FASHION

ผู้ดีอังกฤษมีจริงไหม...เจาะลึกทุกประเด็นเกี่ยวกับคำฮิตติดปากเมื่อพูดถึงชาวอังกฤษ

คำว่า "อังกฤษ" กับ "ผู้ดี" มันสอดประสานกันได้อย่างไร ถึงแม้ว่าผู้คนทั้งหมดจะไม่เป็นแบบนั้นทำไมสิ่งเหล่านี้ถึงอยู่ยั้งยืนยงนัก

เนื้อหาสำคัญ

  • ย้อนประวัติศาสตร์เรื่องราวตั้งต้นกับความเป็นผู้ดีที่เรียกติดหูมาจนถึงปัจจุบัน
  • ยุคสมัยแห่งการตอกย้ำสถานะความเป็นผู้ดีทั้งในประเทศอังกฤษ ยุโรป และ ไทย
  • ความขัดแย้งกับของสังคมในอุดมคติของอังกฤษกับความเป็นจริงที่สุดแล้วคำว่า “ผู้ดี” ยังคงอยู่ยั้งยืนยง

 

_______________________________________

 

     ผู้คนทั่วโลกต่างมีดีและไม่ดีผสมปะปนกันไป บรรทัดฐานความดีก็ถูกตีความต่างกัน แต่การกระทำและมารยาทบางอย่างถูกตีความว่าเป็น “ผู้ดี” และประเทศที่ได้รับฉายานี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสังคมไทยก็คือ ประเทศอังกฤษ ฉายาเมืองผู้ดีแท้จริงแล้วมันเกิดขึ้นได้อย่างไร มันมาจากไหนกันแน่ วันนี้เราจะสรุปรวบยอดหลากหลายความเห็นที่มาและทฤษฎีที่ประกอบกับประวัติศาสตร์ความเป็นจริงแล้วมันสอดคล้องกันอย่างสมเหตุสมผล

 

เหตุผลต่างๆ ที่คนเทิดทูนชาวอังกฤษ

ความเรียบร้อยดั่งผู้ดีจากภาพยนตร์เรื่อง Downtown Abbey / ภาพ: Courtesy of Films

     ความเป็นระเบียบเรียบร้อย พูดจาดี ขอโทษและขอบคุณจนเป็นนิสัย ตรงต่อเวลา และไม่ซอกแซกเรื่องส่วนตัวคือคุณสมบัติของผู้ดีแห่งเกาะอังกฤษ แต่ทว่าการจัดความสำคัญเช่นนี้มันแสดงให้เห็นว่านี่คืออุดมคติและผู้คนในอังกฤษทุกคนไม่สามารถปฏิบัติได้แบบนี้ทั้งหมด แต่นี่คือภาพจำที่คนส่วนใหญ่ของโลกมองคนอังกฤษตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน รูปแบบวัฒนธรรมของพวกเขาส่งผ่านมาที่ประเทศไทยทั้งวาจา กิริยามารยาทสิ่งเหล่านี้กลายเป็นภาพหน้าที่ถูกนำเสนอและติดตราตรึงใจคนไทยมาช้านาน “ดูมีความรู้ วางตัวดี” คือผู้ดีอังกฤษมาตั้งแต่สมัยโบร่ำโบราณ

 

วิถีชีวิตของคนชนชั้นสูงของอังกฤษกลายเป็นบรรทัดฐานความเป็นผู้ดี

เซตน้ำชาที่นิยมดื่มกันยามบ่าย / ภาพ: The Ritz

     “English Routine” หรือวิถีปฏิบัติดั้งเดิมของอังกฤษคือความเหนือระดับในสายตาทั่วโลก เมื่อเปรียบเทียบธรรมชาติของชาติตะวันตกฝั่งแปซิฟิกอย่างสหรัฐอเมริกาที่ใช้ภาษาเดียวกัน รูปร่างหน้าตา การสืบเชื้อสายมาจากที่เดียวกัน (ในบางจุด) กลับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ความซับซ้อนเชิงวิธีการทั้งการเสิร์ฟอาหารเช้า การแต่งกายยิ่งในสมัยก่อน และสิ่งสำคัญคือวัฒนธรรมการดื่มชาหรืออาฟเตอร์นูนทีที่ใครๆ เรียกกัน การเสิร์ฟอาหารแบบมีพิธีรีตองมันส่งผลมาจนถึงการเสิร์ฟอาหารแบบสำรับบางอย่างในประเทศไทยด้วย นอกจากนี้รายละเอียดยิบย่อยอย่างเช่นการเดิน การรินชา และรับประทานขนมก็มีรายละเอียดปลีกย่อยลึกลงไปอีกระดับ

 

สถาบันกษัตริย์และชนชั้นสูงของอังกฤษ



WATCH




ราชวงศ์อังกฤษ ณ ปัจจุบัน / ภาพ: WireImage - LiveAbout

     นี่คือเหตุปัจจัยหลักอีกหนึ่งอย่างที่ทำให้ทั่วทั้งโลกรวมถึงประเทศไทยนิยามอังกฤษเป็นเมืองผู้ดี ลองมองเจาะลึกไปถึงในพระราชวัง ขนบธรรมเนียมการปฏิบัติดั้งเดิมยังมีจนถึงปัจจุบัน แม้แต่การเดินซึ่งมันยังถูกกำหนดด้วยรูปแบบของฐานันดร ตัวอย่างเช่นการเดินของโดนัลด์ ทรัมป์ขณะเข้าเยี่ยมสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งเขาเดินผิดแบบเต็มๆ แต่สมเด็จพระราชินีก็พยายามรักษาเส้นทางการเดินตามขนบอย่างเรียบร้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องโต๊ะอาหาร กิจกรรมยามว่างของเหล่าเชื้อพระวงศ์ที่ยังคงสืบทอดมาถึงปัจจุบัน ถึงแม้ภาพลักษณ์ของราชวงศ์จะถูกบิดเปลี่ยนไปพอสมควร แต่สุดท้ายแก่นและรายละเอียดหลายอย่างยังคงถูกรักษาไว้อย่างครบถ้วน ชนชั้นสูงเองก็มักปฏิบัติตามขนบแบบเดิมไว้เพียงแต่อาจจะปรับเข้ากับยุคสมัยมากยิ่งขึ้น

 

การศึกษาและการผลิตบุคลากรผ่านการกล่อมเกลาในแบบฉบับผู้ดี

เหล่านักเรียนหนุ่มจากครอบครัวชนชั้นสูงใน Eton College / ภาพ: Independent

     ความเป็นเมืองผู้ดีนั้นไม่ได้มาเพราะโชคช่วยเพราะรากฐานการกล่อมเกลาของสังคมโดยเฉพาะชั้นสูงของอังกฤษเริ่มต้นตั้งวัยเยาว์ โรงเรียนประถม มัธยมและมหาวิทยาลัยคือคำตอบของเรื่องนี้ ลองนึกภาพเหล่าเจ้าชายเรียนที่อีตัน (Eton College) หรือจะเป็นหัวกะทิจากทั่วประเทศ (ในปัจจุบันทั่วทุกมุมโลก) เข้าศึกษามหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดและเคมบริดจ์ สังคมเหล่านี้หล่อหลอมผู้คนให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศอังกฤษ นี่คือภาพเวลาพูดถึงคุณค่าของที่นี่ ถ้าวนมาถึงการขัดเกลาทางสังคมและการศึกษาไม่ว่าอย่างไรสิ่งที่ต้องถูกพูดถึงก็คือ “สังคมผู้ดี” ถึงแม้โรงเรียนระดับทั่วไปหรือบุคลากรด้อยคุณภาพจะมีให้เห็นในโลกความเป็นจริงก็ตาม

 

ย้อนประวัติศาสตร์ที่ทำให้อังกฤษกลายเป็นผู้ดีอย่างสมบูรณ์แบบ

ภาพวาดสะท้อนถึงความเจริญในช่วงยุครีเจนซี่ / ภาพ: Geri Walton

     ยุครีเจนซี่ (Regency Era) หรือยุคของการสำเร็จราชการแทนนั้นถือเป็นยุคทองของการพัฒนาเรื่องวัฒนธรรม ประเพณี ศิลปะและองค์ประกอบอื่นๆ ทางสังคมที่ส่งผลให้ประเทศอังกฤษกลายเป็นอาณาจักรที่เต็มไปด้วยความมั่งคั่งในด้านเหล่านี้ เล่าย้อนไปถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 19 รัชสมัยพระเจ้าจอร์จที่สี่ครองตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนเหตุเพราะอาการประชวรของพระเจ้าจอร์จที่สาม ถือเป็นยุคที่ให้ความสำคัญกับสุนทรียศาสตร์ในทุกรูปแบบสถาปัตยกรรม วรรณกรรม แฟชั่น และดนตรี ทำให้การพัฒนาของสิ่งเหล่านี้ก้าวกระโดด และแน่นอนว่ายุคสมัยนั้นไม่ได้วัดกันที่ความเจริญด้านเม็ดเงินอย่างเดียว แต่การพัฒนาในเชิงศิลป์ถือเป็นเกณฑ์ในการเปรียบเทียบความเลอค่าของสังคมได้อย่างดี

แฟชั่นในสมัยยุครีเจนซี่ที่เต็มไปด้วยความหรูหราในแบบฉบับอังกฤษ / ภาพ: Kristen Koster

     ความหรูหราถูกส่งผ่านออกมาสู่ประชาชนโดยเฉพาะชนชั้นสูง ทุกคนเสพย์ความเจริญทางวัฒนธรรมกันอย่างเต็มที่ สถาปัตยกรรมเอย วิถีการปฏิบัติต่างๆ เอย แฟชั่นเอย ทั้งหมดดูหรูหรากลายเป็นขนบและสร้างความจำให้กับคนทั้งโลกว่านี่คือดินแดนอังกฤษ ความเป็นผู้ดีถูกสร้างซ้ำแล้วซ้ำอีกในช่วงเวลานี้ ความอลังการปรากฏขึ้นเมื่อเราย้อนอ่านประวัติศาสตร์ พอยุคนี้ร่ำรวยขึ้นและมีการพัฒนาเชิงศิลปะ วรรณกรรมและการจารึกต่างๆ ย่อมถูกเขียนขึ้น (คนมีเวลาในการรังสรรค์ผลงานรูปแบบนี้) ความหรูหราเองก็กลายมาเป็นคำอธิบายสังคมในหนังสือและสิ่งพิมพ์อื่นๆ รูปภาพถูกวาดออกมาจำนวนมากเพราะความนิยมทางศิลปะ ทุกสิ่งประกอบหลอมลวมกันจนเป็น “ต้นตอความสมบูรณ์แบบแห่งยุคผู้ดี” แฟชั่นเป็นหนึ่งในนั้นชุดเสื้อผ้าของสุภาพบุรุษและสุภาพสตรียุคนั้นต้องบอกว่าไม่มีคำอื่นนอกจากผู้ดี และแน่นอนว่าชนชั้นที่ด้อยกว่าหากไม่มีความสามารถพอจะเข้าถึงความเป็นผู้ดีเหล่านั้น ก็มักไม่ถูกบันทึกลงผลงานศิลปะและการจารึกทางประวัติศาสตร์ในห้วงแห่งความเจริญ

พระราชวังบักกิงแฮม หลักฐานทางศิลปวัฒนธรรมตั้งแต่ยุครีเจนซี่ / ภาพ: The Royal Family

     ลองมองไปที่เหล่าอาคารเรือนหลักและบ้านเรือนที่กำเนิดขึ้นในสมัยนั้น มันยังคงอยู่และกลายเป็นสัญลักษณ์ของสมัยนี้ตกทอดจากความเป็นผู้ดีเสพย์ศิลปะสมัยก่อน พระราชวังบักกิงแฮมคือตัวอย่างสถาปัตยกรรมแบบรีเจนซี่ และตอกย้ำว่าบรรทัดฐานของเหล่าผู้ดีคือความเลิศเลอทางศิลปะมากกว่าความร่ำรวยด้านเม็ดเงินนั่นเอง

 

แล้วทำไมคนไทยถึงยังเรียกผู้ดีอังกฤษแม้ในความเป็นจริงคนอังกฤษไม่ได้เป็นชนชั้นสูงทั้งประเทศ

เรือสำเภาโบราณสำหรับเดินทางของชาวอังกฤษ / ภาพ: Mariner Thai

     ที่มาของคำนี้มันเริ่มต้นจากเหล่าผู้มีฐานะเดินเรือข้ามน้ำข้ามทะเลมา ชนชั้นระดับพ่อค้าและทูตเชื่อมสัมพันธไมตรีคือตัวแทนของประเทศอังกฤษตั้งแต่สมัยอยุธยา ฉะนั้นการถ่ายทอดรูปแบบวัฒนธรรมย่อมเป็นชนชั้นสูงอยู่แล้วล่ะ ลองนึกภาพตามว่าเหล่าตัวแทนประเทศก็ต้องนำเสนอด้านดีของตัวเอง ฉะนั้นภาพจำของคนไทยกับคนอังกฤษ เรามองว่าเขาคือ “ผู้เจริญกว่า” มาตั้งแต่ไหนแต่ไร วัฒนธรรมละเอียดยิบย่อย รวมถึงความหรูหราเป็นพิธีรีตอง และความเป็นสากลคือจุดเริ่มต้นของผู้ดีอังกฤษมาอย่างช้านาน

ภาพข่าวเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเยือนกรุงลอนดอน / ภาพ: Blog นอกราชการ

     ผู้ดีอังกฤษเข้ามาในสังคมไทย เหล่าชนชั้นนำของไทยในยุคสมัยก่อนเชื่อมสัมพันธไมตรีโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร.5 ที่เริ่มส่งพระราชโอรสออกไปศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ส่งผลตกทอดมาจนถึงระดับชนชั้นสูง ขุนนางและอื่นๆ ถือเป็นการตอกย้ำว่าชนชั้นสูงของไทยหรือที่เรียกว่าผู้ดีนั้น ก็ต้องไปประเทศผู้ดีอย่างอังกฤษ นับว่าการสอดสัมพันธ์กันระหว่างชนชั้นสูงของไทยและคติยึดถือความเป็นผู้ดีผูกติดกับอังกฤษไว้อย่างเหนียวแน่นมาจนถึงปัจจุบัน เพราะแม้ในขณะนี้เราจะรู้จักคนอังกฤษหลากหลายแบบเพียงใด แต่แบบแรกที่เด้งขึ้นมาในหัวใครหลายคงหนีไม่พ้นสถานะผู้ดีแน่นอน

 

ยุคสมัยก่อนเป็นภาพที่ทุกคนยึดถือมากกว่าสังคมปัจจุบัน

ฉากจากภาพยนตร์เรื่อง Breathe / ภาพ: Englefield Estate

     แล้วทำไมรู้ว่ามันไม่ใช่ทั้งหมดที่ดีแต่คำนี้ยังถูกเรียกอยู่ อันดับแรกคือการจำลำดับความสนใจ หากเราพูดถึงสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เรามักนึกถึงเมืองอาบูดาบีและดูไบ แต่แท้ที่จริงบางส่วนของประเทศอาจจะไม่ได้เจริญขนาดนั้น เช่นเดียวกับอังกฤษเราจำภาพความเจริญและกลิ่นอายตั้งแต่สมัยยุควิกตอเรียอะไรแบบนั้น ถึงแม้จะมีฮูลิแกน หนุ่มเมาอยู่ตามถนนและมุมมองด้านลบอื่นๆ แต่สุดท้ายคนเราก็ยึดถืออังกฤษเป็นเมืองผู้ดีจากประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่ไม่เคยสัมผัสคนและเกาะอังกฤษด้วยตัวเอง

Riot Club ความเลวร้ายของชนชั้นสูงที่ยังถูกเรียกว่าผู้ดีทะเลาะกัน / ภาพ: Courtesy of Riot Club

     แล้วทำไมมันถึงอยู่ยั้งยืนยงนัก คำตอบคือสื่อนั่นเอง แง่มุมการเป็นเกาะแห่งประวัติศาสตร์ด้านความหรูหราและชนชั้นผู้ดี จุดเด่นตรงนี้ถูกชูไว้เหนือทุกสิ่ง ซีรีส์ดราม่า สารคดีและอื่นๆ ถูกเน้นไปที่เรื่องราวความเป็นผู้ดีและชนชั้นสูงเสมอ ถึงแม้เส้นเรื่องคือความขัดแย้งเรายังนำเสนอมันว่า “ความขัดแย้งกันของเหล่าผู้ดี” หรือเรียกง่ายๆ ว่า “ผู้ดีทะเลาะกัน” ทุกวันนี้เราเสพย์สุขกับสื่อบันเทิงที่มีแบคกราวน์อังกฤษแบบผู้ดี พนันได้เลยว่าเราจะจดจำมันได้ง่ายกว่าฉากอังกฤษในยุคโมเดิร์นในแบบปัจจุบัน สุดท้ายมันคือพลังอำนาจความคิดและคีย์เวิร์ดที่ผูกความเจริญเข้ากับประเทศและผู้คนประเทศหนึ่งเท่านั้นเอง แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการจรดลายเส้นเขียนประวัติศาสตร์นั้นมีพลังมากเพียงใด!

WATCH

TAGS : POSH