โอลิมปิกรักษ์โลก! เจาะรายละเอียดไอเท็มจาก 'ขยะรีไซเคิล' ของญี่ปุ่นในกีฬาโอลิมปิกปีล่าสุด
หลายอย่างที่ปรากฏใช้ในกีฬาโอลิมปิกปีล่าสุด ทั้งสถาปัตยกรรม อุปกรณ์กีฬา ไปจนถึงเสื้อผ้า ล้วนแล้วแต่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาจากขยะรีไซเคิล เพื่อความรักษ์โลกทั้งสิ้น...
กำลังเป็นที่จับตามองของคนทั่วโลก สำหรับการแข่งขันโอลิมปิกครั้งล่าสุดปี 2020 ที่จัดขึ้น ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นอกจากประเด็นความน่าเป็นห่วงในเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19, พิธีเปิดที่เต็มไปด้วยความอลังการของความคิดสร้างสรรค์ขั้นสุดที่ญี่ปุ่นได้แสดงให้โลกใบนี้ได้ประจักษ์ ไม่ว่าจะเป็นการชูประเด็นความหลากหลาย ให้หมอ พยาบาล นักกีฬารุ่นเก่า และอีกหลายกลุ่มคน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในขบวนจุดคบเพลิงอันทรงเกียรติ จนกลายภาพที่น่าชื่นชมไปทั่วโลก จนถึงการแสดงไวรัลในชื่อ "Human Pictogram" จากเหล่านักแสดงละครใบ้ที่พร้อมกันออกลวดลายแสดง Pictogram 50 ท่าจากกีฬาทั้งหมด 33 ชนิด ที่ปรากฏในการแข่งขันในโอลิมปิกครั้งนี้ ตอกย้ำฐานะของชาติมหาอำนาจด้านความคิดสร้างสรรค์ในภูมิภาคเอเชียอย่างที่ไม่อาจมีใครปฏิเสธได้ กระนั้นไฮไลต์สำคัญของโอลิมปิกในครั้งนี้ก็ยังไม่หมด เพราะญี่ปุ่นยังสร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการเปิดเผยข้อมูลว่า สถาปัตยกรรมต่างๆ เรื่อยไปจนถึงไอเท็มที่ปรากฏในการแข่งขันโอลิมปิกปีนี้ล้วนแล้วแต่ถูกประดิษฐ์ ก่อสร้าง และสร้างสรรค์ขึ้นจากแนวคิด Sustainability ทั้งสิ้น...
ย้อนกลับไปมองที่สโลแกนของการจัดงานในปีนี้ที่ว่า “Be better, together – for the planet and the people” ซึ่งนั่นเองคือคำตอบที่แทบจะไม่ต้องอธิบายให้มากความว่าทำไมแนวคิดเป็นมิตรกับธรรมชาติจึงได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งสำคัญของการแข่งขันในครั้งนี้ ก็เนื่องจากญี่ปุ่นได้ตั้งเป้าหมายไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะมุ่งพัฒนาสิ่งแวดล้อมในฐานะของประเทศเจ้าภาพ อีกทั้งยังต้องการประชาสัมพันธ์ให้ทั่วโลกได้ร่วมตระหนักถึงสิ่งนี้ด้วยเช่นกัน เราจึงได้เห็นเหรียญรางวัลทั้งเหรียญทองแดง เหรียญเงิน หรือแม้แต่เหรียญทอง ที่ถูกมอบให้นักกีฬานั้นผลิตขึ้นมาจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ จำพวกโทรศัพท์มือถือ และอีกมากมาย ที่ถูกรวบรวมมาจากชุมชมในประเทศญี่ปุ่นทั้งหมด 1,621 ชุมชน โดยใช้เวลานานกว่า 2 ปีในการรวบรวม และผลิตเป็นเหรียญรางวัลต่างๆ ได้ทั้งสิ้นกว่า 5,000 เหรียญ หรือแม้แต่คบเพลิงเกียรติยศที่ถูกใช้ในพิธีเปิด ก็ผลิตขึ้นมาจากอะลูมิเนียมรีไซเคิลที่เคยใช้สร้างเป็นที่พักชั่วคราวให้กับผู้ประสบภัยสึนามิเมื่อปี 2011 โดยออกแบบเป็นรูปร่างของดอกซากุระบาน อีกทั้งยังนับเป็นครั้งแรกบนหน้าประวัติศาสตร์โอลิมปิกอักด้วยที่ไฟบนคบเพลิงในครั้งนี้เป็นไฮโดรเจน เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับโลกใบนี้
ไม่เพียงเท่านั้น เพราะยังมีเสื้อผ้านักกีฬาที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาจากพลาสติกรีไซเคิลจากบริษัทน้ำอัดลมชื่อดังอย่าง Coca-Cola, หมู่บ้านที่พักสำหรับเหล่านักกีฬาที่สร้างขึ้นมาจากกล่องกระดาษรีไซเคิล และไม้ที่สามารถถอนนำไปใช้ซ้ำ แปรรูป หรือรีไซเคิลได้อีกครั้งหลังจบการแข่งขัน, แท่นรางวัลที่ทำขึ้นมาจากขยะพลาสติกทั่วประเทศญี่ปุ่นกว่า 24.5 ตัน โดยได้ความร่วมมือจากโรงเรียน ร้านอาหาร ไปจนถึงองค์กรต่างๆ หรือกระทั่งสนามแข่งขันกีฬาภายในสเตเดียมครั้งนี้อย่าง “Musashino Forest Sports Plaza” ก็ยังสร้างขึ้นจากคอนกรีตมวลรวมรีไซเคิล และในสนามกีฬาภายนอกยังพบว่า เป็นการใช้หญ้าเทียมจากวัสดุชีวภาพที่เหลือจากกระบวนการเกษตรกรรม ซึ่งคุณสมบัติพิเศษของมันยังช่วยประหยัดน้ำในการดูแลรักษาอีกด้วย
WATCH
แม้ว่าโควิด-19 จะเล่นงานจนต้องเลื่อนการจัดการแข่งขันมาเป็นรอบ 5 ปีแทน (จากที่ควรจัดตั้งแต่เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา) แต่ก็นับว่าการจัดการแข่งขันโอลิมปิกในรอบ 5 ปีนี้ เป็นการกลับมาได้อย่างสมศักดิ์ศรี และไม่มีอะไรน่าผิดหวังเลยแม้แต่นิดเดียว ซึ่งแน่นอนว่าความดีความชอบทั้งหมดก็คงจะต้องยกให้กับ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ผู้เป็นเจ้าภาพที่สามารถออกแบบการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ออกมาได้อย่างน่าสนใจทุกรายละเอียด และควรค่าแก่การจดจารึกไว้บนหน้าประวัติศาสตร์แห่งความประทับใจ
ข้อมูล : Olympics.com, Sarakadee Lite
WATCH