LIFESTYLE
เส้นทางของ 'รักพงษ์ รัยมธุรพงษ์' ดีไซเนอร์ไทยชนะรางวัลใหญ่ของ Chanel บนเวทีเฟ้นหานักออกแบบในฝรั่งเศสรางวัลนี้เป็นรางวัลใหญ่จากเวทีศักดิ์สิทธิ์ในฝรั่งเศสที่มีแบรนด์ Chanel หนุนหลัง รักษ์พงษ์ส่งงานเข้าประกวดทั้งหมด 6 ครั้งในระยะเวลา 8 ปี แต่ไม่เคยเข้ารอบ สุดท้ายเขาคือผู้ชนะรางวัลใหญ่ที่ไม่เคยมีคนไทยทำมาก่อน |
พีร์ รักพงษ์ รัยมธุรพงษ์บอกว่าตัวเองเป็นดีไซเนอร์ที่ตื่นเช้ามากเพื่อจะตัดสินใจอีกทีว่าจะนอนต่อหรือเปล่า วิธีการทำงานของเขาก็คล้ายๆ กัน คือทำสิ่งที่ทำได้ก่อน แล้วค่อยตัดสินใจอีกทีว่าจะเริ่มทำสิ่งที่รักวันนี้หรือเก็บไว้รอวันที่เขาอาจจะพร้อมกว่า หรือในเวลาที่เหมาะสมกว่า วันนี้ดีไซเนอร์เจ้าของรางวัล Prix le19M des Métiers d’art de Chanel (ส่วนหนึ่งของเวทีศักดิ์สิทธิ์ Hyères International Festival ในฝรั่งเศส ที่มีแบรนด์ชาเนลหนุนหลัง) เมื่อปีที่แล้ว ตั้งใจตื่นแต่เช้ามาเล่าให้โว้กฟัง (จากปารีส) ว่ากว่าจะได้ใช้ชีวิตที่คนอื่นมองว่าเฉิดฉายในฐานะนักออกแบบมือรางวัล ณ แดนน้ำหอมนั้น ระหว่างทางต้องเจอเรื่องราวที่เข้มข้นขนาดไหน
“ผมจบด้านกราฟิกดีไซน์ ที่จริงตั้งแต่เข้ามหาวิทยาลัยปีหนึ่ง ผมก็รับงานฟรีแลนซ์ด้านกราฟิกให้แบรนด์แฟชั่นไทยเลย ผมทำเว็บไซต์ได้ เขียนโค้ดดิ้งเป็น แล้วตอนนั้นเป็นช่วงที่แบรนด์ต่างๆ มี Hi5 เราชอบแบรนด์ 27 Friday เลยติดต่อไปว่าพี่ยังไม่มีเว็บไซต์นี่ อยากทำไหม ผมทำได้นะ โชคดีที่เขากำลังหาคนทำเว็บพอดีเลยได้งาน จากนั้นก็ได้ประสบการณ์เพิ่มเรื่อยๆ ตั้งแต่ทำนามบัตร โบรชัวร์ ได้ไปดูแบ็กสเตจ ดูถ่ายรูป ฟิตติ้ง ฯลฯ ได้ทำงานกับพี่ใหม่ (พลัฏฐ์ พลาฎิ) ที่แบรนด์เสื้อผ้าผู้ชาย 4x4 และ Realistic Situation พี่เขาแนะนำให้ส่งงานเข้าประกวด Contemporary Fashion Contest เป็นครั้งแรกที่เราได้ออกแบบเสื้อผ้าและได้รางวัล หลังจากนั้นสมัครเข้าไปทำงานที่ PP Group ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้ทำงานกับบริษัทระดับ Corporate จากนั้นไป Jim Thompson แล้วก็ย้ายมาปารีสเพื่อเรียนต่อที่ Institut Français de la Mode ได้งานที่ YSL และ Celine ระหว่างนั้นก็พยายามส่งงานประกวด Hyères International Festival ไปด้วย งานด้านกราฟิกจึงถือเป็นงานหลักที่สร้างรายได้ เหมือนเป็นทุนให้งานด้านแฟชั่นที่เราทำเอง งานประกวดนี่เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2014 แต่ไม่เข้ารอบ Final Selection สักที เลยเป็นแรงผลักดันว่าฉันต้องชนะให้ได้ ส่งไปทั้งหมด 6 ครั้งในระยะเวลา 8 ปี จนมาเข้ารอบปี 2021”
1 / 3
2 / 3
3 / 3
WATCH
เมื่อถามถึงสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับดีไซเนอร์และสิ่งที่เขาคิดว่าทำให้ผลงานชิ้นล่าสุดประสบความสำเร็จ พีร์ต้องค่อยๆ เรียบเรียงความคิดเพื่ออธิบายอยู่พักใหญ่ว่า “ที่ยากที่สุดคือการสื่อสารสิ่งที่เราต้องการนำเสนอ อย่างคอลเล็กชั่นที่ผ่านมาผมใช้โทนสีของกรุงเทพฯ สีรถแท็กซี่สีชมพู สีกันสาดสีเขียวที่เห็นบ่อยๆ หรือถังน้ำแข็งสีน้ำเงิน โทนสีที่ถ้าคนไทยมองจะรู้ว่านี่คือสีของเมืองไทย แต่ผมตั้งใจให้แม้แต่คนที่ไม่เคยมาประเทศไทยเลยสักครั้งเดียวสามารถเข้าใจสิ่งที่เรานำเสนอ และเอนจอยไปกับสีสันของมันได้ อีกอย่างที่อาจจะเป็นความแตกต่างหรือเอกลักษณ์ก็ได้ คือผมได้แรงบันดาลใจจากสิ่งที่เห็น คงเพราะเป็นคนมองโลกด้วยสายตาที่ไม่ Belong ตลอดเวลา คือผมเหมือนเป็นเอเลี่ยนของทุกที่น่ะครับ ตอนเด็กเป็นต่างด้าวซึ่งโตที่ออสเตรเลีย ย้ายกลับไปอยู่ขอนแก่นก็กลายเป็นเด็กนอก พอมาเรียนจุฬาฯ กลายเป็นเด็กต่างจังหวัดที่มาเรียนในกรุงเทพฯ มาอยู่ปารีสก็เป็นคนกรุงเทพฯ ซึ่งมาอยู่ปารีสอีก (หัวเราะ) สายตาที่อาจจะแตกต่างจากคนอื่นๆ น่าจะส่งผลให้งานของผมมีเอกลักษณ์อยู่พอสมควร"
1 / 3
2 / 3
3 / 3
“ตอนนี้เป็นช่วงเบรก เพราะก่อนหน้านี้เราทำงานสองอย่างพร้อมกัน มันหนักมากนะครับ ในวันที่เราได้รางวัล คนอาจจะคิดว่าไม่น่ายาก แต่ที่จริงแล้วมีหลายอย่างที่เราต้องต่อสู้เพื่อให้ได้ทำสิ่งนี้ โดยเฉพาะด้านการเงินที่เราต้องจุนเจือตัวเองทุกอย่าง ถ่ายลุคบุ๊กทีหนึ่งใช้เงินเท่าไร ค่าส่งพัสดุที่จะส่งงานจากกรุงเทพฯมาปารีสเป็นเงินอีกเท่าไร แล้วเราทำทั้งงานที่ส่งประกวดและงานประจำ เช้าต้องตื่นมาคุยงานกับทีมที่กรุงเทพฯ เช็กว่าโปรดักชั่นที่ไทยเป็นอย่างไรบ้าง จากนั้น 10 โมงไปทำงาน คือถ้าเราอยากทำอะไรเพิ่ม เราก็ต้องทุ่มเททั้งด้านการเงิน ร่างกาย และการบริหารจัดการเวลา ซึ่งผมทำต่อเนื่องมาตลอดหลายปี ดังนั้น เส้นทางนี้ไม่ง่ายหรอกครับ...แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เหมือนกัน”
ชัยชนะจากเวทีที่สู้มานานไม่ใช่ตอนจบแสนหวาน แต่เป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่ทำให้พีร์ต้องคิดหนักว่าเขาจะทำงานร่วมกับแบรนด์อื่นๆ ที่ติดต่อเข้ามาต่อไป หรือว่าถึงเวลาแล้วที่จะสร้างบางสิ่งที่เป็นของเขาเองเสียทีที่มหานครแห่งแฟชั่น
ข้อมูล : Vogue Thailand
WATCH