2 ปีผ่านไปเรื่องของ Sulli f(x) สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างไร หรือสังคมไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย
ความน่าเศร้าใจของเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เราสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก แต่การสูญเสียดังกล่าวกลับไม่ได้ทำให้สังคมตระหนักถึงเรื่องนี้มากเท่าที่ควร
ตลอดระยะเวลาหลายปีเราเชื่อว่าหลายคนต้องเคยเห็นข่าวการบูลลี่ปรากฏขึ้นบนหน้าฟีดโซเชียลมีเดียหรือช่องทางต่างๆ ของสื่อชั้นนำทั่วโลก ประเด็นเรื่อง “Body Shaming” กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกคนควรตระหนักถึงความละเอียดอ่อนตรงนี้อย่างมาก เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2019 Sulli แห่งวง f(x) ศิลปินสาวผู้ถูกสังคมอันโหดร้ายฆ่าโดยที่คนในสังคมไม่รู้เนื้อรู้ตัว (อ่านบทความซอลลี่ฉบับเต็ม ที่นี่) แต่ช่วงตั้งแต่เหตุการณ์นั้นเป็นต้นมาเหมือนสังคมให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้มากขึ้น ทว่ามันกลับเป็นเหมือนแคมเปญฉากหน้าที่สรรสร้างโลกอันสวยงามตามอุดมคติ อีกทางหนึ่งก็ยังมีข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง เราตั้งคำถามว่าบทเรียนราคาแพงที่จ่ายด้วยชีวิตของคนๆ หนึ่งมีค่าอย่างมาก หรือสังคมไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย...
ภาพ Sulli แห่งวง f(x) ในลุคชุดเดรสสุดสง่า / ภาพ: @jelly_jilli
ในวันที่ซอลลี่ตัดสินใจปลิดชีพตัวเองลงอย่างน่าเศร้า สื่อทุกสำนักต่างประโคมข่าวกันอย่างอึกกระทึกคึกโคม คนทั่วโลกต่างหยิบยกประเด็นเรื่องการถูกสังคมป้ายมลทิน บีบรัดจนคนๆ หนึ่งกลายเป็นเอเลี่ยนและจบชีวิตลงไปในที่สุด กระดานลูกดอกที่แบกรับลูกดอกจำนวนมหาศาลที่รุมปาใส่อย่างไม่ยั้งมือได้แตกสลายกลายเป็นเพียงชื่อในความทรงจำ กระแสเรื่องการเหยียดรูปร่างหน้าตา การปฏิบัติตามธรรมเนียมที่ถูกตีกรอบขึ้น และบรรทัดฐานอีกหลายประเด็นถูกหยิบยกมาพูดถึงกันอย่างหนาหู เหมือนกับว่าบทเรียนซอลลี่พร้อมเป็นตัวอย่างให้ทุกคนศึกษาและทำความเข้าใจกับเรื่องนี้มากขึ้น
การแสดงเข้าถึงบทบาทของ Sulli ในภาพยนตร์เรื่อง Real / ภาพ: Sulli Thailand
ช่วงเวลาที่วงการเคป๊อปเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับวงการบันเทิงแขนงอื่นของเกาหลีที่เติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน นับเป็นช่วงเวลาที่เหล่าหนุ่ม-สาวมากความสามารถได้ก้าวขึ้นมาเดบิวต์ในฐานะศิลปิน หลายคนที่เจนเวทีก็เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดเช่นกัน แต่สิ่งที่หนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ “ความหลากหลายที่ไม่หลากหลาย” เราจะเห็นสมาชิกต่างสัญชาติในอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีหลายวง ทั้ง Blackpink, Aespa, NCT และอื่นๆ อีกมากมาย ทว่าบรรทัดฐานความงามยังถูกผูกติดกับชุดความคิดแบบเดิมๆ ว่าต้องผอมเพรียว นอกจากนี้ยังต้องไม่มีข่าวเสียหายหรือบางคนหนักกว่าคือเข้าไปยุ่มย่ามเรื่องชีวิตส่วนตัวทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่ไม่ควรเรื่องใครมาตัดสินว่าผิดหรือถูกด้วยซ้ำ ภาพลักษณ์ความเร่าร้อนและมั่นใจของซอลลี่ที่เธอถูกสังคมป้ายมลทินให้ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ หรือแม้แต่ความมั่นใจในการแสดงแบบที่ซอลลี่เข้าถึงบทบาทความดำมืดของบทในเรื่อง “Real” เราก็ไม่ค่อยได้เห็นมากนักจากสื่อบันเทิงเกาหลี คำถามจากเหล่าศิลปินคือ “ใครจะกล้าเอาตัวเองไปเสี่ยงในสถานการณ์ที่เหมือนเหรียญ 2 ด้านแบบนั้น” ลองนึกย้อนไปตั้งแต่ซอลลี่แสดงภาพยนตร์และซีรีส์อย่างเข้มข้นมาจนถึงวันนี้เราแทบไม่เห็นการแสดงในบทบาทสุ่มเสี่ยงของศิลปินดังสักเท่าไรนัก นี่ก็เป็นหนึ่งผลกระทบทางอ้อมที่ทำให้เราเห็นว่าการลงโทษทางสังคมจากคำพูดของเพื่อนมนุษย์สร้างกำแพงบางอย่างปิดกั้นการสร้างผลงานในรูปแบบที่ควรจะเป็น
WATCH
Shindong สมาชิกวง Super Junior ที่โดนบูลลี่รูปร่างอย่างหนัก / ภาพ: Koreaboo
Shindong สมาชิกวง Super Junior คือศิลปินอีกหนึ่งคนที่ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับรูปร่าง เรื่องนี้อาจจะซับซ้อนขึ้นมาอีกสักนิด หลังจากซอลลี่เสียชีวิตประเด็นดังกล่าวถูกยกขึ้นมาพูดถึงเมื่อนักร้องหนุ่มโดนแปะป้ายสถานะคำว่า “อ้วน” พร้อมการเหยียดถึงการเป็นสมาชิกวงบอยแบนด์สุดโด่งดัง ทว่าในอีกมุมหนึ่งหลายคนก็มองว่าเขาเองก็เคยทำพฤติกรรมแบบนี้กับคนอื่นจึงสมควรโดนบ้าง แต่คำถามว่า “หากเขาเคยทำเราก็ควรทำกับเขากลับงั้นหรือ” บริบทของเรื่องนี้พาเรานึกถึงคำว่า “เหยียดในเหยียด” แม้เขาจะเคยผิดพลาดและสร้างความทุกข์ใจให้กับผู้อื่น แต่ก็ไม่ได้มีความจำเป็นหรือความเหมาะสมใดที่อ้างการกระทำดังกล่าวคืนสนองชินดง หากเราตระหนักเรื่องการเหยียดรูปร่างหรือแม้กระทั่งการเหยียดรูปแบบใดก็ตาม คนที่เป็นผู้ตระหนักรู้ควรจะเป็นผู้หยุด ไม่ใช่ใช้สิ่งนี้เป็นข้ออ้างในการเหยียดต่อกันไปเรื่อยๆ หากเราหยุดวงจรอุบาทว์นี้ก็จะจบลง ในทางกลับกันถ้าเราไม่หยุดวงจรนี้ก็หมุนวนเวียนต่อไป ถ้าให้เปรียบก็เหมือนชายคนหนึ่งที่สักลายเป้าลูกดอกไว้กลางหลังและเคยด่าทอใครสักคน แม้เราจะไม่ชอบเพียงใดแต่เราก็ไม่ควรปาลูกดอก(พ่นคำเหยียด)ปักลงบนร่างกายเขาผู้นั้นแต่อย่างใด ในเมื่อคนที่รู้กลับไม่ห้ามและตำหนิอย่างตรงจุด แต่เลือกที่จะทำซ้ำเพื่อสร้างบรรทัดฐานศาลเตี้ย บทเรียนซอลลี่ก็อาจไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลยกับเรื่องนี้
ภาพสุดท้ายของ Koohara ในอินสตาแกรมส่วนตัวที่มาพร้อมคำบรรยายใต้ภาพว่า "ฝันดีนะ" / ภาพ: @koohara__
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจต่อเนื่องมาจากเหตุการณ์ซอลลี่คือการจากไปของคนใกล้ตัวอย่าง Koohara เธอเป็นน้องสาวคนสนิทผู้ต่อต้านการบูลลี่ทุกรูปแบบต่อศิลปิน เธอเองก็เคยประสบกับแรงทึ้งอันโหดร้ายจากเหยี่ยวข่าวแบบไม่สนใจความเป็นส่วนตัว หลายคนเชื่อว่าความโหดร้ายที่เกิดขึ้นกับซอลลี่ส่งผลถึงสภาวะจิตใจคูฮาราไม่น้อย อีกทั้งยังมีเรื่องประเด็นความมั่นคงด้านจิตใจที่เธอมีปัญหาอยู่ในช่วงสุดท้ายชองชีวิต แต่เหมือนกับว่าหลายคนละเลยจนปล่อยให้มันบานปลาย ก่อนศิลปินสาวจะจบชีวิตตามซอลลี่ไปในอีกไม่กี่เดือนถัดมาเท่านั้น เรื่องนี้ทำให้หลายคนเริ่มสนใจปัญหาด้านจิตใจมากขึ้น มันไม่ใช่การเรียกร้องความสนใจหรือตกอยู่ช่วงเวลาแย่ๆ ช่วงเวลาหนึ่ง แต่มันเป็นกับดักที่พร้อมทิ่มแทงมนุษย์คนหนึ่งอยู่เสมอ เรื่องนี้เหมือนจะเป็นบทเรียนที่ทำให้คนทุกคนสนใจจริงจังกว่าการบูลลี่ เพราะช่วงหลังข่าวคราวเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าจนทำให้คนๆ หนึ่งตัดสินใจทำบางอย่างที่เป็นผลร้ายกับตัวเองนั้นน้อยลงพอสมควร
Hwasa ศิลปินเกาหลีอีกหนึ่งคนที่เคยถูกบูลลี่เรื่องรูปร่างหน้าตา / ภาพ: Quora
ตลอดระยะเวลาเกิน 2 ปีที่ผ่านมาเหมือนกับบทเรียนซอลลี่จะสอนคนทั่วโลกได้มากจริงๆ แต่ถ้ามองลึกลงไปมันกลับเป็นบทเรียนที่พร่ำสอนได้เพียงชั่วครู่ แต่การบูลลี่ยังเกิดขึ้นในวงกว้างของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนโลกออนไลน์ที่ใครจะพ่นอะไรก็ได้ เพราะสุดท้ายคนพ่นสิ่งร้ายก็อยู่ภายใต้ความไร้ตัวตน เราจึงเห็นการสาดเสียเทเสียใส่กัน มากไปกว่านั้นบางเรื่องยังใช้เป็นมุกตลกสไตล์บูลลี่สร้างเสียงหัวเราะจนมันกลายเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่แค่กับเกาหลี แต่หมายถึงทุกสังคมทั่วโลก ตลอดระยะเวลาหลายปีทั้งก่อนและหลังซอลลี่เสียชีวิต เราจะเห็นชื่อศิลปิน โดยเฉพาะศิลปินหญิงโดนบูลลี่รูปร่างหน้าตาอย่างต่อเนื่อง ชื่อของ IU, Mina, CL, Hwasa, Wendy, Kyla และคนอื่นๆ อีกมากมายปรากฏในข่าวประเภทนี้เสมอ เมื่อมีข่าวครั้งหนึ่งผู้คนก็ลุกฮือกันขึ้นมาแสดงการปกป้องอย่างน่าชื่นชม แต่เมื่อกระแสค่อยๆ จางหายไป การเรียกร้องและเปลี่ยนแปลงก็หายไปเช่นกัน
เซตภาพเซ็กซี่ของ Sulli ที่เคยโดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักแบบไร้เหตุผล / ภาพ: koreaportal
เมื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบความคิดไม่ถูกผลักดันอย่างต่อเนื่องอย่างที่ควรจะเป็น มันก็เป็นเรื่องยากที่ขัดเกลาสังคมรูปแบบใหม่ไร้การบูลลี่และเปิดกว้างรับทุกการกระทำที่อาจก้าวออกจากกรอบสังคมแบบที่ซอลลี่ทำให้เกิดขึ้นได้ดั่งใจหวัง เรากำลังพูดถึงบทเรียนราคาแพงที่จ่ายด้วยชีวิตคน แต่ในท้ายที่สุดมันก็เหมือนกับว่าสังคมไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย... ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะผลักดันเรื่องนี้แบบไม่ต้องมีกรณีศึกษา ไม่ต้องมีประเด็นและกระแสที่สร้างแรงกระเพื่อมแล้วค่อยๆ จางหายไป ถึงเวลาแล้วหรือยังที่การบูลลี่จะถูกต่อต้านแม้ยังไม่มีใครโดนบูลลี่และถูกตราหน้าหากก้าวออกจากกรอบความคิดแบบเดิมๆ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราต้องกันไว้ก่อนจะมาแก้ และสุดท้ายถึงเวลาแล้วหรือยังที่ไม่ว่าศิลปินหรือมนุษย์คนใดก็ตามจะได้สัมผัสความสวยงามของโลกนี้โดยไม่มีเพื่อนมนุษย์ด้วยกันมาบ่อนทำลายความสุขด้วยการสาดมลทินใส่กันเช่นนี้
WATCH