FASHION
จาก 'ถนัดชิม' สู่ 'ถนัดช่วย' เพจรีวิวอาหารผันตัวเป็นจิตอาสาช่วยเหลือสังคมเต็มตัวช่วงโควิด!ถนัดช่วย คือเพจที่เดินหน้าทำโปรเจกต์ช่วยเหลือสังคมในช่วงสถานการณ์โควิด-19 |
ในสถานการณ์โควิด-19 ทุกคนล้วนต้องปรับตัว บ้างปรับตัวเพื่ออยู่รอด บ้างปรับตัวเพื่อรักษาและพัฒนา แต่สำหรับเพจอาหารเพจหนึ่ง พวกเขาปรับตัวเพื่อช่วยเหลือ... “ถนัดชิม” ปรับภาพลักษณ์พร้อมเปิดเพจใหม่กับโปรเจกต์ “ถนัดช่วย” โครงการที่พร้อมช่วยเหลือผู้คนด้วยความสนใจที่ตนเองถนัด วันนี้โว้กจะพาไปทำความรู้จักกับความถนัดที่สร้างแรงบันดาลใจในการช่วยเหลือผู้คนมากมาย ความถนัดที่จะกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของสถานการณ์ปัจจุบันที่ทุกคนต้องหันมามองการยื่นมือช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์โดยบริสุทธิ์ใจ พวกเขาทำอย่างไรและพวกเขาได้อะไร ติดตามได้ที่นี่เลย!
สมาชิกผู้ก่อตั้ง ถนัดชิม และ ถนัดช่วย ทั้ง 3 คน
เราเริ่มกันที่สมาชิกทั้ง 3 ท่านอย่าง สุทิพย์-สุทิพยาพร ธนะโชติ วัย 24 ปี ปุ้ย-ภูวดล ป้านสกุล และ เฟรช-ธนพงศ์ อินทุวรรณรัตน์ วัย 25 ปี (โดยส่วนถนัดช่วยมีทีมงานทั้งครอบครัวและเพื่อนๆ คอยสนับสนุน) พวกเขาคือบัณฑิตจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนร่วมคณะในรั้วจามจุรีจับกลุ่มนำความชื่นชอบด้านอาหารและไลฟ์สไตล์มาผูกโยงเข้าด้วยกัน ช่วงปี 4 เริ่มคาเฟ่ฮอปปิ้งร่วมกันเพราะเริ่มว่างและหาสถานที่ทำธีสิส ณ ตอนนั้นคงเป็นเหมือนกับกิจกรรมยามว่างง่ายๆ ก่อนมาทำเพจ แต่นั่นคือจุดเริ่มต้นสำคัญของ “ถนัดชิม” ซึ่งตัวตนร่วมของทั้ง 3 คนสร้างคาแรกเตอร์ให้เพจนี้แข็งแกร่งมาตั้งแต่ต้น
ตัวอย่างการรีวิวของเพจ ถนัดชิม
คุณสุทิพย์กล่าวว่า “เพจถนัดชิมเป็นเพจรีวิวร้านอาหาร เน้นทางคาเฟ่และร้านอาหารสวยงาม” โดยให้เหตุว่า “ด้วยความเป็นวัยรุ่นชอบความแปลกใหม่และมีดีไซน์” เพราะฉะนั้นถนัดชิมจึงเป็นการมองเรื่องรสชาติเป็นรสนิยมส่วนบุคคลเน้นเรื่องผลิตภัณฑ์ของร้านและการตกแต่งเสียมากกว่า แต่ก็ไม่ได้ละทิ้งจุดสำคัญของ “อาหาร” ไปแต่อย่างใด เพราะอย่างไรก็ตามมันก็ต้องมีพื้นฐานจากความอร่อยด้วย
WATCH
ตัวอย่างภาพของจุดบริการอาหารของถนัดช่วย
ความมุ่งมั่นตั้งใจและตัวตนของถนัดชิมเสริมสร้าง “ถนัดช่วย” ให้เกิดขึ้น แรกเริ่มเดิมทีมีตัว ช.ช้างในตระกูลเยอะมาก ทั้ง “ถนัดชิม ถนัดชิลล์ ถนัดใช้” คำว่า “ถนัดช่วย” จึงเหมาะเจาะพอดี คุณสุทิพย์เผยว่า “ถนัดช่วยเป็นคำที่เราตั้งใจทำมาตั้งแต่ต้น เพราะคิดว่าการช่วยเหลือเป็นสิ่งที่ดี พอสถานการณ์โควิด-19 เกิดขึ้นก็ไม่รอช้าเปิดตามความตั้งใจให้สอดรับกับสถานการณ์และมองไปถึงระยะยาวเลยค่ะ” พวกเขาเผยให้เห็นเบื้องลึกภายในใจจิตด้านความโอบอ้อมอารีพร้อมแบ่งปัน แต่การลงมือทำไม่ได้ง่ายเหมือนความตั้งใจ
โปรเจกต์ที่เกิดจากเพจนี้ไม่ใช่แค่โครงการทำทีเดียวเลิกขนาดย่อมๆ
“แจกของ 50 เขตไม่ใช่เรื่องง่าย” หลายคนคิดว่าการหอบข้าวของไปแจกที่ต่างๆ อาจจะดูง่าย แต่เปล่าเลยนี่คือโจทย์มหาหิน ความเปลี่ยนแปลงไปเมื่อครั้งรีวิวไลฟ์สไตล์ดูดีสวยงาม จัดแจงเรียบร้อย แต่พอเป็นเรื่องจิตอาสามันไม่ใช่ คุณสุทิพย์บอกเบื้องหลังความลำบากว่า “เราต้องประสานงานหลายฝ่ายเพื่อตั้งจุดแจกอาหาร ต้องวางแผนทั้งก่อนและหลังกิจกรรม ทุกอย่างเราทำเองหมด มันเหมือนการผจญภัยย่อมๆ เลยค่ะ แต่มันก็ดีนะคะเป็นเหมือนประสบการณ์ให้ได้เรียนรู้”
ตัวอย่างอาร์ตเวิร์กของ ถนัดช่วย เพื่อสื่อสารการช่วยเหลือได้ง่ายขึ้น
“เป้าหมายสำคัญแต่ไม่สำคัญเท่าการกระทำเพื่อบรรลุเป้าหมาย” ทางถนัดช่วยมีสโลแกนประจำว่า “เราพร้อมที่จะ co (พ้องมาจาก thanud.co ชื่อเพจภาษาอังกฤษ) กับทุกคนที่มีใจช่วยเหลือ” จุดนี้เป็นหัวใจสำคัญของโปรเจกต์จริงๆ เป้าหมายคือการร่วมกลุ่มกันช่วย ทำให้สังคมดีขึ้น แต่ในปัจจุบันเพจก็ยังไม่ได้ร่วมมือขึ้นมาเป็นกิจจะลักษณะมากนักแต่ลงมือทำโดยกลุ่มตัวเองเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของพลัง โดยพวกเขายังใช้จุดเด่นเรื่องคอนเทนต์และอาร์ตเวิร์กต่างๆ จากการทำถนัดชิมเข้าช่วย เพื่อรักษาเอกลักษณ์เหมือนเป็นเพจครอบครัวเดียวกัน ทั้งหมดสื่ออารมณ์ยิ่งคงคาแรกเตอร์ครอบครัว “ถนัด” ได้มากขึ้น นั่นทำให้การนำเสนอช่วยเหลือหรือการทำกิจกรรมต่างๆ เห็นเป็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างอาร์ตเวิร์กเมนูความอ่านง่ายเข้าใจง่ายยิ่งทำให้กระบวนการช่วยเหลือง่ายขึ้นอีกระดับ
การรับฝากร้านรีวิวสินค้าทางอินสตาแกรมของถนัดชิม ซึ่งพ่วงมาจากการช่วยเหลือ
โควิดทำให้เพจถนัดช่วยกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการและมันส่งผลแม้กระทั่งผู้ริเริ่มเองแต่ก็ไม่หนักเกินไปจนต้องล้มลง พวกเขายังยืดหยันอยู่ได้ โดยทีมงานกล่าวถึงความโชคดีในความโชคร้ายนี้ว่า “งานเราใช้แนวคิดนำทาง ไม่มีการลงทุนหรือผลิตอะไรมากมาย เพียงแต่ต้องปรับวิธีการทำงานรวมถึงรูปแบบคอนเทนต์ให้สอดคล้องไปกับสถานการณ์ เช่นจากเคยรีวิวร้านอาหารต่างๆ ก็มารีวิวอาหารเดลิเวอรี่แทน” จุดนี้ทำให้ถนัดช่วยและถนัดชิมสามารถช่วยเหลือร้านอาหารได้ด้วยในเรื่องการรีวิวในเงื่อนไขพิเศษรวมถึงแถมสลอตการลงคอนเทนต์ให้เพื่อโปรโมตให้กับร้านต่างๆ จุดนี้ทำให้เราเห็นว่าแท้จริงแล้วไม่ใช่แค่คนที่มารอรับข้าวเท่านั้นที่ต้องการความช่วยเหลือ เจ้าของธุรกิจบางอย่างก็ต้องรักษาสถานภาพความมั่นคงเช่นกัน ถนัดชิมและถนัดช่วยจึงเป็นมากกว่าหน่วยจิตอาสาช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส
บรรยากาศการช่วยเหลือจาก ถนัดช่วย
อย่างที่คุณสุทิพย์บอกว่าอยากทำถนัดช่วยมานานแล้วและคิดเป็นแผนระยะยาวทำให้ต่อไปหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ทีมงานก็ยืนยันแน่นอนว่ายังมีต่อไป อาจจะปรับเปลี่ยนการช่วยเหลือไปตามบริบทของสังคม คนชรา คนพิการ สิ่งแวดล้อม เรื่อยไปจนถึงนำเสนอแนวคิดพัฒนาสังคมอย่างเช่น รณรงค์การพกปิ่นโตเป็นต้น ตอนนี้เป็นช่วงเริ่มต้นและสถานการณ์ค่อนข้างคับขันฉะนั้นทางทีมงานจึงอยากจะโฟกัสกับปัญหาตรงหน้าและช่วยเหลือให้เต็มที่ที่สุดตามกำลัง แต่มั่นใจได้เลยวว่าถนัดช่วยจะไม่หายไปไหน พร้อมปิดท้ายกับเราว่า “ฝากถนัดชิมและถนัดช่วยด้วยนะคะ 1 เสียงที่แชร์ก็มีความหมาย เผื่อเป็นไอเดียหรือจุดประกายความคิดให้ใครหลายๆคน เพื่อต่อชีวิตให้อีกหลายๆชีวิตค่ะ”
บรรยากาศความคึกคักที่หลายคนมาร่วมด้วยช่วยกัน
อย่างที่เห็นว่าทีมงานเพียง 2-3 คนประกอบกับช่างภาพและการประสานอันดีเยี่ยมก็สามารถลุกขึ้นมามีจุดยืนแข็งแกร่งพร้อมรังสรรค์คอนเทนต์คุณภาพและช่วยเหลือสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ท้ายที่สุดทางทีมงานถนัดช่วยอยากจะส่งกำลังใจให้กับแฟนโว้กและทุกๆ คนว่า “สู้ๆนะ เป็นกำลังใจให้ ทางเราก็จะพยายามเต็มที่ที่จะทำให้อะไรหลายๆ อย่างในสังคมดีขึ้น จะเริ่มต้นที่ตัวเรา เป็นจุดเล็กๆ ที่ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไม่มากก็น้อย ตั้งใจทำความดี ใช้ชีวิตให้มีความสุขต่อไปนะทุกๆ คน” และนี่คือเรื่องราวของกลุ่มคนที่ตั้งใจทำตามความชอบและเปลี่ยนมันเป็นประโยชน์ต่อสังคม “ถนัดช่วย”
ถนัดช่วย
FB: https://www.facebook.com/thanudco/
Instagram: thanud.co
ถนัดชิม
FB: www.facebook.com/tha.nud.chim
Instagram: tha.nud.chim
ชมภาพบรรยากาศการช่วยเหลือเพิ่มเติมด้านล่างนี้เลย
WATCH