rangsima
LIFESTYLE

เปิดเส้นทาง 'หน่อย-รังสิมา' กว่าจะเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ ประสบการณ์ชีวิตหล่อหลอมเธอมาอย่างไรบ้าง

“ตอนนี้เทิร์นเข้าโหมดไม่สนใจแล้ว คิดว่าชีวิตที่ใช้อยู่ตอนนี้มันไม่ใช่ Chapter เพราะชีวิตเรามันตายไปแล้ว นี่คือภาคพิเศษ เราต้องใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ เลือกคนที่อยู่ด้วยแล้วภูมิคุ้มกันไม่ตก”

     “ขีดเส้นใต้ 2 เส้นว่าสำนักพิมพ์นี้เป็นของเราแต่เพียงผู้เดียว ไม่มีพาร์ตเนอร์หรือหุ้นส่วนใดๆ ทั้งสิ้น” ประโยคนี้ของ 'หน่อย-รังสิมา ตันสกุล' ไม่ได้ให้ความรู้สึกเหมือนหมาป่าเดียวดายอย่างที่นักเขียนหนุ่มใหญ่ชอบใช้บรรยายตัวเอง แต่เหมือนแมวสาวที่นอนรับแดดอุ่นอย่างสบายใจ สวย และแน่นอนว่าไม่แยแสใครทั้งนั้น ในฐานะนักแปล บรรณาธิการ เจ้าของสำนักพิมพ์ และ Cancer Survivor เธอตกผลึกแนวทางการทำงานและใช้ชีวิตมาอย่างชัดเจนใสแจ๋ว และนี่คือบางส่วนที่เธอพร้อมจะแบ่งปันกับผู้อ่านว่ากว่าจะเป็นรังสิมาและไลบรารี่เฮ้าส์ สำนักพิมพ์อิสระขนาดจิ๋วที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์การแปลวรรณกรรมชั้นเลิศจากทั่วโลก และมีคอมมูนิตี้คนอ่านเป็นของตัวเอง ประสบการณ์ชีวิตหนักหน่วงเคี่ยวกรำและหล่อหลอมเธอมาอย่างไรบ้าง

 

หน่อย-รังสิมา ตันสกุล

Vogue: เส้นทางวรรณกรรมของเราเริ่มจากตรงไหน

Rangsima: เป็นเส้นทางที่เรียบง่ายมากค่ะ ชอบหนังสือ รักการอ่าน สนอกสนใจภาษาต่างประเทศเป็นพิเศษ เวลาเห็นลูกพี่ลูกน้องที่เขาเรียนภาษาต่างประเทศจะรู้สึกว่าโก้เก๋กว่าสายวิทย์หรืออื่นๆ แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญเกิดขึ้นตอนเรียนมัธยม เรารู้สึกว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้เรากลายมาเป็นอย่างทุกวันนี้ คือคุณอา (อาจารย์มาลี จีนะเจริญ) ซึ่งเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษได้ทุนไปดูงาน แต่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตที่เมือง Stratford-upon-Avon ขณะไปทัศนศึกษาที่บ้านเกิดของ William Shakespeare เราอธิบายความรู้สึกที่เกิดขึ้นตอนนั้นไม่ได้นะ แต่ปฏิกิริยาที่แสดงออกและเลือกทำคือเข้าห้องสมุดไปค้นว่าเชกสเปียร์คือใคร ก็เลยได้รู้จักมหากวีเอกของโลกเป็นครั้งแรก แล้วก็เดินจากห้องสมุดไปที่ห้องแนะแนว เพื่อที่จะไปหาว่าถ้าเราอยากเรียนเกี่ยวกับผลงานของเชกสเปียร์ ต้องเข้ามหาวิทยาลัยไหน เมเจอร์อะไร ตอนที่เอนทรานซ์ติดคณะมนุษยศาสตร์ เอกวรรณคดีอังกฤษ มันก็มีความฟินที่ได้เรียนสิ่งที่อยากเรียนแหละ แต่พอโตแล้วถึงเพิ่งมาคิดได้ว่าจริงๆ แล้วนี่เป็นความพยายามที่จะใช้ชีวิตแทนคุณอาที่ไม่มีโอกาสได้นำสิ่งที่เขาไปเรียนรู้กลับมาใช้

 



WATCH




V: แต่เรียนจบแล้วกลับไปทำงานในสาขาอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับวรรณคดีเลย

Rangsima: ช่วงที่เรียนจบเป็นช่วงฟองสบู่แตก เลยเลือกบริษัทจากฐานเงินเดือนเป็นหลัก ผ่านมาทั้งบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ เป็นเลขาผู้บริหารด้านไอทีของธนาคาร บริษัทผลิตคอมพิวเตอร์ระดับโลก ซึ่งในแวดวงเหล่านี้มีภาษาที่ค่อนข้างเฉพาะ ความรู้ด้านวรรณคดีอังกฤษที่เรียนมาอย่างตั้งใจจึงไม่ได้ใช้เลย เราเลยรู้สึกว่าคุณค่าของตัวเราค่อยๆ ลดลงทุกวันๆ สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมคือชื่อรังสิมา ตันสกุล จะอยู่ในลำดับท้ายๆ ของทุกโปรเจกต์ ทั้งที่สมัยเรียนอยู่ในลำดับแรกๆ มาตลอด อดทนจนผ่านไป 6-7 ปีก็มาถึงวันที่นั่งจ้องจอคอมพิวเตอร์อยู่ในออฟฟิศซึ่งมีข้อมูลเต็มไปหมด แล้วคุยกับตัวเองในหัวว่าเราต้องลาออก เย็นนั้นไปซื้อหนังสือเล่มหนึ่งมาทดลองแปลเสนอสำนักพิมพ์ เสนอไปหลายเล่ม หลายสำนักพิมพ์ ถูกปฏิเสธหลายหน จนกระทั่งได้แปล จุมพิตรักจากมัดดาเลน่า (A Kiss From Maddalena) กับสำนักพิมพ์มติชน แล้วก็ขยับมาเป็นบรรณาธิการต้นฉบับฟรีแลนซ์ให้เนชั่นบุ๊คส์ รับจ๊อบสำนักพิมพ์อื่นๆ พร้อมกับเรียนปริญญาโทวรรณคดีอังกฤษไปด้วย แพชชั่นในช่วงนั้นถ้าเป็นน้ำเทออกมาก็ท่วมห้องแหละค่ะ

 

V: สัญญาณเตือนจากร่างกายมาตอนไหน

Rangsima: ตอนอายุ 29 เป็นงูสวัดครั้งหนึ่ง แต่เราก็ชะล่าใจ ผ่านไปอีกไม่กี่ปีมะเร็งมาเลย เพิ่งเรียนจบ เริ่มทำงานสำนักพิมพ์ Bliss ที่บริษัทแกรมมี่ ชีวิตกำลังเบิกบานสดใสตามคอนเซปต์สำนักพิมพ์เลย มะเร็งก็มาเหมือนฟ้าผ่า รวดเร็วจนของที่ออฟฟิศต้องฝากให้คนอื่นเก็บมาให้เพราะไม่ได้กลับเข้าไปอีกเลย ตอนนั้นคิดได้แค่ว่าเราต้องไม่เป็นอย่างคุณอานะ เราเข้าไปในห้องน้ำแล้วคุยกับคนในกระจกว่าพร้อมตายไหม จิตใต้สำนึกตอบมาว่า “ยังตายไม่ได้ ยังไม่ได้ไปบ้านเชกสเปียร์เลย” (หัวเราะ) เล่าตอนนี้ดูตลกนะคะ แต่ตอนนั้นมันกลายเป็นหมุดหมายในชีวิตจริงๆ หลังจากรักษาจนหายขาด ในช่วง 5 ปีที่ต้องคอยฟอลโลว์อัปอาการเริ่มเข้าสู่วงการสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก

 

V: ชีวิตเปลี่ยนไปอย่างไร

Rangsima: เหมือนรีสตาร์ตใหม่หมดตั้งแต่วันแรกที่หมอบอกว่าไม่มีเซลล์มะเร็งแล้วเลยค่ะ ในมุมหนึ่งเรากลายเป็นคนที่เหมือนเหยียดคนอื่นเลยนะ เวลาที่เราเห็นเพื่อนมีปัญหา ทดท้อชีวิต เราจะไม่เข้าใจ รำคาญเกินเบอร์ปกติ เพราะเรื่องของทุกคนเมื่อเทียบกับสิ่งที่เราเจอมันดูเบาหวิว บอกทุกคนว่าปัญหาในโลกนี้ไม่มีปัญหาไหนหนักเท่าโรคภัยเลยนะ เพราะเราควบคุมเม็ดเลือด ระบบหายใจ และการสูบฉีดของหัวใจไม่ได้ มันต้องพึ่งพายา หมอ และวินัยอย่างเคร่งครัด ท้อก็ไม่ได้ ท้อปุ๊บความดันตกอีก เรายังผ่านมาได้โดยไม่เคยบ่นเลย อันนี้คือในช่วง 5 ปีหลังการรักษานะคะ ตอนนี้เทิร์นเข้าโหมดไม่สนใจแล้ว คิดว่าชีวิตที่ใช้อยู่ตอนนี้มันไม่ใช่ Chapter เพราะชีวิตเรามันตายไปแล้ว นี่คือภาคพิเศษ เราต้องใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ เลือกคนที่อยู่ด้วยแล้วภูมิคุ้มกันไม่ตก เลือกที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนอย่างคัดสรรมากขึ้น

 

V: ประสบการณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไลบรารี่ เฮ้าส์เป็นสำนักพิมพ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะด้วยไหม

Rangsima: ก็มีส่วน เพราะด้วยความที่เราเลือกที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนอย่างคัดสรร (หัวเราะ) เวลามีใครขอเป็นพาร์ตเนอร์ เราเลยปฏิเสธหมด ยอมเหนื่อยคนเดียว ถ้ามันจะดีก็ให้ดีด้วยตัวของเรา เพราะชีวิตที่ผ่านมาทำงานหนังสือมา 20 กว่าปี แต่ด้วยความที่เราไม่ได้ร้องแรกแหกกระเชอว่าเราทำส่วนนี้ส่วนนั้น บางทีเครดิตมันก็ถูกเคลมไป ซึ่งในวงการสื่อมันก็เกิดขึ้นเรื่อยๆ นะ แต่ที่ผ่านมาเราเลือกเงียบมาโดยตลอด วันนี้เลยดีใจที่ตัดสินใจแบบนี้เพราะไลบรารี่ เฮ้าส์กลายเป็นซิกเนเจอร์ของเรา ตั้งแต่วิธีการเลือกหนังสือจนถึงวิธีการเลือกผู้ร่วมงานทั้งจากทัศนคติและมาตรฐานการทำงาน เพราะเวลาและสุขภาพสำหรับเราคือต้นทุนที่สำคัญมาก คนที่มาร่วมงานกับเราจึงเป็นคนที่เข้าใจเรื่องนี้เหมือนๆ กัน พลังงานในการทำงานด้วยกันจึงสูง การขับเคลื่อนสำนักพิมพ์จึงไปได้ดีและเร็วกว่าที่ควรจะเป็น จนมีคนแซวว่าไลบรารี่ เฮ้าส์เป็นนิตยสาร เพราะออกหนังสือ 200 กว่าหน้าทุกเดือน ดังนั้นชื่อที่เห็นซ้ำๆ บนหน้าเครดิตของหนังสือเราจึงเป็นคนที่เราเคารพในฝีมือทั้งหมด ความเป็นมืออาชีพของผู้ร่วมงานเป็นเรื่องสำคัญมากจริงๆ

 

V: จากประสบการณ์ชีวิตและการต้องใคร่ครวญถึงความตายที่ผ่านมา สิ่งที่เป็นแรงขับเคลื่อนในการทำงานทุกวันนี้คืออะไร

Rangsima: เราอยากสร้างสนามเด็กเล่นให้น้องๆ รุ่นหลัง เพราะมันรู้สึกดีจังเลยเวลาที่เราได้รับพลังงานที่ดีที่มาพร้อมกับผลงานที่ดี ได้คุยกับนักแปลที่แปลไปร้องไห้ไปแล้วบอกเราว่าถ้าไม่ใช่สำนักพิมพ์แบบไลบรารี่ เฮ้าส์ก็ไม่รู้ว่าเขาจะมีโอกาสได้แปลงานที่เขารักแบบนี้ไหม จะได้แปลหนังสือที่เป็นเหมือนถ้วยรางวัลในการทำงานมาตลอดหลาย 10 ปีของเขาแบบนี้หรือเปล่า เรารู้สึกดีที่คนทำงานได้เติมเต็มคุณค่าในชีวิตของเขาผ่านงานที่ทำร่วมกับเรา

 

ช่างภาพ : ธาเกียรติ ศรีวุฒิชาญ

WATCH

คีย์เวิร์ด: #VogueSpecial #VogueThailandAugust2022