pemika piaheng
LIFESTYLE

เปิดสัมภาษณ์ 'ฟ้า-เปมิกา' จากคนที่ไม่เคยสนใจศิลปกรรม สู่นักออกแบบสิ่งทอผู้เป็นเจ้าของรางวัลมากมาย

“เราใช้วัตถุดิบในการย้อมและเส้นใยของประเทศไทยทั้งหมด ใช้ขนแกะจากหมู่บ้านเลี้ยงแกะแม่ฮ่องสอน เปลือกไหมที่รับซื้อจากชาวบ้านจังหวัดเพชรบูรณ์ เส้นฝ้ายเข็นมือที่คุณป้าคุณยายจากสกลนครเข็นด้วยมือในเวลาว่าง”

     ฟ้าไม่เคยคิดด้วยซ้ำว่าวันหนึ่งเธอจะออกแบบผ้าทอและได้รางวัลชนะเลิศ 2 รายการซ้อน (การประกวดออกแบบลายผ้าไทยสู่สากล เพื่อการต่อยอดและพัฒนา (Cultural Textile Awards 2021) ประเภท “สิ่งทอสร้างสรรค์” ภายใต้โครงการพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากล ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (สวธ.) และการประกวดโครงการส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกาย Young OTOP Premium) จนกรรมการต้องหารือกันว่า ควรจะสั่งห้ามผู้ที่เคยได้รางวัลมาแล้วส่งผลงานเข้าประกวดดีหรือเปล่า แต่ระหว่างการสัมภาษณ์ เราพบว่าในกลุ่มศิลปินที่สร้างผลงานชั้นเลิศได้ แต่อธิบายงานของตัวเองไม่ถูกบนโลกนี้ ต้องเพิ่มชื่อสาวน้อยตรงหน้าเข้าไปด้วยอีกคน คือถ้าถามเรื่องเทคนิคอย่างสี เส้นใย เทคนิคการทอ เธอเล่าได้ยาวเหยียดไม่มีติดขัด แต่ถ้าถามถึงแรงบันดาลใจและสิ่งอันเป็นนามธรรมทั้งหลาย ต้องให้เวลาเธอคิดสักนิด และทั้งหมดที่จะได้อ่านต่อไปนี้คือสิ่งที่เราต้องสัมภาษณ์ถึง 2 รอบจึงจะขุดค้นออกมาได้จากสมองแสนบรรเจิดและความหวั่นไหวของจิตใจ ซึ่งชวนให้เอาใจช่วยก้าวต่อๆ ไปของ 'ฟ้า-เปมิกา เพียเฮียง'

 

Vogue: จากคนที่ไม่ได้ตั้งใจเข้าเรียนศิลปกรรม อะไรทำให้อินกับการออกแบบสิ่งทอได้ในวันนี้

Pemika: อาจารย์ค่ะ ความใส่ใจแล้วก็ความสนุกจากสิ่งที่อาจารย์สอนทำให้ฟ้าสนุกกับการเรียนไปด้วย สนุกตั้งแต่เรื่องพื้นฐานที่สุดอย่างการแยกเส้นใยด้วยการเผาแล้วดมกลิ่นว่าเส้นใยแต่ละชนิดเผาแล้วกลิ่นเป็นแบบไหน แยกกันอย่างไร เรียนรู้ผ้าชนิดต่างๆ ได้ไปเห็นการทอผ้าของแม่ๆ ชาวบ้านในหลายจังหวัด ได้เห็นว่าขั้นตอนการทอผ้ามันยากแค่ไหนกว่าจะได้ออกมาเป็นผืน แต่ความยากมันก็ท้าทายความสามารถ จนทำให้ฟ้าเลือกการทอผ้าเป็นโปรเจกต์จบในที่สุด

 

V: ผ้าผืนแรกที่มีชื่อเล่นว่า “ไทยทวีด” เป็นผ้าที่ดีไซเนอร์หลายคนชื่นชมมาก แรงบันดาลใจมาจากอะไร

Pemika: ที่เลือกทำโปรเจกต์ผ้าทอไทยทวีดเพราะรู้สึกว่าการทอผ้าเป็นสิ่งที่มีอยู่ในหลายวัฒนธรรม และแต่ละพื้นที่ก็มีความหลากหลายต่างกันออกไป อย่างผ้าทอของชาวกะเหรี่ยงที่ใช้กี่แบบผูกเอวเพื่อให้ทอผ้าที่ไหนก็ได้ หรือผ้าทอทางภาคอีสานที่ใช้กี่ขนาดใหญ่ ก็เป็นผ้าทอเหมือนกันแต่ผ้าออกมาไม่เหมือนกัน เราเลยรู้สึกว่าผ้าทอเป็นสิ่งที่มีเสน่ห์และอยากทอผ้าที่เอาเอกลักษณ์ของการทอและเส้นใยที่โดดเด่นในแต่ละภูมิภาคแต่ละจังหวัดมาสร้างให้เป็นผ้าใหม่ที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง เลยใช้เส้นใย 5 ชนิดมารวมกัน ผ้าผืนนี้อาจจะเรียกกันว่าไทยทวีดซึ่งทำให้หลายคนนึกถึงผ้าทวีดในต่างประเทศที่ทอกันมานานแล้วก็จริง แต่จริงๆ เราใช้วัตถุดิบในการย้อมและเส้นใยของประเทศไทยทั้งหมด ใช้ขนแกะจากหมู่บ้านเลี้ยงแกะแม่ฮ่องสอน เปลือกไหมที่รับซื้อจากชาวบ้านจังหวัดเพชรบูรณ์ ไหมอีลี่ที่ฟ้าชอบความตะปุ่มตะป่ำจากขอนแก่น ไหมหลืบที่มีผิวสัมผัสน่าสนใจจากสุรินทร์ แล้วก็เส้นฝ้ายเข็นมือที่คุณป้าคุณยายจากสกลนครเข็นด้วยมือในเวลาว่าง จับมาทอรวมกันเป็นผ้าที่มีเทกซ์เจอร์มากขึ้น แล้วก็แปลกออกไปจากผ้าทอดั้งเดิม

V: เท่าที่คุยกันมาดูเหมือนจะเป็นคนที่ไม่ได้เอาแรงบันดาลใจการสร้างงานมาจากสิ่งอื่นๆ...แต่คิดจากสิ่งที่เห็น

Pemika: ใช่ค่ะ ฟ้าคิดงานจากสีและเส้นใยที่ได้เห็นหรือมีอยู่ตรงหน้า และชอบการลงมือทำด้วยตัวเอง เพราะบางครั้งสิ่งที่เรารู้มาหรือค้นคว้ามาจากอินเทอร์เน็ตมันไม่ใช่ทั้งหมด อย่างเขาบอกกันว่าดอกบัวแดงเอามาย้อมผ้าจะได้สีชมพู แต่พอทำจริงๆ ได้สีน้ำตาลเฉยเลย ฟ้าก็เลยรู้สึกว่าต้องลงมือทำเองเท่านั้น เราถึงจะรู้ขั้นตอน กระบวนการ และผลลัพธ์จริงๆ

 

V: ในผ้าทอไทยทวีดมีตัวตนด้านไหนของเปมิกาอยู่บ้าง

Pemika: น่าจะเป็นเรื่อง “ความหลากหลาย” คือเราชอบเจออะไรแปลกๆ ชอบเดินทาง ชอบไปนั่งคุยกับคนแปลกหน้า ชอบฟังสำเนียงที่ไม่คุ้นเคย จึงพาให้ออกไปค้นหาเส้นใย เพราะบางครั้งอาจมีคนบอกเราว่าเส้นใยแบบนี้สีนี้จะหาได้ที่ไหน เราก็ตามไปที่ที่เขาบอก แต่ว่าไม่ได้เส้นใยอย่างที่เขาบอก ได้อย่างอื่นมาแทน บางชนิดก็แทบจะไม่มีใครหยิบมาใช้ด้วยซ้ำ แล้วฟ้าจะเอาเส้นใยพวกนั้นมาทำเป็นผ้าผืนใหม่ ซึ่ง “การสร้างงานใหม่” เป็นตัวตนอีกอย่างในผลงานของเรา ฟ้าชอบที่จะได้อยู่ในขั้นตอนแรกสุดของทุกๆ อย่าง ได้เป็นคนแรกที่เอาเส้นใยใหม่ๆ มาใช้ เป็นคนแรกที่ทอผ้าใหม่ๆ ออกมา แล้วคนอื่นๆ เช่น ดีไซเนอร์หรือนักออกแบบผลิตภัณฑ์ก็ต้องเอาผ้าของเราไปออกแบบเป็นสิ่งใหม่อีกที และเส้นใยอะไรที่เคยใช้แล้ว เทคนิคที่เคยทำแล้ว ฟ้าจะไม่ค่อยชอบใช้ซ้ำ จะพยายามไปหาของใหม่ๆ มาใช้ต่อไปเรื่อยๆ

 



WATCH




series

V: เป็นคนที่ทำในสิ่งที่คิดได้และทำได้ไปเรื่อยๆ โดยไม่มานั่งคิดว่าอันนี้ทำแล้วจะได้อะไร หรือจะต้องทำอะไรต่อเพื่อความสำเร็จที่มากขึ้น

Pemika: ใช่เลยค่ะ ฟ้าอยากเรียกตัวเองว่าเป็นนักท่องเที่ยวมากกว่านักออกแบบผ้าด้วยซ้ำ เพราะอยากทำงานให้สนุกและไม่อยากคาดหวังอะไรกับงานของเรามาก เพราะถ้าคาดหวังมาก ฟ้ากลัวเจ็บ (เสียงของเธอเบาลงจนเรารู้สึกได้ว่าเธอกลัวสิ่งที่พูดถึงจริงๆ) บางครั้งเวลาคุยกับกรรมการงานประกวดหรือคนที่มาสั่งผ้าของเราแล้วเขาบอกว่าผ้าดีมาก พิเศษมาก ฟ้ายังสงสัยอยู่เลยว่ามันดีขนาดนั้นจริงๆ หรือ แต่เราก็จะทิ้งความสงสัยเหล่านั้นไป ไปเอนจอยกับการเรียงเส้นใย เลือกเส้นใยเลือกสีของแต่ละตะกอให้ได้ความเข้มอ่อนอย่างที่ใจคิด เลือกเส้นยืนให้ได้ต่างขนาดกันเพื่อให้ได้ความตะปุ่มตะป่ำ ออกมาเป็นความนูนความขรุขระอย่างที่เราชอบ แล้วก็มีความสุขกับการได้เห็นคนอื่นมีความสุขเวลาเห็นงานของเรา

 

ช่างภาพ : ธาเกียรติ ศรีวุฒิชาญ

WATCH

คีย์เวิร์ด: #VogueSpecial #VogueThailandAugust2022