น รวมไปถึงช่วงยุค 1920 - 1970 ที่ย้อนไปไม่นานมากเองก็ยังถือว่ามีราคาแพง เพราะปัจจุบันอิหร่านไม่สามารถเลี้ยงแกะหรือแพะได้อย่างมีคุณภาพเหมือนเมื่อก่อน ด้วยปัจจัยหลายอย่างที่เกิดขึ้น ทำให้คุณภาพของเส้นไหมที่ใช้ถักพรมลดน้อยลง ยิ่งปัจจุบันการเข้ามาแทนที่ของเทคโนโลยีการใช้เครื่องจักรผลิตพรมจำนวนมากได้ในหลายๆ ครั้ง ทำให้วัฒนธรรมการทอพรมมีความนิยมน้อยลงกว่าเมื่อก่อนมาก การส่งต่อวิถีการทำจากรุ่นสู่รุ่นเองก็ลดน้อยลง เหลือเพียงไม่กี่ครัวเรือนเท่านั้นที่ยังคงสานต่อรากเหง้าศิลปะนี้ ด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลทำให้พรมเปอร์เซียมีราคาสูง และเป็นที่ต้องการของเหล่านักสะสม จนหลายคนกลัวว่ามรดกทางวัฒนธรรมชิ้นนี้อีกไม่นานก็อาจสาบสูญหายไปได้
ข้อมูล : TrueID, Brittannica
WATCH