Please Mind Your Mental Health ส่องสัญญาณส่อเค้าความเครียดเพื่อสุขภาพจิตดีต้อนรับปี 2022
จับ 5 สัญญาณบ่งชี้ ‘ภาวะเครียด’ เพื่อการรักษาจิตใจให้มีความสุขรับปีเสืออย่างสดใส
เทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมาน่าจะเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับการพักผ่อนทั้งกาย และจิตใจ กลับไปเติมพลังจากคนที่รัก และครอบครัวเพื่อจะได้กลับมาทำงานต่อได้อย่างเต็มที่ในปี 2022 และเมื่อต้องกลับมาสู่สภาวะทำงานตามปกติ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยก็คือ ‘ความเครียด’ อันมีเหตุปัจจัยจากหลายตัวแปรไม่ว่าจะเป็นงานที่ต้องรับผิดชอบ ผู้คนในที่ทำงาน รวมไปถึงสภาวะแวดล้อมที่อาจส่งผลให้เกิดความเครียดสะสมโดยที่คุณเองอาจจะไม่รู้ตัว
ความเครียดที่สะสมอยู่ภายในจิตใจอาจจะก่อตัวในระยะสั้นๆและหายไปได้ หรือบางคนอาจจะแบกรับมวลความเครียดเอาจนกลายเป็นความเครียดสะสมระยะยาวที่ส่งผลทั้งทางร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรม โดยระดับของความเครียดสามารถแบ่งออกเป็น 4 ระดับตั้งแต่กลุ่มความเครียดระดับต่ำ ระดับปานกลาง ระดับสูง และระดับรุนแรง โดยแต่ละกลุ่มก็จะมีสัญญาณบ่งชี้ที่รุนแรงมากน้อยต่างกันไป และนี่คือ 5 สัญญาณบ่งชี้ความเครียดสะสมที่ควรสังเกตเพื่อจัดการความเครียดก่อนที่จะกลายเป็นปัญหา
ความเบื่อหน่ายสัญญาณเบื้องต้นส่อเค้าความเครียด / ภาพ: Glamour
รู้สึกเบื่อหน่าย
คุณอาจจะเคยได้ยินชื่ออาการ Burnout Syndrome หรือภาวะหมดไฟในการทำงานมาบ้าง ซึ่งอาการนี้เกิดจากการทำงานที่ไม่ชอบ ไม่ถนัด หรืออาจจะเป็นงานที่รักแต่ต้องทำงานภายใต้ภาวะกดดันมากจนเกินไปจนทำให้ไม่มีความสุข ทำให้เกิดความรู้สึกเบื่อ นี่ก็เป็นสัญญาณส่อให้เห็นถึงความเครียดที่ก่อตัวขึ้น ดังนั้นเมื่อทำงานแล้วเริ่มรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ และเริ่มหมดไฟ ควรจะหาหนทางระบายความเครียดออกบ้างด้วยการละจากงานไปทำสิ่งอื่น หรือพูดคุยกับคนรอบข้างที่ไว้ใจได้
อาการนอนไม่หลับจะส่งผลโดยตรงทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของคุณเอง / ภาพ: Vogue Polska
นอนไม่หลับ
เชื่อได้ว่าหลายๆคนอาจจะเคยประสบปัญหาเกี่ยวกับภาวะนอนไม่หลับที่ไม่ว่าจะพยายามข่มตา หรือสร้างบรรยากาศเพื่อช่วยให้นอนหลับมากเพียงใดก็ไม่สามารถนอนหลับได้ ต้นเหตุของอาการนอนไม่หลับนั้นน่าจะมาจากความเครียดสะสมที่ส่งผลให้สมองสนใจแต่เรื่องความเครียด และทำงานอยู่ตลอดเวลาจนทำให้ร่างกายไม่ได้พักผ่อน เมื่อเริ่มมีอาการนอนไม่หลับจากความเครียด แนะนำให้ลองฝึกสมาธิ หรือหากิจกรรมอื่นๆทำเพื่อเบี่ยงความสนใจของสมองจากความเครียดไปสู่สิ่งอื่น
WATCH
หากหมกมุ่นกับความเครียดมากเกินไปอาจส่งผลร้ายอย่างไม่ทันตั้งตัวได้ / ภาพ: Neon TV
ฝันว่าสอบตก หรือทำสิ่งน่าอาย
ไม่น่าเชื่อว่าในหนึ่งคืนเรามักจะฝันมากถึง 6-8 ครั้ง โดยที่อาจจะจำได้หรือจำไม่ได้ โดยทางวิทยาศาสตร์เชื่อว่าความฝันเป็นสิ่งที่เกิดจากภาพจำที่อยู่ภายในสมอง รวมไปถึงการบ่งชี้ถึงภาวะทางจิต ความเครียด และสิ่งที่กระทบกับจิตใจทำให้ฉายภาพออกมาในรูปแบบความฝัน โดยนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับความฝันอย่าง Patricia Garfild ได้วิเคราะห์ความฝันที่ผู้คนมักจะพบเจอบ่อยๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือความฝันเกี่ยวกับการสอบตก ผิดนัด หรือการทำสิ่วน่าอายซึ่งความฝันกลุ่มนี้สะท้อนว่าผู้ที่ฝันนั้นกำลังอยู่ในภาวะเครียดสะสม
อารมณ์ฉุนเฉียว โมโหร้าย อาจเพิ่มความเครียด และทำลายความสัมพันธ์ดีๆลงได้ด้วย / ภาพ: Telegraph
มีภาวะแปรปรวนทางอารมณ์
ซึมเศร้า เหงา หรืออารมณ์ฉุนเฉียว เกรี้ยวกราด นี่ก็เป็นภาวะทางอารมณ์ที่ส่อเค้าให้เห็นว่าผู้ที่มีอาการแปรปรวนทางอารมณ์เช่นนี้อาจจะกำลังเผชิญกับภาวะเครียดสะสม หากคุณไม่แน่ใจอาจจะลองสังเกตตัวเองในช่วงหนึ่งวัน โดยอาจสอบถามจากคนรอบข้างว่าคุณมีภาวะอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมามากน้อยเพียงใด หากเริ่มมีอาการดังกล่าวข้างต้นแนะนำว่าอาจจะต้องปรึกษาจิตแพทย์เพื่อการบำบัดความเครียดสะสม
สัญญาณเตือนจากความฝันอาจช่วยบอกใบ้ภาวะความเครียดที่สะสมอยู่ได้ / ภาพ: E! Online
มีความเจ็บป่วยทางร่างกาย
ภาวะความเครียดสะสมจนแสดงออกทางร่างกายสามารถบ่งชี้ได้หลายอาการทั้ง ไม่รู้สึกอยากอาหาร, รู้สึกมวนในท้อง, ปวดคอ บ่า ไหล่ ไปจนถึงอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง ถ้าหากอาการเครียดสะสมมีมากจนกระทั่งแสดงอาการทางร่างกายนั่นแปลว่าคุณกำลังแบกรับกับความเครียดมากจนเกินไป และจำเป็นต้องพบจิตแพทย์เพื่อวางแผนการบำบัดความเครียด ควบคู่ไปกับการหากิจกรรมเสริมเพื่อผ่อนคลายตนเองจากความเครียดที่ต้องแบกรับอยู่ด้วย
ในภาวะการณ์ปัจจุบันที่ไม่ว่าทั้งวัยเรียน วัยทำงาน หรือแม้แต่วัยเกษียณที่ไม่สามารถหลีกหนีจากความเครียดได้ การใส่ใจต่อภาวะทางจิตใจจึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการใส่ใจร่างกายของตนเอง เพื่อที่คุณจะได้มีความสุขอย่างสมดุลทั้งทางร่างกาย จิตใจ และดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุขอย่างยืนยาว
ข้อมูล:
WATCH