LIFESTYLE
ตัวตนและโศกนาฏกรรมความรักที่ Oscar Wilde เรียบเรียงเป็นบทประพันธ์ และเก็บซ่อนไว้ในตัวอักษรจากประสบการณ์ส่วนตัวเรื่องความรักร่วมเพศ ทุกความเจ็บปวด การต่อสู้ และโศกนาฏกรรมที่เขาเผชิญ ถูกเรียงร้อยผ่านเรื่องราวในบทกวีของเขาไว้หมดแล้ว |
ถึงแม้จะจากโลกนี้ไปมากกว่าหลายปีแล้ว แต่กระทั่งในปัจจุบัน ไม่ว่าเมื่อไรที่มีการกล่าวถึงเหล่ายอดกวีเอกของโลก ชื่อของ 'Oscar Wilde' ยังคงเป็นชื่อแรกๆ เสมอ ราวกับว่ากฎแห่งเวลาไม่สามารถทำอะไรได้เลย ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็คงเป็นเพราะบทประพันธ์ที่ออสการ์แต่งขึ้นเต็มไปด้วยจิตวิญญาณที่พุ่งทะลุผ่านตัวอักษรเข้าสู่จิตใจของผู้อ่านได้อย่างตราตรึง เนื่องจากเขากลั่นมันออกมาจากประสบการณ์ส่วนตัว ทุกความเจ็บปวด และโศกนาฏกรรมที่เผชิญถูกบรรจุลงในตัวอักษร ดั่งที่บทความนี้จะหยิบยกมากล่าวถึง
ละครเวทีที่สร้างมาจากบทประพันธ์เรื่อง The Picture of Dorian Grey / ภาพ: Netdna-ssl
เรื่องแรกที่จะไม่พูดถึงคงไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่สร้างชื่อให้ออสการ์เป็นที่โด่งดัง และสะท้อนการเป็นคนหัวขบถในยุควิกตอเรียที่ความอนุรักษ์นิยมยังคงแรงกล้าได้เป็นอย่างดี นั่นก็คือ 'The Picture of Dorian Grey' ซึ่งว่าด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับชายรูปงามเยาว์วัยในขณะที่ภาพเหมือนของเขาแก่เฒ่าและน่าเกลียด ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องราวเช่นนี้แหวกขนบของชาวอังกฤษในเวลานั้นอย่างมาก ความหวือหวาแปลกใหม่ถูกใจเหล่าหนุ่มสาวหัวก้าวหน้า ในขณะเดียวกันก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า “ผิดศีลธรรม เลวทราม หยาบช้า” จากสื่อมวลชน ทว่าออสการ์ก็ไม่ได้ให้ความสนใจกับเสียงวิจารณ์เท่าไรนัก เขาตอบกลับเพียงสั้นๆ ว่า “ไม่มีหนังสือเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับศีลธรรม มีเพียงหนังสือที่เขียนได้ดีหรือไม่ดีเท่านั้นเอง”
Oscar Wilde / ภาพ: Thoughtco
นอกจาก The Picture of Dorian Grey แล้ว ยังมีผลงานของออสการ์อีกหลายชิ้นที่มีการสอดแทรกตัวตนและเรื่องราวของเขาไว้อย่างเข้มข้นไม่แพ้กัน สันนิษฐานได้ว่างานของออสการ์เป็นหนทางสำหรับเขาในการแสดงออกถึงความรักร่วมเพศ และเมื่อเจาะลึกลงไปแล้วดูเหมือนว่าเขาพยายามรวบรวมประสบการณ์ของตัวเองเข้ากับความเกลียดชังของสังคมวิกตอเรียที่มีต่อการรักร่วมเพศ ตัวอย่างเช่นใน 'The Portrait Of Mr W.H.' ซึ่งออสการ์พยายามปิดบังความคิดเห็นของเขาอย่างชาญฉลาดว่าความรักระหว่างชายสองคนนั้นบริสุทธิ์ แม้ว่าสังคมจะมองว่าเป็นอย่างอื่นก็ตาม เช่นเดียวกับในเรื่อง 'The Young King' ผลงานอีกเรื่องของออสการ์ที่แสดงให้เห็นภาพของกษัตริย์จูบรูปปั้นทาสชาย และใน 'The Happy Prince' ที่ออสการ์แสดงให้เห็นถึงการจูบระหว่างเจ้าชายกับนกนางแอ่นตัวผู้ สิ่งที่น่าสนใจคือเรื่องราวของเจ้าชายและนกนางแอ่นไม่ได้จบลงด้วย “ความสุขชั่วนิรันดร์” ซึ่งนิยมแพร่หลายในสมัยนั้น เนื่องจากทั้งสองไม่ได้รวมกันเป็นหนึ่งเดียวแม้อยู่ในสวรรค์ ออสการ์ทราบดีว่าความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันไม่ได้จบลงอย่างมีความสุขในช่วงเวลาของเขา และดูเหมือนว่าเขาเขียนตอนจบที่ไม่มีความสุขของเรื่องราวเพื่อเป็นตัวแทนของความเป็นจริงในสมัยนั้น
WATCH
Oscar Wilde / ภาพ: Town & Country Magazine
อย่างไรก็ตามผลงานของออสการ์ที่ได้รับการกล่าวถึงว่าแสดงออกถึงความรักเพศเดียวกันอย่างชัดเจนที่สุดคือบทละครเรื่อง 'The Importance Of Being Earnest' ที่บอกเล่าเรื่องราวของสองตัวละครอย่าง Jack and Algernon ผู้สร้างตัวตนที่เป็นความลับเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตัดสินจากสังคม โครงเรื่องของชีวิตทั้งคู่ดูเหมือนจะมีรากฐานมาจากชีวิตจริงของออสการ์ในขณะที่ตัวเขาเองมีชีวิตคู่แต่งงานตามกรอบที่สังคมวางเอาไว้ ทั้งๆ ที่เขาก็ยังคงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ชายอย่างหลบซ่อน ส่วนชื่อเรื่อง The Importance Of Being Earnest คำว่า Earnest เป็นที่รู้โดยทั่วไปว่าเป็นศัพท์สแลงสำหรับการรักร่วมเพศ นอกจากนั้นออสการ์ยังได้บัญญัติศัพท์คำว่า "bunburying" ซึ่งหมายถึงการสร้างเอกลักษณ์ที่แตกต่างออกไปเพื่อให้ใช้ชีวิตได้ตามที่ต้องการ นอกจากนี้ยังมีข่าวลือด้วยว่า 'bunbury' เป็นการเล่นสำนวนที่รวม 'bun' และ 'burying' ซึ่งมีความหมายแฝงของรักร่วมเพศอย่างเห็นได้ชัด
Oscar Wilde / ภาพ: PCDN
แม้จะมีผลงานดังกล่าวออกมาอย่างแพร่หลาย ทว่าก็ยังมีคนตั้งคำถามไว้ว่า จากยุควิกตอเรียสู่ยุคปัจจุบัน กวีชื่อ Oscar Wilde กลายเป็นไอคอนคนสำคัญเมื่อพูดถึงความแตกต่างทางเพศ แล้วเขาน่ายกย่องขนาดนั้นจริงหรือ? เพราะถึงจะเป็นผู้ที่กล้านำเสนอเรื่องรักร่วมเพศผ่านผลงานอย่างกล้าหาญและมาก่อนกาล แต่ในขณะเดียวกันความคิดบางอย่างของเขาก็ต้องยอมรับว่าค่อนข้าง “ตกยุค” โดยเฉพาะการที่เขาโทษตัวเองอยู่เสมอว่าการรักร่วมเพศคือความผิดบาป ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดในปัจจุบันโดยสิ้นเชิง
ชีวิตของออสการ์เป็นเรื่องน่าเศร้า และแน่นอนว่าเขาไม่ควรถูกตัดสินให้ปิดบังเรื่องเพศ เนื่องจากการรักร่วมเพศเป็นอาชญากรรมในช่วงเวลาของเขา แม้แต่ข้อเท็จจริงที่เขาปฏิเสธว่าไม่เคยสนิทสนมกับผู้ชายคนไหนซ้ำแล้วซ้ำเล่า และในเวลาต่อมาก็อ้างว่าศาสนาอาจทำให้เขาไม่ "เสื่อมทราม" และทำให้เขามองว่าเขาเป็นไอคอนเกย์ได้ยาก เขาอาจแสดงภาพรักร่วมเพศในงานของเขา และให้ความสำคัญกับมัน แต่เขากลับล้มเหลวที่จะยืนหยัดเคียงข้างสิ่งนี้ในชีวิตส่วนตัวของเขาเอง ซึ่งคาดเดาเอาไว้ว่าบางทีเขาอาจกลัวผลกระทบที่จะได้รับ เนื่องจากสังคมวิกตอเรียไม่เห็นด้วยกับการรักร่วมเพศ และมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ก็เป็นได้
Oscar Wilde / ภาพ: Book Riot
อย่างไรก็ตามการจะตัดสินว่าออสการ์ ไวลด์เป็นคนอย่างไรด้วยบริบทของยุคสมัยปัจจุบันก็ดูจะไม่ยุติธรรมสำหรับเขาเท่าไรนัก เพราะถึงแม้ออสการ์จะไม่ยืนหยัดในสิ่งที่เขาเชื่อ แต่การที่เขาแสดงออกผ่านผลงานมากมายก็นับว่าเป็นความกล้าหาญที่ไม่แตกต่างกับนักสู้เพื่อสิทธิด้านเพศในปัจจุบัน และอีกสิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือผลงานของเขาได้กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญของการต่อสู้ในปัจจุบันอีกด้วย กล่าวได้ว่า 'The Importance of Being Earnest' คือหนึ่งในผลงานที่ถูกหยิบมาผลิตซ้ำบ่อยที่สุด และทุกครั้งก็จะมีการทำให้มันร่วมสมัยมากขึ้นเสมอ โดยตัดกรอบความรู้สึกผิดบาปของออสการ์ออกไป แต่ยังคงไว้ซึ่งแก่นที่เขาต้องการสื่อสาร ดังนั้นคำถามที่ว่าออสการ์ ไวลด์เหมาะสมที่จะเป็นไอคอนของกลุ่มคนรักร่วมเพศหรือไม่อาจไม่สำคัญอีกแล้ว ตราบใดที่ผลงานของเขายังคงทำหน้าที่ผลักดันเรื่องดังกล่าวให้ผลิบานแก่คนรุ่นหลังต่อไปเช่นนี้
ข้อมูล : Historic-UK
ภาพ : IrishCentral
เรียบเรียง : Ramita Naungtongnim
WATCH