rapi
LIFESTYLE

รู้จัก 'มด-รพิ' ผู้เปิดโลกของกระดาษปากกาให้กว้างขึ้นด้วยอักษรวิจิตรที่เขาประดิษฐ์ขึ้นเอง

“งานคัลลิกราฟีจึงสอนให้เราเป็นคนที่ ‘มองพิศไม่มองผาด’ ต้องรู้จักมองอย่างลึกซึ้ง พิจารณารายละเอียด และมองให้เห็นความสวยงาม”

     ชื่อ 'มด-รพิ ริกุลสุรกาน' ไม่เป็นที่รู้จักเท่าลายมือตวัดหางยาวสวยคลาสสิกหรือ Calligraphy ของเขา แต่ถ้าใครสนใจการประดิษฐ์ตัวอักษรหรืออักษรวิจิตร แล้วตามหาคนเขียนหรือคลาสสอนเขียนในกรุงเทพฯ ต้องเจอชื่อของมดจากเพจและอินสตาแกรม Rapigraphy แน่นอน และจากบรรทัดนี้ผู้อ่านโว้กจะได้รู้จักโลกที่มีมากกว่ากระดาษปากกาของ Penman หรือนักประดิษฐ์อักษรชาวไทยคนนี้มากขึ้น 

 

rapi

Vogue: คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่ารู้จักการประดิษฐ์อักษรมาตั้งแต่ชั้นมัธมยมต้น คิดว่าอะไรที่ทำให้กลับมาจับปากกาอีกครั้งในวัย 30 ปี

Rapi: เราเป็นคนชอบเก็บทักษะเล็กๆ น้อยๆ ที่เคยเรียนรู้เอาไว้ จนถึงช่วงวัยที่เพื่อนเริ่มแต่งงานแล้วให้ช่วยหาแบบการ์ด ได้เห็นรูปของ Penman คนหนึ่งคือ Schin Loong ตอนที่เขากำลังเขียนงานอยู่ มันสวยราวกับเขาพิมพ์ออกมา ตอนนั้นในหัวมีภาพตอนที่เราเคยหัดเขียนสมัยเด็กๆ แฟลชแบ็กกลับมาทันที แล้วก็สังเกตเห็นว่าอุปกรณ์ที่เขาใช้ไม่เหมือนกับที่เราเคยใช้ เลยคิดว่าต้องเป็นเพราะอุปกรณ์มันถึงสวยได้ขนาดนี้ เลยไปคอมเมนต์ถามเขาว่าใช้อะไรแล้วก็ไปหาซื้อ เพราะคิดว่าถ้าเราใช้เหมือนเขาก็จะเขียนได้แบบเขา ซึ่งไม่จริง (หัวเราะ) ทั้งที่สั่งปากกามาจากต่างประเทศก็แล้ว อะไรก็แล้ว แต่ยังทำไม่ได้ เลยเข้าใจว่ามันอยู่ที่ฝีมือจริงๆ แต่ไหนๆ เคยเรียนมาแล้ว มีอุปกรณ์เหมือนเขาแล้ว ก็เลยกลับมาฝึกเขียนอีกครั้ง

 



WATCH




V: ทักษะเล็กๆ น้อยๆ ที่บอกว่าชอบเก็บมา นอกจากคัลลิกราฟีแล้วมีอะไรอีก

Rapi: หลายอย่างครับ ทำขนม ทำอาหาร เล่นดนตรี เคยเป็นสมาชิกวงดนตรีไทย วงร้องเพลงประสานเสียง ไปจนถึงการออกกำลังกาย ตอนนี้ฝึกกีฬา Calisthenics กับโยคะอยู่ ซึ่งทุกอย่างเรารู้สึกว่าเป็นสกิลที่มีประโยชน์และหลายอย่างเอาไว้ใช้ดูแลตัวเองและคนอื่นๆ ได้ มดมีประโยคที่บอกตัวเองอยู่เสมอคือ “เผื่อวันหนึ่งจะได้ใช้”

 

V: จากรายชื่อกิจกรรมทั้งหมดที่ทำ ดูเหมือนจะตรงข้ามกับงานด้านกฎหมายที่ทำอยู่

Rapi: จะเรียกว่าอย่างไรดี (คิด) มันเหมือนพาเราออกไปอีกโลกหนึ่งน่ะครับ มดรู้สึกเสมอว่าชีวิตคนไม่ควรมีด้านเดียว ดังนั้นอยากรู้อะไรก็ลองทำไปเถอะ อย่างงานคัลลิกราฟีที่เราเริ่มจากทำสนุกๆ พอโพสต์ลงอินสตาแกรมก็มีนิตยสารมาขอสัมภาษณ์ มีเซเลบริตี้ท่านหนึ่งมาขอให้เขียนการ์ดแต่งงานให้ จนกระทั่งได้งานจริงจังงานแรกจาก Montblanc แล้วก็มีอีกหลายแบรนด์ตามมาให้เขียนการ์ดให้ ทำให้เรียนรู้ว่าหลายๆ ครั้งความสนุกอาจพาเราออกไปสู่โลกที่กว้างกว่าเดิมได้

V: แต่จะว่าไป กฎหมายซึ่งให้ความสำคัญกับการ “ทำให้เป็นลายลักษณ์อักษร” ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดอักษรประดิษฐ์ขึ้นมา ดังนั้น อาจจะไม่ได้คอนทราสต์ไปหมดหรือเปล่า

Rapi: เคยอ่านเจอเหมือนกันว่าอาชีพ Calligrapher เกิดขึ้นมาเพราะต้องทำเอกสารทางการและกฎหมาย เลยต้องการคนที่มีมาตรฐานทางลายมือ เกิดโรงเรียนสอนเป็นเรื่องเป็นราว และกลายเป็นอาชีพขึ้นมา อีกอย่างหนึ่งที่น่าจะเหมือนกันระหว่างงานกฎหมายกับงานอักษรวิจิตรคือความละเอียด งานกฎหมายเราต้องศึกษาและตีความกฎหมาย งานคัลลิกราฟีเราก็ต้องศึกษาตีความทั้งจากโจทย์ที่ได้รับและจากงานเก่าๆ ของมาสเตอร์ที่เขาสร้างไว้ก่อนเพื่อมาพัฒนางานของเราเหมือนกัน

 

V: ทำงานในฐานะ Penman มืออาชีพเข้าปีที่ 7 แล้ว คิดว่าสิ่งที่ยากที่สุดของงานคัลลิกราฟีคืออะไร

Rapi: การหนีออกจากความคุ้นเคยของตัวเองครับ เพราะลายมือเราก็รู้ว่าเป็นลักษณะค่อนข้างเฉพาะของแต่ละบุคคลเนอะ แต่งานคัลลิกราฟีเหมือนการวาดรูปเพียงแต่เปลี่ยนเป็นการวาดเส้น ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่เล็กที่สุดของศิลปะ 1 ใน 3 อย่างก็คือจุด เส้น และระนาบ ดังนั้นจากเดิมที่เราคุ้นเคยว่าตัวอักษรตัวนี้เราเขียนแบบนี้ ร่างแบบนี้ มันก็จะถูกแยกย่อยออกมาเป็นชิ้นๆ เป็นเส้นและรูปร่างแต่ละแบบ ที่เอามาร้อยกันใหม่ให้เป็นตัวหนังสือ ทำให้ช่วงแรกๆ งานจะออกมาเป็น “ลายมือ” ของเรามากกว่าเป็น “องค์ประกอบของเส้นที่ประกอบกันเป็นตัวหนังสือ” อย่างที่คัลลิกราฟีควรจะเป็น

 

rapi

V: หลายปีที่ผ่านมางานคัลลิกราฟีสอนอะไรเราในด้านความคิดหรือการใช้ชีวิตอีกบ้าง

Rapi: แต่ละปีที่ทำงานมา ความรู้สึกในการทำงานจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่างปีแรกๆ ด้วยความใหม่ เราก็จะยึดติดกับสิ่งที่เป็นพื้นฐาน ติดกับธรรมเนียมปฏิบัติมากๆ อยากทำทุกอย่างโดยมีหลักการสนับสนุนเพื่อให้แน่ใจว่าเราไม่ได้เป็นคนทำให้คุณค่าทางศิลปะของงานนี้ลดลง แต่พอทำไปได้สักพัก ประสบการณ์พาเราไปเห็นรูปแบบงานที่ต่างออกไป ได้รู้ว่าในวงการนี้มีคนที่เปิดรับการสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ อยู่ด้วย มุมมองและความชอบในแต่ละขณะหรือความชอบของมดก็จะเปลี่ยนไป เช่น เวลาทำงานกับแบรนด์แฟชั่นจะเป็นคนละเรื่องกับคัลลิกราฟีแบบดั้งเดิมเลย แทบจะเป็นลายมือคนธรรมดาเสียด้วยซ้ำ ซึ่งแรกๆ มดไม่เห็นความสวยงามในสิ่งนี้เลย แต่พอมาทำเองถึงได้รู้ว่ามันมีเรื่องราวและลีลาบางอย่างที่ชัดเจนมาก งานคัลลิกราฟีจึงสอนให้เราเป็นคนที่ “มองพิศไม่มองผาด” ต้องรู้จักมองอย่างลึกซึ้ง พิจารณารายละเอียด และมองให้เห็นความสวยงาม จนไม่ว่าจะเป็นลายมือคนแบบไหนก็สามารถเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงานได้ 

ช่างภาพ : ธาเกียรติ ศรีวุฒิชาญ

WATCH

คีย์เวิร์ด: #VogueSpecial #VogueThailandAugust2022