LIFESTYLE
รู้จักอาชีพ Guest Management กับ “อุ๊บอิ๊บ-ภาวิกา” เชิญแขกแล้วมันได้สตางค์ได้อย่างไร“เวลาอธิบายให้คุณแม่ฟังเรื่องงาน เขาก็จะงงๆนะคะ ว่าเชิญแขกแล้วมันได้สตางค์ได้อย่างไร คนทั่วไปที่ไม่รู้ว่าเราทำอะไรบ้างก็อาจจะคิดว่าเราแค่ยกหูโทร.หาคน แค่นั้นจบ” |
เจ้าของบริษัท สปังค์กี้ดิจิตอล (ไทยแลนด์) จำกัด, Guest Management, Influencer Management, เจ้าของบาร์แอนด์เรสโตรองต์, หุ้นส่วนแบรนด์รองเท้าผ้าใบ Atmos Bangkok, ผู้ก่อตั้งผลิตภัณฑ์กัญชา Ganjita & Co., ดีเจสังกัด Lonely Girl Club, ทำพรมทอมือทั้งหมดนี้คือหลากหลายอาชีพที่สาวยิ้มสวย อุ๊บอิ๊บ-ภาวิกา อินทรทัต ร่ายมาเป็นตัวอย่าง ด้วยความที่ครอบครัวทำกิจการสถานบันเทิงชั้นนำของกรุงเทพฯ อุ๊บอิ๊บเลยชินกับปาร์ตี้ซีน รู้จักคนเยอะ และคอนเน็กชั่นของเธอไม่ใช่เยอะแค่จำนวน แต่เปี่ยมคุณภาพด้วย อาชีพแรกที่เธอรับทำไปโดยไม่รู้ตัวคือคนเชิญแขกหรือ Guest Management เพราะรุ่นพี่ขอให้ช่วย แล้วเธอก็ทำไปแบบไม่คิดอะไรมาก แต่มาค้นพบทีหลังว่าความสามารถและความถนัดนี้สามารถเป็นอาชีพจริงจังได้
“อิ๊บอยากเรียนแฟชั่นหรือศิลปะมาตั้งแต่เด็ก แต่ที่ได้เรียนจริงๆ คือการบริหารจัดการแบรนด์ หลังจากเรียนจบกลับมาก็ได้ทำงานกับแบรนด์แฟชั่นและอีเวนต์มาตลอด หลักๆ จะดูพีอาร์และมาร์เกตติ้งเป็นหลัก จนช่วงหลังหันมาจับเรื่องอินฟลูเอนเซอร์อย่างจริงจัง จนกลายเป็นบริษัทสปังค์กี้ดิจิตอล ตอนนี้น่าจะเกิน 5 ปีแล้วค่ะ”
หน้าที่การเชิญแขกฟังๆ ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องยาก แต่ในยุคปัจจุบันที่อินฟลูเอนเซอร์เป็นช่องทางหลักสำหรับการโปรโมตสินค้าหรือสื่อสารทางการตลาด การวิเคราะห์ทั้งตัวอินฟลูเอนเซอร์และความต้องการของแบรนด์ก่อนจะจับมาชนกันเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ต้องใช้ทักษะพิเศษ ซึ่งเธอโดดเด่นในด้านนี้
“เวลาอธิบายให้คุณแม่ฟังเรื่องงาน เขาก็จะงงๆนะคะ ว่าเชิญแขกแล้วมันได้สตางค์ได้อย่างไร เจ้าของงานเขาไม่ได้เชิญกันอยู่แล้วเหรอ (หัวเราะ) คนทั่วไปที่ไม่รู้ว่าเราทำอะไรบ้างก็อาจจะคิดว่าเราแค่ยกหูโทร.หาคน แจ้งกำหนดการแล้วก็จบ แต่ที่จริงหนึ่งวันนี่เราโทร.หาคนเป็นร้อย ซึ่งเหนื่อยมากนะคะ แล้วก็ต้องอธิบายกับทุกคนว่างานคืออะไร ไปแล้วอย่างไรต่อ นี่ยังไม่นับที่ต้องรับบรีฟลูกค้า วิเคราะห์สิ่งที่เขาต้องการเพื่อเตรียมพิตชิ่งลูกค้าใหม่ ทำพรีเซนเทชั่น หาอินฟลูเอนเซอร์เพื่อส่งไปให้ลูกค้าเลือก หลังจากคอนเฟิร์มก็ติดต่อกลับไปหารายคน ซึ่งวิธีการสื่อการกับแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไป แต่ที่ยากที่สุดคือการคุยกับลูกค้าเพื่อให้เขาเข้าใจว่าทำไมเราถึงอยากให้เขาเลือกอินฟลูเอนเซอร์คนนี้เป็นตัวแทนให้แบรนด์ของเขา หลังจากทุกอย่างเรียบร้อย งานจบไปแล้ว แคมเปญเปิดตัวแล้ว อิ๊บต้องทำรายงานสรุป สมมติว่าเราใช้อินฟลูเอนเซอร์ 50 ท่าน เอนเกจเมนต์แต่ละโพสต์เป็นอย่างไร ยอดวิวเท่าไรในทวิตเตอร์ ในอินสตาแกรมเป็นอย่างไร โปรเจกต์ยาวกี่เดือนก็สรุปไปเดือนละหน นอกจากนั้นอิ๊บก็แบ่งเวลาไปทำดีเจซึ่งชอบมาตั้งแต่เด็กเหมือนกัน แต่เพิ่งได้มาจริงจังและตั้ง Lonely Girl Club ขึ้นมา เพราะอยากให้มีปาร์ตี้ที่สาวๆ ไปด้วยกันแล้วรู้สึกผ่อนคลาย ไม่ต้องแต่งสวยมากก็ได้ เน้นสนุก ส่วนแบรนด์แอ็กเซสเซอรี่กัญชา กานจิตา แอนด์ โค เพิ่งเริ่มค่ะ ฝากติดตามด้วย”
WATCH
หลายคนอาจสงสัยว่าในช่วงโควิดรุมเร้า ดีเจอุ๊บอิ๊บไม่น่าจะมีอีเวนต์เข้ามามากนักเช่นเดียวกับงานด้านอื่นๆ ซึ่งตัวเธอก็ยอมรับ แต่แทนที่สาวแอ็กทีฟคนนี้จะนั่งเหงาหรือกังวลกับอนาคต เธอมองหากิจกรรมใหม่ให้ตัวเอง แล้วคลิปทำพรมใน TikTok คลิปหนึ่งที่ผ่านตาก็จุดประกายขึ้นมา
“พอเห็นคลิป เราก็รู้สึกว่ามันไม่ยากนะ เลยลองทำผืนแรก แล้วก็มีคนติดต่อเข้ามาซื้อ อิ๊บเลยทำขาย แต่ด้วยความที่เรารู้ว่าพรมแบบนี้มันทำไม่ยาก ใครก็ทำได้ เลยสร้างจุดขายว่าเป็นงานสั่งทำเท่านั้น ใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ ออกแบบตามความต้องการของแต่ละคน และพรมทุกผืนจะทำแค่ผืนเดียว ไม่ซ้ำ อิ๊บวาดใหม่ทั้งหมดทุกผืน แล้วด้วยความเป็นคนทำอะไรแล้วไปสุด ไหมก็สั่งอย่างดี อยากได้เทกซ์เจอร์แบบที่ไม่มีในไทย ก็สั่งจากเมืองนอก ช่วงโควิดกว่าวัตถุดิบจะส่งมาถึง ลูกค้าก็ต้องรอไป แต่ปรากฏว่าคนชอบ รายได้ก็เรียกว่าเลี้ยงตัวได้ในระหว่างที่งานอื่นๆ หายไปเลยค่ะ"
1 / 2
2 / 2
“หลังจากผ่านช่วงนั้นมา งานประจำเริ่มกลับมา เลยทำพรมน้อยลง ยังคิดถึงช่วงเวลาที่ได้นั่งทำงานอยู่กับตัวเองนิ่งๆ อยู่เลย แต่ด้วยรายได้ที่เทียบกันแล้ว ต้องยอมรับว่างานด้านอื่นให้ผลตอบแทนดีกว่า ทุกวันนี้พยายามใช้ชีวิตให้มีความสุข ถึงจะเริ่มงานตั้งแต่เช้า แต่6 โมงเย็นปุ๊บปิดโทรศัพท์เลย อันนี้เป็นสิ่งที่อิ๊บได้มาจากตอนเริ่มทำงานแรกๆ มีเจ้านายที่เห็นว่าเรากลับบ้านคนสุดท้ายตลอด เขาเลยมาคุยว่าแบบนี้ไม่ดีนะ ยูควรจะต้องจัดการทุกอย่างให้เสร็จในเวลางาน แล้วหลังจากนั้นก็ออกไปใช้ชีวิต อิ๊บรู้สึกว่ามันเป็นวิธีคิดที่ดีมาก แล้วก็ตั้งใจว่าจะพยายามทำแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ค่ะ”
ข้อมูล : Vogue Thailand
ช่างภาพ : Sootket Jiwpanit
WATCH